เฮือกสุดท้าย..แห่งชัยชนะ



"ควรปรารภความเพียรเสียตั้งแต่บัดนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะการผ่อนผันกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มี"

การมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ดี เราจะได้ไม่ประมาท คนส่วนมากเพียรพยายามในการทำมาหากิน โดยไม่รู้ว่าชีวิตเป็นดุจไม้ใกล้ฝั่ง จะล้มลงในวันใดก็ได้ จึงละเลยต่อการเจริญสมาธิภาวนา ทำความเพียรเพื่อให้เข้าถึงที่พึ่งภายในคือพระธรรมกาย การทำงานหาทรัพย์ ควบคู่ไปกับการสร้างบุญ ให้ธุรกิจกับจิตใจไปด้วยกัน นับเป็นชีวิตของผู้ไม่ประมาท เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า จะมีชีวิตอยู่ยืนยาวแค่ไหน ความตายเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา ดีที่สุดคือรีบทำความดีตั้งแต่วันนี้.. ก่อนที่วันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีสำหรับเราอีกต่อไป

เฮือกสุดท้าย...ใจหมอง...

ในสมัยหลังพุทธกาล มีหนุ่มชาวทมิฬคนหนึ่ง ชื่อทีฆชยันตะ เป็นคนมีนิสัยหยาบกระด้าง ทำผิดศีล ๕ อยู่เป็นประจำ เพราะคบคนไม่ดีเป็นมิตร ในระหว่างที่ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน เกิดการทะเลาะวิวาทกับคู่อริ จึงถูกฆ่าตาย เนื่องจากตายเพราะขาดสติ จิตใจเศร้าหมอง จึงถูกยมทูตนำลงไปยมโลก ให้พญายมราชช่วยตัดสินว่า จะให้ไปเสวยวิบากกรรมที่ทำเอาไว้ในนรกขุมไหนหรือที่ไหนจึงเหมาะสม




พญายมราชเมตตาให้โอกาสนึกถึงบุญที่เคยทำ แต่ตัวเองเป็นคนใจโหดเหี้ยม ฆ่าสัตว์เป็นอาจิณ จึงนึกถึงบุญไม่ออก เห็นแต่ภาพของการเข่นฆ่าเป็นนิมิตอยู่ข้างหน้า พญายมราชจึงพิพากษาให้ไปเสวยทุกข์ในอุสสทนรก ในขณะที่กำลังถูกทัณฑ์ทรมานอยู่นั้น สัตว์นรกตัวนี้พลันนึกถึงภาพตัวเองสมัยที่เป็นวัยรุ่น พ่อแม่ใช้ให้นำผ้าแดงไปบูชาเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ระฟ้าที่สุมนคิริมหาวิหาร จำได้ว่าตอนที่เอาผ้าไปบูชาพระเจดีย์นั้น ตัวเองมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมาก ฉะนั้น เมื่อได้เห็นเปลวไฟที่ลุกวูบวาบไปมา จึงหวนระลึกถึงผ้าแดงที่พัดโบกผืนนั้นได้ เพียงแค่จิตเป็นกุศลนิดเดียวเท่านั้นเอง บุญก็สว่างวาบ ฉุดเอาสัตว์นรกนี้ขึ้นจากขุมนรก แล้วไปบังเกิดเป็นอากาศเทวาทันที

นึกถึงบุญได้ตอนอยู่ในนรก

ส่วนอีกท่านหนึ่ง ตลอดชีวิตมัวแต่ทำมาหากิน ไม่สนใจเข้าวัดฟังธรรม แต่ชอบฆ่าสัตว์ทำอาหาร ก่อนตายใจเศร้าหมอง ตายแล้วบุญไม่ชัดกรรมก็ไม่แจ้งนัก จึงถูกยมทูตนำไปที่ยมโลก เมื่อผ่านการไต่สวนจากพญายมราชแล้ว จึงถูกส่งให้ไปเสวยทุกข์อยู่ในอุสสทนรก แต่ในช่วงที่ว่างจากการถูกทรมานแวบหนึ่งนั้น ได้พิจารณาเห็นเปลวไฟใหญ่ไหวไปไหวมา เสียงดังพึ่บพั่บ ๆ ก็พลันนึกถึงผ้าจีวรโบกสะบัดที่ตัวเองถวายพระลูกชาย ด้วยจิตที่เป็นกุศล บุญทำงานเต็มที่ ทำให้สัตว์นรกพ้นจากทัณฑ์ทรมาน เลื่อนจากอัตภาพของสัตว์นรกไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเป็นอานุภาพแห่งบุญที่อัศจรรย์ยิ่ง ต้องถือว่าหนึ่งในล้าน ๆ คนที่เมื่อตกลงไปในนรกแล้ว จะสามารถหลุดพ้นจากอบายภูมิขึ้นมาได้ เพราะส่วนใหญ่มีแต่ต้องเสวยทุกข์ไปจนกว่ากรรมนั้นจะสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ ยังมีอีกท่านหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นอำมาตย์ เป็นคนฉ้อราษฎร์บังหลวง พิจารณาคดีด้วยความลำเอียง แต่ด้วยบุญที่เคยเอาดอกมะลิ ๑ หม้อ ไปบูชาพระมหาเจดีย์ แล้วได้แบ่งส่วนบุญให้แก่พญายมราช เมื่อตายไปแล้วได้ถูกควบคุมตัวไปพิจารณาโทษในยมโลก แม้พญายมราชจะเตือนให้นึกถึงบุญก็นึกไม่ออก เพราะบาปมันบังใจเอาไว้ พญายมราชจึงตรวจดูเอง แล้วเตือนให้ได้สติว่า “ยังจำได้ไหม ท่านเคยบูชามหาเจดีย์ด้วยดอกมะลิ หม้อ แล้วยังอุทิศส่วนกุศลให้กับเรา” อำมาตย์ท่านนี้จำกุศลกรรมของตัวเองได้ จึงมีใจเลื่อมใส พอจิตเลื่อมใสเท่านั้น ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลกทันที




เราจะเห็นว่า การชิงช่วงระหว่างใจหมองกับใจใสมีอยู่ตลอดเวลา เราต้องฝึกทำใจให้ใส ๆ อย่าให้หมอง และอย่าให้อกุศลมาครอบงำจิตใจของเราได้ การจะทำเช่นนี้ได้ต้องหมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นนิจ ชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ และเมื่อทำบุญอะไรไว้แล้ว ก็ให้หมั่นตรึกระลึกนึกถึงเรื่อย ๆ ให้ใจอยู่ในบุญ อย่าไปนึกถึงบาป การทำความดีนั้นต้องทำบ่อย ๆ ต้องมีความเพียรพยายามไม่ลดละ บุญแม้น้อยนิดต้องคิดทำ แม้จะทำยากแต่มีความสุขเป็นผลก็ต้องทนเอา เหมือนเราจำเป็นต้องผ่าตัด ต้องทนเจ็บปวดเพื่อให้หายจากโรค ต้องฝืนกินยาขมจะได้หายเจ็บป่วยไข้

เฮือกสุดท้าย....ใจใส

เฮือกสุดท้ายของชีวิตนั้นสำคัญมาก เพราะจะไปอบายหรือสบาย จะไปสุคติหรือทุคติก็อยู่ที่ใจหมองหรือใสนี่แหละ ในสมัยพุทธกาล มีพ่อค้าท่านหนึ่ง มีอาชีพค้าขายผ้าหลากหลายชนิดด้วยกัน วันหนึ่ง เขาบรรทุกผ้าเต็มเกวียนเดินทางไปเมืองสาวัตถี เพื่อทำการค้า พระบรมศาสดาเสด็จผ่านมา ครั้นทอดพระเนตรเห็นพ่อค้าท่านนี้แล้ว ทรงแย้มพระโอษฐ์ เมื่อพระอานนท์ทูลถามจึงตรัสว่า “อานนท์ เธอเห็น พ่อค้าผู้มีทรัพย์คนนั้นไหม” “เห็นพระเจ้าข้า” “พ่อค้า ไม่รู้ว่าอันตรายถึงแก่ชีวิตจะเกิดขึ้นกับตน จึงคิดที่จะอยู่ที่นี่ตลอดปีเพื่อทำการค้าขาย พ่อค้าคนนี้จะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น

ด้วยความสงสาร พระอานนท์จึงทูลขออนุญาตไปบอกพ่อค้า ครั้นพ่อค้าได้ฟัง แทนที่จะมัวแต่วิตก กังวล เขาได้ตั้งใจที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้สร้างบุญให้เต็มที่ด้วยการถวายสังฆทานมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ในวันสุดท้าย พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทว่า “อุบาสก ธรรมดา บัณฑิตไม่ควรประมาท อย่ามัวคิดแต่เรื่องทำมาหากิน ควรคิดถึงความตายบ้าง สัตว์ที่เกิดมาล้วนต้องตาย เหมือนผลไม้ที่สุกแล้วร่วงหล่นไป... เมื่อมนุษย์ถูกมัจจุราชสกัดอยู่ข้างหน้า บิดามารดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้ หมู่ญาติก็เอาแต่รำพันโศกศัลย์อยู่นั่นเอง ขณะที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น พ่อค้าก็ทำใจให้หยุดนิ่งตามไปด้วย จึงได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันทันที




เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับ พ่อค้าได้เดินตามไปส่ง หลังจากกลับมาถึงที่พัก เขาก็เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาอย่างกะทันหัน ตั้งใจว่าจะนอนพักสักหน่อย แต่โชคร้ายเขาหลับสนิทและหลับตลอดกาล ไม่มีโอกาสตื่นมาดูกิจการค้าอีกแล้ว ด้วยอานิสงส์แห่งบุญที่ตั้งใจทำก่อนตายและมีดวงตาเห็นธรรม จึงได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรที่มีรัศมีกายสว่างไสว เสวยทิพยสมบัติที่ใหญ่โตโอฬาร

ท่านสาธุชนทั้งหลาย...ชีวิตของเราใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ จะกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ไม่ได้ เหมือนต้นไม้ริมตลิ่งที่ถูกกระแสน้ำเซาะให้พังลงไป ชีวิตของเราถูกกระแสความแก่ ความเจ็บ พัดพาไปสู่ความตายทุกขณะ นักสร้างบารมีผู้ไม่ประมาทต้องหมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นนิจ ทั้งทาน ศีล ภาวนา แม้นลมหายใจใกล้จะสิ้นก็ไม่กลัวต่อความตาย เพราะมั่นใจว่าลมหายใจเฮือกสุดท้ายจะต้องเป็นลมหายใจแห่งชัยชนะ พร้อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์ตลอดเวลา

....ก่อนชวาลชีวิตดวงนิดน้อย ....จะดับผล็อยเป็นดวงไฟดูไร้ค่า
....อย่าได้ปล่อยให้มันดับไปกับตา ....แต่จงจุดให้เจิดจ้านิรันดร

Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ  ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ 
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๐  เดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
เฮือกสุดท้าย..แห่งชัยชนะ เฮือกสุดท้าย..แห่งชัยชนะ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.