เข้าพรรษาอย่างเข้าใจ



ทำไมต้องมีวันเข้าพรรษา?

ประเพณีเข้าพรรษาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล แรก ๆ ยังไม่มีประเพณีนี้ แต่ตอนหน้าฝน ชาวนาทำนากัน เวลาพระเดินก็ไปเหยียบโดนข้าวกล้าบ้าง เหยียบแมลงตายโดยไม่รู้ตัวบ้าง จนชาวบ้านเขาติเตียน ต่อมามีคนไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติให้มีการจำพรรษาในช่วงหน้าฝน ๓ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ (ประมาณกลาง ๆ เดือนกรกฎาคม เร็วบ้าง ช้าบ้าง ต่างกันไปตามจันทรคติ) จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ช่วง ๓ เดือนนี้ พระภิกษุสงฆ์จะอยู่อาวาสเดียว ตลอด ๓ เดือน ไม่จาริกไปในที่ต่าง ๆ ประเพณีเข้าพรรษาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีหล่อเทียนพรรษาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ที่พระท่านอยู่ประจำที่ ถามว่าอยู่เพื่ออะไร ก็ อยู่เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทั้งการปฏิบัติธรรม และการศึกษาความรู้ในพระไตรปิฎก ในสมัยก่อนกลางคืนต้องอาศัยแสงสว่างจากแสงเทียน เพราะยังไม่มีไฟฟ้า แต่เทียนเล่มเล็กนอกจากมีความสว่างน้อยแล้ว จุดได้ไม่นานก็หมดเล่ม เพราะฉะนั้น เขาก็เลยหล่อเทียนเข้าพรรษาแท่งโต ๆ ขึ้นมา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้อาศัยความสว่างจากเทียนพรรษาในการศึกษาพระธรรมวินัยตลอด ๓ เดือน

วันเข้าพรรษาในสมัยพุทธกาลต่างจากปัจจุบันอย่างไรบ้าง?

โดยสาระหลัก ๆ ก็คล้าย ๆ กัน คือเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ ทำให้ท่านได้ศึกษา พระธรรมวินัย เพราะปกติพระเถระท่านจะจาริกไปยังที่ต่าง ๆ บ้าง พอท่านอยู่ประจำที่ ลูกศิษย์ลูกหา ที่ต้องการศึกษาหาความรู้จากท่าน ก็มั่นใจได้ว่า ถ้าบวชช่วง ๓ เดือนนี้ ได้อยู่กับพระอาจารย์แน่ ๆ ถ้านอกพรรษาบางทีพระอาจารย์ไม่อยู่ เพราะฉะนั้นต้องรีบมาบวชและรีบมาศึกษาพระธรรมวินัยกับท่าน จึงเกิดประเพณีบวชเข้าพรรษา ๓ เดือนขึ้น

บวชในพรรษากับบวชนอกพรรษาต่างกันไหม?

การบวชไม่ต่างกัน ความแตกต่างอยู่ที่นอกพรรษาเราอาจจะบวชคนเดียว ไม่ได้บวชเป็นหมู่คณะ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะศึกษาพระธรรมวินัยก็ไม่ค่อยเต็มที่ เหมือนนักเรียนที่ชั้นเรียนไม่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันอาจารย์ก็อยู่บ้าง ไม่อยู่บ้าง เพราะอาจจะต้องจาริกไปโปรดญาติโยมในที่ต่าง ๆ แต่ถ้าบวชในพรรษามีข้อดีถึง ๒ อย่าง คือ

๑. ในแง่ของนักเรียน  ส่วนใหญ่นิยมบวชเข้าพรรษา บวชทีหนึ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่น ๕ รูป ๑๐ รูป ๒๐ รูป ที่วัดใหญ่ ๆ บางวัดบวชกันนับ ๑๐๐ รูป ก็มี เพราะฉะนั้น ชั้นเรียนหรือนักเรียนก็จะเป็นปึกแผ่น

๒. ในแง่ของอาจารย์  ช่วงเข้าพรรษาอาจารย์ไม่ไปไหนแน่ ต้องอยู่ตลอด ๓ เดือน เพราะฉะนั้นก็พร้อมที่จะให้ความรู้นักเรียนได้เต็มที่ ผู้ที่บวชในช่วงเข้าพรรษาจึงได้ศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ได้เต็มที่เป็นพิเศษมากกว่าคนที่บวชช่วงอื่นๆ

ปกติในเวลาเข้าพรรษาจะมีการถวายเทียน แต่ในปัจจุบันมีการถวายหลอดไฟฟ้าแทน ไม่ทราบว่าต่างกันหรือไม่ และบุญที่ได้ต่างกันแค่ไหน?

เรื่องนี้ถ้าเราเข้าใจวัตถุประสงค์และที่มาที่ไปของประเพณี เราจะทำได้ถูกต้อง สมัยโบราณไม่มีไฟฟ้า ต้องอาศัยแสงเทียนในการศึกษาพระธรรมวินัย จึงมีการหล่อเทียนพรรษาและถวายเทียนพรรษา และอะไรก็ตามที่ถวายแด่พระรัตนตรัย ท่านจะทำกันสุดฝีมือ เทียนที่หล่อจึงไม่ใช่เทียนธรรมดา แต่แกะสลักลวดลายอย่างสุดฝีมือ ถือเป็นการแสดงความเคารพพระรัตนตรัย โบราณถือว่ายิ่งทำด้วยความตั้งใจ เจตนาบริสุทธิ์ และมีศรัทธาอย่างแรงกล้าเต็มเปี่ยม บุญยิ่งมหาศาล สังเกตดูจะเห็นว่า ศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายจะอยู่ที่วัด เพราะเวลาสร้างบ้านตัวเองเอาแค่พออยู่ได้ แต่สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างวิหาร ทำจนสุดฝีมือ มีฝีมือเท่าไรทุ่มไปจนสุด ทุ่มทั้งชีวิต กลายเป็นตัวดึงให้ศิลปวัฒนธรรมของประเทศสูงไปด้วย เพราะคนโบราณจะมีความศรัทธาเลื่อมใสมาก ทำเต็มที่

ในยุคปัจจุบัน ในเมื่อมีไฟฟ้าแล้ว จะศึกษาพระธรรมวินัยก็เปิดไฟได้ ไม่ต้องจุดเทียน ประเพณีการถวายเทียนจึงเป็นแค่ประเพณีเฉย ๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้จุดด้วยซ้ำไป พอรู้อย่างนี้เราถวายหลอดไฟได้ไหม คำตอบคือได้เหมือนกัน เพราะถวายในสิ่งที่พระท่านได้ใช้ประโยชน์ บางทีถ้ามีคนถวายหลอดไฟมากแล้ว เราจะถวายเป็นปัจจัยให้ท่านไปซื้อตำรับตำรา เพื่อความสะดวกในการศึกษาพระธรรมวินัยก็ได้ หรือบางทีท่านจะต้องเดินทางไปสำนักเรียน อาจต้องมีค่ารถบ้าง เราก็ถวายการอุปถัมภ์เป็นค่ารถ ค่าอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นประโยชน์ พูดง่าย ๆ ให้ดูที่เป้าหมายหลักว่า ทำเพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาพระธรรมวินัยของท่าน

ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีประเพณียิ่งใหญ่ในการหล่อเทียนพรรษา แต่เขามีการแข่งขันกันเป็นหมู่บ้าน และถึงขั้นพยายามที่จะเอาชนะกัน อย่างนี้จะถือว่าเจตนาไม่บริสุทธิ์หรือเปล่า?

ถ้าลองไปดูจะเห็นว่า จริง ๆ แล้วเขาแข่งขันกันด้วยความเบิกบาน ไม่ใช่แข่งแบบเอาเป็นเอาตาย หรือถ้าแพ้แล้วจะต้องเสียใจมากมาย แต่แข่งเพื่อเป็นการกระตุ้น เหมือนเวลาเรียนหนังสือ ถ้าไม่มีการสอบก็ไม่ค่อยอยากจะอ่านหนังสือ จะขยันเป็นพิเศษในช่วงจะสอบ กีฬาก็เหมือนกัน ถ้าหากเล่นกีฬา แล้วไม่มีการแข่งขันก็ไม่สนุก จะทำอะไรก็ตาม พอมีการแข่งขันจะกระตุ้นให้ทุ่มฝีมือเต็มที่ เลยกลายเป็นการแข่งกันระหว่างวัดนี้กับวัดโน้น แต่ละวัดก็พยายามทุ่มกันสุดฝีมือ ถ้าปีนี้เราชนะก็ปีติเบิกบาน ถ้าเขาชนะก็ไปดูว่าเขามีอะไรดี ปีหน้าเราจะได้พัฒนาให้ดีกว่าเก่า เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันแบบสร้างสรรค์ แบบอยู่ในบุญ แข่งขันด้วยความปีติ เบิกบาน กระตุ้นให้เกิดฉันทะคือความตื่นตัวที่จะพัฒนาฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และยังทำให้ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นและประเทศสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกด้วย


ถ้าหมู่บ้านหนึ่งหล่อเทียนสวยสู้อีกหมู่บ้านหนึ่งไม่ได้ จะได้บุญเท่ากัน

ถ้าเรามีความตั้งใจเต็มที่ เราก็ได้บุญมาก คนที่ฝีมือดีถึงจะทำแบบไม่ตั้งใจ แต่ผลงานที่ออกมาก็จะดีกว่าคนที่ฝีมือไม่ดีแต่ตั้งใจทำ อย่างนี้ให้ดูที่ความตั้งใจเป็นหลัก ดูเจตนาว่ามีความศรัทธาขนาดไหน ทำอย่างเสียไม่ได้ หรือว่าทำแบบสุดฝีมือด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัยจริง ๆ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้

ในช่วงเข้าพรรษาควรจะปฏิบัติตนอย่างไร? มีบางคนตั้งใจทำความดีอย่างเช่น งดเหล้า งดบุหรี่ ถือว่า เป็นแนวทางที่ดีหรือเปล่า?

ดีมาก สมัยโบราณคนนิยมบวชช่วงเข้าพรรษา เพราะพระอาจารย์ก็อยู่ประจำที่ บวชแล้วมีครูบา-อาจารย์สั่งสอนอบรมแน่ ๆ ทำให้วัดมีพระอยู่จำวัด มากที่สุดในช่วงเข้าพรรษา นอกพรรษามีพระ ๓ รูป ๕ รูป ในพรรษามีตั้ง ๑๐ รูป ๒๐ รูป ชาวบ้านก็นิยมไปทำบุญกัน ในวัดก็จะเกิดกิจกรรมที่คึกคัก ชาวบ้านบางคนมีลูกหลานไปบวช พ่อ แม่ ญาติ พี่น้องก็ต้องไปวัด บางคนก็มีสามีไปบวช บางคนมีพ่อไปบวช ก็เลยไปทำบุญกันทั้งครอบครัว เมื่อมีญาติไปบวช ไปศึกษาพระธรรมวินัย และคนในครอบครัว ก็ไปทำบุญกันอย่างนี้แล้ว เราอยู่ข้างนอกจะไปกินเหล้าได้อย่างไร อย่างคนที่มีลูกชายไปบวช พ่อจะเมาแอ๋ไปหาลูกได้อย่างไร เขินลูก เพราะฉะนั้น จึงเกิดเทศกาลแห่งการทำความดีว่า ช่วงเข้าพรรษา งดเหล้า งดสูบบุหรี่ งดเล่นไพ่ ในพรรษาต้องตั้งใจสวดมนต์ ไปวัดทุกวันพระ ไปฟังเทศน์ฟังธรรม ถือ ศีล ๘ เป็นต้น เข้าพรรษาก็เลยเป็นเทศกาลแห่งการทำความดี ซึ่งมีผลไม่เฉพาะพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาเท่านั้น แต่มีผลถึงชุมชนทั้งหมด คือ ทุกคนต่างตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษกว่าช่วงอื่น

ในช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?

ในวันเข้าพรรษา พระจะไปรวมกันที่โบสถ์พร้อมกันทั้งวัด แล้วก็อธิษฐานด้วยการกล่าวคำว่า “อิมสฺมึ  อาวาเส  อิมํ  เตมาสํ  วสฺสํ  อุปเม” แปลว่า “ข้าพเจ้าขออธิษฐานอยู่จำพรรษา อาวาสแห่งนี้ ลอด ๓ เดือน  ตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะอยู่ที่วัดตลอด เดือน พอประชุมพร้อมกันเสร็จแล้ว พระภิกษุผู้เป็นเถระ เช่น เจ้าอาวาส ก็จะให้โอวาทพระภิกษุ ให้ตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษ และให้ข้อคิดต่าง ในการฝึกฝนตนเอง

พระสงฆ์ท่านมีกิจกรรมในระหว่างพรรษาของท่าน แล้วพวกเราสาธุชนจะอธิษฐานพรรษาได้หรือเปล่า?

สาธุชนไม่มีพระวินัยบังคับเรื่องอธิษฐานโดยตรง แต่ในพรรษาเราควรตั้งใจว่า ใน ๓ เดือนนี้จะทำความดีอะไรบ้าง สัก ๒-๓ ประการ ก็พอ ใครที่ดื่มเหล้าอยู่ พรรษานี้ต้องตั้งใจว่า จะไม่ยอมให้เหล้า แม้แต่หยดเดียวผ่านลำคอ จะงดบุหรี่และอบายมุข ทั้งหลายด้วย ไม่ว่าการพนัน เที่ยวกลางคืน งดตลอด ๓ เดือน แล้วจะตั้งใจสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกวัน

ให้จำพรรษาอยู่ในวงกาย กายยาววา กว้างศอก หนาคืบ คือ ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าประมาณ ๑ วา กว้างประมาณ ๑ ศอก หนาประมาณ ๑ คืบ ให้เราจำพรรษาในวงกาย คือเอาใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวด้วยการทำสมาธิ เอาใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย

ถ้าทำอย่างนี้แล้ว พรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความรุ่งเรืองและความสำเร็จของทุก ๆ คน


แต่ละวัดมีการจัดกิจกรรมในวันเข้าพรรษาเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

หลักการใหญ่ที่ไม่ต่างกันคือการที่พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ ๓ เดือน แล้วศึกษาพระธรรมวินัย แต่รายละเอียดของการปฏิบัติจะเข้มข้นขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละวัด เช่น บวชแล้วต้องมีการศึกษาพระธรรมวินัย เรื่องนี้เราต้องยอมรับว่า บางวัดอาจจะมีพระน้อย และมีผู้เข้ามาบวชพรรษาแค่ ๑-๒ รูป จำนวนนักเรียนยังไม่เป็นปึกแผ่นเท่าที่ควร ครูบาอาจารย์ที่จะสอนก็อาจจะพร้อมบ้าง ไม่พร้อมบ้าง เพราะฉะนั้น ก่อนบวชพยายามเลือกสักนิดหนึ่งว่าจะบวชที่ไหน จึงจะสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้เต็มที่ ไม่ใช่แค่ได้ชื่อว่าบวช แต่บวชแล้วขอให้ได้ปฏิบัติจริง ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจริง ในเมื่อยอมสละเวลามา ๓ เดือนแล้ว ให้ใช้ ๓ เดือนนี้อย่างคุ้มค่าจริง ๆ เพราะว่าชีวิตคน ๆ หนึ่ง จะมีการบวช ๓ เดือน ได้สักกี่ครั้ง อาจจะเป็นแค่ครั้งเดียวในชีวิต ขอให้ใช้เวลาช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด คุ้มค่าที่สุด

ในกรณีของคณะสงฆ์ หากกำลังไม่พร้อมอาจจะใช้วิธีรวมกัน เช่น ในตำบลมีอยู่ ๔-๕ วัด อาจจะมาบวชแล้วรวมกันอยู่วัดใดวัดหนึ่ง จะได้มีจำนวนมากขึ้น แล้วก็เอาครูบาอาจารย์ที่เก่งในวิชาต่าง ๆ ของแต่ละวัดมาช่วยกันสอน เพราะวัดในตำบลเดียวกันก็ไม่ได้ไกลกันมาก ญาติโยมจะได้มาเยี่ยมพระลูกหลานได้สะดวก

ประเด็นหลัก คือ บวชแล้วขอให้ได้ศึกษาพระธรรมวินัย อย่าบวชเสียผ้าเหลือง ต้องมีกิจวัตร กิจกรรม มีการฝึกตัวเองที่เข้มข้น ตัวอย่างกิจวัตรที่วัดพระธรรมกาย ตอนเช้า ตื่นตี ๔ ครึ่ง สวดมนต์ ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ พอฟ้าเริ่มสางก็ออกไปบิณฑบาต ส่วนหนึ่งอยู่ทำความสะอาดกุฏิ ดูแลสถานที่ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เวลา ๗ โมงเช้า ฉันเช้าพร้อมกัน โดยมี พระอาจารย์มาสอนมารยาทในการขบฉัน ๘ โมงครึ่ง สวดมนต์นั่งสมาธิต่อถึงเพล ฉันเพลเสร็จพักกันสักครู่ พอบ่ายโมงก็ศึกษาพระธรรมวินัย ตกเย็นก็ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่และทำภารกิจต่าง ๆ ๑ ทุ่ม สวดมนต์ นั่งสมาธิ กิจวัตรกิจกรรมเป็นอย่างนี้ตลอด ทุก ๆ วัน เพราะฉะนั้น พระบวชใหม่จะได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่

บวชครบ ๓ เดือนแล้ว เมื่อกลับออกไปคนโบราณจะเรียกว่า “ทิด”  แปลว่าคนสุก คือกิเลสถูกการบำเพ็ญตบะด้วยการทำความดีบ่มจนสุก แม้ยังไม่ถึงกับหมดกิเลส แต่จากดิบ กลายเป็นสุกแล้ว กลายเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความยับยั้งชั่งใจ เจอปัญหาอะไรก็มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ศึกษามาเป็นหลักในการแก้ไข คนอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็น ผู้หลักผู้ใหญ่ คือเป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักในการดำรงชีวิต เจอปัญหาก็รู้ว่าควรจะแก้อย่างไร โดยเอาหลักธรรม มาใช้ในการแก้ปัญหา สมัยโบราณใครบวชไม่ครบ ๓ เดือน ไม่เรียกทิด ถ้าใครยังไม่เป็นทิดเวลาไปขอลูกสาว เขาไม่ให้ เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะมีคุณธรรมเพียงพอที่จะไปดูแลลูกสาวเขา

คนโบราณฉลาดมาก สังคมจึงสงบร่มเย็น ประเทศไทยจึงได้ชื่อว่าสยามเมืองยิ้ม ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ตอนนี้ชักยิ้มไม่ค่อยออกเพราะขาดธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเทศของเรามีทุนทาง วัฒนธรรมที่มาจากรากฐานของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว หากบวชให้ถูกหลักเข้าพรรษาแล้วละก็ เราจะ สามารถเอาความสงบร่มเย็นและความสมานฉันท์ กลับคืนมาสู่บ้านเมืองของเราได้เป็นอย่างดี


ในช่วงเข้าพรรษามีกิจกรรมสำหรับผู้ชายค่อนข้างมาก แล้วผู้หญิงจะมีการรักษาศีลหรือว่าบวชบ้างไหม?

ฝ่ายหญิงถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน สังเกตดูวัดแต่ละแห่งมีผู้หญิงเข้าวัดมากกว่าผู้ชาย เพราะฉะนั้นฝ่ายหญิงคือกำลังสนับสนุนที่สำคัญ โดยเฉลี่ยผู้หญิงทำบุญตักบาตรมากกว่าผู้ชาย ขยัน ขันแข็งกว่า ไปวัดมากกว่า ถึงคราววันพระ วันโกน บางทีไปค้างที่วัดเลย ไปรักษาศีล ๘ ไปถืออุโบสถศีล และฟังเทศน์ฟังธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ

สมัยโบราณ ใครต้องการจะฝึกฝีมือเรื่องอะไร ต้องไปที่วัด เช่น สาว ๆ ที่จะให้มีเสน่ห์ปลายจวัก ทำกับข้าวเก่ง ต้องไปเข้าโรงครัวของวัด สุดยอดฝีมือ แม่ครัวของทั้งชุมชนอยู่ที่วัด เพราะแม่บ้านแต่ละบ้าน ใครเก่งเรื่องอะไรมาโชว์ฝีมือสุด ๆ กันที่วัดเลย ใครอยากจะฝึกเรื่องอะไรไปฝึกที่วัด ไปเป็นลูกมือให้เขาก่อน ทำไป ๆ เดี๋ยวก็เก่ง เพราะฉะนั้น ใครจะไปฝึกแกะสลักผลไม้ หรือจะทำอะไรงาม ๆ ถวายวัด ต้องไปฝึกที่วัด

ฝ่ายหญิงจึงเป็นฝ่ายที่มีความสำคัญ มีคำ ๆ หนึ่งกล่าวถึงความสำคัญของผู้หญิงเอาไว้ เป็นภาษาบาลี คือ คำว่า  "อิตฺถีสทฺโท"  อิตฺถี  แปลว่า หญิง  สทฺโท  แปลว่า เสียง มีความหมายว่า เสียงของหญิงดังเสมอ อย่างเช่น ถ้าผู้หญิงนิยมสิ่งใด ผู้ชายจะปรับตัวตาม ถ้าผู้หญิงบอกว่า “เธอยังไม่บวช ยังไม่เป็นทิด ฉันไม่แต่ง” อย่างนี้กระแสการทำความดี กระแสการบวชเกิดขึ้นเลย ถ้าประสานกันทั้งชายทั้งหญิงแล้วละก็ ทุกคนจะมีส่วนช่วยในการทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ สงบร่มเย็นทั้งหมด เจริญพร


Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๐๕  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
เข้าพรรษาอย่างเข้าใจ เข้าพรรษาอย่างเข้าใจ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:17 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.