บรรพชาอุปสมบท ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของลูกผู้ชายตัวจริง
ท่ามกลางสายธารเชี่ยวกรากแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่
ที่พัดพาศีลธรรมออกไปจากใจมนุษย์ และผู้คนพากันตีราคาวัตถุเหนือจิตใจ
ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนทำกิจการงาน เพื่อแสวงหาวัตถุมาตอบสนอง กิเลสของตนเองและครอบครัว
หลายคนใช้ชีวิตราวเครื่องจักรที่ไร้วิญญาณ วัน ๆ ได้แต่ตั้งหน้าทำมาหากิน
โดยลืมให้ความเมตตาแก่ "ใจ" ที่ไร้ความสุขของตน อย่างไรก็ตาม ในบรรดาผู้คนเหล่านี้ มีบางคนเลือกที่จะพาตัวเองออกมาจากชีวิตที่ยุ่งเหยิงสักระยะหนึ่ง
เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าและการบรรพชาอุปสมบทก็คือสิ่งที่พวกเขาเลือกทำ
ด้วยเห็นว่า "คุ้ม" กับเวลาอันมีค่าที่เสียไป
ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนทุก ๆ ปี
จึงมีลูกผู้ชายหลากหลายวัย เดินทางไปเข้าร่วมโครงการบวชที่วัดพระธรรมกาย
ซึ่งปีนี้จัดขึ้นถึง ๗ โครงการด้วยกัน คือ
๑. โครงการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน
๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ระหว่างวันที่ ๑๓ มีนาคม ถึง วันที่
๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
๒. โครงการอุปสมบทหมู่ รุ่นบูชาธรรม
๖๗ ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ระหว่างวันที่ ๑๔ มีนาคม ถึง วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.
๒๕๕๔
๓. โครงการอุปสมบทหมู่ ธรรมทายาท
ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๓๙ วันที่ ๑๕ มีนาคม ถึง วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
๔. โครงการอุปสมบทหมู่
ธรรมทายาทนานาชาติ (IDOP) รุ่นพิเศษ ๒ วันที่ ๓ เมษายน ถึง วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.
๒๕๕๔
๕. โครงการบรรพชาสามเณร
มัชฌิมธรรมทายาท ม.ปลาย รุ่นที่ ๑๖ (อายุตั้งแต่ ๑๕-๑๗ ปี) วันที่ ๒๖ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึง วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
๖. โครงการบรรพชาสามเณร
ยุวธรรมทายาท เปรียญธรรม (อายุตั้งแต่ ๑๒-๑๓ ปี) วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ถึง วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
๗. โครงการบรรพชาสามเณร
ยุวธรรมทายาท รุ่นที่ ๒๓ (อายุ ๘ - ๑๒ ปี) วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึง วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
การที่บุคคลเหล่านี้ตัดสินใจมาบวช ทั้ง ๆ ที่
ในโลกนี้มีเรื่องอื่นให้ทำตั้งมากมาย แสดงว่าแรงดึงดูดจากการบวช
ต้องมีพลังมากพอที่จะสามารถดึงพวกเขาออกมาจากวิถีชีวิตแบบฆราวาส ซึ่งสามารถตามใจกิเลสได้มากกว่า
แรงดึงดูดเหล่านั้นคืออะไร?
.
จากการวิจัยพบว่า "บวชให้แม่" เป็นแรงดึงดูดประการแรกของผู้บวชส่วนใหญ่ ในขณะที่อีก หลาย ๆ คนอยากบวชเพราะสาเหตุอื่น ๆ
บวชแล้วได้อะไร?
เมื่อเข้าโครงการแล้ว
ผู้บวชจะได้ฝึกเสขิยวัตร (มารยาทของพระ) และได้ฝึกคุณธรรม วินัย เคารพ อดทน
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาธรรมะ ได้สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ถือศีล ๒๒๗ ข้อ (พระภิกษุ)
ถือศีล ๑๐ ข้อ (สามเณร) และนั่งสมาธิเพื่อความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ
กิจวัตรกิจกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสมาธิ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บวชให้มีความสุขความสงบมากขึ้น
ทำให้จิตใจได้พักผ่อน สุขภาพจิตก็จะดีขึ้น จิตใจเข้มแข็งขึ้น มีความอดทนมากขึ้น
พร้อมจะเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น และจะช่วยเพิ่มไอคิว ทำให้เกิดปัญญาในการเรียนรู้สิ่งต่าง
ๆ และสามารถสอนตัวเองได้ เป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้บวชได้รับ
ก็คือ บุญ
เมื่อบวชแล้ว
หากตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระแท้ ผู้บวชก็จะได้สุดยอดแห่งบุญ
ซึ่งมีอานุภาพมหาศาล
สามารถตัดรอนวิบากกรรมและดึงดูดความสุขความเจริญเข้ามาได้เป็นอัศจรรย์เพราะการบวช
เป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างเข้มข้นทั้ง ๑๐ ประการ ทั้งทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี
ปัญญาบารมี วิรยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี
และอุเบกขาบารมี ซึ่งทุกประการเป็นทางมาแห่งบุญใหญ่ทั้งนั้น
บุญจากการบวชช่วยพลิกผันชีวิตผู้บวชและครอบครัวมานักต่อนักแล้ว
มิเช่นนั้นคงไม่มีคนแห่กันไปบวชมากมายเช่นนี้ แต่ผู้บวชต้องประพฤติตนอยู่ในพระธรรมวินัย
แม้บวชระยะสั้นก็ขอให้ทุกวันเป็นพระที่ดี เท่านี้ก็เพียงพอ
อนึ่ง
ในการบวช ผู้บวชมิเพียงแต่ได้รับสิ่งดี ๆ มากมายเท่านั้น แต่ยังอยู่ในฐานะผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย
บวชแล้วให้อะไร?
ประการแรก
ให้คนดีคืนกลับสู่สังคม หากยัง ไม่สึก ก็เป็นการให้พระภิกษุสืบทอดอายุพระศาสนา
และให้ครูสอนศีลธรรมแก่ชาวโลก นอกจากนี้ยังให้บุญแก่บิดามารดา
หมู่ญาติที่อนุโมทนาการบวชของเรา และอุทิศบุญแก่หมู่ญาติที่ละโลกไปแล้วได้ด้วย
ทำให้พ่อแม่ได้เป็นญาติกับพระศาสนา ได้ใกล้ชิดพระศาสนา และมีสัมมาทิฐิมากขึ้น
ซึ่งถือเป็นการตอบแทนบุญคุณท่านอย่างแท้จริง, ให้ความสุขและแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามแก่ครอบครัว, เป็นต้นแบบทางศีลธรรมให้แก่คนอื่น
เมื่อมีผู้มาบวชตามอย่างเรามาก ๆ ก็จะมีผลให้สังคม ประเทศชาติ และโลกสงบสุขมากขึ้น, มีส่วนในการฟื้นฟูประเพณี การบวช
ฟื้นฟูศีลธรรมโลก ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มั่นคง
แผ่ขยายไปดับทุกข์แก่ชาวโลกได้สืบไป ฯลฯ
ทุกประการเหล่านี้ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลวงพ่อธัมมชโย
จัดโครงการบวชขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี
และมีผู้เห็นคุณค่าของการบวชสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมหาศาล
ปีนี้ ฤดูร้อนแปรปรวนเหมือนรวมทุกฤดูไว้ด้วยกัน
ทั้งหนาว ร้อน และฝน คล้ายเป็นบทฝึกพิเศษ
ที่ธรรมชาติส่งมาทดสอบกำลังใจพระภิกษุ-สามเณร ธรรมทายาทรุ่นนี้ เหมือนกิเลส ๓
ตระกูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ที่ทดสอบมนุษย์ทุกคนอยู่ตลอดเวลา ให้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง
แต่หากใครมีสติรู้จักวิธีควบคุมใจไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกิเลสร้าย
การดำเนินชีวิตที่มีความสุขก็คงไม่หนีไปไหน
ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์
พระภิกษุสามเณรทุกรูปมีโอกาสเรียนรู้ และฝึกฝนการควบคุมอาสวกิเลสเท่าเทียมกัน เหลือแต่ว่าใครจะเห็นความสำคัญ
และนำไปปฏิบัติได้มากกว่ากัน
Cr. มาตา
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๓
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
บรรพชาอุปสมบท ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของลูกผู้ชายตัวจริง
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:07
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: