เราจะมีวิธีการดำเนินชีวิตอย่างไร จึงเรียกได้ว่าใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา


ถาม : เราจะมีวิธีการดำเนินชีวิตอย่างไร จึงเรียกได้ว่าใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา ? 
ตอบ : เรื่องการใช้ชีวิตหรือดำเนินชีวิตอย่างผู้มีปัญญานี้ คำสอนในพระพุทธศาสนามีอยู่ใน กามโภคีสูตร ใจความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมนษุย์ในโลกประเภทหนึ่งว่าเป็นยอดคนกว่าใครในบรรดาคนทั้งโลก ๑๐ จำพวก วันนี้เราจะมาดูกันว่า ยอดคนที่ว่านั้นเขามีการดำเนินชีวิตอย่างไร

ในโลกนี้ ทรัพย์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดี ไม่มีทรัพย์ชีวิตก็ดำรงอยู่อย่างยากลำบาก และทรัพย์นั้นต้องดิ้นรนแสวงหามาจึงจะได้ ในเบื้องต้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกคนจากวิธีการแสวงหาทรัพย์ออกเป็น ๓ จำพวก ได้แก่  
๑. พวกที่แสวงหาทรัพย์มาโดยวิธีไม่ชอบธรรม  
๒. พวกที่แสวงหาทรัพย์โดยวิธีชอบธรรมและไม่ชอบธรรม
๓. พวกที่แสวงหาทรัพย์โดยวิธีชอบธรรมเท่านั้น

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการแสวงหาทรัพย์โดยวิธีชอบธรรม ทรงติเตียนการแสวงหาทรัพย์โดยวิธีไม่ชอบธรรม สำหรับคนจำพวกที่สองซึ่งแสวงหาทรัพย์ทั้งโดยวิธีชอบธรรมและไม่ชอบธรรมนั้น เป็นบุคคลจำพวกที่ทั้งควรสรรเสริญและควรติเตียน

เมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว ความจริงต้องนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าอย่างถึงที่สุด แต่ด้วยความไม่รู้ของปุถุชนผู้ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ จึงได้ใช้ทรัพย์ไปถูกบ้างผิดบ้าง พระพุทธองค์ทรงแยกจำพวกของคนตามวิธีการใช้ทรัพย์อีก ๓ จำพวก คือ
๑. พวกที่หาทรัพย์มาได้แล้ว แต่ไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๒. พวกที่ใช้ทรัพย์ที่หามาได้เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ
๓. พวกที่ใช้ทรัพย์ที่หามาได้เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข แบ่งปัน (บริจาคช่วยเหลือสังคม) และทำบุญ

ในบรรดาคนที่ใช้ทรัพย์ด้วยวิธีต่าง ๆ นี้ สิ่งที่ควรแก่การสรรเสริญก็คือ การใช้ทรัพย์เลี้ยงดูตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ และใช้ทรัพย์นั้นเพื่อแบ่งปัน และทำบุญ

ดังนั้น เมื่อนำการจำแนกคนโดยใช้วิธีการแสวงหาทรัพย์และใช้ทรัพย์รวมกันแล้วจึงจำแนกผู้คนออกได้เป็น ๙ จำพวก
๑. แสวงหาทรัพย์ในทางไม่ชอบธรรม ไม่ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๒. แสวงหาทรัพย์ในทางไม่ชอบธรรม ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๓. แสวงหาทรัพย์ในทางไม่ชอบธรรม ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน และใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๔. แสวงหาทรัพย์ทั้งในทางชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ไม่ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๕. แสวงหาทรัพย์ทั้งในทางชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๖. แสวงหาทรัพย์ทั้งในทางชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน และใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๗. แสวงหาทรัพย์แต่ในทางชอบธรรม ไม่ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๘. แสวงหาทรัพย์แต่ในทางชอบธรรม ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ
๙. แสวงหาทรัพย์แต่ในทางชอบธรรม ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ใช้ทรัพย์เพื่อการแบ่งปัน และใช้ทรัพย์เพื่อการทำบุญ

ในบรรดา ๙ จำพวกนั้น ที่ควรแก่การสรรเสริญทั้ง ๒ ด้านก็คือ จำพวกที่ ๙ แสวงหาทรัพย์ในทางชอบธรรม แล้วใช้ทรัพย์เพื่อเลี้ยงตนและครอบครัวให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แบ่งปันทรัพย์ และทำบุญด้วย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ยอดคน เพราะยังเป็นผู้มีใจกำหนัด หมกมุ่น จดจ่อกามสุข ไม่เห็นโทษในชีวิต ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ยังยินดีต่อการเวียนว่ายในห้วงทุกข์

ยอดคนกว่าใครในบรรดาคนทุกจำพวกนั้น คือ คนในจำพวกที่ ๑๐ เป็นบุคคลที่แสวงหาทรัพย์ ทำมาหากินโดยวิธีชอบธรรม เมื่อใช้ทรัพย์ที่หามาได้ก็นำไปเลี้ยงดูตนให้เป็นสุข อิ่มหนำ แบ่งปันสงเคราะห์ทำบุญ และเป็นผู้มีความเจริญในด้านจิตใจ ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษในการเวียนว่ายตายเกิด มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ตัวอย่างของบุคคลผู้เป็นยอดคนเหล่านี้ในสมัยพุทธกาล ได้แก่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น แต่ละท่านดำเนินชีวิตของผู้ครองเรือนอย่างเป็นสุขและปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ชีวิตมีจุดหมายปลายทางมุ่งสู่พระนิพพานชัดเจนมั่นคงแน่นอน

ถามว่าบุคคลเช่นไรจึงจะฝึกหัดขัดเกลาตนจนมีความเจริญ มีปัญญาดั่งบุคคลจำพวกที่ ๑๐ นี้ได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพื้นฐานการพัฒนาของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนไว้ตามลำดับ คือ ทาน ศีล และภาวนา ด้านพระภิกษุสงฆ์ผู้ออกบวชแล้วก็มีลำดับการฝึกตนตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา บุคคลที่จะมีปัญญาได้คือผู้ที่ฝึกสมาธิภาวนามาโดยสม่ำเสมอ ดังมีพุทธพจน์ที่กล่าวถึงอานุภาพของใจที่ใสไว้ว่าสามารถจะมองเห็นได้กระจ่างถึงประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านได้ ตรงกันข้ามกับใจที่ขุ่นมัว ไม่อาจมองเห็นอะไรได้ตามความเป็นจริง

การเจริญสมาธิภาวนาจึงเป็นบทฝึกตนที่สำคัญของคฤหัสถ์และบรรพชิต ถ้าใครไม่ได้ฝึกตนมาถึงขั้นภาวนาอย่างจริงจังในชีวิต การแก้ไขชีวิตตนเองให้เจริญก้าวหน้าก็จะไม่บรรลุถึงที่สุดทาง เมื่อใจไม่ผ่องใสจะไม่มีโอกาสรู้และเข้าใจว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ จะไม่รู้และตระหนักถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่า ชีวิตนี้เราเกิดมามีเป้าหมายจะต้องออกจากทุกข์ไปให้ได้อย่างสิ้นเชิง จะไม่รู้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่เป็นเสมือนคุกขนาดใหญ่ที่คุมขังทุกชีวิตเอาไว้ ไม่อาจรอดพ้นคุกนี้ไปได้ด้วยวิธีอื่นใด ทางรอดทางเดียวที่จะออกไปจากโลกหรือคุกนี้ได้ ก็ด้วยธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยดำเนินชีวิตตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น

การดำเนินชีวิตตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่ มี สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกเรื่องโลกและชีวิต สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร สัมมาวาจา การพูดจาในทางที่ชอบธรรม สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ชอบธรรม สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพโดยชอบธรรม สัมมาวายามะ ความพยายามในทางที่ชอบ สัมมาสติ ความระลึกรู้ตัวได้ถูก และ สัมมาสมาธิ การมีจิตตั้งมั่นชอบ หรือจะย่อลงมาเป็น ๓ ประการได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ในกรอบของศีลได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ในกรอบของสมาธิ ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ในกรอบของปัญญาได้แก่ สัมมาทิฐิ และสัมมาสังกัปปะ

มนุษย์มีบุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต หมดบุญก็หมดอายุขัยต้องจบชีวิตชาตินี้ลงไป และเกิดใหม่ในภพอื่น การจะไปสู่ภพภูมิใดก็ตามแต่กำลังแห่งบุญบาปที่สั่งสมเอาไว้ยามเมื่อมีชีวิตอยู่ กำลังบุญมากส่งผลให้ไปเกิดในสุคติภูมิ ในโลกสวรรค์ หรือโลกมนุษย์ ถ้าบาปมากก็ส่งผลไปสู่ทุคติ อาจจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ดังนั้นเมื่อชีวิตยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ ยามเป็นมนุษย์พึงสั่งสมบุญไว้ให้มาก บุญมากความสุขความสำเร็จก็มากไปตามส่วน

การดำเนินชีวิตของผู้มีปัญญา จึงทำไปตามเส้นทางของทาน ศีล และภาวนา เมื่อชีวิตนี้มีทุกข์เป็นพื้นฐาน ทุกชีวิตต้องประสบกับทุกข์ ๔ ประการเหมือนกัน ต่างต้องพึ่งพาตนเอง ขจัดทุกข์ของตน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเก่งกาจสามารถแก้ไขทุกข์ได้เสมอ ในยามประสบอุปสรรคที่เกินกำลังของตน ก็ต้องการความช่วยเหลือแบ่งปันจากเพื่อนมนุษย์ผู้เป็นมิตรแท้

ทุกข์ของชีวิตประการที่ ๑ ทุกข์ประจำกาย ร่ายกายนี้ประสบเป็นประจำกับความหนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ มนุษย์ขาดแคลนปัจจัย ๔ ที่จะมาหล่อเลี้ยงร่างกายนี้ให้คงอยู่ได้ตลอดเวลา จึงเป็นที่มาว่าต้องทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์นั้นมาเลี้ยงดูตนให้เป็นสุขและอิ่มหนำ เพื่อคลายทุกข์นี้ และยามใดที่ใครขาดแคลนปัจจัย ๔ เหล่านี้ หรือหาได้โดยยาก เมื่อเพื่อนมนุษย์มีใจอารีหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือในเวลาที่ต้องการ จะน่าชื่นใจสักเพียงไร เหตุนี้เองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญการแบ่งปันทรัพย์ และสรรเสริญการเลี้ยงดูตนให้เป็นสุข

ทุกข์ของชีวิตประการที่ ๒ ทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน การดำรงอยู่ของมนุษย์ต้องอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ครอบครัว คนใกล้ชิด คนที่ทำงานร่วมกัน การอยู่ด้วยกันมีโอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ เพราะต่างคน ก็ต่างใจ ต่างอัธยาศัย โอกาสเข้าใจผิด พูดผิด ทำผิดก็มีได้ และการกระทบกระทั่งง่ายที่สุดและมากที่สุดก็ไม่เกินคำพูด ดังนั้นการมีศีลเสมอกัน การสื่อสารพูดจากันด้วยปิยวาจา พูดสร้างสรรค์ให้กำลังใจกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ และการใช้ทรัพย์ที่หามาได้เป็นประโยชน์ต่อคนใกล้ชิด เพื่อผูกสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นก็เป็นสิ่งควรทำ

ทุกข์ของชีวิตประการที่ ๓ ทุกข์จากการประกอบอาชีพ เมื่อทำการงานในอาชีพแล้วประสบปัญหาอุปสรรคอันใด ซึ่งทำให้หาทรัพย์ได้ยาก ได้น้อย หากได้รับน้ำใจจากเพื่อนมนุษย์ให้ความช่วยเหลือ แนะนำเกี่ยวกับการงานอาชีพ ส่งเสริมให้เขาได้เลี้ยงชีวิตต่อไปได้ดีด้วยการงานที่ชอบธรรม จึงเป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญ

ทุกข์ของชีวิตประการที่ ๔ ทุกข์อันเกิดจากกิเลสที่บังคับใจ ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ทำให้คนเรามีนิสัยและความประพฤติไม่ดี เบียดเบียนทั้งตนเองและคนอื่น ซึ่งจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์อย่างยิ่ง ถ้าหากคนที่อยู่ร่วมกันมีความจริงใจต่อกัน มีความเป็นกันเอง มีความประพฤติสม่ำเสมอจนเชื่อใจกัน สามารถพูดและเตือนกันได้ ความเป็นมิตรเช่นนี้ย่อมจะผูกน้ำใจกันและอยู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง

เมื่อชีวิตในโลกนี้มีทุกข์เป็นพื้นฐาน การดูแลและรักษาชีวิตไว้โดยอาศัยการทำมาหาทรัพย์ และใช้ทรัพย์นั้นมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต จึงเป็นการขจัดทุกข์ออกไปชั่วขณะเป็นครั้งคราวเท่านั้น หากจะรักษาชีวิตไว้เพื่อดำเนินไปให้ถึงจุดหมายปลายทางการพ้นทุกข์ พ้นไปจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เข้าถึงบรมสุขคือพระนิพพาน ก็ต้องดำเนินชีวิตอย่างผู้มีปัญญา อย่างบัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนที่ได้ดำเนินชีวิตด้วยหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

เรื่อง: หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๐ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ 

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/07/lp0862.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๐ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
เราจะมีวิธีการดำเนินชีวิตอย่างไร จึงเรียกได้ว่าใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา เราจะมีวิธีการดำเนินชีวิตอย่างไร จึงเรียกได้ว่าใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.