แรงศรัทธานานาชาติ ธรรมทายาทอินเตอร์





โครงการอบรมธรรมทายาทนานาชาติ ครั้งที่ ๙

วันใหม่ของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นแล้ว มิใช่วันใหม่ที่เกิดขึ้นจากการขึ้นของดวงอาทิตย์ แต่เป็นวันใหม่ของชีวิตที่เกิดจากการตัดสินใจ...ทำในสิ่งที่ชาวพุทธบางคน บอกว่า "เอาไว้ก่อน"

ยอดแดดอาบลูบไล้ท้องฟ้ามานาน ผืนดินที่ซุกซ่อนใต้พรมนุ่ม ๆ ของยอดหญ้าสีเขียวยังคงอิ่มด้วยน้ำฝนที่ทยอยตกมาหลายวัน แถวนาคธรรมทายาทนานาชาติในชุดขาวกว่าร้อยคนค่อย ๆ ก้าวเท้าซ้ายขวาอย่างช้า ๆ กลายเป็นขบวนเวียนประทักษิณรอบอุโบสถที่ทำได้อย่างสงบเสงี่ยมสง่างาม ท่ามกลางสายตาสาธุชนนับพันคู่ที่เดินทางไกลเพื่อมาอนุโมทนา ภายใต้บรรยากาศแสนชุ่มชื่นของต้นฤดูเข้าพรรษา

โครงการอบรมธรรมทายาทนานาชาติครั้งนี้ เดินทางมาถึงครั้งที่ ๙ แล้ว มีผู้สมัครตนเป็นพระจากทั่วโลก เช่น อังกฤษ อิตาลี สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ รวม ๑๕ ชาติ กว่า ๑๐๐ ท่าน เวลาอันมีค่าถึง ๑ เดือนเต็ม นับจาก ๑๐ กรกฎาคม - ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ คือบทพิสูจน์ถึงความตั้งใจจริงของพวกท่านว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้มากเพียงใด

หลังจากฝึกฝนอบรมตนเองมาตลอด ๒ สัปดาห์แรก ในที่สุด วันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ นาคธรรมทายาทก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท ณ อุโบสถวัดพระธรรมกายได้สำเร็จดังปรารถนา และด้วยความเมตตาของหลวงพ่อธัมมชโย ที่ต้องการขยายโอกาสให้ชาวโลกสามารถแสวงหาความจริงของชีวิตอย่างไม่มีข้อจำกัด ปีนี้จึงแบ่งการอบรมออกเป็น ๓ ภาษา ทั้งภาอังกฤษ ภาษาจีน และล่าสุดคือภาษาญี่ปุ่นสำหรับธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นที่แม้ประเทศของพวกเขาเพิ่งจะบอบช้ำจากพิษสงภัยธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ รวมไปถึงสารกัมมันตภาพรังสี แต่พวกเขาก็ยังไม่หมดกำลังใจทำความดี บินมาอบรมจำนวน ๖ คน






"ชีวิตอาตมาก่อนมาที่นี่ เรียกว่าเหนื่อยล้า ไร้ความฝัน...ความหวังหรือความสนุกสนานอะไรเหล่านั้นไม่มีเลย ชีวิตช่างมืดมิดเสียจริง ๆ และยังเศร้าใจไปกับประเทศญี่ปุ่นด้วยยิ่งได้ดูข่าวจากทั่วโลกแล้วก็ยังทำให้ทุกข์ใจเข้าไปอีก " พระอิชิคาว่า  สมิทฺโธ ธรรมทายาทจากโตเกียว พยายามอธิบายความในใจในฐานะคนพื้นที่่ จริง ๆ แล้ว นักร้องเพลงบลูอย่างท่านอาจไม่ได้มาบวชแล้วก็ได้ หากขาดฝีไม้ลายมือการชักชวนจากหมอนวดแผนไทยที่ท่านไปฝากตัวเป็นลูกค้าขาประจำตอนกลางวัน เธอเป็นคนที่ทำให้ท่านเหมือนได้ชีวิตใหม่ "อาตมารู้สึกว่าชีวิตก่อนจะเข้าโครงการกับชีวิตตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมากเลย ตอนนี้ทุกอย่างดูสดใสไปหมด เราไม่ต้องไปรับรู้ข่างต่าง ๆ ความไม่สบายใจก็ไม่ได้เจอเลย จะฉันอาหาร ฟังธรรม จะมองหรือรับรู้อะไร ก็สดชื่นมีชีวิตชีวาไปหมด ชีวิตเป็นเรื่องของความสุขจริง ๆ"

สำหรับอีกหลายคนที่แม้จะไม่เจอกับอุปสรรค แต่เพราะความอยากค้นหาคำตอบบางอย่างให้แก่ตนเองก็เป็นแรงจูงใจมากพอที่จะผลักขาทั้งสองให้ก้าวมาเป็นหนึ่งในร้อยประจำโครงการนี้ เช่น พระอเล็สซานไดร ทีปาโภ ชาวอิตาลี

"แน่นอนครับ ในฐานะที่เป็นชาวอิตาลีเป็นคนคริสต์ ดังนั้นนี่จึงเป็นประสบการณ์บวชครั้งแรก เป็นประสบการณ์ที่ได้ใกล้ชิดศาสนาพุทธมากที่สุด อาตมาชอบที่จะศึกษาความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและความแตกต่างทางความคิดว่าผู้คนอยู่ด้วยศาสนาปรัชญาและลัทธิความเชื่อต่าง ๆ อย่างไร ซึ่งผมได้รู้วัฒนธรรมของชาวคาทอลิกและคริสเตียนแล้ว ผมจึงอยากรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนามากขึ้น"

คำตอบของท่านดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เมื่อถูกถามว่า อะไรทำให้หันมาสนใจพระพุทธศาสนา "คงไม่เรียกว่าตัวเองเป็นผู้รู้ในศาสนาพุทธ แต่สิ่งที่อาตมาเห็นหลังจากมาอยู่เมืองไทยก็คือ เห็นผู้คนมีความสุขมากกว่าชาวยุโรป แล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นชาวพุทธ อาตมาจึงสงสัยและอยากรู้ว่าศาสนาพุทธมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนอย่างไรแล้วทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสุขมามากขึ้นได้อย่างไร"




เสียงคำขออุปสมบทในภาคบ่ายเริ่มดังขึ้นภายในโบสถ์ แม้สำเนียนบาลีของนาคอเล็สซานไดรอาจฟังดูแปร่งหู และภายในใจจะตื่นเต้นไปบ้าง แต่ท่านก็แสดงออกถึงความพยายามเป็นอย่างมาก และไม่ยอมให้การบวชครั้งแรกเป็นข้ออ้างที่จะทำอะไรผิดพลาดในร่มกาสาวพัสตร์  พระทุกรูปก็ต้องเป็นเช่นเดียวกัน กว่าจะถึงขั้นนี้ได้ต้องผ่านการฝึกมาอย่างเข้มข้น ทั้งการกราบ การไหว้ การทำความสะอาดเสนาสนะ การสวดมนต์และการปฏิบัติธรรม ทว่าภายใต้ความอยากลำบากนี้เอง กลับมีความสุขอยู่บนความเรียบง่าย จนธรรมทายาทรุ่นที่ผ่าน ๆ มาหลายท่าน ต้องกลับมาลิ้มรสชาติของเพศสมณะอีกครั้ง

"ชีวิตนักบวชนั้นไม่เหมือนกับชีวิตของคนทั่วไป" พระหวงเจิ้งหง  อินฺทโก นักออกแบบภายใน วัย ๔๒ ปี กล่าวขึ้น ปีนี้ท่านเข้ารับการอบรมเป็นครั้งที่ ๓ จนเข้าใจชีวิตนักบวชได้ดีกว่าเพื่อน ๆ ในรุ่น "การอบรมธรรมทายาททั้ง ๓ ครั้งนั้น ช่วงครึ่งเดือนแรกเป็นการเรียนรู้ความเป็นอยู่ของพระ ทำให้ได้รู้ว่า ชีวิตนักบวชนั้น มีเวลาเพื่อการสวดมนต์นั่งสมาธิ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เวลาทั้งหมดมอบให้แก่พระพุทธศาสนาจริง ๆ"

เช่นเดียวกับพระวิลเลียม  เตชกโร ที่เคยเข้ามาบวชแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อกลับไปบ้านเกิดที่สิงคโปร์ ท่านก็พบว่าในหัวใจนั้นยังคงโหยหาความสงบสุขที่เคยได้รับจากการเป็นธรรมทายาท ในที่สุดก็ตัดสินใจเด็ดขาด สละทรัพย์สมบัติทั้งหมดและบอกลาครอบครัวที่อบอุ่นเพื่อมาอยู่ในเพศสมณะ หากมีโอกาส ท่านบอกว่าจะอยู่เป็นพระต่อไปเรื่อย ๆ และสรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ให้เราฟังว่า "เวลาที่รอคอย...มาถึงแล้ว"


ส่วนในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้นเหล่าพระธรรมทายาทนานาชาติกำลังจะรับรู้ได้เองในอีกไม่ช้านี้ ลองคิดดูเถิดว่า พวกท่านเหล่านั้นเป็นถึงชาวต่างชาติ กว่าจะได้บวช ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมา หลายคนก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธตั้งแต่เกิด แต่พวกท่านไม่เพียงแค่สนใจเรียนรู้พระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่กำลังจะทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดคำสอนสู่ใจชาวพุทธทั้งปวง คนไทยที่เป็นชาวพุทธมานานหากทำตัวนิ่งเฉย ชายแมนแมนไม่ยอมออกมาบวชเพื่อกอบกู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาแล้วในอนาคตจะมีแต่พระชาวต่างชาติมาให้เรากราบไหว้ก็เป็นได้



Cr. กองบรรณาธิการ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๐๖  เดือนสิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
แรงศรัทธานานาชาติ ธรรมทายาทอินเตอร์ แรงศรัทธานานาชาติ  ธรรมทายาทอินเตอร์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:02 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.