หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๑)
ก่อนอื่น ผู้เขียนต้องขออนุโมทนาบุญกับทุก ๆ ท่าน สำหรับบุญใหญ่ในวันที่ ๑๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นวันบูชาครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย เป็นวันที่พวกเราผู้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ หลานศิษย์ของมหาปูชนียาจารย์ คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้มาร่วมกันแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่านด้วยการทอดผ้าป่า สวดบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร และอัญเชิญรูปหล่อของท่านประดิษฐานไว้ ณ มหารัตนวิหารคด วัดพระธรรมกาย ซึ่งควรกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งไว้ให้แก่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ร่วมกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราได้น้อมนำโอวาทของ “ใครคนหนึ่ง” ที่ได้ให้ไว้เกี่ยวกับความสำคัญของวิชชาธรรมกายมาศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้ว เราจะยิ่งตระหนักว่า วิชชาธรรมกายนั้นมีความสำคัญต่อตัวเราและโลกเพียงใด ดังข้อความตอนหนึ่งว่า ...
“วันนี้ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในการสร้างบารมีของเรา เป็นวันที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ท่านได้อุทิศชีวิตจนสามารถค้นพบวิชชาธรรมกาย ให้วิชชาธรรมกายได้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีท่าน โลกของเราก็จะยังมืดมนอนธการกันต่อไป และคำว่าธรรมกายก็ไม่มีใครรู้จักอย่างแท้จริง ...เพราะหลังจากพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๕๐๐ ปี คำว่าธรรมกายก็เหลือเพียงตัวอักษรที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎกของแต่ละนิกายเท่านั้น แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจเรื่องราวของธรรมกายได้อย่างแท้จริง...การค้นพบวิชชาธรรมกายของหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร นั้น จึงมีคุณค่าอย่างมาก...เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า แม้ว่ามนุษย์เราจะมีความแตกต่างกันในด้านความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวัฒนธรรมก็ตาม แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ล้วนมีพระธรรมกายอยู่ในตัวทั้งสิ้น...คือ ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นก็มีพระธรรมกาย ซึ่งท่านก็สถิตอยู่ในที่ที่ดีที่สุด ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด...ซึ่งแม้ว่าข้างนอกจะมีความแตกต่างกัน แต่ข้างในนั้นเหมือนกันด้วยพระธรรมกาย มีลักษณะที่เป็นพิมพ์เดียวกัน ที่เปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์ สวยงาม มีความสุข มีความรอบรู้และอานุภาพที่ไม่มีประมาณ...”
คำกล่าวนี้ควรกล่าวได้ว่ามีความสำคัญยิ่ง ครอบคลุมอย่างยิ่งในหลาย ๆ ด้าน ที่ทำให้เราทุกคนได้รู้และเข้าใจว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านมีความสำคัญอย่างไร การสละชีวิตของท่านในการค้นพบวิชชาธรรมกายนั้นสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีความหมายต่อพระพุทธศาสนาอย่างไรด้วย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่เราจะช่วยกันทบทวนโอวาทนี้กันหลาย ๆ ครั้งให้เป็นเครื่องตรึกระลึกไว้ในใจของเรา
พิธีอัญเชิญรูปหล่อโลหะทองสัมฤทธิ์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
เวียนประทักษิณรอบพระมหาธรรมกายเจดีย์
เพื่อประดิษฐาน ณ มหารัตนวิหารคด ชั้น ๑ เนื่องในวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
วันศุกร์ที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒
ในที่นี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว การได้ตรึกระลึกนึกถึงพระคุณของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ไม่ว่าจะในโอกาสใดก็ตาม (โดยเฉพาะในวันบูชาครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ที่เพิ่งผ่านไปก็ตาม หรือในวันคล้ายวันเกิดด้วยรูปกายเนื้อของท่านในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่ใกล้จะมาถึงนี้ก็ตาม) ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี และถือว่าเป็นบุญลาภอันเยี่ยมที่สุดในชีวิตของเราทุกคน เพราะการได้ตรึกระลึกถึงท่านซึ่งเป็นบุคคลสำคัญเช่นนี้เป็นโอกาสที่หาได้ยากในโลก เพราะเมื่อเทียบกับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปแล้ว ก็ถือว่าเราเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมากที่ได้มีโอกาสมาศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของท่าน และยิ่งเมื่อเทียบกับประชากรโลกที่มีจำนวนถึงกว่า ๗,๐๐๐ ล้านคนแล้ว พวกเราก็ยิ่งถือว่าเป็นเพียงกลุ่มคนที่โชคดีเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่ได้รู้ว่าเรื่องราวของพระธรรมกายภายในตามที่ท่านสอนนั้นมีคุณค่ามากเพียงใด ซึ่งในความเข้าใจของผู้เขียนแล้ว เป้าหมายสูงสุดของการ “ตรึกระลึกถึงพระคุณครู” นั้น ท้ายที่สุดแล้วต้องมุ่งไปสู่การปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จกันทุก ๆ คน จึงจะเรียกได้ว่า เป็นการตรึกระลึกถึงพระคุณครูอย่างแท้จริง เพราะในท้ายที่สุดเราทุก ๆ คน ก็จะสามารถทำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ได้ด้วยตัวของเราเองโดยตรง ยืนยันได้ด้วยตัวของพวกเราเองโดยตรง เพราะ การปฏิบัติ คือ หนทางเดียวที่จะทำให้เรารู้จักพระพุทธเจ้าได้จากภายใน นั่นเอง
“หยุดเป็นตัวสำเร็จ” เป็นถ้อยคำที่มีคุณค่า
มหาศาล ที่หลวงปู่วัดปากน้ำได้มอบไว้ให้แก่โลก
เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙
เรื่องของการรู้จักพระพุทธเจ้าจากภายในนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งหมายถึงว่าเป็นการรู้จักคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริงนั่นเอง การรู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้น หลวงพ่อทัตตชีโว “คุณครูไม่เล็ก” ท่านขยายความไว้อย่างน่าสนใจว่า คือการนึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของ
พระองค์ เพื่อเราจะได้มีกำลังใจที่จะทำความดีตามท่าน จะได้ทราบและเข้าใจอย่างถูกต้องว่า คำสอนของพระองค์ท่านมีความทันสมัย ไม่ขึ้นกับกาลเวลา และเพื่อที่จะได้ทราบว่า คำสอนของพระองค์นั้นช่วยประคับประคองเราได้อย่างไร เป็นที่พึ่งแก่เราอย่างไรบ้าง เป็นการเข้าใจจากความรู้จริงและรู้แจ้ง มิใช่เป็นการตีความไปตามวิสัยทั่วไปของโลก ดังที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้กล่าวไว้ว่า
“โย พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต ผู้ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ว่าเป็นที่พึ่งแล้ว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมฺมํ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมฺคามินํ มาเห็นอริยสัจสี่ด้วยปัญญาอันชอบ ...
เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าไม่รู้จัก พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ น่ะซิ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ไม่ได้อยู่เรี่ยราดเช่นนั้น พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ อยู่ในตัวทุกคน กายเป็นชั้น ๆ เข้าไป กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ นั่นแน่ กายธรรม กายธรรมละเอียด กายธรรมนั่นแหละเป็นพุทฺโธ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้น เป็นพุทฺโธ ดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายธรรมนั่นแหละ เส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว ดวงนั้นแหละเป็นเนมิตกนามเกิดขึ้น เรียกว่า ธมฺโม กายธรรมละเอียดอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย แต่ว่าใหญ่กว่ากายธรรม นั่นแหละเรียกว่า สงฺโฆ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นเรียกว่า สงฺโฆ ถ้าตัวจริงล่ะก็ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นั่นแหละเป็นตัวจริงที่เราจะถึง...”¹
หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา
ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ฉบับ: ๖๙ กัณฑ์
และดังที่เราทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ในพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร นั้น ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อใดก็ตาม ก็ล้วนแต่มีการเชื่อมโยงไปสู่การนอบน้อมหรือการให้ความเคารพต่อพระรัตนตรัยอยู่เสมอ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผลจากธรรมปฏิบัติของท่าน (พระเดชพระคุณหลวงปู่) ก็เป็นได้ อาทิ
“...จะกล่าวถึงรัตนะในทางปฏิบัติ 'ปฏิบัติ' แปลว่า ถึงเฉพาะผู้ปฏิบัติ ถึงเฉพาะซึ่งพระรัตนตรัย การถึงพระรัตนตรัยในยุคนี้ต่างกัน ผู้ไม่ได้เล่าเรียนศึกษา ก็ถึงรูปพระปฏิมากรในโบสถ์วิหารการเปรียญ ถึงพระธรรมในตู้ใบลาน ถึงพระสงฆ์สมมุติในทุกวันนี้ ผู้ได้เล่าเรียนศึกษา รู้พุทธประวัติก็ถึงพระสิทธารถะราชกุมารที่ได้ตรัสรู้ใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ที่ได้มาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ถึงพระธรรมก็คือปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร กับธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ให้ได้บรรลุมรรคผลทั้งสิ้น ถึงพระสงฆ์ก็คือพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนถึงสุภัททภิกษุ ซึ่งเป็นปัจฉิมสาวกเวไนย ผู้มีสติปัญญา... การถึงพระรัตนตรัยของท่านลึกล้ำ ท่านคิดว่า 'พุทธ' ก็แปลกันว่าตรัสรู้ ภาษาสามัญก็แปลว่ารู้เท่านั้น ท่านก็ทำขึ้นในใจของท่านว่ารู้นั่นเอง เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ถึงความรู้ของท่านที่ถูกดี ถึงธรรมของท่าน ความดีไม่มีผิด ถึงสงฆ์ของท่าน สงฺเฆน ธาริโต พระสงฆ์ทรงไว้ ตัวของเรานี้เองที่รักษาความรู้ถูกรู้ดีไม่ให้หายไป เป็นสงฆ์...”
“ ... การกล่าวถึงพระรัตนตรัยดังแสดงมาแล้วนี้ก็ถูก เหมือนต้นไม้ เอานิ้วไปจรดเข้าที่กะเทาะก็ถูกต้นไม้ เอานิ้วไปจรดเข้าที่เปลือกก็ถูกต้นไม้ เอานิ้วไปจรดเข้าที่กระพี้ก็ถูกต้นไม้ ถูกแต่กะเทาะ เปลือก กระพี้ เท่านั้น หาได้ถูกที่แก่นของต้นไม้ไม่... การถึงพระรัตนตรัยต้องเอากาย วาจา ใจของเราที่ละเอียดจรดเข้าไปให้ถึงแก่นของพระรัตนตรัยจริง ๆ รัตนตรัยแปลว่า แก้ว ๓ ประการ แก้วคือพระพุทธ ๑ แก้วคือ พระธรรม ๑ แก้วคือพระสงฆ์ ๑ ได้ในบทว่า...สกฺกตฺวา พุทฺธรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือพุทธ สกฺกตฺวา ธมฺมรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือธรรม สกฺกตฺวา สงฺฆรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือสงฆ์...”²
คำกล่าวของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ข้างต้นนี้ควรถือได้ว่ามีความลึกซึ้ง และแหลมคมมาก ทั้งนี้เพราะแม้จะเป็นคำกล่าวเพียงสั้น ๆ แต่ก็กินความหมายที่ชัดเจนลงไปถึงการปฏิบัติโดยเฉพาะ ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ของยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้คนในยุคนี้ที่แม้จะเป็นชาวพุทธ แต่ด้วยการที่ส่วนใหญ่แล้วต่างก็ละเลยหรือไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องการปฏิบัติอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาไปอย่างมาก ทำให้ในท้ายที่สุดจึงเหลือเพียงการนับถือพระพุทธศาสนาแต่เพียงในนามเท่านั้น และเมื่อเกิดปัญหาที่ลึกซึ้งขึ้นในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยจึงไม่สามารถบอกหรือแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง สิ่งใดดีงาม สิ่งใดไม่ดีงาม สิ่งใดควรหรือสิ่งใดไม่ควร ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในทุกวันนี้ เช่น ในกรณีของการนำเอาพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธไปใช้สร้างเป็น “งานศิลปะ” เป็นต้น
เกี่ยวกับกรณีนี้ ทำให้เรามองเห็นได้ว่า ความรู้ความเข้าใจในเรื่องพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระรัตนตรัยนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ และยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาเผยแผ่ความรู้กันให้กว้างขวางต่อเนื่องอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะการรับรู้สืบต่อ ๆ กันมาของเราจากบรรพบุรุษ (ดังปรากฏในกาลามสูตร : อย่าเชื่อโดยการสืบ ๆ กันมา) ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลต้นแบบที่ควรแก่การเคารพสักการะอย่างสูงสุดไม่เสื่อมคลาย นั่นเพราะเหตุใด ? ... นั่นมิใช่เพราะการที่ทรงดำรงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น พระพุทธองค์ทรงเป็นบุคคลซึ่งได้แสดงให้เราเห็นว่า คุณค่าของการสั่งสมบุญบารมีหรือคุณค่าของการทำความดีนั้นมีอยู่จริง คนทุกคนสามารถที่จะบ่มเพาะขัดเกลาตนเองจากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดที่สมบูรณ์ได้จริง เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้และเห็นผลได้จริง ๆ เช่นเดียวกับที่พระองค์เป็น ดังที่เราเห็นได้จากพุทธคุณ ๙ ประการ ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ที่ทรงสั่งสมบ่มเพาะเรื่อยมาตลอดระยะอันยาวนานนั้น ซึ่งเมื่อเราเห็นและเข้าใจในจุดนี้ได้ เราก็ย่อมเคารพบูชาพระองค์ได้อย่างถูกต้อง และพร้อมที่จะน้อมนำคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติอย่างจริงจัง แทนที่จะคิดและตีความพระองค์ไปตามความเข้าใจทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาหรือกลายเป็นความผิดพลาดต่อตนเองและส่วนรวมได้
ดังนั้น สำหรับผู้เขียนแล้ว เรื่องของ การปฏิบัติจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เรารู้จักพระพุทธเจ้าจากภายในได้จริงยิ่งกว่าหนทางอื่นใด ซึ่งพวกเราผู้เป็นลูกศิษย์ หลานศิษย์ ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ทุกคนควรน้อมนำไว้ในใจของเราอยู่เสมอ เพราะความเข้าใจในข้อนี้จะช่วยเราได้ทุก ๆ อย่าง นับตั้งแต่ช่วยให้เราไม่ลืมหลักการที่ว่า “ธรรมกาย คือ เป้าหมายชีวิต” ที่เคยยึดถือกันมาโดยตลอด ช่วยให้เราเข้าใจคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร และมหาปูชนียาจารย์โดยไม่ผิดเพี้ยนหรือเบี่ยงเบนไปจากสาระสำคัญ และในท้ายที่สุดความเข้าใจข้อนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเป้าหมายและหลักการทุกอย่างที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องอีกด้วย ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนแล้ว จากการที่ผู้เขียนและคณะทำงานสืบค้นรวบรวมหลักฐานธรรมกายทั่วโลกมานานเกือบ ๒๐ ปีนั้น เห็นว่าเป็นข้อสรุปที่ไม่ผิดไปจากความจริงแต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกนั้น นักวิชาการหลาย ๆ ท่านต่างก็เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในภาคปฏิบัติกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น อาทิ ศาสตราจารย์ Zimmermann จากมหาวิทยาลัย Hamburg ที่เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันในงานของท่านอย่างชัดเจนว่า “ธรรมกายมีอยู่ในตัวมนุษย์” ซึ่งเท่ากับว่าเป็นกระแสให้เกิดการศึกษาลงลึกต่อไปอีกอย่างกว้างขวางในอนาคตอันใกล้นี้
Prof. Dr. Michael Zimmermann
ขณะร่วมงาน Otago Light of Peace
ณ มหาวิทยาลัยโอทาโก
ประเทศนิวซีแลนด์
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอยกโอวาทของใครคนหนึ่งมาทิ้งท้ายไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงหลักการที่ผู้เขียนและคณะทำงานของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ตระหนักถึงและยึดถือเป็นเป้าหมายในการทำงานมาเสมอ ความว่า
“ธรรมกายเป็นเนื้อหนังของพระพุทธศาสนา...เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่เราจะต้องค้นคว้าเข้าไปให้ถึง...เป็นของเก่าดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา แต่นำมาเป่าฝุ่นใหม่ ไม่ใช่เป็นของใหม่ หรือลัทธิใหม่ แต่เพราะละเลยการศึกษาและปฏิบัติมานาน...จึงได้เลือนหายไป....แต่สัจธรรมก็คือสัจธรรม เป็นของจริงที่อยู่ภายใน ที่เราสามารถศึกษาได้ ค้นคว้าได้ สัมผัสได้ เข้าถึงได้ด้วยกำลังแห่งความเพียรของเราในชีวิตนี้”³
------------------------------------
¹พระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย กัณฑ์ที่ ๓ เรื่องพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
² พระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย กัณฑ์ที่ ๓ เรื่องรตฺนตฺตยคมนปณามคาถา วันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒
³โอวาทขององค์สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/09/diri51.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๒ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/09/diri51.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๒ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
- พิธีสถาปนาอุโบสถกลางน้ำ พิธีมอบตำแหน่งพุทธศาสนคลีติศรีวิสาขา แด่ตัวแทนวัดพระธรรมกาย
- ความสุขจากความสว่าง ณ ศรีลังกา
- ๑๐ ตุลาคม วันสร้างบุญใหญ่ที่พลาดไม่ได้จริง ๆ
- เบญจทรัพย์ นับบุญใหญ่ สืบสายธรรม
- ปลื้มบุญวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
- วัดพระธรรมกายจัดถุงยังชีพกว่า ๓๐ ตัน ช่วยอุทกภัยครั้งใหญ่
- ธารน้ำใจหลั่งไหลช่วยผู้ประสบอุทกภัยชาวเมียนมา
- การทำความดีต้องไม่มีพอ
- ประสบการณ์ภายในอันแสนพิเศษ
- โลกนี้อันตระการ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๑)
- ทำไมคุณยายอาจารย์ฯ จึงทอดกฐิน ?
- UG5 สู่กัมพูชา
- ถ้าเรารักตัวเอง อยากจะพัฒนาชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น ควรเริ่มต้นจากตรงไหน อย่างไร ?
- ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๒)
- อานิสงส์ของการทำบุญตามกาล
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
- ฉบับที่ ๑๙๓ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๗ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๑๙๘ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบันที่ ๑๙๙ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๒๐๐ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
- ฉบับที่ ๒๐๑ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
อยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๑ อยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๒
คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๑)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:12
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: