ทันโลก ทันธรรม : การสื่อสารไร้สายสมัยพุทธกาล ตอนที่ ๑

ทันโลก ทันธรรม
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D.,Ph.D.) จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC



พระภิกษุห้ามทำเรื่องนี้ ทรงกำหนดขึ้นมาทีละข้อ ๆ จนกระทั่งมาเป็น ๒๒๗ ข้อ เป็นศีลของพระในปัจจุบัน แล้วพระที่ท่านกระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าทรงบัญญัติพระวินัยข้อใหม่ขึ้นแล้ว เช่น เดิมอาจจะมีอยู่ ๑๐ ข้อ พอถัดมาอีก ๓ เดือน ๖ เดือน อาจจะมีเพิ่มขึ้นมา ๔-๕ ข้อ เป็น ๑๕ ข้อถ้าพระที่นี่รู้ แต่ที่นั่นไม่รู้ สงฆ์แต่ละที่ก็รักษาพระวินัยไม่เท่ากันสิ ถ้ามีพระวินัยไม่เท่ากันแล้วเอกภาพของสงฆ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงคราวจะลงพระปาติโมกข์ ท่องปาติโมกข์ก็ไม่เท่ากัน คณะสงฆ์ก็คงจะสับสนวุ่นวายน่าดู คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่รู้ว่ามีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง พระวินัยก็ไม่ทราบ และก็ไม่สามารถใช้วิธีการแบบสมัยใหม่ เช่น ถ้ามีพระวินัยบัญญัติข้อใหม่ ก็ประกาศทางวิทยุกระจายเสียง "ที่นี่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชมพูทวีป ขอให้คณะสงฆ์ในแผ่นดินโปรดรับทราบ บัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มอีก ๑ ข้อแล้ว มีเนื้อหาสาระดังนี้... ขอสงฆ์ทั้งหลายพึงปฏิบัติโดยทั่วกัน จบข่าว" อย่างนี้ไม่มีใช่ไหม แล้วพระองค์ทรงมีเทคนิคอย่างไร ทำไมคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลจึงเป็นเอกภาพ แล้วสามารถรักษาเอกภาพได้ต่อเนื่องถึงหลังพุทธกาลเป็นร้อยปี ซึ่งไม่มีศาสนาไหนทำได้ขนาดนี้ พระองค์ทรงใช้ Know-how อะไร เทคนิคอะไร น่าสนใจไหม วันนี้จะมาเฉลยให้ฟังกัน
จริง ๆ นี่เป็นเทคนิคเรื่องการสื่อสารไร้สายในครั้งพุทธกาล เป็นแบบ wireless แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก กระจายทั้งแผ่นดินได้ ไปค้นจากหลักฐานพระไตรปิฎก พบว่าในพรรษาต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงจาริกไปในที่ต่าง ๆ พรรษาที่ ๑ หลังจากตรัสรู้ธรรม จำพรรษาอยู่ที่เดียวกับชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะแล้วก็โปรดจนกระทั่งสำเร็จ ยอมมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตั้ง ๑,๐๐๐ รูป
พรรษาที่ ๒ ทรงจาริกไปเรื่อย ๆ ในที่ต่าง ๆ แต่ว่า ๒๕ พรรษาท้าย พระองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่เมืองเดียว คือ เมืองสาวัตถี โดยประทับอยู่ที่เชตวัน มหาวิหาร ๑๙ พรรษา และที่บุพพาราม ที่นางวิสาขาสร้างถวายอีก ๖ พรรษา ทั้ง ๒ วัดนี้อยู่ในเมือง ๆ เดียวกัน สรุปแล้วประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ๒๕ พรรษารวด มีเว้นเฉพาะพรรษาสุดท้าย พรรษาที่ ๔๕ เท่านั้นเองที่พระองค์เสด็จจาริกไปจำพรรษาที่ชานเมืองเวสาลี ก่อนจะไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ก่อนหน้านั้น ๒๕ ปีรวดอยู่เมืองเดียว ประทับ ๑๙ พรรษาที่เชตวันมหาวิหาร ซึ่งท่านเศรษฐีสร้างถวาย หมดทรัพย์ไป ๕๔ โกฏิกหาปณะ ก็คือ ๕๔๐ ล้านกหาปณะนั่นเอง ทั้งค่าสร้าง ค่าฉลอง เสร็จสรรพเรียบร้อย หมดไป ๕๔๐ ล้านกหาปณะ ๑ กหาปณะนี่ยิ่งกว่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน ถ้าเทียบค่าเงินในปัจจุบัน อาตมาคิดว่าเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท อาจจะเป็นแสนล้านทีเดียว
ในการสร้างเชตวันมหาวิหาร ท่านเศรษฐีได้ไปสำรวจทั้งเมืองพบว่า สวนเจ้าเชต (เป็นเชื้อพระวงศ์) เหมาะที่สุดเลย ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป สงบร่มรื่นเหมาะสมมาก จะไปขอซื้อ เจ้าของเขาพูดแบบไม่ขาย บอกว่า "ถ้าอยากจะซื้อก็เอาเงินมาปูให้เต็มแผ่นดิน" นั่นคือค่าที่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่ต่อสักคำเลย รับว่า "ตกลง"Ž ให้คนกลับมาขนเงินมาเรียงกันบนแผ่นดินจนเจ้าเชตทึ่ง เอ๊ะ.. มีคนศรัทธาขนาดนี้จริง ๆ เลยหรือ ไม่น่าเชื่อเลย เรียงจนเต็มแผ่นดิน เหลือตรงซุ้มประตูอยู่หน่อยหนึ่ง เจ้าเชตก็เลยบอกตรงนี้ไม่ต้องเอาเงินมาเรียงหรอก ขอร่วมบุญด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าสร้างวัดแล้วให้ใช้ชื่อฉันนะ เจ้าของชื่อเดิมชื่อว่า เจ้าเชต ก็เลยได้ชื่อว่า เชตวัน วัน แปลว่า ป่า คือ ป่าของเจ้าที่ชื่อเชต
อนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญไม่เอาหน้า ไม่เอาชื่อ จะเอาบุญล้วน ๆ ตัวเองไม่ต้องมีชื่อ เจ้าเชตเขาขอร่วมบุญด้วยก็ดี เขาจะได้มีส่วนบุญด้วย แล้วเจ้าเชตเป็นบุคคลมีชื่อเสียง มีอำนาจ ถ้ามีชื่อเข้ามา จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาสะดวกมากขึ้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่ติดในชื่อ ยินดีให้ใช้ชื่อเชตวัน
แล้วเชตวันมหาวิหารที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีทุ่มสร้าง ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล จากจารึกในพระไตรปิฎกพบว่า เชตวันมหาวิหารสามารถรองรับพระภิกษุได้เป็นหมื่น พระอาคันตุกะมาเป็นพัน ๆ รับได้สบายเลย สาธุชน ญาติโยมทั้งหลายมาฟังธรรมเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่มีปัญหาเลย
แล้วในพระไตรปิฎกยังบันทึกว่า ในพระเชตวันมหาวิหารมีการแบ่งพระภิกษุให้พักเป็นกลุ่ม เป็นโซน ตามความถนัดเช่น ถ้าเป็นศิษย์สายพระอุบาลีชำนาญพระวินัย ให้พักอยู่ด้วยกันในแถบหนึ่ง ถ้าเป็นศิษย์สายพระอานนท์ชำนาญพระสูตร อยู่ด้วยกันอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการแสดงธรรม อภิปรายธรรม อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าสนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมก็อยู่อีกโซนหนึ่ง เป็นโซนที่สงบสงัดเป็นพิเศษ ถ้าใครสนใจเกี่ยวกับเรื่องการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง การออกกำลังกาย อยู่อีกโซนหนึ่ง แบ่งตามความชอบ โดยผู้ที่ทำหน้าที่จัดโซนที่พักของพระ คือ พระทัพพมัลลบุตร ท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เสร็จกิจแล้ว หมดกิเลสแล้ว ต้องการเอาบุญพิเศษ ก็เลยอาสาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับบุญเป็นคนจัดที่พักให้พระ ท่านมีฤทธิ์ด้วย พอยกนิ้วขึ้นเท่านั้นสว่างโพลง ไม่ต้องจุดคบจุดไต้เลย ไม่ต้องใช้ไฟฉายสปอตไลต์ สว่างทั้งเชตวัน พาพระไปที่พักได้สบาย
แล้วก็พบในพระไตรปิฎกอีกว่า เป็นธรรมเนียมสงฆ์ในครั้งพุทธกาล พอออกพรรษาแล้วพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในทิศต่าง ๆ จะส่งตัวแทนมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่สะดวกพร้อมสุขภาพแข็งแรง ก็เป็นตัวแทนมา อย่างธรรมเนียมถวายผ้าทอดกฐิน ที่พระภิกษุเมืองปาเถยยรัฐ ๓๐ รูป ออกพรรษาแล้วรอนแรมตากแดดตากฝนกันมา เฝ้าพระพุทธเจ้าจนจีวรเปื่อยขาดไป พระองค์จึงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้ ก็มาจากธรรมเนียมนี้
มากราบพระพุทธเจ้า ถวายบังคมแล้วก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธองค์ท่านก็ทรงปราศรัยด้วย พอเสร็จเรียบร้อยก็กราบทูลลาไปพัก พระทัพพมัลลบุตรก็ถามเลยว่าสนใจเรื่องอะไร พระวินัยหรือ มาอยู่ตรงนี้ เป็นศิษย์สายพระอุบาลี สนใจพระสูตรหรือ ไปอยู่สายพระอานนท์ สนใจปฏิบัติธรรมมาตรงนี้ แยกกันไปตามความสนใจ
พอไปพักตรงนั้น รีบถามเลยว่า พรรษาที่ผ่านมาพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติม อะไรบ้าง รีบท่อง เพราะต้องจำด้วยมุขปาฐะ สมัยนั้นไม่มีการเขียนตัวอักษรใช้ท่องจำเอา ท่องจนจำได้หมด ถ้าเป็นผู้ที่สนใจพระสูตรก็ไปท่องกับสายพระอานนท์ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์สอนอะไรบ้าง ก็ท่องจนได้หมด พอจำได้คล่องแคล่วแม่นยำดีแล้ว ก็มากราบทูลลากลับไปถิ่นของตัวเอง

(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)



วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ทันโลก ทันธรรม : การสื่อสารไร้สายสมัยพุทธกาล ตอนที่ ๑ ทันโลก ทันธรรม : การสื่อสารไร้สายสมัยพุทธกาล ตอนที่ ๑ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:20 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.