สร้างวัด สืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา
สร้างวัด
สืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา
๑
เมื่อครั้งพุทธกาล
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงมีเวลาสั่งสอนธรรมะแก่มหาชน
๔๕ ปี ในช่วงแรก ๆ ที่ยังมีพระภิกษุไม่มากและยังไม่มีวัด
พระภิกษุต้องแยกย้ายกันจาริกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต่อมาพระพุทธศาสนาเริ่มเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนมากขึ้น
ทำให้ญาติโยมต้องการฟังเทศน์ฟังธรรมและอยากบำเพ็ญบุญกุศล
จึงมีการสร้างวัดขึ้นในเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นสถานที่พักของพระภิกษุ
ผู้เป็นเนื้อนาบุญ
วัดใหญ่ในครั้งพุทธกาลที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็คือ
วัดพระเชตวันและวัดบุพพาราม ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงสาวัตถี
เมืองใหญ่ที่เจริญด้วยเศรษฐกิจและมีพลเมืองมากมาย ทั้ง ๒ วัดนี้
เป็นสถานที่ที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ ตั้งแต่พรรษาที่ ๒๑-๔๔ เป็นเวลาถึง ๒๐
กว่าพรรษา
วัดพระเชตวันที่สร้างโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เป็นมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดในครั้งพุทธกาล รองรับพระภิกษุได้นับหมื่นรูป
รองรับญาติโยมได้เป็นแสนคน ภายในมีพระคันธกุฎี
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเสนาสนะสำหรับพระเถระและพระสงฆ์สาวก
มีสระโบกขรณี มีศาลา ที่จงกรม ที่พักกลางวัน ที่พักกลางคืน ฯลฯ นอกจากนี้
อาณาบริเวณวัดยังได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามสะอาดสะอ้าน
สมเป็นสถานที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ราคาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดสูงถึง
๑๘ โกฏิ ค่าที่ดินอีก ๑๘ โกฏิ ค่าทำบุญฉลองวัดเป็นเวลา ๙ เดือน อีก ๑๘ โกฏิ
รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๕๔ โกฏิ (๕๔๐ ล้านกหาปณะ) คิดเป็นเงินปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้สร้างวัดพระเชตวันได้รับการสรรเสริญจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
เป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้ถวายทาน
ส่วนวัดบุพพารามที่สร้างโดยมหาอุบาสิกาวิสาขา
มีปราสาทชื่อมิคารมาตุปราสาท เป็นที่ประทับของพระบรมศาสดาและพระสงฆ์สาวก
ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นอย่างสวยงามและประณีต คุมการก่อสร้างโดยพระมหาโมคคัลลานะ
ตัวปราสาทมี ๒ ชั้น มีห้องพัก ๑,๐๐๐
ห้อง บนหลังคาปราสาทมีสถานที่เก็บน้ำสร้างด้วยทองคำ จุน้ำ ๖๐ ถัง รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน
๙ โกฏิ ค่าที่ดิน ๙ โกฏิ ทำบุญฉลองวัดนาน ๔ เดือน เป็นเงิน ๙ โกฏิ รวมทั้งสิ้น ๒๗
โกฏิ (๒๗๐ ล้านกหาปณะ)
มหาอุบาสิกาวิสาขาได้รับการสรรเสริญจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
เป็นเลิศกว่าอุบาสิกา ทั้งหลายผู้ถวายทาน
วัดทั้ง ๒ แห่งนี้
นอกจากจะเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระศาสนาในยุคนั้นอีกด้วย
กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุในวัดต่าง ๆ ออกพรรษาแล้ว ก็จะส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
และพักอยู่ที่วัดพระเชตวันระยะหนึ่ง เพื่อเรียนรู้พระธรรมคำสอนและข้อบัญญัติต่าง ๆ
เมื่อท่องจำคำสอนต่าง ๆ ได้แม่นยำแล้ว จึงกราบบังคมทูลลากลับวัด ในระหว่างการเดินทาง
เมื่อท่านแวะพักตามวัดต่าง ๆ ก็จะเปิดประชุมสงฆ์ เพื่อแจ้งข่าวว่า ขณะนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยอะไรอีกบ้าง มีพระธรรมคำสอนอะไรบ้าง
เมื่อคณะสงฆ์ในวัดนั้น ๆ ทราบแล้วก็จะทรงจำไว้ แล้วนำไปกระจายต่อ ๆ กันไป
เป็นผลให้พระภิกษุทั้งแผ่นดินรู้พระธรรมวินัยที่พระศาสดาบัญญัติขึ้นมาใหม่อย่างครบถ้วน
ทำให้ท่านสามารถรักษาพระวินัยได้เท่าเทียมกัน มีผลให้คณะสงฆ์เป็นเอกภาพ
เป็นปึกแผ่น ทำให้พระพุทธศาสนายืนยงมาจนทุกวันนี้ ดังนั้น
การมีวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญต่อลมหายใจของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
๒
ในยุคปัจจุบัน หากจะฟื้นฟูศีลธรรมโลก
จะนำความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่พระศาสนาอีกครั้งดังเช่นพุทธกาล
ก็จำเป็นต้องมีวัดใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นศูนย์รวมในการบริหารงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารของการคณะสงฆ์
เป็นสถานที่ที่พระภิกษุและชาวพุทธจากทั่วโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กัน
มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความแข็งแกร่ง ความเป็นปึกแผ่น
และความมีเอกภาพของพระพุทธศาสนา
ที่สำคัญ วัดขนาดใหญ่ก็เปรียบเสมือนโรงเรียนสอนศีลธรรมขนาดใหญ่
ที่สามารถรองรับทั้งครูสอนศีลธรรมและประชาชนที่จะมาเรียนรู้คำสอนในพระพุทธศาสนาได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก
ยิ่งวัดใหญ่มากเท่าไร ก็ยิ่งรองรับคนได้มากเท่านั้น
และเมื่อคนจำนวนมากมีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของพระพุทธศาสนา
ก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
เมื่อพุทธบริษัท ๔ เป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นปึกแผ่นของพระพุทธศาสนาก็บังเกิดขึ้น |
ด้วยเหตุนี้
วัดพระธรรมกายจึงดำเนินการก่อสร้างศาสนสถานทุกสิ่งขึ้น
เพื่อรองรับงานเผยแผ่พระศาสนาแบบครบวงจร ซึ่งขณะนี้
การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปในระดับหนึ่งแล้ว
แต่ยังมีบางโครงการอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน และบางโครงการกำลังจะเริ่มดำเนินงาน
ซึ่งทุกโครงการจะสำเร็จลุล่วงไม่ได้เลย
หากปราศจากความร่วมแรงร่วมใจของพุทธศาสนิกชนผู้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งที่สร้างขึ้นในวัดล้วนเกิดจากทรัพย์ของสาธุชนผู้มีศรัทธา
และเห็นประโยชน์ในการทำงานพระศาสนาทั้งสิ้น
๓
ท่านสาธุชนผู้มีบุญทั้งหลาย
การที่พวกเราได้มาเกิดในช่วงนี้ เรียกว่าเป็นโชคดีอย่างหนึ่งของเรา
ที่ไม่มีอนาถบิณฑิกเศรษฐีและมหาอุบาสิกาวิสาขามาเหมาสร้างวัด
ทำให้เรามีโอกาสสร้างบุญใหญ่ในครั้งนี้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้รับการสรรเสริญจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
เป็นเลิศกว่าอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายผู้ถวายทาน แต่วิหารทานของเราก็เป็นทานที่พระพุทธเจ้าทุก
ๆ พระองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ และจะมีอานิสงส์อันไพศาลให้ผู้ถวายสมบูรณ์พร้อมทุกสิ่ง
นอกจากนี้
การสร้างความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองแก่พระพุทธศาสนา และสืบต่ออายุพระศาสนาให้สถิตสถาพรยั่งยืนนาน
อยู่เป็นหลักชีวิตแก่อนุชนรุ่นหลัง ยังเป็นบุญอันมหาศาล
ที่จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชีวิตของเราทั้งในปัจจุบันชาติ (ดังที่หลาย ๆ
ท่านได้ประสบกับตนเองมาแล้ว) และในภพชาติเบื้องหน้า ดังที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อให้ความเจริญแก่พระพุทธศาสนาแล้ว
ความเจริญก็หันเข้าสู่ตัว”
การก่อสร้างอาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์ฯ |
ดังนั้น
จึงขอเรียนเชิญทุกท่านที่ปรารถนาความสุขความเจริญ มาร่วมกันก่อสร้างศาสนสถานทุกสิ่งให้สำเร็จครบถ้วนตามเป้าหมาย
เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ
ความสุขความเจริญทั้งหลายก็จะย้อนกลับคืนมาสู่ตัวเรา ดังคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ข้างต้น
Cr. พราวน้ำเพชร
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๐๘
เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
สร้างวัด สืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:42
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: