ธุดงควัตร บทฝึกคุณธรรมผ่านปัจจัย ๔


ธุดงควัตร
บทฝึกคุณธรรมผ่านปัจจัย ๔

โดย หลวงพ่อทัตตชีโว


การมาอยู่ธุดงค์ของพวกเราในช่วงปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๔๖ นี้ พวกเรามาอยู่เพื่อฝึกคุณธรรมให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลายเป็นต้นทางมาแห่งนิสัยดีๆ ทั้งหลายให้ตัวเอง และเป็นการหักดิบนิสัยไม่ดีทั้งหลายให้หมดไปจากตัว แต่การที่พวกเราจะอยู่ธุดงค์อย่างได้ผลตามที่ตั้งใจนี้ได้ พวกเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ธุดงควัตรเป็นบทฝึกคุณธรรมความดีในตัวได้อย่างไร


เราต้องเริ่มต้นที่การมองภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราให้ชัดก่อนว่า พระองค์ทรงเป็นบรมครูของชาวโลก และทรงมีลักษณะพิเศษในการดำเนินชีวิตส่วนพระองค์ คือทรงมีนิสัยชอบเป็นตัวของตัวเองทรงรักที่จะอยู่เดี่ยวๆ ทรงจะไม่คลุกคลีกับใคร แต่ทรงมีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ และทรงไม่หวง วิชชาความรู้

พระองค์ทรงจับทิศทางเรื่องนี้ได้ตั้งแต่ชาติต้นๆ ว่า ความรู้ความดีเมื่อรู้แล้วต้องรีบเปิดเผย เพื่อเป็นความเจริญของตัวเองและหมู่คณะ จากการที่พระองค์เพาะบ่มนิสัยมาอย่างนี้แล้วมีโอกาสไปค้นหาความรู้ด้วยพระองค์เอง จนมีคำอยู่คำหนึ่งว่า "ทรงรู้เขารู้เรา"
"รู้เขา" คือรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของมารที่เอาเหยื่อมาล่อให้เราทำสิ่งที่ไม่ดีจนกระทั่งติดเป็นนิสัย
"รู้เรา" คือรู้เรื่องที่เป็นบุญ เพื่อสร้างนิสัยที่ดี
และผู้ที่จะมารู้มาเข้าใจอย่างนี้ได้ จะต้องเพาะนิสัยความเป็นตัวของตัวเอง คือ รู้จักปลีกตัวหาเวลาเงียบๆ ที่จะพิจารณาดูความประพฤติของตัวเองว่า การกระทำของเราอย่างไหนเป็น "เขา คือ มาร" อย่างไหนเป็น "เรา คือ บุญ"
ผู้ที่จะดูความประพฤติของตัวเองออก คือ ผู้ที่รู้ว่านิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไร

นิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไร
การมาอยู่ธุดงค์ของพวกเราครั้งนี้ประเด็นสำคัญคือ ต้องการให้มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และนอกจากจะดูว่านิสัยดีไม่ดีของเรามีอะไรบ้างแล้ว ยังต้องรู้ด้วยว่านิสัยต่างๆ นั้นถูกเพาะมาได้อย่างไร
นิสัยของมนุษย์ เกิดจากการยํ้าคิด ยํ้าพูด ยํ้าทำ เมื่อยํ้ามากเข้าก็เลยกลายเป็นนิสัย มีโอกาสก็จะทำอย่างที่คุ้นอีก คือเป็นโปรแกรมประจำตัวของเรา ที่มีทั้งตัวเองกำหนดเอง แล้วก็มีคนอื่นมาช่วยชี้แนะ ทั้งชี้ผิด ชี้ถูก และทำให้นิสัยที่เกิดขึ้นมานั้น ก็เลยมีทั้งนิสัย "เรา" ซึ่งสืบทอดมาอย่างถูกต้อง มีครูโดยตรงคือ พระนิพพาน แล้วก็มีนิสัย "เขา" คือกิเลสมาร ที่สอดเข้ามา
ถ้ามองภาพตรงนี้ชัด จะเข้าใจว่า นิสัยเกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนได้อย่างไร การมาอยู่ธุดงค์ ก็เป็นเรื่องของการแก้นิสัย ด้วยการควบคุมการใช้ปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นแม่บทในการฝึก ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

นิสัยที่เกิดจากอาหาร
ยกตัวอย่างเรื่องอาหาร ตั้งแต่วันที่เราคลอดมาจากครรภ์มารดา หลังจากที่ท่านอาบน้ำทำความละอาดให้กับเราเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่เป็นด้วยกันทุกคนคือ หิว ซึ่งนั่นจะเริ่มเป็นนิสัยแล้ว ถ้าตั้งแต่ครั้งแรกคุณแม่ให้เรากินนม ไม่ว่าจะให้โดยตรงจากอกตัวเอง หรือให้นมชงก็ตาม จังหวะในการให้นมของแม่ แม่ต้องมีความรู้พอสมควร เพราะว่าถ้าให้ไม่เป็นเวลา ให้ไม่ตรงเวลา ปล่อยให้ลูกร้องตั้งนานกว่าจะได้กินแต่ละครั้ง ถ้าเป็นอย่างนี้จะเกิดเหตุร้ายขึ้นมา ๒ ประการ คือ ได้เพาะนิสัยเจ้าโทสะ นิสัยมักโกรธให้กับเด็กแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้เพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารให้แกตั้งแต่ยังไม่ลืมตาอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน เด็กอีกคนแม่ดูแลอย่างดี เอาขวดนมใส่ปากไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตื่นขึ้นมาก็ดูด ดูดแล้วก็หลับไป เด็กจึงมีอารมณ์ดี โตวันโตคืน แต่ไม่มีความรับผิดชอบ กลายเป็นได้เจ้าหมูขี้เกียจมาตัวหนึ่ง
ส่วนเด็กอีกคนแม่ให้นมตรงตามเวลา โรคกระเพาะก็ไม่เป็น ขี้เกียจก็ไม่ขี้เกียจ เจ้าโทสะก็ไม่เจ้าโทสะ อารมณ์ดี มีความตื่นตัว สุขภาพแข็งแรง
ครั้นพอโตขี้นเริ่มที่จะกินอาหารหยาบได้ ข้าวที่แม่คลุกให้กิน ถ้าบดอย่างดี มีอาหารครบทุกหมู่ได้สัดส่วน เด็กคนนี้จะโตวันโตคืน ท้องไส้ก็ดี อารมณ์ก็ดี แต่ว่าถ้าได้อาหารที่แม่บดให้ผิดสัดส่วน การเจริญเติบโตก็ไม่สมบูรณ์ ข้าวแต่ละช้อนนี้มีผลต่อสุขภาพ ตั้งแต่เริ่มคำแรกแล้ว รวมทั้งการให้มากให้น้อย วิธีป้อนคำโตคำเล็กจนกระทั่งอารมณ์ของผู้ที่ป้อน ล้วนมีผลต่อสุขภาพของเด็กทั้งนั้น
เมื่อลูกโตขึ้นอีกหน่อย พบว่า ถ้าพ่อแม่ประเภทเรียกลูกมาพร้อมกันแล้วค่อยกินข้าวก็ได้สร้างนิสัยให้อย่างหนึ่ง คือเด็กๆ จะรักกัน เพราะว่าเคยอดเคยอิ่มมาด้วยกัน ในขณะที่อีกบ้านหนึ่งใครหิวก็มากินก่อน คนไหนไม่หิวจะไปเล่นทีไหนก็ตามใจ เด็กพวกนี้โตขึ้นมาไม่รักกันหรอก เพราะกับข้าวอร่อยๆ นั้น คนมาก่อนก็เลือกกินก่อน คนมาทีหลังนอกจากอดแล้ว ยังต้องเป็นคนล้างจานเองอีกต่างหาก
นอกจากนี้ เด็กที่กินข้าวเสร็จเรียบร้อย แล้วล้างถ้วยล้างจานกับเด็กที่กินแล้วไม่ต้องล้าง นิสัยไม่เหมือนกันในเรื่องของความรับผิดชอบ
เราจะเห็นว่านิสัยทั้งดีและไม่ดีแต่ละอย่างนั้น ผ่านจากอาหารแต่ละมื้อตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งวันนี้รวมจนกระทั่งทัศนคติในเรื่องการกินการอยู่ ก็จะเป็นนิสัยด้วย เช่น ถ้าได้พ่อแม่สอนว่า
"ลูกเอ๊ย เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องปันกันกินปันกันใช้นะ ก่อนจะกินก่อนจะใช้ ต้องแบ่งไปให้ปู่ ให้ย่า ให้ตา ให้ยาย ให้ลุง ให้ป้า ไปทำบุญ ตักบาตรก่อน เหลือจากนั้นค่อยกินกัน ส่วนที่จะแบ่งให้คนรับใช้ก็แบ่งไป นี่ก็จะเป็นนิสัย เป็นทัศนคติแนวคิดว่า ต้องแบ่งปันกันกินแบ่งปันกันใช้
ข้าวทุกคำนํ้าทุกอึกที่เราใช้ไปมีผลต่อนิสัยดีหรือเลวของคนทั้งสิ้น

นิสัยที่เกิดจากเสื้อผ้า
เรื่องของเสื้อผ้าก็ทำนองเดียวกัน เริ่มตั้งแต่นอนแบเบาะ แค่เบาะที่นอนเนื้อหยาบ เนื้อละเอียดต่างกัน สัมผัสที่เราได้รับตั้งแต่เล็กก็ต่างกัน
พอเราฉี่ เราอึ ถ้าคุณแม่หรือพี่เลี้ยงรีบเช็ดรีบล้างให้ ก็กลายเป็นเพาะนิสัยรักสะอาดให้กับเรามาตั้งแต่เล็ก ในขณะที่บางบ้านปล่อยให้ลูกนอนแช่ฉี่แช่อึ เด็กคนนี้ก็ติดนิสัยขยำอึเล่นตั้งแต่เล็ก แถมมาด้วยโรคผื่นคัน แล้วแม่ก็เป็นผู้เพาะนิสัยหมักหมมให้ตั้งแต่นอนแบเบาะเลยทีเดียว
เมื่อเด็กโตขึ้นถึงวัยที่ต้องหัดให้ซักผ้า แม่ก็ต้องหัดให้ซักเป็น โดยหัดให้ซักผ้าเช็ดหน้า ซักถุงเท้าที่ชิ้นเล็กๆ เสียก่อน ถ้าไม่หัดเด็กจะไม่มีความสังเกต ไม่มีความรับผิดชอบ จะเล่นจะเปื้อนเท่าไรขอให้สนุก แม้จะเปื้อนก็ยอมเปื้อน แต่เด็กที่ถูกให้หัดซักหัดล้างมาตั้งแต่เล็ก  จะเล่นอะไรก็มีความระมัดระวัง
บางบ้านแม่หัดให้ลูกซักผ้าเหมือนกัน แต่ว่าหัดไม่เป็นคือหัดให้ซักรวมกันทั้งผ้าเช็ดหน้า กระโปรง กางเกงพร้อมกันเลย ไม่รู้จักแยก ไม่รู้จักจัดอันดับขั้นตอนในการซักการล้าง เด็กพวกนี้ เมื่อโตขึ้นเด็กก็มีความรับผิดชอบแต่ว่าหยาบขาดความละเอียด
บางบ้านสอนให้ซักผ้า แต่ไม่สอนวิธีตาก ก็ได้นิสัยไปอย่างหนึ่ง ถ้าบ้านไหน สอนวิธีตาก สอนบิดให้ดี ผ้าบางอย่างบิดให้แห้งก่อนแล้วค่อยไปตาก บางอย่างบิดไม่ได้ ต้องปล่อยให้แห้งเอง เสื้อสีต้องกลับเอาข้างในออกข้างนอก เวลาตากตากในร่ม ไม่ใช่ตากกลางแจ้ง พยายามพรํ่าสอนให้ละเอียด เมื่อโตขึ้น เด็กก็มีความรับผิดชอบและทำงานละเอียด
บางบ้าน ไม่ว่าผ้าจะเป็นสีไม่สี ก็ตากกลางแจ้งเหมือนกันหมด ผลมันก็ออกมาไม่เหมือนกัน พวกที่ตากกลางแจ้งสีซีดเร็ว พวกที่ตากในร่มสีซีดช้า บางคนอาจบอกว่า สีผ้าจะซีดช้าซีดเร็วไม่ห่วงหรอก แต่ก็ใม่ควรมองข้ามว่า ถ้าไม่ห่วงตรงนี้เดี๋ยวเด็กขาดความสังเกตกับไม่สังเกตต่างกัน
ผ้าทุกชิ้น เครื่องนุ่งห่มต่างๆ มีผลต่อการเพาะนิสัยดีหรือเลวของลูกทั้งนั้น

นิสัยที่เกิดจากที่อยู่อาศัย
เรื่องของการทำความละอาดบ้านก็อีกเช่นกัน ใครที่กวาดบ้านถูบ้านไม่เป็น ปล่อยหมักหมม สิ่งที่ตามมาคือโรคภัยไข้เจ็บ ความมักง่าย หรือใครนอนแล้ว ไม่ได้เก็บที่นอนก็เพาะนิสัยมักง่าย นิสัยทิ้งๆ ขว้างๆ นิสัยไม่เป็นระเบียบ เพราะฉะนั้นสมบัติมีเท่าไหร่ ก็เตรียมจะวิบัติ เตรียมจะละลายไปได้

นิสัยที่เกิดจากยารักษาโรค
เรื่องของยารักษาโรคก็เช่นกัน โดยหลักการแล้ว เราใช้ยาเพื่อช่วยรักษาสุขภาพที่ป่วยไข้ให้ดีขี้น เพื่อบรรเทาความทุกขเวทนาที่เกิดจากพิษไข้ให้หมดไป จะได้เอาเรี่ยวแรงกำลังไปทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราจะไม่ได้ใช้ไปเพื่อลดความอ้วน เสริมความสวยความหล่อ และโดยมากโรคของคนเราเกิดจากการกินไม่เป็น เช่น กินไม่เป็นเวลา ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กินนํ้าน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายขาดนํ้าอย่างหนัก เป็นเหตุให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร กินอาหารแล้วไม่เคี้ยวให้ละเอียดเป็นเหตุให้กระเพาะกับลำไส้ทำงานหนัก
เพราะฉะนั้น ถ้าใครก็ตามฝึกลูกให้รู้จักดูแลสุขภาพตัวเองเป็นแล้ว เขาจะมีร่างกายแข็งแรง สมส่วน สุขภาพดี ไม่เสียค่าหยูกค่ายาไปในทางเพื่อเสริมความสวยความหล่อที่ไม่ยั่งยืนอะไร เพราะผลสุดท้ายของการดูแลสุขภาพไม่เป็นเดี๋ยวก็ต้องหวนกลับมาดูไม่ดีเหมือนเดิม แล้วก็หันกลับมาใช้ยาเสริมความหล่อความสวยอีก จึงเป็นเหตุให้เป็นการใช้ยาเพื่อทำลายสุขภาพ ไม่ใช่ใช้ยาเพื่อรักษาโรคหรือรักษาสุขภาพ
ตกลงเป็นอันว่านิสัยที่ดีและไม่ดีของมนุษย์มาจากข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม บ้านช่องห้องหอที่ไม่รู้จักดูแล รวมกระทั่งการไม่รู้จักรักษาสุขภาพ การใช้หยูกใช้ยาไม่เป็น สิ่งเหล่านี้นำทั้งนิสัยไม่ดีมาให้ และนำทั้งนรกมาให้ และถ้ามองส่วนกว้างไปในระดับชาติ ก็นำวิบัติทั้งเศรษฐกิจ ทั้งความแตกสามัคคีของคนในชาติมาให้
แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าเราใช้ปัจจัย ๔ เป็นโอกาสที่ความรวยทั้งบุญ รวยทั้งสมบัติ รวยทั้งความน่ารัก น่าเคารพ น่านับถีอ รวมทั้งกระทั่งได้วิมาน ได้ไปเป็นนางฟ้า ได้ไปเป็นเทพบุตร ได้แตกฉานวิชชาธรรมกายตามคุณยาย พื้นฐานก็มาจากการใช้ปัจจัยสี่ของพวกเรานี่เอง
เพราะฉะนั้น การมาอยู่ธุดงค์ของพวกเราในปีใหม่นี้ จึงเป็นการมาฝึกคุณธรรมผ่านปัจจัย ๔ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ให้นั่นเอง

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/08/blog-post_0.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1GaMKvvPuavo1nuZE71d6Q_F3XGXWsI0q/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/04YNB_4602/04YNB_4602.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
ธุดงควัตร บทฝึกคุณธรรมผ่านปัจจัย ๔ ธุดงควัตร บทฝึกคุณธรรมผ่านปัจจัย ๔ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:02 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.