เทศกาลลอยกระทง


งานลอยโคมวิสาขประทีปถวายเป็นพุทธบูชา  ประเทศมองโกเลีย

เทศกาลลอยกระทงมีที่มาที่ไปอย่างไร?

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมานานแล้ว บ้างก็ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย บ้างบอกว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสุโขทัย และยังมีทฤษฎีอื่น ๆ อีกหลายทฤษฎี แต่ความจริงตั้งแต่เริ่มมีประวัติศาสตร์ชาติไทยขึ้นมา ก็มีประเพณีลอยกระทงอยู่แล้ว

ส่วนวัตถุประสงค์และความเป็นมาของการลอยกระทงมีดังนี้

ระการแรก  เป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ บูชารอยพระบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทามหานที และบูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเจดีย์ จุฬามณีที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ในบางท้องที่ลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ประทับรอยไว้เมื่อครั้งไปแสดงธรรมในนาคพิภพ คือมีอยู่ช่วงหนึ่งพญานาคอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแสดงธรรมในนาคพิภพ หลังจากแสดงธรรมแล้ว ขณะจะเสด็จกลับ พญานาคกราบอาราธนาให้พระองค์ช่วยประทับรอยพระบาทไว้เป็นที่ระลึก ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทามหานที พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยประทับรอยพระบาทเอาไว้ เพราะฉะนั้น ถึงคราววันลอยกระทงก็ถือว่า เป็นการบูชารอยพระบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงโอกาสที่เสด็จไปแสดงธรรมในนาคพิภพ

บางท้องที่บูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเจดีย์จุฬามณีที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศกาลยี่เป็งทางเชียงใหม่จะมีทั้งลอยกระทง และลอยโคม แต่ก่อนทั้ง ๒ อย่างนี้คู่ขนานกัน แต่ตอนนี้รู้สึกว่าลอยโคมจะมาแรงกว่าลอยกระทงในแม่น้ำ

การลอยโคมปล่อยขึ้นฟ้านี่เองที่เป็นการจุดประทีปบูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเจดีย์จุฬามณีที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๔ องค์ องค์หนึ่งบรรจุอยู่ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อถึงคราววันเพ็ญ พระอินทร์จะนำหมู่เทวดาไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่จุฬามณี เราเองไปไม่ถึงสวรรค์ ก็จุดโคมลอย แล้วส่งใจไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่จุฬามณีเจดีย์ ร่วมกับพระอินทร์และพวกเทวดา

ตอนนี้โคมลอยยี่เป็งดังไปทั่วโลกแล้ว นักท่องเที่ยวทั้งโลกแห่มาดูยี่เป็งสันทรายที่ธุดงคสถานล้านนา ซึ่งขึ้นชื่อลือชาจนกระทั่งฝรั่งมากันเป็นพันเป็นหมื่นคน ถือเป็นเทศกาลใหญ่ที่ทั้งทางจังหวัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องมาร่วมกันจัด มีคนมาร่วมงานเยอะมาก และไม่ใช่แค่นั้น เรายังไปจัดพิธีลอยโคมในวันวิสาขบูชาที่มองโกเลียด้วย จัดมาแค่ ๒-๓ ครั้งเท่านั้น ตอนนี้กลายเป็นเทศกาลประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมองโกเลียไปเลย มีคนเข้าร่วมงานมากมาย ที่อินเดียก็ไปจัดมาแล้ว ชาวพุทธในอินเดียเขาเห็นไทยจัด มองโกเลียจัด เขาก็จัดบ้าง เวลาจัดพิธีบวชอุบาสิกาแก้ว ปฏิบัติธรรมร่วมกันแล้วก็จัดพิธีลอยโคม เป็นการรวมใจทุกคนเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าเริ่มกระจายจากประเทศไทยขยายไปหลายประเทศแล้ว

ประการที่สอง  บูชาพระแม่คงคา

การลอยกระทงเป็นการบูชาพระแม่คงคา ในวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงที่มีน้ำเต็มตลิ่งบริบูรณ์ที่สุด เป็นการแสดงความขอบคุณผืนน้ำ เพราะมนุษย์เราอยู่ได้ต้องอาศัยน้ำ ตั้งแต่โบราณมา ชุมชนไหนจะสร้างเมืองต้องอยู่ติดแม่น้ำ ไม่มีแหล่งน้ำสร้างเมืองไม่ได้ ต้องสร้างอิงแหล่งน้ำทั้งนั้น ฉะนั้นในรอบปี ๑๒ เดือน เดือนที่เหมาะที่สุดที่จะทำพิธีก็คือเดือน ๑๒ เพราะว่าน้ำเต็มบริบูรณ์ แล้วชาวนาส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อย กำลังสบาย งานก็เสร็จแล้ว น้ำก็เต็มท่า ได้จังหวะพอดี ก็เอาเทศกาลนี้มาลอยกระทงกัน ในคืนวันเพ็ญน้ำเต็มตลิ่ง พระจันทร์สว่างเด่นบนฟ้า

การบูชาน้ำก็ต้องหาอะไรที่ลอยได้ แล้วกลางคืนมืด ๆ ไม่มีความสว่าง มองไม่เห็นอะไร ก็ต้องบูชาด้วยความสว่าง จะเป็นความสว่างรูปแบบไหนก็แล้วแต่ท้องที่ แต่จะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือต้องมีความสว่างเหมือนกันหมด

ในภาคกลางบูชาด้วยกระทงที่ทำด้วยใบตองมีเทียนปัก ต่อมามีโฟมก็ใช้โฟมทำกระทง แต่บางคนไม่เอาโฟม ชอบกระทงแบบธรรมชาติ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ทางเหนืออย่างจังหวัดตากขึ้นชื่อลือชาเรื่องกระทงสาย เขาเอากะลามะพร้าวมาขัดให้สะอาด แล้วเอาเทียนพรรษาหลอมมาใส่ในกะลา ตรงกลางเอาด้ายดิบมาทำเป็นไส้เทียน เตรียมไว้เป็นพันกะลาเลย ถึงคราวก็นำไปลอยในแม่น้ำปิงที่จังหวัดตาก จุดแล้วก็ลอยตาม ๆ กันไป จนบางคนที่เห็นกระทงไหลเป็นสายก็คิดว่าคงมีเชือกผูกอยู่ข้างล่าง จริง ๆ ไม่มี เผอิญแม่น้ำปิงที่ผ่านจังหวัดตาก ข้างล่างมีสันทรายอยู่ เวลาน้ำมา มันจะมาเป็นร่องน้ำ เวลาปล่อยกระทงออกไป มันจะลอยไปตามร่องน้ำเป็นสาย เนื่องจากเขาปล่อยแบบต่อเนื่องกัน มันก็เลยไหลไปเป็นสาย เป็นภาพที่งามมาก

เมื่อตอนประชุมเอเปค (APEC) ที่มีผู้นำทั่วโลกมาประชุมกันที่กรุงเทพฯ ไทยเราเป็นเจ้าภาพ พอเสร็จการประชุมแล้ว ตอนภาคค่ำ ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เราก็ปล่อยโคมลอย โดยทางราชการติดต่อยืมทีมงานจากธุดงคสถานล้านนา ที่ปล่อยโคมยี่เป็งให้มาช่วยปล่อยโคมข้างวัดพระแก้ว โคมลอยขึ้นไปบนฟ้าเป็นสาย ในแม่น้ำก็เอาทีมงานกระทงสายจากจังหวัดตากมา

ตามปกติเขาจะดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้นำประเทศสูงมาก ต้องอยู่ในห้องที่มีกระจกกันกระสุน ป้องกันการลอบยิง ปรากฏว่า ผู้นำประเทศไม่สนเลย เปิดประตูออกมายืนดูข้างนอกเลย แถมบางคนที่เป็นคู่สามีภรรยายังถือโอกาสโอบ ๆ กันนิดหน่อย เพราะบรรยากาศโรแมนติกสุด ๆ เขาว่าอย่างนั้นนะ บรรดาผู้นำเกิดความรู้สึกประทับใจมากว่าทำไม วัฒนธรรมไทยมีความงดงามอย่างนี้ ไม่เคยไปประชุมที่ไหนในโลกที่มีความสวยงามอย่างนี้เลย มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามก็คือพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ซึ่งมีไฟสวยงามมาก บนฟ้ามีโคมยี่เป็งลอยขึ้นไปเป็นสาย บนผืนน้ำมีกระทงลอยมาเป็นสาย

การบูชาพระแม่คงคาก็คือ การระลึกว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เราได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นต้องแสดงความขอบคุณน้ำ แสดงความขอบคุณไม่ใช่แค่ลอยกระทงเฉย ๆ ต้องรู้คุณน้ำด้วย แล้วก็ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้ทิ้งใช้ขว้าง เพราะน้ำไม่ได้มีเหลือเฟือ ต่อไปจะแย่งน้ำกัน ตอนมีน้ำอยู่ไม่รู้สึก พอแล้งน้ำก็จะพบว่า บางครั้งถึงกับอาจจะทำศึกสงครามแย่งชิงน้ำกัน จะเห็นคุณค่าของน้ำตอนที่ขาด เพราะฉะนั้นต้องใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า แล้วก็ไม่ทำให้น้ำสกปรก ไม่ปล่อยของเสียลงน้ำ เป็นต้น รณรงค์ให้ทุกคนรู้จักการประหยัดน้ำและใช้น้ำให้ถูกวิธี ไม่ทำให้แหล่งน้ำเสียหาย นี่คือการขอขมาพระแม่คงคา และแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปไหว้เทวดาพระแม่คงคา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่แสดงความขอบคุณกับน้ำ ว่าเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา ฉะนั้นเราต้องใช้น้ำให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ ถ้าอย่างนี้ถูกหลัก



หลายคนบอกว่า การลอยกระทงเป็นการลอยทุกข์ลอยโศกให้ออกไปจากตัวเรา บางคนก็ตัดเล็บ ตัดผมใส่ลงไปในกระทง บางคนก็เอาเงินใส่ลงไป แล้วก็ลอยไป เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องไหม?

อันนี้เป็นความเชื่อที่เพิ่มขึ้นมาทีหลัง ไหน ๆ ก็ลอยไปแล้ว ก็น่าจะเอาอะไรที่ไม่ดีลอยออกไปด้วย คิดได้อย่างนี้แล้วรู้สึกสบายใจ นั่นเป็นสิ่งที่แถมขึ้นมา แต่ความจริงแค่เอาผมใส่กระทง ตัดเล็บใส่ เอาสตางค์ใส่ลงไป มันเป็นไปไม่ได้ที่ ทุกข์ โศก โรค ภัย ต่าง ๆ จะลอยออกไป มันยังไม่ไป ถ้าจะให้ทุกข์ โศก โรค ภัย ออกไปด้วย ต้องสร้างบุญ ถ้าต้องการลอยทุกข์ ลอยโศก ลอยเคราะห์ ลอยภัยออกไป ตอนกลางวันก่อนจะลอยกระทงให้ไปทำบุญก่อน ถวายสังฆทาน เลี้ยงพระ หรือว่าทำบุญในด้านต่าง ๆ พอกลางคืนมาลอยกระทงก็ระลึกนึกถึงบุญนี้ แล้วอธิษฐานว่า ด้วยอานิสงส์ผลบุญนี้ ขอให้ทุกข์ โศก โรค ภัย เคราะห์ไม่ดีทั้งหลาย ให้ออกไปจากชีวิตข้าพเจ้า อย่างนี้ถึงจะได้ ส่วนผมหรือเล็บตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เอาไปใส่ถังขยะ

ให้เข้าใจหลักนิดหนึ่งว่า ชีวิตคนเรามีระเบิดเวลาอยู่ ถ้าเปรียบชีวิตเราเหมือนนาวาชีวิต ระเบิดลูกนี้ก็เหมือนกับเป็นหินโสโครกใต้น้ำ เป็นทุ่นใต้น้ำที่เรามองไม่เห็น บางคนเราเห็นเขาเป็นคนดี ทำไมปุ๊บปั๊บรถชนตายไปแล้ว บางคนปุ๊บปั๊บป่วยตายไปเลย ทำให้สงสัยว่า ทำไมคนดี ๆ ตายเร็ว ที่จริงเป็นเพราะกรรมในอดีตของเขา ถ้าดูแค่ชาตินี้แล้วเขาอาจจะยังไม่ควรตาย แต่คนเราเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ชาติก่อน ๆ ที่เขาทำไม่ดีมาก็มี มันมาส่งผลตอนนี้พอดี

ถามว่าจะแก้อย่างไร วิธีการคือจะต้องสร้างบุญ ถ้าเราสร้างบุญก็เหมือนเติมน้ำ เหมือนเรือวิ่งอยู่ มีหินโสโครกอยู่ ถ้าเรือไปเกยหินเมื่อไรก็เรียบร้อย จมเลย แต่พอน้ำสูงขึ้น เรือก็วิ่งผ่านไปได้ หินโสโครกยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่เรือวิ่งผ่านไปได้โดยไม่เกยตื้น เรือก็ไม่แตก เพราะน้ำหนุนให้เรือลอยผ่านไปเลย ชีวิตเราเหมือนกัน วิบากกรรมในอดีตตามมา แต่ถ้าเราสร้างบุญแล้ว บุญจะหนุนส่งให้นาวาชีวิตของเราสูงขึ้น แล้วลอยข้ามวิบากกรรมนั้นไปได้

เพราะฉะนั้น อยู่ ๆ ไปลอยกระทงเฉย ๆ เคราะห์กรรมยังไม่ได้หายไปนะ ต้องไปสร้างบุญก่อน แล้วก็ตั้งใจสวดมนต์นั่งสมาธิเป็นพิเศษด้วย เพราะวันเพ็ญเป็นวันดี ลอยกระทงเสร็จแล้วกลับมานั่งสมาธิสวดมนต์ แล้วก็เปิด DMC ดู ใจจะได้อยู่ในบุญกุศล ถ้าลอยกระทงแล้วคิดว่าลอยเคราะห์ลอยโศกไปแล้ว เสร็จแล้วไปดื่มสุรา แล้วก็ตีหัวกัน กรรมใหม่ก็ตามมาเลย บางครั้งไปเล่นดอกไม้ไฟกันแล้วไฟไหม้บ้านก็มี เพราะฉะนั้นจะผ่านทุกข์โศกโรคภัยไปได้ ต้องสร้างบุญ นี่คือหัวใจ

วัตถุประสงค์ของการจุดดอกไม้ไฟคืออะไร?

การจุดดอกไม้ไฟเป็นสิ่งที่เพิ่มมาทีหลัง พูดง่าย ๆ ว่า เมื่อมีงานเทศกาล มีการลอยกระทง ก็พยายามหาอะไรที่ทำให้คึกคักสนุกสนาน

ควรจะอนุรักษ์หรือควรคำนึงถึงอะไรบ้างเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทง?

ควรจะนึกถึงเป้าหมายดั้งเดิม คือ ๑. บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. ระลึกถึงคุณของน้ำ แล้วบริหารจัดการน้ำอย่างถูกต้องตามหลักวิชา

ในปัจจุบัน ความคิดเรื่องการลอยกระทงอย่างเดิมเปลี่ยนไปมากไหม?

คิดว่ายังมีอยู่ แต่ว่าอาจจะไม่ชัดมากนัก บางคนก็ชัด บางคนก็ไม่ชัด ส่วนใหญ่อาจจะนึกว่าเป็นประเพณีก็เลยรักษาประเพณีเอาไว้ แต่ความเข้าใจว่าประเพณีนี้ มีเพื่ออะไรอาจจะไม่ถึงกับชัดเจนมากนัก




ทำไมเขาถึงกำหนดให้วันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นวันลอยกระทง?

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ถ้าจัดงานวันเดือนมืดกับเดือนสว่างอันไหนดีกว่า ก็ต้องเดือนเพ็ญที่สว่างไสว เพราะฉะนั้นงานสำคัญ ๆ เขาจะจัดตรงกับวันเพ็ญ ซึ่งปีหนึ่งมีอยู่ ๑๒ ครั้ง การลอยกระทงถ้าจัดหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำ ลอยไม่ได้ เลยต้องเลือกเดือนที่มีน้ำบริบูรณ์ที่สุด ซึ่งก็คือเดือน ๑๒ ที่น้ำนองเต็มตลิ่ง

บรรดาพุทธศาสนิกชนที่เป็นวัยรุ่น และผู้ปกครองควรปฏิบัติอย่างไร ในเทศกาลลอยกระทง?

ต้องระวัง เพราะว่าการลอยกระทงต้องลอยกลางคืน ต้องรอให้พระจันทร์ขึ้นก่อน พอมืด ๆ อากาศเย็น ๆ หนาว ๆ จะค่อนข้างโรแมนติก เพราะฉะนั้นวัยรุ่นหรือหนุ่มสาวก็ชักจะคิดฟุ้งซ่าน เนื่องจากโอกาส จังหวะ อารมณ์ และบรรยากาศพาไป ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีก็อาจจะเกิดเรื่องเสียหายได้ พ่อแม่ก็ควรจะดูแลลูกด้วย ถ้าไปด้วยกันเป็นครอบครัวได้ก็จะดี ในขณะเดียวกันฝ่ายหญิงก็ควรจะต้องรู้ว่า เราต้องรักนวลสงวนตัว เราถึงจะมีค่า ถ้าไปทำอะไรแบบปล่อยตัวปล่อยใจไปง่าย ๆ เขาจะไม่เห็นค่า แล้วจะเกิดความเสียหายตามมาในภายหลัง

อย่าให้เทศกาลที่ควรจะเป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลายเป็นทางมาของเรื่องไม่ดี อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ควรทำให้ถูกวัตถุประสงค์ คือบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วระลึกถึงคุณของน้ำ ขณะเดียวกันก็ให้ระวังของแถมที่จะตามมา ซึ่งเป็นความเสียหายต่าง ๆ คือ การเมาสุรา การทะเลาะวิวาท แล้วก็เรื่องชายหญิง ตรงนี้ต้องระวังให้ดี ให้เรากันข้อเสียแล้วเสริมข้อดี จะได้เป็นการรักษาอนุรักษ์ประเพณีลอยกระทงไว้อย่างถูกต้องและดีงาม


Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๐๙  เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
เทศกาลลอยกระทง เทศกาลลอยกระทง Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:50 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.