Story ที่ Boston สมาธิ...ประสบการณ์สากลที่ทุกคนสัมผัสได้


สมาธิ...ประสบการณ์สากล
ที่ทุกคนสัมผัสได้
✺✺𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖✺✺

เย็นวันหนึ่งหลังจากการเรียนตลอดทั้งวันที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ขณะที่ผู้เขียนได้นั่งพักดื่มน้ำและทอดสายตาออกไปทางหน้าต่าง เพื่อพักสมองและสายตาจากการเรียนตลอดทั้งวัน หัวหน้าศูนย์กิจกรรมพิเศษได้เดินเข้ามาพบ และขอให้ผู้เขียนได้เปิดชมรมสมาธิขึ้นที่ NESE (The New England School of English, Cambridge) โดยจัดกิจกรรมทุกวันพุธ หลังจากเลิกการเรียนการสอนของทางโรงเรียน

ขณะนั้นความคิดแรกที่เกิดขึ้นมา คือ “นี่เป็นเดือนที่ ๓ ที่มาเรียน แล้วเราจะทำได้หรือ ?” แต่หลังจากนั้นก็มีอีกความคิดหนึ่งขึ้นมาว่า “สมาธิ...เป็นการสื่อสารด้วยภาษาใจ ไม่ใช่ภาษาวาจาเพียงอย่างเดียว” ผู้เขียนจึงตัดสินใจตอบรับคำเชิญชวนนั้น มาถึงวันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสแนะนำสมาธิให้แก่เพื่อน ๆ กว่า ๑๐๐ คน ที่เดินทางมาเรียน ณ โรงเรียนแห่งนี้จากหลายทวีปทั่วโลก อาทิ เอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ และแอฟริกา ซึ่งภายหลังจากการนั่งสมาธิแล้ว ทุกท่านได้รับความสุขและความสงบ และหลายท่านยังได้ขออนุญาตนำวิธีการทำสมาธิไปแนะนำต่อเมื่อกลับไปยังประเทศของตนเอง

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้มีโอกาสแนะนำสมาธิในคอร์สที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์ โดยวัดพระธรรมกายบอสตัน (Dhammakaya Meditation Center Boston) โดยการนำของพระครูภาวนาวิเทศ (พระมหาวิรัตน์ มณิกนฺโต) เจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์ในการเจริญสมาธิภาวนาให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมถึงการแนะนำสมาธิแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจกลางเมืองควินซี (City of Quincy Police Headquarters) อีกทั้งการแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับสมาธิให้แก่ผู้สนใจที่อยู่ห่างไกลในรัฐอื่น เช่น ศูนย์ปฏิบัติธรรมอลาบามา (MeditationCenterofAlabama) เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่กล่าวถึงกิจกรรมที่ศูนย์วัดพระธรรมกายกว่า ๑๐๐ แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วทุกทวีปกำลังทำหน้าที่ในการขยายวิธีการเข้าถึงสันติสุขภายในด้วยสมาธิ

จากตัวอย่างประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้สัมผัสด้วยตนเอง และได้รับข้อมูลในการทำหน้าที่ของคณะพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา รวมถึงสาธุชน ซึ่งล้วนทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่เพื่อขยายสันติสุขที่แท้จริงที่มีอยู่ภายในตัวของทุก ๆ คน ทำให้ผู้เขียนยิ่งเข้าใจและซาบซึ้งถึง “พระธรรมคุณ” ที่กล่าวไว้ว่า ผู้ปฏิบัติตามย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏฺิโก) ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา (อกาลิโก) ควรเชิญชวนให้มาพิสูจน์ (เอหิปสฺสิโก) ควรน้อมเข้ามาเพื่อปฏิบัติ (โอปนยิโก) และวิญญูชนผู้ปฏิบัติตามย่อมรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ) ซึ่งเราสามารถสรุปเรื่องของ “สมาธิ” ลงในประโยคที่ว่า...

“สมาธิ...เป็นสิ่งสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยไม่จำกัดด้วยเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น”

เราทุกคนล้วนมีบุญลาภอันประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา และมีศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงไม่เป็นเรื่องยากที่เราจะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของ “สมาธิ” แต่เราจะไม่ปล่อยให้บุญลาภที่เรามี หยุดอยู่เพียงการได้ยินได้ฟังเท่านั้น ดังนั้นจึงควรลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญลาภที่เรามีในเบื้องต้น ก็จะขยายไปสู่บุญลาภเบื้องสูง คือ การบรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอรหันตสาวกสืบต่อไป

คำขอบคุณจาก
Dr. Nena, Alabama

Thank you so much for an amazing Valentine's Day Meditation Class at Meditation Center of Alabama. We are so grateful to you, our Valentine's gift of inner peace and stillness. You did an amazing job and we are so lucky to be your students. Thank you so much and thank you everyone for joining us.

Cr. พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
มหาวิทยาลัยบอสตัน (BOSTON UNIVERSITY)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๖ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒



















***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/03/special0462.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
Story ที่ Boston สมาธิ...ประสบการณ์สากลที่ทุกคนสัมผัสได้ Story ที่ Boston สมาธิ...ประสบการณ์สากลที่ทุกคนสัมผัสได้ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:03 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.