หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๓)


ธรรมยาตราบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ถึงธรรมจาริกบนเส้นทางพุทธโบราณ

ดูเหมือนว่าสังคมไทยปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ได้เปลี่ยนแปลงค่านิยมในทิศทางใหม่ไปแล้วจากเดิมที่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เคยเป็นช่วงดื่มเหล้าเมาสุรา ก่อให้เกิดอุบัติเหตุคร่าชีวิตและทำให้คนพิกลพิการไปมากต่อมาก แต่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปีนี้ กลับเกิดนิมิตหมายใหม่ที่น่ายินดีและควรชื่นชมคนไทย กล่าวคือทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้คนไทยทั้งประเทศและทั่วโลกรับรู้ว่า เหล่าพุทธศาสนิกชนไทยได้ร่วมสวดมนต์ข้ามปีกันมากถึง ๒๑.๙ ล้านคน ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นปีที่น่าสรรเสริญและอนุโมทนาว่า เรามีการตื่นตัวในการทำความดีกันมาก ถือว่าเป็นการออกแบบชีวิตที่งดงามให้แก่ตนเองตั้งแต่ต้นปี ให้เป็น “ชีวิตที่มีรัศมี” ที่เปี่ยมด้วยบารมี มีความสว่างไสวรอบกายทั่วทุกทิศทุกทาง



สำหรับพวกเราเหล่าลูกหลานหลวงปู่วัดปากน้ำหรือพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย นอกจากได้ร่วมกันออกแบบชีวิตที่งดงามตั้งแต่ต้นปีด้วยการสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนาข้ามปีแล้ว ยังได้ออกแบบชีวิตให้พิเศษออกไปด้วยการร่วมกิจกรรมธรรมยาตรากันจนมาถึงปีที่ ๗ ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันประกาศคุณงามความดีของหลวงปู่ที่ท่านทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการปฏิบัติธรรมจนค้นพบวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นคำสอนดั้งเดิมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาอีกครั้ง วิชชาธรรมกายนี้เป็นวิชชาความรู้ที่จะช่วยให้ชาวโลกได้เข้าถึงความสุขและสันติภาพภายในอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ กิจกรรมธรรมยาตรายังมีความสำคัญต่อการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วย เพราะระหว่างการจาริกตามเส้นทางมหาปูชนียาจารย์นั้น คณะพระธรรมยาตราได้เป็นผู้นำในการบำรุงวัดต่าง ๆ ตามเส้นทางฯ ให้มีความสะอาด เป็นระเบียบ เป็นการนำความดีสากลเข้าไปใช้กับวัดและชุมชน เพื่อให้วัดเป็นสถานที่สัปปายะร่มรื่นพร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิจกรรมธรรมยาตราจึงถือว่าเป็นกิจกรรมบุญที่ก่อให้เกิดความสามัคคีกันในการบำรุงวัดและชุมชนจากทั้งฝ่ายบ้าน วัด และโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาวัดที่ยั่งยืน และเป็นที่น่ายินดีว่ากิจกรรมธรรมยาตรานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น กิจกรรมบุญดี ๆ อย่างนี้ได้เกิดขึ้นในประเทศอินเดียดินแดนพุทธภูมิด้วย โดยทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (ดีรี) ได้ส่งทีมพระลูกชายของหลวงพ่อธัมมชโยไปร่วมเดินธุดงค์ธรรมยาตราตามเส้นทาง ๔ สังเวชนียสถานเป็นปีที่ ๓ แล้วในครั้งนี้ กิจกรรมธรรมยาตราดังกล่าวนี้เป็นการเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดาและปฏิบัติบูชาคุณท่าน แม้เส้นทางธรรมยาตราในประเทศอินเดียและพื้นที่ของเนปาลในส่วนของสวนลุมพินีนั้นค่อนข้างทุรกันดารอยู่มาก พระภิกษุสงฆ์ต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่หนาวเย็น ตัวเลขององศาเพียงหลักเดียว สภาพอาหารการกินที่รสชาติไม่คุ้นเคยและไม่เพียบพร้อมอย่างที่มีในประเทศไทยเป็นเวลานานถึง ๓ เดือน แต่ด้วยหัวใจศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องการปฏิบัติบูชาคุณองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและโปรดผู้คนตามเส้นทางที่เดินผ่าน อุปสรรคที่ว่าจึงไม่ใช่สาระสำคัญที่จะมาขัดขวางกิจกรรมธรรมยาตราของท่านพุทธบุตรเหล่านี้ได้



อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปแสวงบุญยังสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนั้น หากจะให้ได้ทั้งบุญบารมีและความรู้ความเข้าใจในสถานที่อย่างถ่องแท้แล้ว การได้ผู้รู้อย่างนักวิชาการด้านพุทธศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรยายให้ความรู้หรือสนับสนุนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพุทธสถานในอินเดียและเนปาลก็เป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นเมื่อกิจกรรมธรรมยาตราในครั้งนี้สิ้นสุดลง ทางสถาบันฯ จึงมอบหมายให้พระใบฎีกาอดุลย์ จันทูปโม หนึ่งในทีมพระธรรมยาตราเดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัยมุมไบ เพื่อไปพบกับ ดร.โยชนา ภาคัต (Yojana Bhagat) และทีมงาน ซึ่งทางสถาบันฯ ได้ร่วมเซ็นสัญญาความร่วมมือทางวิชาการไว้ก่อนหน้านี้ และร่วมดำเนินงานกันมาอย่างตลอดต่อเนื่องในทุก ๆ ปี เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายด้านงานวิชาการและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกันยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่ง ดร.โยชนานั้น ท่านเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องอีกท่านหนึ่ง เนื่องจากท่านและสามีคือคุณสัญชัย ชัมภุลการ (Sanjay Jambhulkar) ได้ทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการลงพื้นที่เก็บรวบรวมจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชในทุกพื้นที่ของประเทศอินเดียด้วยภาพถ่าย เพื่อนำมาปริวรรตและแปลความเพื่อเผยแผ่ความรู้อันทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ โดยมีเพียงมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะในการเดินทางลงพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรในแต่ละครั้ง ดร.โยชนาเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีมโนปณิธานที่จะรักษาและสืบทอดคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการอนุรักษ์และสืบทอดภาษาบาลี ท่านจึงจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีขึ้น โดยไม่ได้เปิดรับเฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้เข้ามาเรียนเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจภาษาโบราณนี้ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาด้วย โดยเปิดเป็นคลาสเรียนตลอดสัปดาห์และในภาคค่ำของวันเสาร์อาทิตย์ด้วย เพื่อให้โอกาสแก่ผู้คนทุกสาขาอาชีพจัดสรรเวลามาเรียนได้ ซึ่งนักศึกษาดังกล่าวนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ คนในทุก ๆ ปี และที่สำคัญทางภาควิชาฯ ได้จัดให้มีการทำเวิร์กช็อปอักษรพราหมและภาษาบาลีเพื่อรองรับการปริวรรตและแปลความจากจารึกโบราณด้วย และยังจัดให้นักศึกษามีโอกาสลงไปสำรวจพื้นที่จารึกสำคัญ ๆ กันทุกปี โดยทางสถาบันวิจัยฯ ส่งทีมงานบางส่วนไปเข้าร่วมเวิร์กช็อป ลงพื้นที่เพื่อสำรวจ และเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยด้วย



ดร.โยชนา ภาคัต (Yojana Bhagat)



ทีมงานนักวิจัยสถาบัน DIRI และ ดร.โยชนา ภาคัต (Yojana Bhagat)




การทำเวิร์คช็อปอักษรพราหมีและภาษาบาลี

และในปีนี้ ดร.โยชนา มีโครงการที่จะเปิดเว็บไซต์ข้อมูลพุทธสถานที่ตนและทีมงานได้ศึกษาค้นคว้ามาในวันคล้ายวันเกิดของเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮมคือ วันที่ ๒๓ มกราคม นี้ ทั้งนี้เพราะท่านเซอร์คันนิงแฮมเป็นบุคคลแรกที่ทำการบุกเบิกและหาทุนในการสำรวจและขุดค้นหาแหล่งโบราณสถานในประเทศอินเดีย โดยการสืบหาร่องรอยเมืองโบราณต่าง ๆ จากบันทึกของพระเสวียนจั้งและพระฟาเหียน ทำให้สามารถค้นพบโบราณสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนามากมาย เช่น สาญจี สารนาถ โกสัมพี เวสาลี ตักศิลา สาวัตถี นาลันทา และสังกัสสะอันเป็นเมืองที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์หลังจากทรงแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาและทรงเปิดโลก เป็นต้น จนท่านได้รับสมญานามว่าเป็น “บิดาแห่งการสำรวจโบราณคดีอินเดีย” เซอร์คันนิงแฮมได้จัดทำรายงานการสำรวจทางโบราณคดีในอินเดียขึ้นมาถึง ๒๔ ฉบับ และเขียนหนังสือทางโบราณคดีในอินเดียขึ้นมาถึง ๑๓ เล่ม ซึ่งงานประพันธ์ของท่านครอบคลุมถึงโบราณคดีทางพระพุทธศาสนาด้วย ท่านจึงเป็นผู้จุดประกายของงานวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในพระพุทธศาสนา ทำให้เรื่องราวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ได้รับการเผยแผ่ออกไปในวงวิชาการอย่างกว้างขวางจนกระทั่งมีการเปิดการศึกษาด้านพุทธศาสตร์ศึกษากันในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้นเซอร์คันนิงแฮมจึงเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีคุณูปการต่อชาวพุทธทั่วโลกที่ควรจะได้รับการเชิดชูคุณงามความดี ดังนั้นทางสถาบันวิจัยฯ จึงสนับสนุนการจัดทำเว็บไซต์นี้ และในขณะเดียวกันก็ได้สนับสนุนการจัดงานสัมมนาภาษาโบราณมาระคีและพราหมีของ ดร.โยชนาและทีมงานด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้รับทั้งความรู้ด้านภาษาโบราณและมีโอกาสศึกษาเส้นทางอันเก่าแก่จากมุมไบไปจนถึงถ้ำอชันตา ทำให้ได้พบว่า บนเส้นทางสายนี้มิใช่จะเป็นเพียงถนนสายการค้าที่สำคัญในอดีตเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในอดีตที่ยังคงมีหลักฐานปรากฏอยู่ตามถ้ำจำนวนมากที่เรียงรายอยู่ตลอดเส้นทาง และแน่นอนว่าทางสถาบันวิจัยฯ ก็ได้จัดส่งตัวแทนเข้าร่วมในการศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ด้วย
เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham)
(๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๑๔ ถึง ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๓) เป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษ
เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายพลและวิศวกรแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร
และเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ “บิดาแห่งการสำรวจโบราณคดีอินเดีย”

สำหรับผู้เขียนแล้ว เมื่อได้มีประสบการณ์การทำงานและพบปะกับบัณฑิตนักปราชญ์ผู้รู้ในวงวิชาการด้านนี้มากขึ้น ก็ได้เห็นว่าท่านเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดหรือมาจากไหน ทุกท่านต่างก็มีความรักและต้องการที่จะเชิดชูพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น แต่ละท่านต่างทุ่มเท อดทน มีความพากเพียรวิริยอุตสาหะที่จะศึกษาชิ้นส่วนจารึกแต่ละแผ่นที่แม้จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเพียงความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ความรู้นั้นกลับเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มความรู้ส่วนอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา ทำให้คำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดความชัดแจ้งและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประดุจเป็นชิ้นส่วนของจิกซอว์ที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันและจำเป็นที่จะต้องต่อเข้าด้วยกันจนครบทุกชิ้น ภาพนั้นจึงจะออกมาสมบูรณ์ได้ และการที่ดร.โยชนาและทีมงานได้แสดงความกตัญญูยกย่องสรรเสริญต่อท่านเซอร์คันนิงแฮม ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี ถือได้ว่าท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณธรรมความกตัญญูที่เราควรนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะความกตัญญูนั้นจะนำเราไปสู่หนทางแห่งปัญญาได้ ดังพระบาลีที่ว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา” แปลว่า “ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี”

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขออาราธนาบุญบารมีของพระนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ และมหาปูชนียาจารย์วิชชาธรรมกายทุก ๆ ท่านได้ปกป้องคุ้มครองลูกหลานนักสร้างบารมีทุก ๆ คน ให้เป็นผู้มีความกตัญญูอย่างเต็มเปี่ยมในการสร้างบารมี มีดวงปัญญาที่สว่างไสวในการศึกษาและค้นพบความรู้ที่ถูกต้องจริงแท้ของพระพุทธศาสนาตลอดกาลนานเทอญฯ

Cr. นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/02/blog-post_59.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านบทความหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ประจำเดือนของปี ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปีได้ที่นี่
อยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๑           อยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๒
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๓) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๓) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:04 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.