ความหมายของ กาย ในคำว่า ธรรมกาย (ตอนที่ ๔)


๓. มหาปชาบดีโคตมีเถรีอปทาน : ธรรมกายกับอริยสาวก

นอกจากธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ในพระไตรปิฎกบาลียังกล่าวถึงธรรมกายของพระพุทธสาวกด้วย ดังที่ปรากฏในมหาปชาบดีโคตมีเถรีอปทาน อันเป็นถ้อยคำที่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีกราบทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเสด็จปรินิพพาน

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี คือพระมาตุจฉาผู้เป็นประดุจพระมารดาที่ทรงเลี้ยงดูเจ้าชาย  สิทธัตถะมาตั้งแต่แรกประสูติ และในภายหลังที่พระบรมโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระมหาปชาบดีโคตมีได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตออกผนวชด้วย โดยเป็นภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา และได้ตรัสรู้ธรรมเป็น    พระอรหันตเถรีองค์หนึ่ง

ข้อความที่ท่านกราบทูลพระบรมศาสดานั้น มีคำว่า ธรรมกายอยู่ด้วย ดังนี้

ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่  พระโคดมผู้เป็นที่พึ่ง ผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ให้เกิดแล้ว

ข้าแต่พระสุคต พระรูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้เลี้ยงดูให้เติบโต ส่วน ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน พระองค์ทรงทำให้เติบโตแล้ว

หม่อมฉันได้ถวายพระกษีรธารแด่พระองค์เพียงระงับดับกระหายได้ชั่วครู่ แต่พระองค์ทรงประทานกษีรธารคือธรรมอันสงบระงับอย่างยิ่งแก่หม่อมฉัน
(แปลจากพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ เล่ม ๓๓  ข้อ ๑๕๗ หน้า ๒๘๔)

ในถ้อยคำนี้ พระเถรีทรงเปรียบเทียบการที่ท่านเองเป็น มารดาในทางโลกของพระพุทธองค์ กับการที่พระพุทธองค์ทรงเป็น พระบิดาโดยธรรมของท่าน เนื้อความมีนัยที่น่าสนใจอยู่หลายประการ คือ

๑. ข้อความว่า หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ให้เกิดแล้วแสดงถึงการที่ท่านได้บรรลุโลกุตตรธรรมเป็นอริยบุคคล ซึ่งนับเป็นการ เกิดใหม่ตามหลักการของพระพุทธศาสนา

๒. ข้อความว่า ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลินบ่งบอกว่า ธรรมกายนำความสุขมาให้  คำว่า น่าเพลิดเพลินมาจากศัพท์บาลี อานนฺทิโย แต่พระไตรปิฎกบางฉบับก็ใช้คำว่า อนินฺทิโต หรือ อนินฺทิโย แทน แปลว่า ไม่มีที่ติซึ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติอันดีและงามพร้อมของธรรมกายเช่นเดียวกัน

๓. ข้อความว่า “(ธรรมกาย) ของหม่อมฉันบ่งบอกว่าท่านได้เข้าถึงและเป็นเจ้าของธรรมกาย ซึ่งได้มาเป็นตัวตนใหม่ (new identity) ที่จริงมากกว่าของท่าน แทนพระรูปหยาบเดิม และยังบ่งบอกด้วยว่า ไม่เพียงแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น แม้พระอริยสาวกก็มีธรรมกายเช่นกัน... ข้อความนี้จึงบอกความหมายของธรรมกายชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเป็น กายแห่งการตรัสรู้ธรรม และมิใช่คำสอน ทั้งนี้เพราะคำสอนเป็นของพระพุทธองค์เท่านั้น

๔. ข้อความว่า “(ธรรมกายของหม่อมฉัน) อันพระองค์ให้เติบโตแล้วบ่งบอกว่า ธรรมกายมีหลายระดับ และอาจพัฒนา (เติบโต) จากระดับ  เบื้องต้นไปถึงระดับสูงสุดได้

คำว่า ธรรมกายที่พบในมหาปชาบดีเถรีอปทาน จึงตอกย้ำความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลีให้หนักแน่นขึ้นว่า สอดคล้องตรงกันกับธรรมกายในหลักการของวิชชาธรรมกายที่สอนโดยพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีนั่นเอง

๔. ธรรมกายกับพระพุทธเจ้าในอดีต

หลักฐานของคำว่า ธรรมกายชิ้นสุดท้ายในพระไตรปิฎกบาลี พบในคัมภีร์เถราปทาน เป็นข้อความที่พระเถระนามว่า อัตถสันทัสสกะ กล่าวถึงการสร้างบุญในอดีตชาติของท่าน เมื่อยังเป็น  นารทพราหมณ์ โดยได้แสดงความเคารพและกล่าวคาถาสรรเสริญคุณพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏคำว่า ธรรมกาย ในคาถาด้วย ดังนี้

ในเหล่ามนุษย์และเทวาจะหาผู้ที่เสมอเหมือนพระองค์ด้วยญาณเป็นไม่มี ใครเล่าเห็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระญาณไม่สิ้นสุดนั้นแล้วจะไม่เลื่อมใส?

ใคร ๆ ไม่อาจทำให้พระองค์ผู้ทรงมีธรรมเป็นกาย ผู้ทรงแสดงอยู่ซึ่งบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้นให้พิโรธได้ ใครเล่าเห็นพระองค์แล้วจะไม่เลื่อมใส?
(แปลจากพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ เล่ม ๓๒ ข้อ ๑๓๙ หน้า ๒๔๓-๒๔๔)

ในข้อความที่ยกมานี้ คำว่า ธรรมกายปรากฏในย่อหน้าสุดท้าย ในข้อความที่ขีดเส้นใต้ ซึ่งเป็นจุดที่มีเนื้อหากำกวมที่สุด เพราะแปลได้หลากหลายนัยอันเนื่องมาจากโครงสร้างของรูปประโยคบาลี ว่า ธมฺมกายญฺจ ทีเปนฺตํ เกวลํ รตนากรํซึ่งอาจแปลได้อย่างน้อย ๓ แบบ ดังนี้

๑. พระองค์ผู้ทรงแสดงอยู่ซึ่งธรรมกาย อันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้นซึ่งเป็นแบบที่นิยมแปลตาม ๆ กันมา

๒. พระองค์ผู้ทรงมีธรรมเป็นกาย (ผู้) ทรงส่องความสว่างไสวไปทั่ว ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งหลาย

๓. พระองค์ผู้ทรงมีธรรมเป็นกาย ผู้ทรงแสดงอยู่ซึ่งบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้นแบบที่แปลไว้เป็นตัวอย่างข้างต้น

เมื่อมารวมกับความหมายที่หลากหลายของศัพท์ว่า รตนากร” (บ่อเกิดแห่งรัตนะ) จึงทำให้การตีความคำว่า ธรรมกายพลอยหลากหลายไปด้วย

ในการแปลสองสำนวนแรกนั้น คำว่า      ธรรมกาย หมายถึงสิ่งเดียวกันกับ บ่อเกิดแห่งรัตนะ” (รตนากร) ซึ่งในสำนวนแรก อาจตีความว่าหมายถึง พระธรรมวินัย คือคำสอนของพระพุทธองค์ ดังที่พบในอปทานของพระอุบาลีก็ได้ ส่วนในสำนวนที่สอง หมายถึงพระพุทธองค์เอง ดังที่พบในอปทานของพระเสลเถระ

และในสำนวนแปลที่สามนั้น คำว่า ธรรมกายหมายถึง พระพุทธองค์ ส่วน บ่อเกิดแห่งรัตนะหมายถึงพระธรรมวินัย

ข้อมูลที่ปรากฏในตัวคัมภีร์อปทานเอง ดูจะไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะช่วยให้ตัดสินได้เด็ดขาดมากไปกว่านี้ ว่าควรตีความอย่างไร ดังนั้น  หลักฐานชิ้นที่ ๔ ของคำว่า ธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี จึงดูจะยังเปิดช่องว่างให้มีการตีความคำว่า ธรรมกายได้แตกต่างออกไป

อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงภาพรวมทั้งหมดของหลักฐานคำว่า ธรรมกายทั้ง ๔ แห่ง ตั้งแต่อัคคัญญสูตรมาจนถึงหลักฐานชิ้นสุดท้ายนี้แล้ว คงยากที่จะปฏิเสธว่า คำว่า ธรรมกายที่พบในพระไตรปิฎกบาลี ใช้ในความหมายของ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมมากกว่า และชัดเจนกว่า ส่วนในความหมายว่า พระธรรมวินัยหรือคำสอนของพระพุทธองค์นั้น กลับยังเป็นที่กังขา ไม่อาจตัดสินได้เด็ดขาดแต่อย่างใด

ในสายตาของชาวพุทธเถรวาทยุคต้น จึงยังคงมอง ธรรมกาย ว่าหมายถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรม เป็นกายที่เข้าถึงได้ เป็นเจ้าของได้ และเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ที่เข้าถึงให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นได้ นำมาพร้อมซึ่งคุณธรรม คุณสมบัติ คุณวิเศษ รวมทั้งความสุขอันไม่มีประมาณที่ไม่อาจหาได้จากที่อื่นใดในโลก นำพาให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นในขันธ์ ๕ อันเป็นตัวตนจอมปลอมที่  หลอกลวงมนุษย์ให้ยึดถือกันอยู่อย่างเหนียวแน่น จึงไม่น่าแปลกใจที่อรรถกถาพระบาลีได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระธรรมกายไว้มากมาย ทั้งยัง แสดงความหมายของธรรมกายว่า คือ โลกุตตรธรรม ที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่จะมองเห็นได้ด้วยดวงตาแห่งธรรม

เมื่อได้ศึกษาความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี ซึ่งมาพ้องตรงกันกับหลักการในวิชชาธรรมกายอย่างแจ่มชัดแล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกยินดีกับพี่น้องนักสร้างบารมีที่ได้มารู้จักและฝากตัวเป็นศิษย์ของมหาปูชนียาจารย์ผู้เลิศ และได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของท่าน อันเป็นหนทางนำไปสู่ความรู้แจ้งอย่างแท้จริง..

Cr. ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๐ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ 
ความหมายของ กาย ในคำว่า ธรรมกาย (ตอนที่ ๔) ความหมายของ กาย ในคำว่า ธรรมกาย (ตอนที่ ๔)  Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.