การตัดสินใจบวชของลูกผู้ชายธรรมดาที่ไม่ธรรมดา


การตัดสินใจบวช
ของลูกผู้ชายธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖❧☙𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖𝄖

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ ณ อาคารแก้วดวงบุญ วัดพระธรรมกาย...

“เป๊ง ! เป๊ง ! เป๊ง !” เสียงย่ำระฆังดังกังวานสนั่นลั่น อันเป็นมงคลนิมิตว่า ถึงเวลาทำกิจวัตรกิจกรรมของเหล่าสามเณรน้อยแล้ว ซึ่งในทุก ๆ เช้า พุทธบุตรน้อยเหล่านี้ ต่างลุกขึ้นมาประกอบความเพียรกันตั้งแต่ตี ๕ เรื่อยไปตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ศึกษาพระปริยัติธรรม (นักธรรม-บาลี) เจริญสมาธิภาวนา ปัดกวาดทำความสะอาดเสนาสนะ เป็นต้น ซึ่งเหล่ากอสมณะผู้ฝึกตนทนหิวบำเพ็ญตบะอย่างดีแล้วเหล่านี้ ในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า จะได้เจริญเติบโตเปลี่ยนจากรากแก้วเป็นพฤกษาสูงใหญ่ แผ่ร่มใบเป็นที่พึ่งให้แก่ตนเองและชาวโลกทั้งหลาย และหนึ่งในบรรดาสามเณรเหล่านี้ บัดนี้ได้เติบใหญ่เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว โดยได้รับฉายานามจากพระอุปัชฌาย์ว่า “จนฺทชโย” แปลว่า “ผู้มีชัยชนะประดุจชัยชนะแห่งพระจันทร์” 

ย้อนไปก่อนจะบรรพชาเป็นสามเณร สมัยเป็นเด็กธรรมดาทั่วไปนามว่า “เด็กชายศุภณัฐ ดวงจันทร์” หลวงพี่ได้มีโอกาสมาวัดพระธรรมกายเข้าสู่เส้นทางธรรมเส้นทางทองนี้ โดยการชักชวนจากสุดยอดกัลยาณมิตรคนแรก คือ โยมป้า ซึ่งจำได้ว่า เมื่อฤดูร้อนปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ขณะที่หลวงพี่มีอายุได้ ๙ ขวบ เกิดความรู้สึกอยากบวชจับใจ อีกทั้งยังมีความปรารถนาที่จะบวชศึกษาภาษาบาลีเป็นสามเณรเปรียญธรรมวัดพระธรรมกายต่อไป แต่ครั้นถึงคราวไปสมัครบวชในโครงการบรรพชาสามเณรยุวธรรมทายาท รุ่นที่ ๑๕ ภาคฤดูร้อน พระอาจารย์ท่านบอกว่า หลวงพี่ยังตัวเล็กเกินไป ท่านเป็นห่วงว่าจะดูแลตนเองไม่ได้ ท่านเลยให้โอกาสหลวงพี่เลื่อนเวลาบวชไปในปีถัดไป บ่ายวันนั้น โยมป้าและโยมแม่จึงได้พาหลวงพี่ไปกราบขอพรต่อหน้ารูปภาพของ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย) ที่บ้านแก้วเรือนทองคุณยายฯ โดยหลวงพี่ได้อธิษฐานว่า “ขอพรคุณยายฯ ให้ผมได้บวชเป็นอัศจรรย์นะครับ” เมื่อเปิดประตูเดินออกจากบ้านแก้วเรือนทองคุณยายฯ เท่านั้นแหละ ก็ได้เจอพระอาจารย์รูปหนึ่งอย่างประจวบเหมาะ โยมป้าและท่านจึงได้สนทนาปราศรัยกัน ท่านก็เลยได้ทราบเรื่องที่หลวงพี่จะมาบวชเป็นสามเณร ท่านบอก "ไม่ต้องห่วง" สักพักหลวงพี่ก็เห็นท่านหยิบโทรศัพท์ออกมาโทรหาใครสักคน พร้อมกับพูดว่า “หลวงพี่ฝากน้องชายบวชหน่อยนะ” ประโยคสั้น ๆ นี้ เป็นดังถ้อยคำสวรรค์ที่ทำให้หลวงพี่ไม่ต้องเลื่อนเวลาบวชไปปีหน้า พร้อมกับได้รู้ความจริงตอนเข้าโครงการไปแล้วว่า หลวงพี่ตัวเล็กที่สุดในโครงการจริง ๆ ด้วย และนี้นับเป็นความประทับใจไม่รู้ลืมที่ยังสลักตรึงไว้ในใจตลอดมา

แต่กระนั้น การจะบวชอยู่ต่อในระยะยาวได้ ทางพระอาจารย์บอกว่า หลวงพี่ต้องมีอายุมากกว่านี้อีกสักหน่อย ดังนั้นจึงได้กลับไปเรียนต่อจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วจึงตรงดิ่งมุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นสามเณรเปรียญธรรมวัดพระธรรมกายแล้ว พระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงทุกรูปผู้เป็นตัวแทนของหลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่และหลวงพ่อคุณครูไม่เล็ก ได้ถ่ายทอดอุดมการณ์เป้าหมายในการสร้างบารมีให้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลย ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ กิจวัตรกิจกรรม การฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยคุณธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม-บาลี ภายใต้คำกล่าวที่ว่า “บวชเรียนบาลีรักษาแก่นแท้พระพุทธศาสนา” ซึ่งแม้ว่าภาษาบาลีจะยากมาก แต่หลวงพี่ก็ระลึกอยู่ในใจเสมอว่า “สักวันเราต้องเป็นประโยค ๙ ให้ได้” เพื่อสานงานของพระพุทธศาสนาในอนาคต และตอบแทนพระคุณที่หลวงพ่อทั้งสองและญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง และเต็มใจด้วยดีเสมอมา

ครั้นสำเร็จไปอีกก้าว เมื่อหลวงพี่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ช่วงเวลานั้นพระอาจารย์ท่านได้ให้โอกาสสำหรับสามเณรที่จบ ป.ธ.๓ ในการศึกษาภาษาต่างประเทศ เพราะว่า “ธรรมะเปรียบเสมือนปลา ภาษาเปรียบเสมือนน้ำ ปลาจะว่ายไปได้ต้องอาศัยน้ำ” ดังนั้นหลวงพี่จึงเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม เพราะชาวโลกที่ยังรอแสงสว่างส่องไปถึงยังคงมีอีกมากมายนักในหลาย ๆ ประเทศทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นจึงได้เริ่มสั่งสมความรู้พื้นฐานของแต่ละภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น จนสามารถสอบวัดระดับภาษาจีน (HSK 基礎) และญี่ปุ่น (JLPT N5) ในเบื้องต้นได้ แต่กระนั้น ภาษาบาลีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะเป็นภาษาที่เก็บรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพี่ก็ยังคงพยายามบากบั่นจนสามารถนำความสำเร็จมาสู่หลวงพ่อทั้งสองและหมู่คณะ โดยการสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ 

ท้ายที่สุดนี้ หลวงพี่รู้สึกดีใจและปลื้มใจที่ได้มีโอกาสในการสร้างบารมีในสภาวะของนักบวชเช่นนี้ เพราะชีวิตของฆราวาสยากจะมีโอกาสพักกายพักใจปฏิบัติธรรมให้สงบได้ง่ายอย่างบรรพชิต ดังนั้นจึงขอเชิญชวนกุลบุตรผู้มีบุญและมีดวงปัญญาอันสว่างไสวทุกท่าน มาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย โดยการอุปสมบทในโครงการบวชพระเข้าพรรษาในปีนี้กันนะ แล้วเราจะได้ค้นพบความสุขสงบแบบพระด้วยตัวของเราเองเลย สมดังวาระพระบาลีที่ว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” (ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/ ๒๕/ ๔๒) แปลว่า “ความสุข นอกจากความสงบ (หยุดนิ่ง) ไม่มี” 

Cr. พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๘ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒























***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/05/note0662.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๘ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
การตัดสินใจบวชของลูกผู้ชายธรรมดาที่ไม่ธรรมดา การตัดสินใจบวชของลูกผู้ชายธรรมดาที่ไม่ธรรมดา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.