หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๕)



ความคืบหน้าในการสืบค้นคัมภีร์พุทธดั้งเดิมในโซนคันธาระและเอเชียกลาง

ในเดือนนี้ นับเป็นเดือนสำคัญสำหรับคณะศิษยานุศิษย์ของคุณครูไม่ใหญ่ ครูผู้สืบทอดวิชชาธรรมกาย ในวันคุ้มครองโลกที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่ในช่วงที่ผ่านมานี้ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ของเราที่มีหลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่เป็นองค์สถาปนาฯ นั้น ได้รับข่าวดีที่น่าปลื้มปีติใจไม่น้อยเกี่ยวกับการสืบค้นหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธดั้งเดิมฯ ทั้งนี้ก็เพราะส่วนหนึ่งของข่าวดีนี้ถือเป็นหนึ่งใน “ตัวชี้วัด (Indicator) ความสำเร็จในภารกิจการสืบค้นหลักฐานธรรมกายที่ดำเนินมาเกือบ ๒๐ ปีตามดำริของท่านอีกทางหนึ่ง ซึ่งมาพ้องกันพอดีในวาระวันคุ้มครองโลกและวันคล้ายวันเกิดครบ ๗๕ ปีของท่านด้วย ซึ่งควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า ด้วยมโนปณิธานของท่านที่มีเสมอมานั้น ก็คือการทำให้ “โลกได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริงโดยธรรม” นั่นก็คือการส่งเสริมให้ทุกชีวิตเข้าถึงพระธรรมกายภายใน ดังที่ท่านได้เคยให้โอวาทประวัติศาสตร์ไว้ว่า

“ธรรมกายเป็นเนื้อหนังของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่เราจะต้องค้นคว้าเข้าไปให้ถึง เป็นของเก่าดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา แต่นำมาเป่าฝุ่นใหม่ ไม่ใช่เป็นของใหม่ หรือลัทธิใหม่ แต่เพราะละเลยการศึกษาการปฏิบัติมานาน จึงได้เลือนหายไป แต่สัจธรรมก็คือสัจธรรม เป็นของจริงที่อยู่ภายในที่เราสามารถศึกษาได้ ค้นคว้าได้ สัมผัสได้ เข้าถึงได้ด้วยกาลังแห่งความเพียรของเราในชีวิตนี้”¹

เท่ากับเป็นการสะท้อนว่า “ธรรมกาย” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ดีจริง ปฏิบัติได้จริง และเป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมในพระพุทธศาสนา อันเราชาวพุทธต้องช่วยกันศึกษาและธำรงไว้ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน เช่นเดียวกับที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายที่ได้ตอกย้ำให้เราตระหนักรู้เสมอมา

ในที่นี้ จากการประชุมประจำเดือนที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ทาง ดร.ชนิดา  จันทราศรีไศล (บ.ศ.๙ คนแรกของวัดพระธรรมกาย) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณของสถาบันฯ ได้รายงานข่าวดีให้ทราบว่า การศึกษาสืบค้นหลักฐานธรรมกาย โดยเฉพาะในโซนคันธาระและเอเชียกลางนั้น มีความคืบหน้าในการทำงานเป็นที่น่าพอใจทีเดียว โดยในการรายงานได้แบ่งออกเป็น ๓ ประเด็น คือ ๑) เรื่องของคัมภีร์สันสกฤตและคันธารีที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้รับมา ๒) เรื่องของคัมภีร์คันธารีที่ได้ค้นพบใหม่ (New Collection) และพระสูตรที่สอนการปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระ และ ๓) เรื่องการทำงานร่วมกันกับโครงการอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์คันธารี


เรื่องของคัมภีร์สันสกฤตและคันธารีที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้รับมานั้น ดร.ชนิดากล่าวว่าเป็นคัมภีร์ที่คุณศศิธร ไวท์ เจ้าภาพผู้ใจบุญ ได้นำคัมภีร์พุทธโบราณจำนวน ๑๐ ชิ้น (เรียกว่า DIRI Collection) มาบริจาคไว้เพื่อบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มที่ ๑ เป็นคัมภีร์ใบลานภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรพราหมี ซึ่งพบในบริเวณหุบเขากิลกิต บามิยัน (อายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี จำนวน ๘ ชิ้น กลุ่มที่ ๒ เป็นคัมภีร์ภาษาคันธารี เขียนด้วยอักษรขโรษฐี จำนวน ๒ ชิ้น อายุราว ๑,๘๐๐ ปี ทั้งหมดเป็นคัมภีร์กลุ่มเดียวกับคัมภีร์ธรรมเจดีย์ที่ค้นพบในหุบเขาบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเคยอัญเชิญมายังประเทศไทยอยู่ช่วงหนึ่ง จัดว่าอยู่ในชุดของคัมภีร์ที่คุณมาร์ติน สกอร์เยน มหาเศรษฐีชาวนอร์เวย์ เก็บรักษาไว้ใน Schøyen Collection ซึ่งคัมภีร์ชุดเดียวกันนี้เป็นคัมภีร์ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษากันอยู่ที่มหาวิทยาลัยออสโล


คัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้รับมานั้น นักวิจัยของสถาบันฯ ที่ได้ทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสันสกฤตแห่งมหาวิทยาลัยออสโล คือ พระวีรชัย เตชํกุโร² ได้สรุปออกมาแล้วว่าแบ่งได้เป็น ๘ ชิ้น ได้แก่ “สมาธิราชสูตร” จำนวน ๒ ชิ้น “ปรวารณาสูตร” ๑ ชิ้น “อชาตศัตรุเกากฤตยวิโนทนสูตร” ๑ ชิ้น และอีก ๔ ชิ้น อยู่ในระหว่างการศึกษา

Dr. Martin Schøyen 
เป็นนักธุรกิจชาวนอร์เวย์ นักเดินทาง นักประวัติศาสตร์ และนักสะสม

https://www.ancient-origins.net/artifacts-ancient-writings
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ก็คือคัมภีร์ทั้ง ๔ ชิ้นนี้ล้วนเป็นส่วนเติมเต็มของ ๓ พระสูตรที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในเอกสารของ Schøyen Collection นั่นเอง อาทิ ในคัมภีร์สมาธิราชสูตรที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้รับมานั้น พบว่าเป็นลายมือเดียวกัน ชุดเดียวกันกับคัมภีร์ที่ Schøyen Collection มีอยู่ โดยที่คัมภีร์ที่ Schøyen Collection มีอยู่นั้นขาดเพียงบทที่ ๒๘ ไป ซึ่งเป็นส่วนที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้รับมาพอดี ทำให้นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่ตื่นเต้นกันมาก เพราะเท่ากับเป็นการเติมส่วนที่ขาดหายไปนานนั้นให้สมบูรณ์ ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าทางวิชาการอย่างมหาศาล เพราะทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขผลการศึกษาวิจัยที่ได้เคยวิเคราะห์ข้ามไปจากการวิจัยในครั้งแรก เนื่องจากมีชิ้นส่วนคัมภีร์ยังไม่ครบ ดังนั้นแล้วการได้พบคัมภีร์พุทธโบราณชุดของ DIRI Collection มาเพิ่มเติมในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีปริมาณเพียงน้อยชิ้น แต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะมาจากคัมภีร์เดียวกัน ลายมือเดียวกัน สามารถต่อเชื่อมความรู้ที่ขาดหายไปได้สนิท จึงสร้างความตื่นเต้นในวงวิชาการด้านนี้อย่างมาก ดังได้กล่าวแล้ว

ชิ้นส่วนหนึ่งของคัมภีร์สมาธิราชสูตร บทที่ ๒๗
(Braarvig 2002: plate VIII.3

ชิ้นส่วนหนึ่งของคัมภีร์สมาธิราชสูตรของ DIRI
บทที่ ๒๘
บางส่วนของคัมภีร์ปรวารณาสูตร
(Braarvig 2002 : plate IV)
ชิ้นส่วนคัมภีร์ปรวารณาสูตรของ DIRI

ในส่วนของคัมภีร์ “ปรวารณาสูตร” และ “อชาตศัตรุเกากฤตยวิโนทนสูตร” ก็เช่นเดียวกัน จากการศึกษาเปรียบเทียบกันทำให้พบว่าทั้ง ๒ ชิ้นที่ค้นพบนั้นล้วนเป็นคัมภีร์เดียวกัน ลายมือเดียวกันกับที่พบใน Schøyen Collection ที่ได้ศึกษามาแล้วอย่างชัดเจน ขณะที่คัมภีร์คันธารีที่ได้รับมา ๒ ชิ้นนั้น พบว่าชิ้นหนึ่งเขียนด้วยลายมือเดียวกันกับของ Schøyen Collection และเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงพุทธประวัติตอนตรัสรู้ธรรมกับตอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ขณะที่ในชิ้นอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่นั้นก็เป็นชิ้นที่ค้นพบใหม่ ยังไม่เคยมีการตีพิมพ์ใน Schøyen Collection แต่อย่างใด ซึ่งเมื่อมีการนำคัมภีร์ชิ้นดังกล่าวนี้มาศึกษาอย่างละเอียดเพิ่มเติมก็ทำให้พบว่า  คัมภีร์ชิ้นดังกล่าวมาจากพระสูตรที่ชื่อว่า “อุครปฤปริจฉาสูตร” หรือ พระสูตรสำคัญของมหายานที่ว่าด้วย “ข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์” ตั้งแต่ยังเป็นฆราวาสจนถึงออกบวช ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการค้นพบในต้นฉบับภาษาอินเดียมาก่อนเลย มีแต่เพียงที่เป็นฉบับแปลภาษาจีนหลายสำนวน ฉบับที่แปลเป็นภาษาธิเบต หรือเป็นเพียงข้อความภาษาสันสกฤตที่ถูกอ้างอิงไว้ในคัมภีร์สันสกฤตเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะที่เป็นท่อน ๆ ไม่ต่อกัน (เช่น ในคัมภีร์ศึกษาซูเจี๊ย และในคัมภีร์ทศภูมิกสูตร เป็นต้น)
Bamiyan Kharoṣṭhī Scribe 5
(Schøyen Fragments)

Bamiyan Kharoṣṭhī Scribe 5
(DIRI Fragment)
ชิ้นส่วนคัมภีร์คันธารีของอุครปฤปริจฉาสูตร ตอนที่ ๒๗ ศีลขันธ์อันบริสุทธิ์ของพระโพธิสัตว์ผู้ออกบวช
*เนื่องจาก Schøyen Fragments ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการจึงไม่สามารถแสดงเนื้อหาของภาพได้
กล่าวในส่วนของคัมภีร์คันธารีที่ได้ค้นพบใหม่ (New Collection) นั้น ก็ถือว่าเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งเช่นกัน เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของธรรมกายโดยตรง เนื่องจากเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระโดยตรง โดยปรากฏว่าบริเวณที่ค้นพบคัมภีร์ชิ้นนี้นั้น คือบริเวณตะเข็บรอยต่อระหว่างประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถาน คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่เขียนบนเปลือกไม้เบิร์ช ซึ่งเท่าที่ได้ตรวจอายุของคัมภีร์แล้ว พบว่ามีความเก่าแก่กว่าคัมภีร์ที่ค้นพบในบามิยันกว่า ๑-๒ ศตวรรษเลยทีเดียว ที่สำคัญที่สุดดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็คือเป็นพระสูตรที่ได้อธิบายถึง “การปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระ” โดยตรง ประกอบด้วย “ปรัตยุตปันนสมาธิสูตร” (การทำสมาธิของพระโพธิสัตว์บนพื้นฐานของศีลที่บริสุทธิ์ คุณธรรมที่บริบูรณ์ และการไม่ยึดมั่นในสิ่งใด) และ “สมาธิราชสูตร” (พระสูตรที่สอนเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิที่อธิบายประสบการณ์ภายในที่ใกล้เคียงกับคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย)³ อันเป็นการช่วยยืนยันให้เราได้รู้ว่าสมาธิแบบที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านสอนนั้นเป็นคำสอนที่เก่าแก่ของพระพุทธศาสนาจริง อย่างน้อยคัมภีร์สมาธิราชสูตรซึ่งมีความสอดคล้องกับสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านสอนนั้นก็มีอายุเก่าแก่จริงถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ (เทียบเท่า 16th - 18th century CE) เลยทีเดียว

ภาพแผนที่แสดงจุดที่พบคัมภีร์ DIRI Collection
อยู่ในเขตอัฟกานิสถาน
ภาพแผนที่แสดงจุดที่พบคัมภีร์ New Collection
อยู่ในเขตปากีสถานที่ติดชายแดนอัฟกานิสถาน
(บริเวณที่พบในกรอบเส้นสีแดง) 
ในขณะที่ในประเด็นของการทำงานร่วมกันกับโครงการอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์คันธารี (ซึ่งได้แก่นักวิชาการสายคันธารีที่มาจากหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อเมริกา และแคนาดา)    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะเอาคัมภีร์ที่ค้นพบในประเทศปากีสถานออกมาศึกษาให้มากที่สุด และเพื่อป้องกันการถูกทำลายของคัมภีร์พระพุทธศาสนาด้วย ทั้งนี้ในการศึกษาก็ต้องประกอบไปด้วยขั้นตอนหลายประการด้วยกันในการอนุรักษ์ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนมาก อาทิ การที่จะต้องพยายามให้ความชื้นที่พอเหมาะแก่คัมภีร์ที่มีความ “เก่ากรอบ” อย่างยิ่งให้สามารถคลี่ออกจนนำมาวางเรียงเป็นแผ่นบนกระจกใสได้ สามารถนำมาถ่ายเป็นภาพดิจิทัลที่ชัดเจน จนนำมาศึกษาได้ การทำโครงการนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกชาวท้องถิ่นที่มีความสนใจให้ช่วยกันศึกษาและอนุรักษ์ให้มากที่สุด เพื่อให้ชาวท้องถิ่นในประเทศดังกล่าวค่อย ๆ เห็นคุณค่าและเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากการที่คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ทุก ๆ ท่านที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทำงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธดั้งเดิม และได้สืบสานงานอนุรักษ์คัมภีร์มานี้ ต่างก็มีความรู้สึกร่วมกันอยู่เสมอว่าจำเป็นต้องมีการยกระดับในการพัฒนาทีมงานในทุก ๆ พื้นที่ให้มีศักยภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังต้องการการสนับสนุนและร่วมแรงร่วมใจจากลูกศิษย์หลานศิษย์ของมหาปูชนียาจารย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอด้วย (ทั้งในด้านทุน ทีมงาน และสถานที่ที่ใช้ในการศึกษาวิจัย) เพราะพันธกิจในการสืบค้นหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธดั้งเดิมนี้มีปริมณฑลที่กว้างขวางไปทั่วโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการต่อไปอีกอย่างยาวนาน ดังนั้นแล้วหากสาธุชนผู้เป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ในวิชชาธรรมกายท่านใดที่มีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมช่วยกันในการศึกษาค้นคว้าความรู้หลักฐานธรรมกายก็ขอให้มา หรือท่านใดประสงค์ที่จะเป็นกำลังสนับสนุนในด้านทุนการศึกษา ทุนการวิจัยค้นคว้า หรือต้องการสนับสนุนด้านสถานที่ ก็ยินดี เพื่อให้เป็นบุญของทุกคนทุกท่านร่วมกัน

อนึ่ง ในห้วงเวลานี้บุญใหญ่อีกประการหนึ่งที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยอยากจะขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนไปทั่วโลกก็คือ การสนับสนุน “โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย” (อบรมระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม - ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) ซึ่งเป็นโอกาสตักตวงบุญที่หาได้ยากให้แก่กุลบุตรและเยาวชนของเรา ทั้งนี้การสนับสนุนโครงการดี ๆ ให้เกิดขึ้นนี้ ในอีกทางหนึ่งก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหลานของเราได้ศึกษาธรรมปฏิบัติไปด้วยในตัว ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้าง “ประจักษ์พยาน” แห่งการเข้าถึงพระธรรมกายในรุ่นต่อไปให้เกิดขึ้น เป็น “หลักฐานธรรมกายที่มีชีวิต” ด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมหากุศล ท้ายที่สุดนี้ ขอให้บุญทุกบุญที่เกิดขึ้นนี้เป็นบุญที่แผ่ขยายไปยังทุก ๆ ท่าน ให้มีดวงตาเห็นธรรม มีดวงปัญญาอันสว่างไสว สมปรารถนาในการเข้าถึงพระธรรมกาย เพื่อจะได้ร่วมกันเป็นประจักษ์พยานแห่งการมีอยู่ของวิชชาธรรมกายที่ดีจริง เข้าถึงได้จริงโดยถ้วนทั่วกันเทอญฯ ขอเจริญพร

(อ่านต่อฉบับหน้า)
---------------------------------
¹โอวาทขององค์สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑
²พระวีรชัย เตชํกุโร นักวิจัยของสถาบันนานาชาติธรรมชัย (DIRI) กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ และใกล้จะสำเร็จการศึกษา
³ดูรายละเอียดใน : หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๔) ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๖๒

Cr. นวธรรมและคณะนักวิจัย (DIRI)

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๖ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***


คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/03/diri45.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านบทความหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ประจำเดือนของปี ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๕) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๕) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.