พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร
พระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร) ท่านเป็นเลิศในด้านใด ทำไมถึงมีลูกศิษย์อยู่ทั่วโลก
และท่านมีความเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายอย่างไร?
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คือ ผู้ที่ค้นพบวิชชาธรรมกายกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
หลักธรรมปฏิบัติก็ยังคงอยู่มาอีกระยะหนึ่ง จากนั้นก็เหลือเป็นตัวอักษร
เป็นหลักทฤษฎี เป็นภาคปริยัติ ในพระไตรปิฎก
แต่ผู้ที่เข้าใจและสามารถปฏิบัติได้จริงนั้นเลือนไป แม้ยังมีการปฏิบัติอยู่ในรูปแบบต่าง
ๆ แต่ผู้ที่จะบรรลุธรรม เข้าถึงธรรมจริง ๆ ห่างออกไป อย่างเช่น คำว่า
มัชฌิมาปฏิปทา เส้นทางสายกลาง ก็รู้แต่เพียงหลักปริยัติว่า
คือทางสายกลางระหว่างความสุดโต่ง ๒ อย่าง คือทรมานร่างกายก็ไม่เอา
หมกมุ่นในกามสุขก็ไม่เอา เอาแค่ทางสายกลาง รู้อยู่แค่นี้ แต่ความจริงในเชิงปฏิบัติ
เส้นทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา คือ การนำใจของเราดำเนินไปที่ศูนย์กลางกาย
อันนี้ไม่ทราบกันเลย ฉะนั้น
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านจึงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อชาวโลก
เพราะท่านนำหลักธรรมปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่าวิชชาธรรมกายกลับคืนมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง
กว่าจะได้อย่างนั้น เรียกว่าทุ่มชีวิตเลย
พระเดชพระคุณหลวงปู่เกิดเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๒๗ วันที่ ๑๐ ตุลาคม (ถ้านับถึงปัจจุบันนี้ก็ ๑๒๗ ปี)
ท่านบวชแล้วปฏิบัติธรรมอยู่ ๑๐ กว่าพรรษา และบรรลุธรรมในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อายุ ๓๓ ปี ขณะที่บวชมาได้
๑๒ พรรษา ในวันเพ็ญเดือน ๑๐ ที่เราเรียกว่าวันไหว้พระจันทร์
ท่านปฏิบัติธรรมแบบทิ้งชีวิตเลย หลังจากไปศึกษากับพระอาจารย์มาหลายรูปแล้ว
ใครว่าพระอาจารย์รูปไหนเก่งเรื่องธรรมปฏิบัติ ก็ไปเรียนไปศึกษามาหมด
แล้วสุดท้ายก็มาปฏิบัติเอง เพราะไปศึกษาจนสุดความรู้ครูบาอาจารย์แล้ว
แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่ต้องการ คือยังไม่บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า
จนกระทั่งวันเพ็ญเดือน ๑๐ เมื่อปี
พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านปฏิบัติธรรมแบบทิ้งชีวิต ไม่บรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันนี้ยอมตาย สุดท้ายท่านก็เข้าถึงธรรม เราจึงเรียกวันเพ็ญเดือน ๑๐ ว่า "วันครูวิชชาธรรมกาย" เป็นวันที่ท่านนำธรรมะพระพุทธเจ้าในภาคปฏิบัติกลับคืนมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือว่าท่านมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่กับชาวโลก
ศิษย์เอกของพระเดชพระคุณหลวงปู่
ก็คือคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ท่านเป็นผู้ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ยกย่องว่า
"เป็นหนึ่งไม่มีสอง" คุณยายอาจารย์ฯ เป็นอาจารย์ของพระภิกษุรุ่นบุกเบิกของวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อธัมมชโยก็เป็นศิษย์ของคุณยายอาจารย์ฯ
เพราะฉะนั้นชาววัดพระธรรมกาย จึงมีความเคารพบูชาและกตัญญูต่อพระเดชพระคุณหลวงปู่มาก
เพราะถือว่าท่านเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้ความรู้วิชชาธรรมกายกับเรา
ในแต่ละปีมีการจัดงานรำลึกอย่างไรบ้าง
การจัดงานรำลึกโดยหลักก็คือระลึกถึงท่าน
มีการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก เป็นการปฏิบัติบูชา ซึ่งเลิศกว่าการบูชาทั้งปวง ส่วนรายละเอียดพิธีการอย่างอื่น
ขึ้นกับว่าแต่ละปีมีอะไร
การเคารพบูชามหาปูชนียาจารย์มีอานิสงส์อย่างไรบ้าง
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญ จะได้บุญมาก เหมือนในครั้งพุทธกาล หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว
พระเจ้าอชาติศัตรูก็สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
มีหญิงยากจนคนหนึ่งมีศรัทธาอยากไปบูชาพระสถูป แต่ไม่มีเงินจะไปซื้อดอกไม้ ธูปเทียน
มีแต่ศรัทธาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก็เลยเก็บดอกบวบขมสีเหลือง ๔ ดอก
ถือไปบูชาพระสถูป เดินไปกลางทางถูกโคแม่ลูกอ่อนวิ่งมาขวิด ตายเสียก่อน แต่ใจผูกไว้กับพระสถูปแล้วว่าจะไปบูชาด้วยดอกบวบขม
ตายแล้วบุญนี้ยังส่งให้ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองเหมือนสีดอกบวบขม
เหลืองอร่ามสวยงามมาก พระอินทร์เห็นแล้วยังชื่นชม ถามว่าทำบุญอะไรมา ทำไมวิมานสวยอย่างนี้
เทพธิดาไม่กล้าพูด อายว่าทำบุญนิดเดียว พอพระอินทร์คะยั้นคะยอสุดท้ายถึงพูดว่าทำบุญด้วยดอกบวบขมที่เก็บจากริมทาง
แต่เพราะบูชาถูกเนื้อนาบุญ บุญเลยส่งผลอย่างนี้
ฉะนั้น
ถ้าเราบูชาพระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่แค่ดอกบวบขม แต่เตรียมพานที่ประณีตเท่าที่กำลังเราจะเตรียมได้
แล้วบูชาด้วยความศรัทธาเลื่อมใส บุญจะเกิดขึ้นกับเรามหาศาล
เพราะถูกธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน
เนื่องจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านปฏิบัติธรรม
จนเข้าถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้านับพระองค์ไม่ถ้วน
เราบูชาท่านหรือทำบุญกับท่านก็จะได้บุญอย่างมหาศาล
ทำไมต้องหล่อรูปเหมือนของท่านด้วยทองคำ
ถ้าหล่อด้วยอย่างอื่นจะมีความแตกต่างกันหรือไม่
ให้เราลองนึกดูว่า
ถ้ามีใครมาถึงวัด แล้วเราบอกว่าที่นี่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่ที่หล่อด้วยทองคำแท้
เขาจะรู้สึกอย่างไร คนที่ไม่รู้จักพระเดชพระคุณหลวงปู่มาก่อนจะต้องรู้ทันทีเลยว่า
บุคคลท่านนี้ต้องไม่ธรรมดา เพราะการสร้างรูปปั้นให้ใครไม่ว่าจะด้วยโลหะชนิดใด
ก็แสดงว่าคนนั้นต้องเป็นคนดี
ถึงได้รับการยกย่องชื่นชมจากผู้คนถึงขนาดสร้างรูปปั้นเอาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังระลึกถึงความดี
แต่การหล่อด้วยทองคำแท้จะมีสักกี่รายในโลก บุคคลท่านนี้ต้องไม่ธรรมดา ฉะนั้น
คนที่มาสักการะจะใจเปิด ทำให้เกิดความสงสัยอยากรู้ว่าท่านดีอย่างไร
ทำไมถึงมีคนหล่อรูปท่านด้วยทองคำ เมื่ออยากรู้แล้วก็จะตั้งใจศึกษาหาความรู้
พอศึกษาก็จะได้ต้นแบบ นี่เป็นอุบายประการหนึ่ง
ฉะนั้น
ให้เราลองคิดดูว่า รูปหล่อนี้ไม่ได้อยู่แค่ปีเดียว แต่อยู่ยาวไปเป็นพัน ๆ ปี
ถ้าต่อไปมีคนมาบูชารูปหล่อทองคำของท่านเป็นพันล้านคน
การใช้งบประมาณในการหล่อสมมุติว่าเป็นหลักพันล้าน ก็เท่ากับว่าลงทุนต่อหัวคนละบาทเท่านั้นเอง
ใช้ต้นทุนคนละหนึ่งบาทในการเปิดใจให้คนหนึ่งพันล้านคนเกิด แรงบันดาลใจศึกษาประวัติของบุคคลที่เป็นต้นแบบในยุคนี้
และทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการทำ ความดี ใช้เงินบาทเดียวทำให้คนเกิดแรงใจในการทำความดี
สุดคุ้มเลย แล้วองค์ท่านก็ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่อย่างนั้น
ไม่ใช่แค่พันปีเท่านั้น อีก ๒ พัน ๓ พัน ๔ พันปี ก็ยังอยู่ได้
เพราะว่าทองคำเป็นโลหะที่บริสุทธิ์ และไม่ทำปฏิกิริยากับอย่างอื่นยกเว้นกรดกัดทอง
จึงมีความทนทานมาก
พุทธศาสนิกชนจะไปตามรอยสถานที่สำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ที่ไหนบ้าง
เราเรียกเส้นทางที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญของท่านว่า
เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ มีสถานที่สำคัญอยู่ ๖ แห่งด้วยกัน คือ
แห่งแรก บ้านเกิดของท่าน คือ แผ่นดินดอกบัว
(โลตัสแลนด์) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
แห่งที่ ๒ สถานที่อุปสมบท
คือ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
แห่งที่ ๓ สถานที่บรรลุธรรม
คือ อุโบสถวัดโบสถ์ (บน) ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
แห่งที่ ๔ สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายหลังบรรลุธรรมครั้งแรก
คือ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
แห่งที่ ๕ สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายและค้นคว้าวิชชาธรรมกายชั้นสูงตลอดชีวิตจนกระทั่งมรณภาพ
คือ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
แห่งที่ ๖ สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย
คือ วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
การสวมชุดขาวมีความสำคัญอย่างไร
ต่อการเข้าร่วมงานบุญต่าง ๆ
การแต่งชุดขาวไม่ใช่ของใหม่
เป็นการนำเอาธรรมเนียมที่ทำมาแต่ครั้งพุทธกาลมาปัดฝุ่นใหม่ ในสมัยพุทธกาลเวลาชาวพุทธจะไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือจะไปทำบุญที่วัด เขาจะอาบน้ำให้ร่างกายสะอาดก่อน แล้วก็สวมชุดขาว
ถือดอกไม้ธูปเทียน แล้วไปวัด ไปฟังธรรม ไปปฏิบัติธรรม ถือเป็นการแสดงถึงความเคารพในพระรัตนตรัย
นอกจากนี้ คนเราถ้าใส่ชุดขาวเวลาจะลุกจะนั่งจะเดิน ก็ต้องมีสติระวังตัว กลัวจะเลอะ
แล้วพอไปวัด ถ้าทุกคนแต่งชุดขาวหมด มองไปทางไหนเห็นแต่สีขาว ใจจะสบาย
ถ้าไปแล้วมีสีฉูดฉาดสารพัดไปหมด เสื้อผ้าก็ชะเวิกชะวาก เขียนคิ้วทาปากเปรอะไปหมด
บรรยากาศก็มั่วสับสน
เพราะฉะนั้นเราเอาของเก่ามาปัดฝุ่นใหม่
ตอนนี้ที่ศรีลังกาเขายังรักษาของเก่าอยู่ เวลาไปวัดวันพระหรือวันบุญใหญ่
เขาจะใส่ชุดขาวทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ อยู่เมืองไทยใส่ชุดขาวทั้งชุดอยู่บนท้องถนน
บางครั้งยังรู้สึกแปลกตา แต่ในศรีลังกาคนใส่ชุดขาวทั้งชุดจะไม่รู้สึกแปลกตาเลย
เพราะว่าเห็นอยู่ทั่วไป แม้ในวันธรรมดาพอไปวัดเขาก็จะใส่ชุดขาว
ทั้งเสื้อทั้งกางเกงขาวล้วนดูแล้วสบายตาสบายใจ
อยากจะให้ธรรมเนียมที่ไทยเราก็เคยมีอย่างนี้กลับมาสู่บ้านเราอีกครั้ง
ซึ่งตอนนี้ต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ เกิดขึ้นแล้วที่วัดพระธรรมกาย
คนเป็นหมื่นเป็นแสน ส่วนใหญ่สวมชุดขาว มีบ้างที่สวมเสื้อขาวแต่กางเกงสีอื่น
แต่เป็นส่วนน้อย แล้วเริ่มจะเป็นขาวล้วนมากขึ้น ยิ่งใครจะเข้าไปในวิหารหลวงปู่
เราตั้งกติกาไว้ว่าให้เป็นชุดขาว ๆ เท่านั้น ชุดขาวเขียว ขาวดำ ขาวสลับสีต่าง ๆ
ไม่เอา ขาวหม่น ๆ ก็ไม่เอา แม้กระทั่งมีตรา มียี่ห้อ มีอะไรปักอยู่ก็ไม่เอา เอาขาวล้วน
ๆ ทั้งชุด รองเท้าไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ใส่เข้าวิหาร
ถ้าใส่ถุงเท้าสีอื่นมาก็ถอดเอาไว้ แล้วเดินเท้าเปล่าเข้าไป ถ้าเป็นนักบวช
เป็นพระไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นโยมให้ขาวล้วน ๆ ทั้งชุด
ประชาชนทั่วไปที่คิดว่าไหน
ๆ ก็มาถึงวัดแล้ว แวะไปสักการะหลวงปู่สักนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้แต่งกายชุดขาว
อย่างนี้จะเข้าไปสักการะได้หรือไม่
กรณีผ่านวัดก็เลยแวะ
แบบนี้อยากจะให้ไปวัดอย่างตั้งใจมากกว่า ไม่ใช่ไปแวะเที่ยวชม
แล้วกรณีคนที่ไปวัดแบบฉุกเฉินจริง ๆ ก็มีร้านขายเสื้อผ้าใกล้ ๆ วัด
ก็ให้เปลี่ยนชุดขาวเข้าไป
อย่างในต่างประเทศ
ถ้าสวมชุดขาวทั้งชุดจะดูแปลกตามาก ๆ ญาติโยมในต่างประเทศก็เลยเอาชุดขาวใส่ถุง
ไปถึงวัด (วัดสาขาในต่างประเทศ) ก็เปลี่ยนชุด นี่ขนาดไม่ได้สักการะหลวงปู่
แค่ไปวัด เอาชุดใส่ถุงไปเลย ถึงวัดก็เข้าห้องน้ำเปลี่ยนชุดขาวล้วนทั้งชุด
ร่วมบุญจนเสร็จพิธี เวลาจะกลับก็สวมเสื้อกันหนาวแล้วออกไป
ควรเตรียมกาย
วาจา ใจ ในการร่วมงานที่เกี่ยวกับพระเดชพระคุณหลวงปู่อย่างไร
ถึงจะได้อานิสงส์สูงสุด
ก่อนไปร่วมงานให้รู้ว่าเราไปเพื่ออะไร
ในงานไม่มีคอนเสิร์ต ไม่มีดนตรี ไม่มีลิเก เป็นงานบุญล้วน ๆ ฉะนั้นเราต้องศึกษาสาระของงานว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระเดชพระคุณหลวงปู่
ในฐานะที่ท่านอุตส่าห์ไปค้นหลักธรรมปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาให้เรา
ทำให้เรามีความเชื่อมั่นในคำสอนของพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า โดยทั่วไปชาวพุทธแม้ในเมืองไทยที่เป็นเมืองพุทธ
เป็นศูนย์กลางชาวพุทธโลก คนไทยพุทธ ๑๐๐ คน ที่มั่นใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
ว่านรกสวรรค์มีจริง บุญบาปมีจริง มีกี่คน ส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ว่า “ก็น่าจะมี” เพราะเรารู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แต่ไม่มีพยานบุคคล พอมีผู้ปฏิบัติแล้วเข้าถึงได้ ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นว่าคำสอนพระพุทธเจ้าเป็นจริง บุญบาปมีจริง นรกสวรรค์มีจริง
ถ้าตั้งใจปฏิบัติธรรมแล้วสามารถบรรลุธรรมได้จริง
อย่างตอนที่คุณยายยังมีชีวิตอยู่
มีคนเข้ามาถามท่านว่า "นรกสวรรค์มีจริงไหม" ถ้าไปถามคนที่ไม่ได้ปฏิบัติก็อาจจะบอกว่า “น่าจะมีนะ พระพุทธเจ้าว่าไว้อย่างนั้น” แต่คุณยายบอกว่า “มีจริงสิคุณ อยากไปไหมล่ะ ยายจะสอนให้” หรือ “มีจริงสิคุณ ยายไปมาแล้ว คุณอยากไปไหมล่ะ ถ้าอยากไป มานั่งสมาธิ ยายจะสอนให้ แล้วตั้งใจปฏิบัติ คุณก็จะไปได้” ทำให้เรามั่นใจ
นี่คือพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเดชพระคุณหลวงปู่
ท่านเป็นพยานบุคคล และไม่ใช่แค่ท่านรูปเดียว
ศิษยานุศิษย์ของท่านที่เข้าถึงธรรมมีมากมาย ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นว่า
คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องจริง บุญบาปมีจริง นรกสวรรค์มีจริง
ปฏิบัติธรรมแล้วบรรลุธรรมได้จริง ถ้าไม่มีหลวงปู่จะเป็นอย่างไรยังไม่รู้เลย
แต่เพราะมีท่านจึงเกิดการตื่นตัวของชาวพุทธขนานใหญ่ขึ้นในระดับหนึ่ง
มีใครในโลกสักกี่คนทำได้อย่างนี้ ท่านคือต้นบุญต้นแบบของเราจริง ๆ
ฉะนั้น
ให้ศึกษาประวัติหลวงปู่ จะได้ชัดเจนว่า เราไปงานนี้เพื่ออะไร คุณธรรมของท่านคืออะไร
เราจะได้ตั้งใจฝึกตัวตามอย่างท่าน ท่านอุตส่าห์ทุ่มเทสอนมาขนาดนี้
ถ้าเราไม่เอาจริง ก็เหมือนกับว่าอุตส่าห์เจอครูบาอาจารย์ชั้นเลิศแล้วไม่เอาจริง ก็เสียทีเสียท่า
ให้ตั้งใจฝึกตัวตามท่านไป แล้วในวันงาน ก็ไปด้วยใจที่มีศรัทธาเลื่อมใสเต็มที่
ก่อนงาน ๗ วัน อย่างน้อยนั่งสมาธิทุกวันให้ใจใส ๆ ถึงวันงานก็เตรียมตัวแต่เช้ามืด
แล้วก็ไปร่วมงานด้วยใจที่ปลอดโปร่ง แม้คนจะเยอะ แต่ถ้าใจเราสงบนิ่งเป็นสมาธิ
คนเยอะก็เหมือนคนน้อย ให้นึกว่าเราไปแสวงบุญ ไม่ได้หวังไปเอาความสะดวกสบาย
หากได้รับความไม่สะดวกสบายบ้าง ก็รักษาอารมณ์ให้ผ่องใส ไม่หงุดหงิด
ใจสบายโปร่งโล่งอย่างเดียว และทำตัวให้เรียบง่ายที่สุด หลังเลิกงานก็นึกถึงภาพทุกอย่างในวันงานด้วยความปลื้มปีติ
แล้วนั่งสมาธิต่อ บุญจะได้หลั่งไหลมาที่ตัวเราอย่างต่อเนื่องเต็มที่ตลอด ๗ วัน
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๘
เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:54
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: