ความหมายของ ธรรม ในคำว่า ธรรมกาย (ตอนที่ ๒)
ประเด็นแรก คือ คุณสมบัติของ “บุตรที่แท้จริงของพระพุทธองค์”
นั้น ท่านระบุว่า เป็นผู้มีศรัทธาที่มั่นคง หยั่งรากลึก ในระดับที่
สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่อาจทำให้กลับกลายได้...
ศรัทธาในระดับนี้ เรียกว่า “อจลศรัทธา” คือศรัทธาที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้
ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของ
อริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไป ผู้ได้กำจัดกิเลสประเภท “วิจิกิจฉา”
คือความลังเลสงสัยให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิงแล้ว หาใช่ใครก็ได้ที่เรียกตัวเองว่า “ชาวพุทธ”
เท่านั้น
การที่พระอริยบุคคลมีศรัทธามั่นคงใน พระรัตนตรัย
โดยไม่มีอะไรทำให้กลับกลายได้นั้น เป็นเพราะได้มีดวงตาเห็นธรรม
ได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมอย่างถ่องแท้ด้วยตนเองแล้ว จึงหมดสงสัย มีความเชื่อมั่นและอาจหาญในธรรม
ไม่ต้องพึ่งพาความมั่นใจจากผู้ใดอีกต่อไป ดังที่ท่านบรรยายไว้หลายแห่งในพระไตรปิฎก
“เขาได้เห็นธรรม บรรลุธรรม
รู้แจ่มแจ้งในธรรม หยั่งลงในธรรมแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว จึงหมดคำถาม
เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระบรมศาสดา”
ประเด็นที่สอง คือ ความหมายของคำว่า “ธรรม”
ในข้อความต่อไปนี้
“(อริยสาวกเป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า) เป็นผู้เกิดจากธรรม เป็นผู้ที่ธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทแห่งธรรม” ทั้งนี้
เพราะอะไร เพราะ คำว่า ธรรมกาย พรหมกาย
ธรรมภูต หรือ พรหมภูต ก็ตาม ล้วนเป็นชื่อของตถาคต”...
(สรุปและแปลอย่างง่าย จากอัคคัญญสูตร
พระไตรปิฎก บาลีสยามรัฐ เล่มที่ ๑๑ ข้อ ๕๕ หน้า ๙๒)
พระดำรัสที่ตรัสต่อเนื่องมาเป็นประโยคเหตุผลแบบนี้
เป็นตัวบังคับว่า คำว่า ธรรม ในข้อความทั้ง ๕ นี้ ใช้ในความหมายแบบเดียวกัน
และหมายถึงผู้ให้กำเนิด
และเมื่ออ่านข้อความว่า “เป็นบุตร เกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอษฐ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า” ที่นำหน้ามาด้วยแล้ว ก็ชวนให้คิดว่า
คำว่า ธรรม ในข้อความทั้ง ๕ นี้ ซึ่งรวมถึงในคำว่า ธรรมกาย ด้วยนั้น น่าจะหมายถึง “พุทธวจนะ
คือ คำสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงดำริในพระหทัย แล้วถ่ายทอดผ่านพระโอษฐ์ออกมา
และต่อมาได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก”... ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักวิชาการส่วนใหญ่
รวมถึงชาวพุทธจำนวนมาก จะเข้าใจความหมายของ ธรรมกาย ไปในทำนองนี้
อย่างไรก็ดี
หากศึกษาเนื้อหาของพระสูตรย้อนกลับขึ้นไปก่อนหน้านี้อีกหน่อย จะพบว่า คำเรียกชื่อ “พุทธบุตร”
ทั้งหมดนั้น กล่าวล้อกันมากับคำเรียกชื่อของ “พราหมณ์”
ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “บุตรแห่งพรหม” ทุกประการ
อีกทั้ง “พระนามของพระตถาคต” นั้น
ก็ใช้คำว่า ธรรม กับ พรหม คู่กันมาโดยตลอด คือ ธรรมกายกับพรหมกาย
ธรรมภูตกับพรหมภูต
พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระพรหม เป็นผู้เกิดจากพรหม เป็นผู้ที่พรหมเนรมิตขึ้น
เป็นทายาทแห่งพรหม”
(แปลอย่างง่าย จากอัคคัญญสูตร
พระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ เล่มที่ ๑๑ ข้อ ๕๑ หน้า ๘๘)
ในข้อความที่กล่าวล้อกันมานี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักการในพระพุทธศาสนา
โดยทรงเปรียบเทียบกับหลักการของพราหมณ์ ดังนี้
๑. “อริยสาวก”
เปรียบได้กับ “พราหมณ์”
๒. “คำสอนของพระองค์”
เปรียบได้กับ “โอษฐ์ของพระพรหม” (และดังนั้น
พระองค์เองก็เปรียบได้กับพระพรหมด้วย)
๓. “ธรรม”
เปรียบได้กับ “พรหม” คือพระพรหมผู้สร้างในทัศนะของพราหมณ์
ในข้อ ๓ จะเห็นได้ว่า
พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า ธรรม ในความหมายว่าเป็นสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา แทน “พรหม”
ในทัศนะของพราหมณ์นั่นเอง และจากข้อ ๒ และ ๓ จะเห็นว่า
พระองค์ทรงเปรียบพระองค์เองกับ ธรรม นั้นด้วย
ส่วน “พระพุทธวจนะ” นั้น
ทรงเปรียบเทียบ กับ “ปากของพระพรหม” แต่มิใช่ตัว
“พระพรหมผู้สร้าง” เอง
ดังนั้นพุทธวจนะจึงมิใช่ ธรรม ในความหมายของ ธรรมกาย
ที่กล่าวไว้ในอัคคัญญสูตรแต่อย่างใด
เนื่องจาก “การเกิดใหม่”
ในหลักการทางพระพุทธศาสนา เป็นผลของการรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม
การกำจัดกิเลสให้หลุดล่อนไป
และการเข้าถึงคุณสมบัติใหม่ที่สูงส่งและสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น ธรรม ในความหมายของ “ผู้สร้าง”
หรือ “ผู้ให้กำเนิด” อันเป็นความหมายของ
ธรรม ในคำว่า ธรรมกาย จึงควรหมายถึงธรรมที่ประกอบด้วยญาณทัสสนะ
รู้เห็นและกำจัดกิเลสได้ รวมถึงคุณสมบัติใหม่ที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
ทั้งยังเป็นสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนาด้วย
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
พระพุทธองค์ตรัสถึง ทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นธรรมที่ทำให้เห็น
(จักขุกรณี) และทำให้รู้ (ญาณกรณี) ซึ่งบ่งบอกว่า อริยมรรค นี้
ประกอบด้วยญาณทัสสนะ ส่วนในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กล่าวไว้หลายแห่งว่า
องค์แห่งมรรคทั้ง ๘ เมื่อฝึกฝนจนถึงที่แล้วจะนำไปสู่การกำจัดกิเลสคือราคะ โทสะ
และโมหะ หรือกำจัดสังโยชน์เบื้องบนได้หมดสิ้น และมีบางแห่งกล่าวถึงธรรมะในโพชฌงค์
๗, อินทรีย์ ๕, พละ
๕, อิทธิบาท ๔ และฌาน ๔ ในทำนองเดียวกัน
การที่พระไตรปิฎกกล่าวถึงธรรมคนละอย่างว่าทำหน้าที่กำจัดกิเลสเหมือนกันนั้น
มิได้เป็นความสับสนหรือขัดแย้งกันแต่อย่างใด หากเป็นเสมือนการกล่าวถึงอวัยวะต่าง ๆ
ของคนคนหนึ่งที่ช่วยกันทำงานชิ้นเดียวกันให้สำเร็จเท่านั้น
ส่วนในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค
ซึ่งประมวลภาพรวมเนื้อหาจากพระสูตรไว้ให้เป็นระบบ ได้สรุปไว้ชัดเจนว่า อริยมรรค
ทำหน้าที่ในการกำจัดกิเลส โดยแจกแจงเป็น โลกุตตรมรรค ทั้ง ๔ คือ โสดาปัตติมรรค
สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค
ซี่งทำหน้าที่กำจัดกิเลสในระดับที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ จนหมดสิ้นในที่สุด
อธิบายได้ว่า ในการทำหน้าที่ดังกล่าว
โลกุตตรมรรคในแต่ละระดับต้องบริบูรณ์ด้วยองค์แห่งอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ
รวมทั้งคุณธรรม ต่าง ๆ
เช่นที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นด้วย โดยที่คุณธรรม ทั้งหลายเหล่านั้น
ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอยู่ในระดับที่ “เพียงพอ” ต่อการทำหน้าที่กำจัดกิเลส ในระดับของโลกุตตรมรรคนั้น ๆ แล้ว
ดังนั้น เมื่อมองโดยภาพรวม
โลกุตตรมรรคในแต่ละระดับ ก็คือ “องค์รวม” ของคุณธรรมทั้งปวงในระดับ นั้น ๆ
ส่วนคุณธรรมแต่ละอย่างก็เปรียบเสมือนอวัยวะต่าง ๆ ที่ช่วยกันทำหน้าที่ของ “องค์รวม”
ให้สำเร็จนั่นเอง
เมื่อโลกุตตรมรรคทำหน้าที่ประหารกิเลสในระดับของตนได้เด็ดขาดแล้ว
โลกุตตรผลอันเป็นองค์รวมของคุณสมบัติใหม่ที่สะอาดบริสุทธิ์และสูงส่งยิ่งขึ้นก็ปรากฏ
ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคลในระดับนั้น ๆ มีคุณธรรมสูงส่งขึ้น
และได้เสวยวิมุตติสุขอันละเอียดประณีตยิ่งขึ้น
โดยเหตุนี้ ธรรม ในความหมายของ “ผู้ให้กำเนิด”
อันเป็นความหมายของ ธรรม ในคำว่า ธรรมกาย
ที่เป็นพระนามหนึ่งของพระตถาคตนั้น จึงควรหมายถึง โลกุตตรธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน
ที่เมื่อเข้าถึงแล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงปุถุชนให้เป็นอริยบุคคล
และเปลี่ยนอริยบุคคล
ชั้นต้นให้เป็นอริยบุคคลเบื้องสูงขึ้นไปได้นั่นเอง
Cr. ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๘ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖
ความหมายของ ธรรม ในคำว่า ธรรมกาย (ตอนที่ ๒)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:13
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: