การชนะความวิตกกังวล



วันนี้เราจะมาศึกษาเรื่องการตัดความวิตกกังวล ถามว่าความวิตกกังวลเกิดจากอะไร ต้องบอกว่า เกิดจากการคิดสมมติ เช่น ถ้าเกิดทรัพย์สินเงินทองเราหมดไป พร่องไป เราจนลง จะทำอย่างไรกันดี ลูกเราจะทำอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น หรือว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะทำอย่างไรดี โจรมาปล้นจะทำอย่างไรดี ถ้าสุขภาพไม่ดี เป็นมะเร็งขึ้นมาจะทำอย่างไรดี มีแต่คำว่า ถ้า ถ้า ถ้า คือ คิดสมมติแล้วก็จะเกิดความกังวล

ถามว่าความวิตกกังวลกับความไม่ประมาท เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ตอบว่าไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องความไม่ประมาท ก็คือการมองไปข้างหน้า ดูว่ามีโอกาสจะเกิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง แล้วก็ไตร่ตรองด้วยปัญญา ด้วยสติ พอพินิจพิจารณาทุกอย่างรอบคอบดีแล้ว จึงจะตัดสินใจลงไป เมื่อตัดสินใจลงไปแล้วจะไม่กังวล จะมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป ในโลกนี้ถ้ารอให้พร้อม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้วทำ คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย ไม่มีทางพร้อม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่ไม่ประมาท เมื่อไตร่ตรองดีแล้วก็กล้าตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้วก็กล้าที่จะเดินหน้าไปทำให้สำเร็จ

แต่ถ้าเป็นคนขี้กังวลจะเป็นลักษณะเดินหน้า ถอยหลัง คิดวนไปวนมา คือ เวลาคิดจะทำอะไร ก็กังวลว่าเดี๋ยวถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด เกิดเหตุไม่คาดฝัน มีผลกระทบเรื่องนั้นเรื่องนี้จะทำอย่างไรดี จะกังวลไปหมด ก็เลยไม่กล้าตัดสินใจ อย่างนี้คือวิตกกังวล จะเห็นชัดเลยว่า ความไม่ประมาทกับความวิตกกังวล ไม่เหมือนกัน แต่จะบอกว่าคนที่ไม่กังวล คือ คนที่ไม่ต้องห่วงอะไร เดินหน้าลุยอย่างเดียวจนกลายเป็นบ้าบิ่นก็ไม่ใช่ คนละเรื่องกัน ต้องกล้าไตร่ตรอง พินิจพิจารณาให้รอบคอบ เมื่อเห็นประโยชน์แล้วจึงตัดสินใจ ตัดสินใจแล้วก็กล้าเดินหน้าลุย นั่นคือไม่กังวล

ถามว่าการเป็นคนวิตกกังวลจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ต้องบอกว่าเยอะมาก ๆ คือ ชีวิตจะเฉา คนที่กังวลพอนึกถึงอะไรก็จะกลัวไปหมด และไม่กล้าทำอะไร จะเกร็งตลอด เหมือนที่มีคนทำการทดลองกับลิง ซึ่งธรรมชาติของลิงจะเป็นสัตว์ที่คล่องแคล่วมาก กระโดดจากต้นไม้ต้นนี้ไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ด้วยความคล่องแคล่ว แต่เมื่อเขาทดลองเอาต้นไม้ที่คล้าย ๆ ต้นไผ่ที่โยกได้ ลำต้นไม่แข็งมาก เอาหลาย ๆ ต้นมาเรียง เว้นระยะพอดี ๆ อยู่ในระยะที่ลิงกระโดดไปเกาะได้สบาย ๆ พอลิงกระโดดปั๊บ คนที่คุมอยู่ที่โคนต้น ก็โยกต้นหลบ ลิงก็คว้าไม่ถึง ตกลงพื้น แต่ก็ไม่ให้สูงนัก ไม่ถึงขนาดบาดเจ็บอะไรมากมาย ตกลงมาพอเจ็บ ๆ ลิงก็ไต่ขึ้นไปใหม่ อีกสักพักหนึ่งลิงก็กระโดดอีก คนก็โยกต้นไม้หลบอีก ลิงก็ตกลงมาอีก ปรากฏว่าผ่านไปแค่ ๓-๔ ครั้งเท่านั้นเอง ลิงเกาะต้นไม้แน่นเลย ไม่กล้ากระโดดแล้วกลัวตก ทำให้เรารู้ว่าไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นสัตว์ก็ตาม จะทำอะไรได้ก็ต้องมีฝีมือและต้องมีความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ต้องมี ๒ อย่างประกอบกันถึงจะสำเร็จ อย่างลิงตัวนี้ พอมันถูกแกล้ง ทำให้พลาดไปสัก ๓-๔ ครั้ง มันเริ่มขาดความเชื่อมั่นแล้ว ทั้งที่ฝีมือความเป็นลิง ความคล่องแคล่วยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่พอขาดความเชื่อมั่น ปรากฏว่ามันโดดต้นไม้ไม่ได้แล้วกลัวตก นี่คือผลกระทบของความวิตกกังวล จะเป็นตัวขวางและบั่นทอนการทำงานของเราทุกอย่าง งานจะสำเร็จได้ต้องมีความกล้าหาญ มีความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐานรองรับ

ถามว่าจะตัดความวิตกกังวล สร้างความกล้าหาญ ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นมาในตัวเอง ต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักไว้ ๕ ข้อ เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม เป็นธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ

ประการที่ ๑ จะต้องมีศรัทธา คือ มีความเข้าใจในเรื่องของกฎแห่งกรรม เรื่องโลกนี้ โลกหน้า เรื่องบุญ บาป พอมีความศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น คือกรอบของความคิดจะขยายกว้างออกไป ถ้าหากไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่คิดจะมีอยู่อย่างเดียวคือโลกนี้ เอาแต่ที่เฉพาะหน้า ที่มองเห็น ก็จะมีเรื่องสมมติเกิดขึ้นมามากมาย เช่น ต่อให้เป็นเศรษฐีหมื่นล้านก็จะกังวลว่า ถ้าอีกหน่อยจนลงจะทำอย่างไรดี เกิดธุรกิจการค้าผิดพลาดขึ้นมา ฝากเงินกับแบงก์เอาไว้ โดนยึดไปจะทำอย่างไร เศรษฐีก็มีเรื่องกลุ้มของเศรษฐี เรามีเงินแสนเงินล้านอาจจะยังไม่กลุ้มเท่าไร เงินฝากแบงก์ไว้ก็ยังอยู่ แต่คนมีเงินเป็นพันเป็นหมื่นล้านเริ่มห่วงแล้วว่าจะเก็บไว้ตรงไหนดี แบงก์จะล้มไหม ไปซื้อพันธบัตรอเมริกา ค่าเงินดอลลาร์จะตกหรือเปล่า เพราะถ้าตกไปครั้งหนึ่ง ๔-๕ เปอร์เซ็นต์ เงินจะหายไป ๔๐๐-๕๐๐ ล้านบาท ความกังวลจะเกิดขึ้นมามากมาย ถ้าหากรู้แค่ชาตินี้ กรอบความคิดมีแค่ชาตินี้ หลักประกันในชีวิตหาได้ยาก แต่ถ้าเข้าใจถึงโลกหน้า เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องกฎแห่งกรรมเมื่อไร สบายใจได้เลยว่า เหมือนกับมีบริษัทประกันที่มีความมั่นคงเป็นอันดับ ๑ ในจักรวาล เป็นบริษัทประกันที่ไม่เบี้ยว ให้ผลตอบแทนแน่นอน ละโลกไปแล้วยังตามไปให้หลักประกันได้อีก ถ้ามีหลักประกันแห่งชีวิตอย่างนี้แล้ว ก็ไม่เฉพาะเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น แต่ว่าประกันทุกสิ่งทุกอย่างว่าจะให้ความสุขตามที่พึงปรารถนา

ดังเช่นเรื่องของพระภัททิยะ พระมหากัปปินะ ก่อนออกบวชท่านเป็นกษัตริย์ ภายหลังสละราชสมบัติ แล้วออกบวชเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาล ท่านไปเดินจงกรมในป่า เดินไปก็อุทาน "สุขจริงหนอ ๆ ๆ" จนเพื่อนภิกษุแปลกใจ นึกว่าท่านนึกถึงสุขในสมัยที่เป็นกษัตริย์ มากราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทราบอยู่แล้วด้วยข่ายพระญาณ แต่ว่าก็ตรัสเรียกพระภัททิยะ พระมหากัปปินะ มาสอบถามท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ว่าทำไมถึงอุทานอย่างนั้น ทั้งสองรูปซึ่งต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ตอบเหมือนกันว่า สมัยยังเป็นกษัตริย์อยู่ มีคนแวดล้อมคอยดูแล รักษาความปลอดภัยสารพัด ทหารรักษาชายแดนรักษากำแพงเมือง รักษากำแพงวัง เฝ้าประตูปราสาทเป็นชั้น ๆ ไปจนถึงหน้าประตูห้องนอน แต่ก็หลับไม่สนิทนอนผวาสะดุ้ง กลัวคนมาลอบฆ่า กลัวโจรจะมาปล้นราชสมบัติ กลัวข้าศึกจะยกมาตีเมือง กลัวจะมีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมืองสารพัดอย่าง แต่พอสละสมบัติทั้งหลายเหล่านั้นมาอยู่คนเดียวในป่า มีผ้า ๓ ผืน ไปบิณฑบาตได้อาหารมาอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น ไม่มีสมบัติอะไรเลย อยู่อย่างเรียบง่ายที่สุด กลับไม่มีความกังวลเลย มีแต่ความสุขท่วมท้นหัวใจ จนต้องอุทานขึ้นมาว่า "สุขจริงหนอ ๆ ๆ" เพราะเป็นความสุขจากภายใน

ถามว่าทำไมท่านไม่มีความกังวล เพราะท่านทราบแล้วว่า สิ่งที่ท่านทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เป็นบุญ แล้วบุญนี้จะเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุขในภพชาติต่อไปได้อย่างไร ยิ่งถ้าตัดกิเลสหมดไปแล้ว นั่นคือความสุขอย่างยิ่ง ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ เข้าพระนิพพานไปเลย เหนือกว่าบนโลกนี้มากมายนัก ต่อให้ตายไปในวันนั้นท่านก็ไม่ได้กังวล เพราะรู้ว่าไปดี ถ้าเรามั่นใจได้ว่า ถ้าจากโลกนี้ไปแล้วเราจะไปสู่ภพภูมิที่ประเสริฐกว่า มั่นใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้ว เราจะเป็นคนที่ไม่มีความกังวลเลยในการทำความดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ทาน รักษาศีล หรือทำสมาธิภาวนา พร้อมจะทุ่มทั้งกายทั้งใจ ทำด้วยความเชื่อมั่น ไม่มีความกังวลใด ๆ มาเหนี่ยวรั้งทั้งสิ้น เพราะหลักประกันแห่งชีวิต คุณค่าของบุญเป็นเครื่องการันตีให้กับเราว่า เราจะต้องพบสิ่งที่ดีงามแน่นอน ไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งกังวลเฉพาะหน้า เพราะเห็นอยู่แล้วว่า ทำไปแล้วได้ยิ่งกว่าได้ ถ้ามองในแง่เป็นการลงทุน ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ชนิดที่ว่าไม่มีกองทุนใดในโลกนี้ที่ให้ผลตอบแทนยิ่งกว่านี้ได้อีก การมีศรัทธา เข้าใจในเรื่องบุญบาป กฎแห่งกรรม โลกนี้ โลกหน้า จะทำให้เรามีความเชื่อมั่น มีความกล้าหาญในการทำความดี โดยปลอดจากความวิตกกังวลใด ๆ ทั้งสิ้น




ประการที่ ๒ ศีล เป็นการอุดช่องโหว่ของเรา  อุดจุดอ่อน ถ้าอุดช่องโหว่เรื่องศีลได้ ผลก็คือ ทำให้สายบุญ สายสมบัติเชื่อมติดที่ศูนย์กลางกายของเรา ไม่ถูกบาปอกุศลมาตัดรอน พอบุญส่งผลเชื่อมต่อ เราก็ไม่มีความระแวงแคลงใจตัวเองว่า เดี๋ยวคนอื่นจะมารู้จุดอ่อน ข้อบกพร่องที่เราไปทำผิดพลาดไว้ บุญละเอียดก็หนุนส่ง เราก็สบายใจ โปร่งใจ ผลก็คือ ความเชื่อมั่น ความกล้าหาญ ก็จะเกิดขึ้นมา ท่านบอกว่า มือที่ไม่มีแผลไม่กลัวยาพิษ เอายาพิษมาใส่ถ้ามือไม่มีแผลก็ไม่เข้า เราไม่กลัว แต่ถ้าเมื่อไร มือมีแผล อย่าว่าแต่ยาพิษเลยแค่เอาทิงเจอร์มาทา ก็แสบแล้ว เราต้องทำให้ตัวเองเป็นคนไม่มีแผล คือ รักษาศีลให้ดี แล้วความเชื่อมั่น ความกล้าหาญ ความปลอดกังวลก็จะเกิดขึ้นมา

ประการที่ ๓ พาหุสัจจะ คือ เป็นผู้ที่มีความรู้มาก จะทำเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ต้องศึกษาหาความรู้เรื่องนั้นให้แตกฉาน ให้มีความเชี่ยวชาญ ให้รู้จริง พอเรารู้จริงแล้วเราก็จะเกิดความเชื่อมั่น ถ้าหากไม่มีความรู้ก็ไม่ค่อยมั่นใจ จะทำอะไรต้องเตรียมตัวหาความรู้ให้พร้อม

ประการที่ ๔ วิริยารัมภะ ความเพียร ความวิริยอุตสาหะ ทุ่มเทเต็มที่ หนักเอาเบาสู้ เวลาเราทำอะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีปัญหาอุปสรรคขึ้นมา อย่าเสียเวลานั่งวิตกกังวล ไตร่ตรองดูปัญหาให้รอบคอบ ด้วยความไม่ประมาท เสร็จแล้วให้เดินหน้าทำงาน อย่าอยู่เฉย ถ้าอยู่เฉยนิ่ง ๆ เมื่อไร ก็จะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนั้นไม่รู้จบ กลายเป็นคนขี้กังวลไปเลย เมื่อเรามีปัญหาเกิดขึ้นให้เดินหน้าทำงาน แก้ปัญหาเรื่องนั้น หรือว่าทำงานเรื่องใหม่ที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราลุยทำงานใจจะไปจรดอยู่กับงาน แล้วก็คิดไปในเชิงสร้างสรรค์ แทนที่จะมากังวลกับเรื่องบกพร่องผิดพลาด หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมา มีนักธุรกิจบางคนทำธุรกิจแล้วก็ไม่เป็นไปตามคาด ขาดทุน ทำธุรกิจใหม่ก็ขาดทุนอีก ถ้าหากเขาไปนั่งกังวล ก็จะล้มเหลวทั้งชาติ แต่เขาบอกเคล็ดลับว่า เขาไม่กังวลเลย เดินหน้าไตร่ตรองให้รอบคอบยิ่งขึ้น ศึกษาให้แตกฉานยิ่งขึ้น แล้วก็ทุ่มเทให้มากขึ้น ทำธุรกิจใหม่ให้ลุยเข้าไปเลย ให้ใหญ่กว่าเก่าอีก ผลสุดท้ายพอธุรกิจใหม่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถแก้ไขการขาดทุนของธุรกิจเก่า ๆ ได้หมด กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีทรัพย์สินเป็นหมื่น เป็นแสนล้านบาท

ถ้าเราเกิดปัญหา อย่ามัวนั่งท้อแท้ใจ นั่งกลุ้ม ให้เดินหน้าทำงาน ยังไม่รู้จะทำอะไร ทำงานบ้านก็ได้ ปัดกวาดเช็ดถู อย่าอยู่เปล่า ๆ ความวิตกกังวล จะกัดกร่อนทำลายตัวเอง แต่พอทำงานแล้วพลังสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นมา แล้วก็มองไปข้างหน้า เชิดศีรษะให้สูงขึ้น เดินหน้าทำงานที่สำคัญกว่าเก่า ยิ่งใหญ่กว่า ตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าเก่า ทุ่มเทให้เต็มที่ นี่คือการแก้ความวิตกกังวลได้ชั้นหนึ่ง แล้วความกล้าหาญเชื่อมั่นจะกลับคืนมาสู่ตัวเรา

ประการที่ ๕ ปัญญา ปัญญาระดับที่เยี่ยมที่สุด คือ ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิ  พอทำสมาธิ ใจเป็นหนึ่ง ใจนิ่ง พอใจนิ่ง บุญก็หล่อเลี้ยงใจ พลังบุญจะหนุนส่งเป็นพลังใจให้เรา สามารถเอาชนะความกังวลทั้งหลาย แล้วปฏิบัติภารกิจทุกอย่างได้สำเร็จตามที่ตั้งใจทุกประการ โดยสรุปในเชิงปฏิบัติ เมื่อเรามีเป้าหมายอะไรแล้ว ให้มีศรัทธา มีความเชื่อมั่นเรื่องของบุญบาป เข้าใจทั้งโลกนี้โลกหน้า รู้ว่าบุญที่เราสร้าง ทาน ศีล ภาวนา ที่เราทุ่มเทลงไปจะเกิดประโยชน์กับตัวเรา และครอบครัวหมู่ญาติอย่างไรต่อไป นี่คือ การลงทุนที่คุ้มที่สุดในชีวิต เป็นหลักประกันข้ามภพข้ามชาติ ให้ผลตอบแทนไม่ใช่แค่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเป็น ล้าน ๆ เท่า ทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไป ให้เติมเลขศูนย์ไปอีกเป็นสิบ ๆ ตัวได้เลย

แล้วก็สำรวจข้อบกพร่องของตัวเองให้ดี รักษาศีล แก้ไขอุดช่องโหว่จุดอ่อนของเราให้ดี จากนั้น ทุ่มเทแสวงหาความรู้ พากเพียรลุยไปให้เต็มที่ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ลุยไปเลย ไม่ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ย่อหย่อน แล้วตั้งใจนั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ  ถ้าได้อย่างนี้แล้วละก็ เราจะเป็นคนที่เอาชนะความวิตกกังวลได้ เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็สามารถไตร่ตรองพินิจพิจารณาด้วยความรอบคอบ กล้าตัดสินใจ แล้วก็แก้ไขปัญหาได้อย่างดีเยี่ยมที่สุด


Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๘๗  เดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
การชนะความวิตกกังวล การชนะความวิตกกังวล Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:04 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.