ทุกคนในโลกล้วนต้องการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข แต่ว่าแม้ในศาสนาเดียวกัน ข้อปฏิบัติและวิธีตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต มักจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันเนือง ๆ เราจะมีหลักคิดและวิธีปฏิบัติอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ?
ถาม : ทุกคนในโลกล้วนต้องการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข แต่ว่าแม้ในศาสนาเดียวกัน ข้อปฏิบัติและวิธีตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต มักจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันเนือง ๆ เราจะมีหลักคิดและวิธีปฏิบัติอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ?
ตอบ : คนเราไม่ว่าจะเกิดเป็นเชื้อชาติใด เผ่าพันธุ์ใด หรือนับถือศาสนาใด แต่ละคนต่างมีองค์ประกอบที่เหมือนกัน คือ มีกายอันประกอบด้วยเลือดเนื้อและมีใจใส ๆ ด้วยกันทั้งนั้น ใจใสและสร้างบุญมามากพอจึงได้เกิดเป็นคน
ในโลกนี้ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ทั้งหลาย จำนวนของมนุษย์กับสัตว์เมื่อเทียบกัน มนุษย์มีจำนวนน้อยกว่าสัตว์อย่างเทียบสัดส่วนไม่ได้ อย่าว่าแต่เอามาเทียบกันทั้งโลกเลย เอาว่าเทียบที่บ้านตัวเอง จำนวนสมาชิกในบ้าน คุณพ่อ คุณแม่ พี่น้องของเรา ต่อให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนสัตว์ที่อยู่ในบริเวณบ้านทั้งใต้ดิน บนดิน เช่น มด ยุง แมลง จิ้งจก ตุ๊กแก จำนวนมนุษย์มีน้อยกว่าทั้งนั้น ถึงนับกันเป็นประเทศต่อให้ประชากรมนุษย์ในประเทศเป็นพันล้านคนเมื่อเทียบกับจำนวนสัตว์ในประเทศนั้น ไม่ว่าประเทศไหน ๆ สัตว์ก็มีจำนวนมากกว่า ซึ่งแสดงว่าโลกนี้จำนวนสัตว์มีมากกว่าจำนวนมนุษย์
ถามว่าระหว่างการเกิดเป็นมนุษย์กับการเกิดเป็นสัตว์อย่างไหนจะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ตัวเอง สร้างคุณประโยชน์ให้แก่โลกได้มากกว่ากัน คำตอบก็คือ มนุษย์สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ให้แก่โลกได้มากกว่าสัตว์แน่ ๆ อย่างนั้นการได้เกิดเป็นมนุษย์ก็โชคดีกว่าเกิดเป็นสัตว์อย่างแน่นอน
การจะเกิดเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์นั้นขึ้นอยู่กับอะไร ในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงทุกสิ่งทุกอย่างของโลกด้วยตัวของพระองค์เอง ไม่ได้มีใครมาสอนพระองค์ท่าน ในการค้นพบด้วยพระองค์เองนั้น อาศัยการทำสมาธิที่ฝึกมายาวนานข้ามชาติจนกระทั่งใจของพระองค์ใสและสว่าง สว่างจนกระทั่งเห็นความจริงว่า จากคนถ้าตั้งใจทำความดี ถึงคราวละโลกไปแล้วยังมีโลกหลังความตาย ตายแล้วไปสวรรค์ เปลี่ยนตัวเองจากมนุษย์ไปเป็นเทวดา นางฟ้า มีชีวิตที่เป็นสุข แต่ชีวิตหลังความตายด้านลบก็มี คนไม่ดีเมื่อละโลกแล้วก็ไปนรก นอกจากนี้แล้ว บางคนที่ทำไม่ดี แต่ไม่ถึงกับเป็นคนเลวสุด ๆ ก็ไม่ไปนรก ชีวิตหลังความตายของเขาแค่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างที่เราเห็น เช่น ไปเกิดเป็นนก หนู มด ปลวก สุนัข แมว เป็นสัตว์ต่าง ๆ ในโลกนี้
ทั้งสัตว์นรกสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้หลังจากที่มันรับโทษทัณฑ์ไปแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นคนได้อีก พูดง่าย ๆ คือมีโอกาสกลับมาแก้ตัวใหม่ถ้ากลับเนื้อกลับตัว แต่การกลับเนื้อกลับตัวได้นั้น ใช่ว่าจะมีผู้วิเศษคนไหนเสกให้เป็น มีแต่เขาคนนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเอง
พระพุทธศาสนาจึงมีคำว่า ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เพราะชาวพุทธทราบอย่างนี้จึงไม่ทะเลาะวิวาทขัดแย้งกันแม้มีความคิดต่าง ส่วนที่เป็นความดีต่างคนก็ต่างทำกันไป ส่วนที่ยังไม่ดีก็ปล่อยให้เขาได้มีเวลากลับเนื้อกลับตัวกันบ้าง และมาฝึกสมาธิกันต่อไป เมื่อทำสมาธิมาก ๆ เข้า ให้ใจใส ๆ พอใจใสก็จะเห็นความจริงตรงกันเอง
ในศาสนาพุทธมีวิธีตัดสินดีชั่วอย่างไร เป็นธรรมดาที่ศาสนิกจะเรียนรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่วตามที่ศาสดาสอนมา เมื่อเราเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ตั้งใจทำความดีตามพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งใจฝึกสมาธิทำใจใส ๆ ตามพระองค์ แล้วต่อไปข้างหน้าจะได้ไปรู้ไปเห็นความจริงตามอย่างพระองค์ แล้วก็จะรู้ว่าทำไมพระองค์จึงสอนว่า ดีชั่วต้องตัดสินอย่างนี้ ให้ทำดีเพราะไปเห็นชัด ๆ ว่าสิ่งนี้ดี ไม่ทำสิ่งนี้เพราะเห็นชัดๆ ว่าสิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้เลว ผู้ปฏิบัติธรรมจะเห็นตรงกับที่พระองค์เห็น ต่อไปถ้าเจอสิ่งใดที่เป็นปัญหาแล้วไม่รู้จะตัดสินอย่างไร เพราะยังไม่เคยได้ยินคำสอนในส่วนนั้น ก็นั่งสมาธิทำใจให้ใส ๆ แล้วก็จะเห็นตรงกันเองโดยอัตโนมัติว่าควรทำ
อย่างไร แต่ละคนก็จะไม่มีอะไรมาขัดแย้งกัน
แม้เรายังนั่งให้ใจใสเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ชาวพุทธก็มีหลักในการตัดสินที่จะประพฤติปฏิบัติตัวของเรากับเพื่อนร่วมโลก หลักนั้นคือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วก็เอาใจเราไปใส่ใจเขา” หรือรู้จักเห็นใจกัน ถ้าทำอย่างนี้ทุกคนก็จะมีความเห็นตรงกันเอง แล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ
ก็มีคำถามว่า เมื่อยังมองไม่เห็นใจกันแล้ว จะเอาไปใส่กันได้อย่างไร แม้ไม่เห็นว่าใจมีลักษณะเป็นอย่างไร แต่เราก็พอจะรู้ว่าความต้องการของใจเป็นอย่างไร ใจทุกคนเหมือนกัน คือ รักสุขเกลียดทุกข์ แม้แต่สัตว์ทั้งหลายเราก็รู้ว่ามันก็รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ถามว่าเราเห็นใจสัตว์แล้วหรือ ตอบว่าไม่ แต่พอเข้าใจลักษณะอาการที่มันแสดงออกได้ คำว่าเห็นใจกันในที่นี้ก็คือ เห็นความปรารถนาของใจกันบ้าง
ชาวพุทธใช้หลักนี้คือหลักเห็นใจกันบ้าง หรือหลัก เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา หรือจะเรียกว่าหลัก ต่างรักสุข เกลียดทุกข์ เป็นแม่บทในการที่จะหันหน้าเข้าหากัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงฝึกให้เราหมั่นถามใจตัวเองกันเป็นประจำ เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ความเมตตาปรารถนาดีจะเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ยิ่งกว่านี้ชาวพุทธยังมีวิธีแผ่ความปรารถนาดีออกไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย เรียกว่า “แผ่เมตตา” อีกด้วย
เมื่อได้หลักคิดแล้ว ก็หมั่นถามใจตัวเองกันเพื่อหาวิธีปฏิบัติตามหลักนั้นว่าเราควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง ประการแรก ทุกชีวิตรักสุข เกลียดทุกข์ แล้วรักที่สุดในชีวิตคืออะไร ต่างก็ตอบว่ารักชีวิตของตัว ใคร ๆ ก็รักชีวิตตัวเอง สรุปว่า ใครก็ไม่ควรฆ่าใคร เพราะต่างคนต่างก็รักชีวิตของตน เป็นมาตรฐานเดียวกันของทุกชีวิตในโลก นี้คือข้อที่ ๑ ที่ถือเป็นวินัยของมนุษย์และเป็นศีลข้อที่ ๑ ของชาวพุทธ
ประการต่อไป ชีวิตที่เรารักนั้นอยู่ได้ด้วยอะไร ชีวิตเป็นอยู่ได้อย่างน้อยต้องมีอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งจะได้มาต้องมีทรัพย์สมบัติไปแลกเปลี่ยน ทุกคนจำเป็นต้องมีทรัพย์ กว่าจะได้ทรัพย์มาต้องเหน็ดเหนื่อยใช้ทั้งเรี่ยวแรง ทั้งเวลา ในการหาทรัพย์ และเนื่องจากทรัพย์ได้มาโดยยาก ทรัพย์สมบัติของใครใครก็หวง ดังนั้นใครก็ไม่สมควรจะลักโกง แย่งชิง ทรัพย์ของใครอื่นมาเป็นของตน นี้คือข้อที่ ๒ ที่เป็นวินัยของมนุษย์ หรือศีลข้อ ๒ ของชาวพุทธ
ประการที่ ๓ ถามชาวโลกทั่วไปนอกจากชีวิตของตัวเองแล้วสุดที่รักในชีวิตของคุณคือใคร เขาย่อมตอบว่าภรรยาหรือสามีคู่ครองของตน เพราะฉะนั้น ใคร ๆ ก็ไม่ควรแย่งคู่ครองของใครมาครอบครอง นี้ก็เป็นความจริงข้อที่ ๓ หรือศีลข้อที่ ๓ ของชาวพุทธ
ประการที่ ๔ คนในโลกนี้ไม่เฉพาะแต่สามีภรรยากันเท่านั้น ใครก็ตามในโลกนี้ยังรักกันได้ตราบที่ยังจริงใจต่อกัน ถ้าขาดความจริงใจกันแล้วก็รักกันไม่ได้ แม้พี่น้องคลานตามกันมา วันใดพบว่าขาดความจริงใจต่อกันก็ยังตัดขาดกันได้ ความจริงใจที่มันเลือนไปเริ่มต้นที่ไหน เริ่มตั้งแต่พูดไม่ตรงตามความเป็นจริง พูดเท็จ พูดโกหก นี้เป็นสัญญาณเตือนว่าความจริงใจชักใช้ไม่ได้ ถ้าไม่ระวังปล่อยให้ทำต่อไปจะลุกลามไปเป็นเรื่องใหญ่ในวันข้างหน้า ฉะนั้น ใคร ๆ ก็ไม่ควรโกหกใคร นี้เป็นมาตรฐานหรือวินัยของมนุษย์ข้อที่ ๔ หรือศีลข้อที่ ๔ ของชาวพุทธ
ทั้ง ๔ ข้อที่กล่าวมานี้เป็นความดี เด่นตรงที่เป็นความดีที่ไม่ต้องทำ ความไม่ดีจะเกิดเพราะทำ ๔ ข้อนี้ คนเราว่าไปแล้วต่างก็เคยทำความไม่ดีมาก่อน โดยเฉพาะตอนเป็นเด็กยังไม่รู้ความควรไม่ควร ถ้าไม่มีการให้อภัย ไม่มีการให้โอกาสกันบ้างคงจะไม่ไหว แม้แต่พลาดทำเลวไปตกนรกบ้าง ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง พอรับโทษทัณฑ์ไปแล้วยังได้โอกาสกลับมาแก้ตัวใหม่
ความดีทั้งหมดนี้ยังรักษาเอาไว้ได้ตราบที่มีสติสัมปชัญญะดี ถ้าอยากจะได้ความดี ๔ ข้อนี้ไว้ มีทางเดียวคือต้องรักษาสติให้ดี รู้ไหมว่าสติของคนแพ้อะไร ถูกทำลายด้วยอะไร สติแพ้ยาเสพติด แม้เหล้า สุรา เมรัย เบียร์ ไวน์ ก็อยู่ในพวกยาเสพติดนี้เหมือนกัน ดังนั้นความดีประการที่ ๕ หรือวินัยของมนุษย์ หรือศีลข้อที่ ๕ ของชาวพุทธจึงได้แก่ การไม่ดื่มสุรายาเมา ไม่เสพยาเสพติด เพื่อรักษาสติสัมปชัญญะให้ดี แก่นของการทำความดีอยู่ที่สตินี้เอง
เรื่องราวใดที่อยู่ในมุมกว้างเกินกว่านี้ ก็ใช้หลักการเดียวกันว่า ทั้งเขาทั้งเราก็รักสุข เกลียดทุกข์ เพราะฉะนั้นก็เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา ตรองดูในเรื่องนั้น ๆ ว่า ทำอย่างนี้กลายเป็นการเอาเปรียบกันหรือไม่ อย่างนี้เป็นการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ อย่างนี้จะเป็นการล่วงเกินกันหรือไม่ เมื่อจะเลือกทำสิ่งใด ก็ตรองดูให้ชัด โดยพยายามรักษาวินัย ๕ ข้อนี้เอาไว้ให้ได้
เมื่อเราได้ถามใจตัวเองบ่อย ๆ ได้ทบทวนคุณงามความดี ได้ทบทวนความประพฤติปฏิบัติทั้งอดีต ปัจจุบัน และมองไปในอนาคต เราจะนำหลักคิดตัดสินใจเพื่อการประพฤติปฏิบัติตัวต่อคนอื่น ด้วยหลัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา” นี้ไปใช้ได้ คนทั้งโลกไม่ว่าจะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างความคิดเห็นก็ตาม ต่างก็สามารถใช้หลักนี้เป็นหลักตัดสินที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เบียดเบียนทำร้ายกันอย่างนี้ก็เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติตัวอยู่ร่วมกันแบบออมชอม ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันแล้วพอจะสร้างชีวีให้มีสุขได้
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๘ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/05/lp0662.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๘ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๘ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
- Story จาก Mobile, Alabama สมาธิ...ประสบการณ์สากลที่ทุกคนสัมผัสได้
- ปลื้มใจในวันแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
- การตัดสินใจบวชของลูกผู้ชายธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
- อุปสมบทบวชสามเณร DCI รุ่นที่ ๑๖
- วัดภาวนาโซลร่วมฉลองสัปดาห์วิสาขบูชาโลก พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ชาวพุทธนานาชาติที่เกาหลีใต้
- ลูกนิมิตคืออะไร ?
- เสียงเพรียกจากภายใน
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๗)
- ความปลื้มที่ได้สถาปนามหารัตนเจดีย์สิริปทุมสวรรค์ ณ ภาคใต้
- หลวงพ่อตอบปัญหา
- ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๑๘)
- ทำบุญอย่างไรให้ชีวิตสมบูรณ์พร้อม ?
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
- ฉบับที่ ๑๙๓ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๗ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๘ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบันที่ ๑๙๙ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
ทุกคนในโลกล้วนต้องการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข แต่ว่าแม้ในศาสนาเดียวกัน ข้อปฏิบัติและวิธีตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต มักจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันเนือง ๆ เราจะมีหลักคิดและวิธีปฏิบัติอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:42
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: