โลกนี้อันตระการ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่


โลกนี้อันตระการ 
แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่

     กลางของกลาง อยู่ข้างใน กลางของใจ
ใสในใส คือความใส กลางดวงใส
หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ดิ่งเข้าไป
เกิดเป็นกาย ซ้อนกาย ข้างในตน
    
     กายซ้อนกาย ซ้อนกัน อยู่กลางกาย
ใจมองกาย กลางกาย พบกายฝัน
หมั่นมองกาย กลางกาย ทุก ๆ วัน
ปรารภมั่น วันหนึ่งถึง ซึ่งธรรมกาย
                                   
                                        (ตะวันธรรม)

ความจริงที่ว่า โลกนี้เป็นที่อาศัยเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ที่สรรพสิ่งทั้งปวงเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีการตั้งอยู่เพียงชั่วครู่ เดี๋ยวเดียวก็เกิดเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และจะเสื่อมสลายดับหายไปในที่สุด แม้ชีวิตของคนเราเองก็เช่นกัน เป็นเสมือนสิ่งสมมติในละครโรงใหญ่ที่มีการเวียนเกิดเวียนตายซ้ำ ๆ ในอัตภาพหลากหลาย บทบาทอาชีพมากมาย มีความรู้สึกและสายสัมพันธ์กับผู้คนแค่ตอนยังหายใจอยู่เท่านั้น เมื่อวันเวลาผ่านไปไม่ถึงร้อยปีก็จำต้องพรากจากโลกนี้ไปทั้งสิ้น แล้วก็วนเวียนซ้ำซากเกิดแก่เจ็บตายทุกข์โศกพลัดพรากอีกนับครั้งไม่ถ้วนอย่างน่าเบื่อหน่ายเป็นที่สุด

มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนาว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นติดในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่จีรังเที่ยงแท้แน่นอน ทั้งเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงเป็นคำสอนที่ให้ความรู้จริงและให้ความเข้าใจถูกต้องถึงความประเดี๋ยวประด๋าวในการเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง ที่ต้องเป็นไปตามนี้เสมอ และเมื่อเข้าใจโลกไปตามความเป็นจริงดังนี้แล้ว มนุษย์เราจึงไม่ควรประมาท ใช้วันเวลาที่เหลืออยู่เพื่อแสวงหาสิ่งที่แน่นอนที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกในชีวิตได้อย่างแท้จริง มั่นคงและยั่งยืนตลอดกาล นั่นคือ พระธรรมกายภายในตัวเรานั่นเอง

ดังเช่นการเข้ามาแสวงหาความสุขและที่พึ่งที่ระลึกภายในจากวิถีปฏิบัติในพระพุทธศาสนาของ พระโทมัส ฐิตญาโณ (Thomas Edwin Morris) อายุ ๓๕ ปี ชาวอังกฤษ ที่ท่านได้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระอุปัชฌาย์และคณะสงฆ์เมื่อครั้งขอบวชว่า “ขอท่านโปรดอนุเคราะห์รับผ้ากาสาวะนี้ ให้กระผมได้บวชเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์ทั้งปวงเถิด”

“อาตมาไม่ได้นับถือพุทธศาสนาแต่กำเนิด แต่เมื่อได้เข้าวัดพระธรรมกายแมนเชสเตอร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ในตอนแรก ๆ นั้นเอง อาตมาก็รู้ตัวเลยว่าชอบที่นี่เข้าแล้ว และตกหลุมรักวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก อาตมาต้องการจะบวชพระทันที แต่ด้วยความที่มีภาระจำเป็นบางประการ จึงจำต้องเลื่อนความประสงค์นั้นออกไปก่อนแล้ว เริ่มต้นด้วยการเป็นอาสาสมัคร โดยเป็นชาวอังกฤษคนแรกที่รับบุญในวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งในหนึ่งอาทิตย์เป็นเวลา ๕ วันต่อสัปดาห์ที่อาตมาไปวัดเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธ อุปัฏฐากพระอาจารย์ ช่วยท่านบูรณะซ่อมแซมวัด รวมไปถึงการทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรชวนคนพุทธไปวัดและให้รับบุญต่าง ๆ ภายในวัด เพราะในใจของอาตมาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า เขาจะสามารถกลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิมยิ่งขึ้นได้จากคำสอนที่วัดแห่งนี้

“อาตมาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักการควบคุมอารมณ์ จิตใจ และให้เกียรติผู้อื่น ผ่านการลงมือปฏิบัติธรรม นี้จึงเป็นสิ่งที่อาตมาชื่นชอบเป็นอย่างมากจนได้ให้รางวัลกับตัวเองในหลาย ๆ ครั้ง เพราะความสุขและความสงบจากภายในนั้น ไม่เพียงเฉพาะอาตมาที่สามารถปฏิบัติได้ แต่สามารถแผ่ขยายได้กว้างขวางสำหรับทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ได้เช่นกัน นี้เป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจที่อาตมาแสวงหามาโดยตลอด จนเมื่อสบโอกาสที่ดี อาตมาจึงได้ออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อจริงจังกับการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงบนเส้นทางที่สงบสุขนี้ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

“ชีวิตสมณะนั้นเรียบง่าย มีศีลมีวินัยเป็นปกติ และเน้นที่การฝึกจิต การมีสติกับตัวเอง และเจริญสมาธิภาวนาทุก ๆ วินาทีช่วยให้ชีวิตดีขึ้นในทุก ๆ ด้านอย่างยอดเยี่ยมที่สุด เพราะความสุขและความสงบภายในใจเกิดจากการไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วปล่อยวางอารมณ์ ความทุกข์ จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่รุมเร้าในชีวิตได้ สมาธินี้เองที่ช่วยพัฒนาชีวิตและจิตใจของเราให้สูงส่ง และบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นอย่างสมบูรณ์”

ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่.

เรื่อง : พระมหาภูรัช ทนฺตวํโส
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒





***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/09/llp1062.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๒ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
อยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๑           อยู่ในบุญประจำเดือนของปี ๒๕๖๒

คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้

โลกนี้อันตระการ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ โลกนี้อันตระการ  แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:31 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.