พระธรรมเทศนา :การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนสุดท้าย)

พระธรรมเทศนา


ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทุกวันนี้ ส่วนมากผู้ทำหน้าที่มักมุ่งทำกันอยู่ในระดับการดำเนินชีวิต
และระดับศีลธรรมเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั้งในระดับชนชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นสูงของสังคมนั้นไม่สามารถเห็นความวิเศษ
ของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งในระดับกำจัดกิเลสได้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ จึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างเท่าที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาจะประสบความสำเร็จได้นั้น จึงมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องมุ่งเผยแผ่ในระดับ
การกำจัดกิเลสเป็นสำคัญ
เพราะผลของการมุ่งสอนเพื่อกำจัดกิเลสนั้น ก็คือ การเข้าถึงธรรมะภายใน ซึ่งไม่ว่าคน ๆ
นั้นจะอยู่ในระดับไหนของสังคม แต่เมื่อเขาสามารถเข้าถึงพระธรรมกาย หรือพระรัตนตรัยภายในได้จริงแล้ว
เขาก็จะเกิดศรัทธาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า "ตถาคตโพธิศรัทธา" คือ "ความศรัทธา อันเกิดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน" เขาก็จะเป็นหลักในการขยายงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่คนท้องถิ่นให้แก่เราต่อไป การทุ่มเทลงไปในระดับสูงสุดนี้ แม้ได้ผู้เข้าถึงธรรมมาเพียงคนเดียวก็ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม เพราะเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการขยายงานออกไปสู่คนท้องถิ่นด้วยความปรารถนาดีในหมู่ชนทุกระดับชั้นได้ไม่ยาก
แต่การที่พระพุทธศาสนาจะได้บุคลากรที่มีฝีมือการเผยแผ่ในระดับการกำจัดกิเลสนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ที่จะสอนผู้อื่นได้ในระดับนี้ นอกจากจะต้องฝึกตนเองให้เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตและต้นแบบการรักษาศีลแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ต้องเป็นต้นแบบการฝึกสมาธิเพื่อการเข้าถึงธรรมอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันอีกด้วย โดยผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่จะต้องปฏิบัติตนอย่างทุ่มเทตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้กำหนดไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ที่ว่า

๑. อนูปวาโท คือ ห้ามกล่าววาจาว่าร้ายล่วงเกินผู้หนึ่งผู้ใดในประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย

๒. อนูปฆาโต คือ ห้ามทำร้ายเบียดเบียนใคร ๆ แม้แต่สัตว์

๓. ปาฏิโมกเข จ สังวโร คือ ตั้งใจรักษาศีลและมารยาทของตน ตลอดจนกฎหมายอย่างเคร่งครัด

๔. มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง คือ ต้องเป็นต้นแบบการใช้ปัจจัย ๔ ในการดำเนินชีวิตด้วยความประหยัดและตามความจำเป็น

๕. ปันตัญจ สยนาสนัง คือ ต้องระมัดระวังในการเข้าไปอยู่อาศัยตลอดจนพักค้างในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งต้องเหมาะสมแก่ผู้ทรงศีล ไม่ไปในสถานที่ไม่ควรไป (อโคจร) เพราะแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผู้คนในสังคมอาจตำหนิติเตียนเอาได้

๖. อธิจิตเต จ อาโยโค คือ ต้องตั้งใจฝึกสมาธิอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อถึงกำหนดเวลานั่งสมาธิ ในแต่ละวันห้ามมีข้อแม้เงื่อนไขไปทำอย่างอื่นโดยเด็ดขาด
ผู้ที่ปฏิบัติตนในแต่ละวันตามนี้เท่านั้น จึงจะสามารถเป็นนักเผยแผ่ได้ เพราะเมื่อผู้คนในท้องถิ่นเห็นข้อวัตรปฏิบัติเช่นนี้แล้ว เขาย่อมเชื่อถือว่า บุคคลท่านนี้สามารถเป็นครูสอนศีลธรรมและวิธีกำจัดกิเลสให้แก่เขาได้จริงเพราะได้ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบทั้งในการดำเนินชีวิต การรักษาศีล และการทำภาวนาได้จริง ทำให้เขาเกิดความเชื่อถือ ว่าพระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกายมีคุณค่าต่อชีวิตของเขาจริง และนั่นคือโอกาสที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่คนท้องถิ่นได้สำเร็จ
เพราะฉะนั้น การส่งบุคลากรไปเผยแผ่ในต่างประเทศจะต้องคัดเลือกคนที่ปฏิบัติได้ตามนี้ และเมื่อถึงคราวที่ทำหน้าที่
เผยแผ่ให้แก่คนท้องถิ่น จะต้องมุ่งเป้าหมายที่ระดับการกำจัดกิเลสอย่างจริงจังและจริงใจ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงกำหนดหลักการไว้ชัดเจนว่า ต้องฝึกคนให้ ละเว้นความชั่ว ตั้งใจทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใส อยู่เป็นนิตย์ ซึ่งเท่ากับทรงสั่งว่าต้องฝึกฝนอบรมให้คนในท้องถิ่นนั้น "สร้างบุญเป็น" เพราะการสร้างบุญอย่างต่อเนื่อง ก็คือ การสร้างนิสัยที่ดี ๆ ควบคู่ไปกับการกำจัดกิเลสในใจให้หมดไปนั่นเอง
แต่การที่ผู้เข้ามาศึกษาใหม่จะเต็มใจสร้างบุญกับเราหรือไม่นั้น เราจะต้องตอบเขาให้ชัดเจนก่อนว่า
บุญคืออะไร? บุญคือพลังงานบริสุทธิ์ที่ไปฆ่ากิเลสหรือความไม่รู้อันมืดมิดที่อยู่ในใจ
ทำไมต้องสร้างบุญ? เพราะบุญเป็นที่มาของความสุขและความเจริญในด้านต่าง ๆ ของชีวิต

ทำอย่างไรจึงได้บุญ? บุญจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลนั้นตั้งใจละเว้นความชั่ว ทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใส อย่างจริงใจ จริงจังและต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวฝึกคน ก็ต้องฝึกให้สร้างบุญเป็นทุกชนิด ทุกระดับ ทุกสภาพ
การฝึกคนให้สร้างบุญเป็นนั้น นอกจากเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่คนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มบุญให้แก่ทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกด้วย เพราะว่าความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นขึ้นอยู่กับบุญรวมทั้ง ๓ งบ คือ
๑) บุญของผู้ทำหน้าที่เผยแผ่
๒) บุญของทีมงาน และ
๓) บุญของผู้เข้ามาศึกษา

ดังนั้น ทุกคนจึงต้องเข้าใจในการสร้างบุญ ยึดมั่นอยู่กับบุญ และนำวิถีชีวิตประจำวันของทุกคนเข้าสู่การสร้างบุญเป็นประจำให้ได้  พระพุทธศาสนาจึงจะขยายไปสู่การดำเนินชีวิตเพื่อการกำจัดกิเลสของคนในท้องถิ่นนั้นได้จริง
จากนั้น จึงฝึกให้รู้จักทุ่มเทสร้างบุญอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อให้ได้บุญที่มีคุณภาพพิเศษในระดับที่สามารถ
กำจัดกิเลสอย่างเด็ดขาดที่เรียกว่า  "สร้างบารมี"  นั่นคือต้องฝึกให้มีอุดมการณ์มั่นคงขึ้นไปอีก
กล่าวคือในขณะที่ฝึกให้สร้างบุญเป็นอยู่นั้น ก็ต้องปลูกฝังอุดมการณ์ชาวพุทธไปด้วย เพื่อยกระดับใจให้เข้มแข็งแกร่งกล้าในการสร้างบุญบารมีตามรอยพระโพธิสัตว์ให้ยิ่งขึ้น ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธทุกคนมี
"อุดมการณ์ในการสร้างบารมีกำจัดกิเลส" ว่า
๑. ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา คือ ต้องอดทน กับสารพัดทุกข์ให้ได้ เพราะยิ่งอดทนมากเท่าไร ต้นตอของความทุกข์คือกิเลส ยิ่งมีโอกาสถูกกำจัดออกไปง่ายและมากเท่านั้น

๒. นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา คือ ต้องยกใจให้เข้มแข็งมุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดของทุก ๆ ชีวิต คือ พระนิพพานให้ได้ เพราะหากเข้าถึงพระนิพพานได้เมื่อไหร่ ความทุกข์ก็หมดไปเมื่อนั้น แต่การจะเข้าถึงพระนิพพานได้ ต้องทุ่มเทชีวิต
ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย หรือพระรัตนตรัยภายในให้ได้ก่อน  จากนั้นจึงอาศัยพระธรรมกายกำจัดกิเลส
ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษต่อไป

๓. นหิ ปัพพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรัง วิเหฐยันโต อุดมการณ์ข้อสุดท้ายที่สำคัญของชาวพุทธคือ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ต้องไม่ก่อเวรใหม่อย่างเด็ดขาด แม้ผลวิบากของกรรมเก่าตามมาบีบคั้นอย่างหนักก็ต้องอดทน จะถูกคนพาลใส่ความตามรังแกโหดร้ายสาหัสปานใดก็ต้องอดทน เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ยอมก่อเวรใหม่อีกเด็ดขาด
เมื่อทั้งตนเอง ทีมงาน และผู้เข้ามาศึกษาในประเทศนั้น ๆ แต่ละคนที่มาถึงเรา ล้วนมีอุดมการณ์ชาวพุทธอย่างเปี่ยมล้นเช่นเดียวกันนี้แล้ว ประชาชนในประเทศนั้น ๆ ย่อมเห็นว่า หมู่คณะนี้เป็นทีมที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบุญจริง สมาชิกในหมู่คณะนี้สามารถเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตจริง ต้นแบบการรักษาศีลจริง และต้นแบบการทำภาวนาให้แก่เขาได้จริง ก็จะทำให้หมู่คณะของเราในต่างประเทศเติบโตขึ้นได้ แล้วเราก็เคี่ยวเข็ญให้ผู้เข้ามาศึกษารุ่นเก่าเป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่คนรุ่นต่อไป ในที่สุด วันหนึ่งต้องมีคนใดคนหนึ่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน แม้จะได้มาเพียงคนเดียวก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว เพราะบุคคลนั้นก็จะเป็นกำลังใจให้คนอื่น ๆ ที่มาก่อนและมาใหม่ตั้งใจสร้างบุญเพื่อกำจัดกิเลสอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันตาม ๆ กัน ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกายก็จะบังเกิดขึ้นในประเทศนั้น ๆ
นี่คือภารกิจอันแท้จริงและยิ่งใหญ่ที่นักเผยแผ่ทุกคนจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องทั้งในแง่ของการฝึกตนเองให้เป็นต้นแบบ และในแง่ของการเป็นแสงสว่างให้ชาวโลก ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ "ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" เราถึงจะสามารถฝึกตนเองให้เข้าถึงธรรมได้ สอนคนอื่นให้เข้าถึงธรรมตามมาได้ และสร้างหมู่คณะที่ช่วยกันปักหลักพระพุทธศาสนาให้มั่นคงทั่วทุกมุมโลกได้สำเร็จอย่างแท้จริง
สรุป

๑. การเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ การขยายโอกาสให้ผู้อื่นได้ศึกษาวิธีทำภาวนาเพื่อเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงอันเป็นความดีสากลที่ทุกคนทำได้ และเป็นหนทางที่นำไปสู่ปัญญาและความบริสุทธิ์ภายในที่ใช้ขจัดความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัว ให้หมดสิ้นไปจากใจของมวลมนุษยชาติอย่างเด็ดขาด อันเป็นที่มาของการขยายสันติภาพภายในไปสู่การบังเกิดขึ้นของสันติภาพโลกได้อย่างแท้จริง

๒. การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่การเปลี่ยนเชื้อชาติ ไม่ใช่การเปลี่ยนศาสนา ไม่ใช่การเปลี่ยนเผ่าพันธุ์ และไม่ใช่การเผยแผ่วัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่งไปยังประเทศอื่น ๆ เพราะนอกจากไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการจำกัดขอบเขตการเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาของคนในท้องถิ่นอีกด้วย ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงจำกัดวงอยู่เฉพาะคนเชื้อชาติเดียวกันที่ไปทำมาหากินอยู่ในประเทศนั้น ไม่ขยายตัวออกไปอย่างที่ควรจะเป็น

๓. การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต้องมุ่งทำในระดับการกำจัดกิเลสอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพราะคุณค่าของการตรัสรู้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่

๓.๑ พระองค์สามารถเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษได้สำเร็จด้วยพระองค์เอง

๓.๒ พระองค์สามารถสอนให้ผู้อื่นสามารถเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ
ได้สำเร็จเช่นเดียวกับพระองค์


นั่นก็ย่อมหมายความว่า คุณค่าของพระพุทธศาสนาที่มีต่อชาวโลก ก็คือ การเป็นศาสนาเดียวในโลกนี้ที่มุ่งสอน
ให้ทุกคนสร้างสันติสุขให้แก่ตนเองและโลกใบนี้ด้วยการทำภาวนาเพื่อขจัดกิเลสภายในให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด

๔. บุคลากรที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น ต้องคัดเลือกบุคคลที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเอา
ชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะต้องไปเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิต ต้นแบบศีลธรรม และต้นแบบการกำจัดกิเลสอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยต้องยึดเอาคำสอนใน "โอวาทปาฏิโมกข์" เป็นแม่บทสำคัญในการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างจริงจังและจริงใจให้ต่อเนื่องเป็นนิสัย แล้วบุคคลนั้นจึงจะสามารถเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาในสายตาของผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้จริง ประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ จึงจะเกิดความสนใจใคร่ศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยตัวของเขาเอง และนั่นคือโอกาสที่จะขยายความรู้ในการทำภาวนาเพื่อเข้าถึงสันติสุขภายในเข้าไปสู่ใจของชาวโลกได้อย่างแท้จริง

๕. การสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ต้องสอนให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นเข้าใจเรื่อง "บุญ" และ "บารมี" และการที่เขาจะเข้าใจเรื่องบุญและบารมีได้นั้น ก็ต้องสอนให้เขาเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมและคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ว่าเราเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี เขาถึงจะเข้าใจว่าบุญคืออะไร ทำไมต้องสร้างบุญ และทำอย่างไรจะได้บุญ เมื่อทุกคนเข้าใจอย่างนี้ แม้จะมีคนมาวัดเป็นจำนวนมาก แต่เขาจะยินดีต่อการฝึกความเคารพ ความมีวินัย และความอดทนในการสร้างบุญไปเป็นหมู่คณะ เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าบุญนั้นสำคัญต่อการขจัดความทุกข์ ความกลัว อันเกิดจากความไม่รู้ให้หมดไปจากชีวิตของเขาได้อย่างไร บรรยากาศของการปฏิบัติธรรมในวัดก็จะไม่สูญเสียไป และวัดที่สร้างนั้น ก็จะกลายเป็นโรงเรียนเพื่อสอนการบรรลุธรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ ในรุ่นต่อ ๆ ไป



Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๖๕  ประจำเดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๑
พระธรรมเทศนา :การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนสุดท้าย)  พระธรรมเทศนา :การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนสุดท้าย) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.