หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๒)



พรปีใหม่ : การก้าวผ่านอุปสรรคด้วยใจที่ผ่องใส คือ ความสําเร็จของการสร้างบารมี

และแล้ว ปีใหม่ศักราชใหม่ก็มาถึงอีกครั้ง ถือเป็นโอกาสที่ดีของเราที่จะได้สั่งสมบุญสร้างบารมีให้มากขึ้นกว่าเดิม เป็นโอกาสที่จะได้สร้างเสริมมโนปณิธานของเราให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมว่าหน้าที่ที่แท้จริงของเราก็คือการสั่งสมบุญ สร้างบารมี ดังเช่นที่มหาปูชนียาจารย์ของเราทุก ๆ ท่านได้ถ่ายทอดและปฏิบัติให้เราเห็นเป็นตัวอย่างสืบมา ซึ่งไม่ว่าเส้นทางในชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม หรือเราจะต้องผ่านปัญหาอุปสรรคมาอย่างไรก็ตาม การสั่งสมบุญสร้างบารมี ก็จะยังคงเป็นภารกิจหน้าที่ของเราต่อไป ให้บุญบารมีของเรานั้นได้เพิ่มพูนมากขึ้นยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ก็เป็นที่น่าปลื้มใจว่า “นักสร้างบารมี” ทุก ๆ ท่านต่างก็ทุ่มเทในการสั่งสมบุญสร้างบารมีกันอย่างเต็มที่เต็มกําลังไม่เคยเปลี่ยนแปลงควรค่ายิ่งต่อการอนุโมทนา

สําหรับสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เอง ก็เช่นเดียวกัน จากภารกิจหลักที่ได้ร่วมทํากันมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี คือ การศึกษาสืบค้นหลักฐานธรรมกายทั่วโลก ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาได้ถูกนํามาสรุปไว้เป็น ๔ ด้านด้วยกัน คือ ๑) การพัฒนาปรับปรุงอาคาร ๒) การพัฒนาด้านการวิจัย ๓) การพัฒนาด้านการเผยแผ่ และ ๔) การพัฒนาด้านบุคลากร ทั้งนี้ก็เพื่อให้การทํางาน การสืบสานภารกิจในการศึกษาสืบค้นหลักฐานธรรมกายที่ดําเนินการมานั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ความสําเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปด้วยดียิ่งกว่าที่ได้ปฏิบัติมา ซึ่งในตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา สถาบันฯ ก็ได้ดําเนินการในการพัฒนาทั้ง ๔ ด้านเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดเป็นความสําเร็จควบคู่กันไปทั้งในแง่ของการบรรลุเป้าหมาย

ในที่นี้ หากกล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาปรับปรุงอาคารนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารสํานักงานใหญ่ของสถาบันฯ และใช้ในการประชุมการจัดกิจกรรมทางวิชาการ ตลอดจนกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ และการฝึกอบรมสมาธิเป็นต้น ซึ่งในระยะที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดงานบุญวันอาทิตย์ต้นเดือน งานบุญกฐิน จัดการบรรยายให้ความรู้แก่นักวิจัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่นักวิจัยจากประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ เป็นต้น จัดอบรมการฝึกสมาธิเบื้องต้นแก่นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ซึ่งนับว่าประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี


จัดงานบุญวันอาทิตย์ต้นเดือน งานบุญกฐิน


จัดอบรมการฝึกสมาธิเบื้องต้นแก่นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยโอทาโก


จัดการบรรยายให้ความรู้แก่นักวิจัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่นักวิจัยจากประเทศต่าง ๆ

ในด้านการพัฒนางานวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักของสถาบันฯ นั้น ในปีที่ผ่านมาก็มีความคืบหน้าไปมาก โดยสถาบันฯ ได้ทําข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันในหลายมิติ ทําให้มีนักวิชาการในระดับโลกหลายท่านได้เข้ามาสนับสนุนและร่วมให้คําปรึกษาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อาทิ Dr. Garry W. Trompf ศาสตราจารย์พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ออสเตรเลีย, Dr. Richard G. Salomon ศาสตราจารย์พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน, Dr. Jens Braarvig ศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศนอร์เวย์, Dr. Edward F. Crangle ผู้เชี่ยวชาญด้านสมาธิทางพระพุทธศาสนาเพื่อการเยียวยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย, Dr. Arvind Kumar Singh ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาและอารยธรรมแห่งมหาวิทยาลัย Gautam Buddha ประเทศอินเดีย เป็นต้น ซึ่งท่านเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่จะเอื้ออํานวยประโยชน์ต่อการสร้างความเข้มแข็งในการศึกษา สืบค้น รวบรวมเรื่องราวหลักฐานธรรมกายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งในอนาคตด้วย


Dr. Garry W. Trompf


Dr. Richard G. Salomon


Dr. Jens Braarvig


Dr. Edward F. Crangle

ส่วนในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและการพัฒนาชิ้นงานวิจัยนั้น สถาบันฯ ก็ได้ดําเนินการคู่ขนานกันมาโดยตลอดเช่นกัน ทําให้เกิดชิ้นงานวิจัยที่มีความสมบูรณ์และกว้างขวางมากขึ้นโดยลําดับเช่น “ร่องรอยธรรมกายในคันธาระและเอเชียกลาง”, “ธรรมกายในคัมภีร์มหาปรินิรวาณสูตร : คัมภีร์ต้นฉบับในพระพุทธศาสนายุคต้น”, “ชิ้นส่วนคัมภีร์บามิยันของดีรี (DIRI), “รายงานเนื้อหาเบื้องต้นจากชิ้นส่วนของคัมภีร์บามิยัน : สมาธิราชสูตร”, “ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับคัมภีร์ชุดธรรมกาย และที่บันทึกคําว่า “ธรรมกาย” ในคู่มือปฏิบัติสมาธิไทย- ขอมที่สําคัญ ๆ”¹ และการนําเสนองานเรื่อง “การทําพระพุทธเจ้าให้คงอยู่” ฯลฯ (และยังมีอีกหลายชิ้นที่อยู่ในระหว่างการศึกษารวบรวม) ซึ่งชิ้นงานวิชาการเหล่านี้ล้วนเป็นชิ้นงานที่ต้องผ่านการทํางานศึกษา ถอดความ และปริวรรต ตลอดจนวิเคราะห์ถึงความถูกต้องสมบูรณ์มาเป็นเวลานาน ต้องใช้ความวิริยอุตสาหะของผู้ทรงคุณวุฒิและตัวนักวิจัยเอง (รวมทั้งท่านผู้รู้อีกหลายฝ่าย) ในการร่วมกันปฏิบัติงานมาอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นการ “สร้างบารมี” ที่ยิ่งยวดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกายโดยตรง ซึ่งให้ผลานิสงส์อันไพศาล


ชิ้นส่วนคัมภีร์บามิยันของดีรี (DIRI)

อย่างไรก็ดีสําหรับผู้เขียนแล้วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทํางานวิชาการ (ทั้งหมดเท่าที่ได้กล่าวมานี้) หรือไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมบารมีด้านอื่น ๆ ก็ดีนั้นก็ล้วนแต่ต้องใช้ความอดทนความอุตสาหะพยายามไม่น้อยไปกว่ากันทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพราะกว่าที่เราจะสามารถสั่งสมบุญจนเข้มข้นกลั่นตัวเป็นบารมีได้นั้น แต่ละคนแต่ละท่านต่างก็ต้องพยายาม “ก้าวผ่านอุปสรรค” ที่ยากและแตกต่างกันมาแล้วทั้งสิ้น หากแต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ “เป้าหมาย” ที่นักสร้างบารมีทุก ๆ ท่านได้ประคับประคองอยู่นั้นล้วนแต่เป็นเป้าหมายอันเดียวกันคือ “การมุ่งสร้างสันติสุขอันไพบูลย์แก่โลกและตนเอง” “การนําพาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ให้ก้าวพ้นวัฏสงสารและไปถึงที่สุดแห่งธรรมในที่สุด” ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ว่านักสร้างบารมีท่านใดที่เดินอยู่บน “เส้นทางแห่งความสุข” นี้ก็นับว่าเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การได้รับกําลังใจดุจเดียวกัน ให้สามารถสร้างบารมีด้วยดวงใจที่ใส ๆ ได้ตลอดทางเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความสําเร็จที่แท้จริงในการสร้างบารมี

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขออาราธนาบารมีพระนิพพาน บารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ ตลอดจนบารมีของมหาปูชนียาจารย์ในวิชชาธรรมกายทุก ๆ ท่าน ได้โปรดปกป้องคุ้มครองลูกหลานนักสร้างบารมีทุก ๆ ท่านให้เป็นผู้มีความองอาจแกล้วกล้าในการสร้างบารมี สําเร็จสมบูรณ์ในสิ่งที่ปรารถนาที่ดีงามทุกประการ ขอให้บริษัทบริวารอยู่เย็นเป็นสุข เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและสามารถก้าวพ้นอุปสรรคในการสั่งสมบุญสร้างบารมีได้อย่างง่ายดาย มีจิตใจที่ผ่องใสและประสบความสุขสวัสดีตลอดปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๒ และตลอดไปเป็นนิจเทอญ

❧...พรปีใหม่...☙

วันเดือนปีเคลื่อนไปทําให้นึก

หวนรําลึกถึงวันที่ผ่านผัน

เราได้สร้างบารมีมาร่วมกัน

ร่วมสานฝันพระพ่อเติมต่องาน

ร่วมสืบค้นแหล่งข้อมูลธรรมกาย

มารวบรวมเอาไว้เป็นหลักฐาน

ร่วมเสาะหาต้นเค้าคัมภีร์โบราณ

รวบรวมแหล่งใบลานแต่ก่อนมา

เพื่อบ่งชี้การเกิดกายตรัสรู้

ให้ลูกหลานได้ดูได้ศึกษา

การมีอยู่ของกายธรรมกลางกายา

เพื่อให้ชนทั่วหล้าได้เข้าใจ

ขอผลบุญส่งให้ปีใหม่นี้

ให้พวกเราจงมีจิตสดใส

สงบนิ่งดิ่งกลางสู่ภายใน

สว่างไสวจนถึงจุดสุดแห่งธรรม
-----------------------------------------------

ด้วยความปรารถนาดีเนื่องในวันปีใหม่ ๒๕๖๒..
คณะทํางานวิจัยสถาบันDIRI”

-------------------------------------------
¹ งานนําเสนอเรื่อง “ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับคัมภีร์ชุดธรรมกาย และที่บันทึกคําว่า “ธรรมกาย” ในคู่มือปฏิบัติสมาธิ ไทย-ขอมที่สําคัญๆ” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาคัมภีร์พุทธโบราณในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ในโอกาสการเปิดอาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ที่มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์โดยDR.ELIZABETH GUTHRIE ผู้วิจัย ได้ระบุไว้ด้วยว่า “ธรรมกาย”เป็นกุญแจสําคัญในหนังสือปฏิบัติสมาธิของเขมรโบราณที่มีความสําคัญต่อการตรัสรู้ธรรม แต่ในปัจจุบัน คําคํานี้กลับถูกลืมเลือนไป...”

Cr. นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๓ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/01/blog-post_78.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๓ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านบทความหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ประจำเดือนของปี ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปีได้ที่นี่
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๒) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ  (ตอนที่ ๔๒) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.