วัตรปฏิบัติแห่งฆราวาสธรรม ที่ส่องฉายจากคุณยายอาจารย์


วัตรปฏิบัติแห่งฆราวาสธรรม 
ที่ส่องฉายจากคุณยายอาจารย์

อาตมาได้มีโอกาสพบกับคุณยายอาจารย์ครั้งแรกเมื่อเข้ารับการอบรมธรรมทายาท ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ พอสิ้นสุดการอบรมธรรมทายาท มาวัดก็ได้มีโอกาสได้รับฟังคำสอนคุณยายด้วยตัวเอง แล้วต่อมามาบวชก็ได้มีโอกาสใกล้ชิดคุณยายท่านมากยิ่งขึ้น คุณยายอาจารย์ท่านมีคุณธรรมมาก จนยากจะพรรณนาได้หมด
ในวันนี้อาตมาจะบูชาคุณคุณยาย โดยการแสดงธรรมเรื่องฆราวาสธรรม โดยมีคุณยายอาจารย์ของเราเป็นแบบอย่าง ฆราวาสธรรมคือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้กับอาฬวกยักษ์ โดยอาฬวกยักษ์ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้าบุคคลละจากโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสตอบว่าผู้ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรมะ ๔ ข้อนี้คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ บุคคลนั้นแลเมื่อละโลกไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
หลักฆราวาสธรรมนี้ปฏิบัติได้ไม่เฉพาะฆราวาสเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเป็นหลักปฏิบัติที่ผู้รักและมุ่งหวังความก้าวหน้าทุกคนพึงปฏิบัติ พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวได้เคยแสดงธรรมไว้ว่าผู้ที่ปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรมได้จะเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษา ก็เป็นนักเรียนนักศึกษาที่ศักดิ์สิทธิ์ เรียนอะไรสำเร็จหมด เป็นนักธุรกิจก็จะเป็นนักธุรกิจศักดิ์สิทธิ์ ทำอะไรสำเร็จหมดเหมือนกัน เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นอุบาสก อุบาสิกาศักดิ์สิทธิ์ แม้เป็นพระภิกษุสามเณร ก็เป็นพระเณรศักดิ์สิทธิ์ สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างเต็มที่
อนึ่งในการบูชาทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าการปฏิบัติบูชานี้สูงสุด ดังนั้นหากพวกเราลูกหลานยายทุกคนสามารถปฏิบัติตั้งใจฝึกคุณธรรมตัวเองให้พร้อมด้วย สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ตามอย่างคุณยายอาจารย์ของเราได้ก็ได้ชื่อว่าเป็นการบูชาคุณยายอย่างสูงสุดเหมือนกัน

ฆราวาสธรรมทั้ง ๔ ข้อ คือ
ข้อที่ ๑. สัจจะ ความหมายคือความเป็นจริง คนที่มีสัจจะ มีคุณธรรมข้อนี้ จะเป็นคนที่มีความจริงใจทำอะไรแล้วก็ทุ่มไปจริงๆ เมื่อใคร่ครวญดีแล้วว่าอะไรควรทำ พอปักใจมั่นลงไปแล้วทำเต็มที่ทุ่มสุดตัว ไม่มีโลเล ทำฉาบฉวยไม่มี ต้องทุ่มสุดตัวอย่างนั้น
เราดูตัวอย่างคุณยายอาจารย์ของเราเอง ตั้งแต่อายุ ๑๒ คุณพ่อเสียไม่ทันได้ขอขมากับคุณพ่อ มีความรู้สึกที่ค้างในใจ ก็เลยตั้งใจว่าอยากจะไปตามหาพ่อจะได้ขอขมาพ่อ มีเป้าหมายจะไปตามหาพ่อ ท่านอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ละจากโลกนี้ไปแล้ว ถ้าตามหาต้องไปตามหาที่โลกอื่น จะไปหาได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็ตั้งปณิธานไว้ในใจว่าจะต้องไปตามหาคุณพ่อให้ได้ แล้วท่านก็แสวงหาหนทางเรื่อยมา
กว่าจะพบหนทาง กว่าจะปฏิบัติธรรมจนไปพบคุณพ่อแล้วช่วยพ่อได้ ใช้เวลาไปสิบกว่าปี ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย แต่เป้าหมายท่านไม่เคยคลอนแคลนเลย เมื่อปักใจมั่นแล้วก็มุ่งตรงต่อเป้าหมายตลอด ธรรมะจึงก้าวหน้ารวดเร็ว พอได้พบกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากนํ้า ท่านจึงให้เข้าโรงงานทำวิชชาเลย
ตรงนี้เป็นข้อคิดว่าคนที่ทำอะไรทำจริง ทุ่มจริงๆ ถึงคราวจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นจะไม่หวั่นไหว จะไม่กลัว มั่นใจในความจริงของตัวเอง แล้วคนที่จริงนี่ยังมีอานิสงส์ต่อตามมาอีกคือทำให้เป็นคนที่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร จะเป็นคนกล้าตัดสินใจ คนเราตัดสินใจ ถามว่ามีโอกาสผิดไหม ตอบว่ามีแต่คนที่ทำอะไรทำจริง ตัดสินใจด้วยใจที่นิ่งนี่โอกาสผิดมันน้อย แล้วถึงจะผิด ผิดนั้นก็จะเป็นครูเพราะได้ไตร่ตรองมาดีแล้วก่อนจะตัดสินใจ รู้เงื่อนไขข้อมูลอย่างดี พอตัดสินใจเปรี้ยงลงไป ถึงแม้ผิดก็จะรู้ชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไร ดังนั้นคราวหน้าเจอเรื่องคล้ายๆ กันก็จะไม่ผิดซํ้าอีก มันจะชัดเจนขึ้นมาในใจเลยว่าควรตัดสินใจอย่างไร พวกเราลูกหลานยายทุกคนขอให้เป็นคนจริง ทำอะไรทำจริง มีสัจจะเหมือนอย่างคุณยายอาจารย์
ฆราวาสธรรมข้อที่ ๒. ทมะ ความหมายคือการฝึกตัวเอง ข้อนี้มีความหมายนัยยะกว้างมาก จะขอยกคุณธรรมสัก ๒ ข้อที่นักฝึกตัวเองจะต้องมี คือ 
ข้อ ๑. ความเคารพครูบาอาจารย์ 
ข้อ ๒. ไม่เป็นโรคน้อยใจ
ข้อแรก ความเคารพครูบาอาจารย์นี้ นักฝึกตัวเองทุกคนต้องมี คนไหนไม่เคารพครูบาอาจารย์ล่ะก็ คนนั้นเอาดีไม่ได้ คนไหนผูกใจไว้กับครูบาอาจารย์ ให้ความเคารพครูบาอาจารย์อย่างเต็มที่ละก็ คนนั้นก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองไม่ตกต่ำ โบราณท่านเรียกว่าเป็นศิษย์มีครู คุณยายอาจารย์ของเรา ท่านให้ความเคารพครูบาอาจารย์ คือพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อย่างยอดเยี่ยมเลย ความเคารพของท่านไม่ได้มีเฉพาะตอนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำมีชีวิตอยู่เท่านั้นนะ แต่ยังคงสม่ำเสมอแม้เมื่อละโลกไปแล้วก็ตาม
ดูตัวอย่างง่ายๆ ตอนหลวงพ่อวัดปากน้ำจะมรณภาพ ท่านสั่งคุณยายอาจารย์ไว้ว่าให้รออยู่ที่วัดปากนํ้า อย่าไปไหนจะมีผู้ที่มีบุญมารับช่วงวิชชา ให้คุณยายสอนธรรมะ เมื่อมีคำสั่งของครูบาอาจารย์มาอย่างนี้คุณยายท่านก็อยู่จนกระทั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยได้มาเรียนธรรมะกับคุณยาย พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวและหมู่คณะทั้งหมดก็ตามเสริมขึ้นมา จนกระทั่งได้มาสร้างวัดพระธรรมกายอย่างปัจจุบัน
ประการที่ ๒. ที่นักฝึกตัวเองต้องมีก็คือ จะต้องไม่เป็นโรคน้อยใจ คนไหนน้อยใจครูบาอาจารย์เข้า ท่านดุท่านสอนแล้วน้อยใจ ความน้อยใจจะบดบังปัญญาทั้งหมด จะนึกไม่ออกเลยว่า เราบกพร่องตรงไหนควรจะปรับปรุงยังไง จะเพ่งมองไปข้างนอกอย่างเดียวว่าเป็นเพราะคนนั้นไม่ดีไปฟ้องผูใหญ่ เป็นเพราะคนนี้ไม่ดี เป็นเพราะครูอาจารย์ไม่ยุติธรรม ลืมมองตัวเองไปเลยว่าเราบกพร่องตรงไหน ยังหย่อนคุณธรรมในด้านใด ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร โรคน้อยใจนี่ทำให้คนหลายๆ คนที่เริ่มต้นตั้งใจดี ต้องเหินห่างจากการสร้างบารมีไปนักต่อนักแล้ว
คุณยายอาจารย์ท่านน้อยใจไม่เป็นนะ ท่านไม่เคยน้อยใจเลย หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านมีลูกศิษย์ที่ใช้คล่องๆ อยู่ ๔-๕ คน จะสั่งงานสั่งวิชชา ท่านก็จะสั่ง ๔-๕ ท่านนี้ คุณยายท่านไม่เคยน้อยใจเลย หลวงพ่อวัดปากน้ำ สั่งวิชชาท่าน ใช้งานท่าน ท่านก็ทุ่มทำเต็มที่เลย แต่ถึงคราวหลวงพ่อไม่ใช้ ท่านใช้คนอื่น คุณยายท่านไม่น้อยใจ ท่านเฉยๆ ท่านก็เอาใจเข้ากลาง ทำวิชชาไป เอาใจเข้ากลางไป เพราะนั้นคือหน้าที่วิชชาท่านก็เชี่ยวชาญขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายหลวงพ่อวัดปากน้ำก็เลยเรียกใช้มากที่สุด จนในที่สุดหลวงพ่อวัดปากน้ำถึงขนาดยกย่องคุณยายว่าเออ ลูกจันทร์นี่เป็นหนึ่งไม่มีสอง เพราะท่านมีคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้นี่เอง ข้อสรุปก็คือว่า นักฝึกตัวเอง ทมะนี่ จะต้องมีความเคารพครูบาอาจารย์ แล้วก็ไม่เป็นโรคน้อยใจ
ฆราวาสธรรมข้อที่ ๓. ขันติ คือความอดทน ท่านแบ่งเป็นความอดทนต่อ ๔ ประการคือ
๑. อดทนต่อความลำบาก ตรากตรำ
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ
๓. อดทนต่อการกระทบกระทั่งกัน ความเจ็บใจ
๔. อดทนต่อสิ่งที่ยั่วยวนใจ อำนาจ กิเลสต่างๆ
ความอดทน ๓ ประการต้น คือความลำบากตรากตรำ ทุกขเวทนา และการกระทบกระทั่งกัน คุณยายท่านผ่านมาหมดแล้ว แม้ข้อที่ยากที่สุด อดทนได้ยากที่สุดเลย คือ อดทนต่อความเย้ายวนใจ คุณยายอาจารย์ของเราก็เป็นแบบอย่างได้อย่างดีเยี่ยม ท่านไม่ติดอะไรเลย ทำวิชชากับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตั้งแต่พบพระเดชพระคุณหลวงพ่อวันแรกเรื่อยมา จนถึงวันสุดท้าย ไม่เคยไปเที่ยวที่ไหน ใจท่านมีแต่วิชชาอย่างเดียว ทำวิชชากลางวัน ๖ ชั่วโมง กลางคืน ๖ ชั่วโมง ถึงคราวนั่งธรรมะครั้งละ ๖ ชั่วโมง คุณยายท่านนั่งแล้ว นี่จะไม่ลุกเลย ปักใจมั่นดิ่งเข้ากลาง ไม่ถอนเลย นี่คือความที่ท่านไม่ติดอะไรข้างนอกทั้งหมด ใจมุ่งธรรมะอย่างเดียว ทุกขเวทนาทางกาย ทุกอย่างอดทนได้ มีการเตรียมการที่ดี เข้าห้องนํ้าจัดการภารกิจให้เรียบร้อย พอนั่ง ใจก็ดิ่งเอาธรรมะอย่างเดียว สิ่งเย้ายวนใจอะไร ไม่สนใจทั้งนั้นเลย
เพราะฉะนั้นพวกเราเองลูกหลานยายทุกคน ขอให้ฝึกให้เป็นอย่างคุณยาย เจออุปสรรคอย่าท้อถอย จะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เราเดินหน้าเรื่อยไปไม่หยุดยั้ง ไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอยในการทำความดีเลย ทำไปอย่างเต็มที่อันนี้คือสิ่งที่ยากที่สุด
ฆราวาสธรรมข้อที่ ๔. คือจาคะ แปลว่า ความเสียสละ ความสละนี่ มีความหมาย ๒ นัยยะคือ สละวัตถุสิ่งของแล้วก็สละอารมณ์
คุณยายอาจารย์ของเราเอง วัตถุอะไรต่างๆ ท่านไม่ติดเลย อยู่อย่างเรียบง่าย ให้อะไรมาพอใจอย่างนั้น ช่วงแรกที่มาอยู่ทำวิชชา เขาให้เตียงขาหักท่านก็พอใจ ดูแลทุกอย่างซ่อมแซมให้ดี ให้มุ้งเก่าๆ ขาดๆ จนหาผ้ามุ้งเดิมแทบไม่เจอ ท่านก็พอใจ ปะชุนให้เรียบร้อย ซักให้สะอาดก็แล้วกัน
มีอยู่คราวหนึ่ง มีคนเอาพัดขนนกยูงมาถวายหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านก็เอามาแจกให้กับผู้ทำวิชชา แต่เนื่องจากพัดมีอยู่แค่อันเดียว ท่านก็เลยให้ทำฉลากจับกัน คนอื่นเขาก็ตื่นเต้น สนุกสนานจับสลากลุ้นกันว่าใครจะได้ แต่คุณยายท่านนิ่งๆ เอาใจเข้ากลาง อธิษฐานขอให้ได้ แล้วท่านก็จับฉลากเป็นคนสุดท้าย แล้วคุณยายก็ได้จริงๆ รุ่งขึ้นคุณยายทองสุกท่านขอ จะเอาไปถวายพระ คุณยายท่านก็ถวายเลย ไม่ได้คิดอะไร ที่อธิษฐานให้ได้เพียงเพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงวิชชาเท่านั้นเอง
เรื่องความติดในอารมณ์หรือ ใครจะมาล่วงเกินอย่างไร ท่านก็ไม่ถือสา ไม่ติดในอารมณ์อะไร อารมณ์โกรธ อารมณ์โลภ อารมณ์หลง ไม่เอาเลย ท่านมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
คุณยายของเราท่านมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะเหตุนี้ทำให้ท่านฝึกตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ธรรมะเชี่ยวชาญตลอด เพราะว่าสิ่งที่เป็นตะกอนของใจ คอยเหนี่ยวรั้งใจไว้ ไม่มี ใจก็บริสุทธิ์สะอาด แล้วก็มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานอย่างเดียว เพราะฉะนั้นพวกเราเองกัลยาณมิตรลูกหลานยายทุกคน เราดูคุณยายอาจารย์เราเองเป็นแบบอย่างแล้ว ขอให้ตั้งใจฝึกตัวเองไป ให้มีคุณธรรมไม่ติดในอารมณ์ต่างๆ เหมือนคุณยายอาจารย์ของเรา
สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ๔ ประการนี้ ถ้าเราฝึกได้แล้ว ประการแรกแน่ๆ เลย คือว่าเราจะเป็นผู้ที่เมื่อละโลกไปแล้วไปสู่โลกหน้าจะเป็นผู้ที่ไม่เศร้าโศก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ตัวเราเองจะเจริญด้วยคุณธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป มีความแตกฉานเชี่ยวชาญในวิชชาธรรมกายเหมือนคุณยายของเรา ธรรมะจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทีเดียว และเมื่อทุกคนเป็นอย่างนี้หมู่คณะของเราก็จะงดงาม อีกหน่อยจะมีคนมาวัดเป็นแสนเป็นล้าน ถึง ๙๐ ล้าน ร้อยล้าน พันล้านก็แล้วแต่ ทั้งหมดก็จะอยู่กันอย่างสามัคคีกลมเกลียว เป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน เป็นหมู่คณะที่เป็นแบบอย่างให้กับชาวโลกได้ การเผยแผ่ธรรมะ เผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายก็จะเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณยายอาจารย์ของเรามีความปีติยินดีมากที่สุด เราดูคุณยายอาจารย์ของเราเป็นแบบอย่าง นึกถึงท่านครั้งใด ให้นึกถึงคุณธรรมของท่าน แล้วตั้งใจปฏิบัติตาม สิ่งนี้เป็นการบูชาคุณคุณยายที่สูงสุด

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ณ บ้านแก้วเรือนทอง
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/08/blog-post_89.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1GaMKvvPuavo1nuZE71d6Q_F3XGXWsI0q/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/04YNB_4602/04YNB_4602.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่

วัตรปฏิบัติแห่งฆราวาสธรรม ที่ส่องฉายจากคุณยายอาจารย์ วัตรปฏิบัติแห่งฆราวาสธรรม ที่ส่องฉายจากคุณยายอาจารย์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:31 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.