วันครอบครัว



ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เราจะเห็นผู้คนเดินทางกลับบ้านเกิดกันมาก ถนนในกรุงเทพฯโล่งว่าง แต่ถนนไปสู่ต่างจังหวัดรถราแน่นขนัดไปหมด

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ในสมัยก่อนคนเราเกิดที่ไหนก็มักจะโตที่นั่น เมื่อมีครอบครัวก็อยู่ในถิ่นเดิม เพราะฉะนั้นครอบครัวจึงเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะในสังคมเกษตรกรรมนั้น ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด ก็คือ ที่ดิน ซึ่งอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ พ่อแม่อยู่ที่ไหน ถึงคราวยกที่ดินให้ลูก ลูกก็ทำกินบนที่ดินนั้นต่อ มีครอบครัวแล้วก็ยังอยู่ในที่ดินนั้น อย่างมากก็อาจจะเดินทางข้ามหมู่บ้านข้ามตำบลไป ได้สาวได้หนุ่มมาเป็นคู่ครองบ้าง แต่ก็ไม่ไกลกันเท่าใด ครอบครัวจึงเป็นครอบครัวใหญ่ มีคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มีพ่อ แม่ ลูก หลาน เหลน อยู่ด้วยกัน แล้วก็แบ่งงานกันทำ คนที่ยังหนุ่ม ยังสาว ยังแข็งแรง ก็เข้าท้องไร่ท้องนา ทำไร่ทำนาไป ปู่ ย่า ตา ยาย อายุมากแล้วทำนาทำไร่ไม่ไหว ก็อยู่ดูแลบ้าน สานกระบุง บุ้งกี๋ ทอผ้า หรือช่วยดูแลเด็ก ๆ อยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว

แต่เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนไปกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่ทำงานเปลี่ยนจากท้องไร่ท้องนา กลายเป็นโรงงาน หรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่มักจะอยู่ในตัวเมือง ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนที่ทำงานได้ อยู่โรงงานนี้ไปสักพัก มีช่องทางดีกว่าก็อาจย้ายไปทำงานในโรงงานใหม่ หรือย้ายบริษัทใหม่ การที่ต้องเปลี่ยนที่ทำมาหากินบ่อย ๆ อย่างนี้ จะยกทีมทั้งครอบครัวใหญ่ไปอยู่ด้วยกันทั้งหมดก็ไม่สะดวก เลยต้องไปตัวคนเดียว เมื่ออยู่ ๆ ไปเจอหนุ่ม เจอสาวถูกอกถูกใจเข้าก็แต่งงานมีครอบครัว พอมีลูกขึ้นมา ก็อยู่กันแค่นั้น ครอบครัวจึงเป็นครอบครัวเดี่ยว

ฉะนั้น สภาพที่เป็นครอบครัวเดี่ยวจึงเกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงอาชีพการงานของผู้คน จากภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในเมือง ปกติไม่ค่อยจะมีเวลาไปเยี่ยมบ้าน ก็ไดอาศัยช่วงสงกรานต์ที่มีวันหยุดหลายวันกลับไปเยี่ยมคุณพ่อ คุณแม่ ลูก ๆ ก็ได้มีโอกาสไปกราบคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ได้ไปทำบุญกันด้วย จึงถือกันว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว

ในเทศกาลวันครอบครัวมีหลักการที่ควรทำอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เราไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่เพื่ออะไร ไปแสดงความคิดถึง ความห่วงใย แล้วก็ดูว่าท่านมีความเป็นอยู่อย่างไร มีอะไรที่เราจะเกื้อกูลท่านได้บ้างเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที แต่ในขณะเดียวกันคนเราก็ต้องการมีราก แม้ว่าเมื่อโตขึ้นจะไปเรียนหรือทำงานในเมืองใหญ่ แต่ถึงคราวก็จะคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตน เวลาได้กลับบ้านเกิดที่ตัวเองโตขึ้นมาก็ชื่นใจ รู้สึกว่าชีวิตมันมีราก

แต่เทศกาลครอบครัวจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัน เพราะเท่าที่เห็นหลาย ๆ คนคิดถึงคุณพ่อ คุณแม่ จึงกลับไปเยี่ยม หลานเอง ก็อยากจะพบปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา แต่พอไปพบกันจริง ๆ เข้า ปรากฏว่าคุยกันไม่กี่คำ เช่น เป็นอย่างไรบ้าง? สบายดีหรือ? เรียนหนังสือเป็นอย่างไรบ้าง? คุณปู่ คุณย่าสบายดีไหมครับ? ถามกันไปถามกันมาไม่กี่นาทีหมดคำถามแล้ว ไม่รู้จะคุยอะไรต่อ เพราะหลาน ๆ ก็ไม่รู้เรื่องของชนบท คุณปู่ คุณย่า ก็ตามเรื่องในเมืองไม่ค่อยจะทัน ได้แต่มองหนากันแล้วก็เคอะ ๆ เขิน ๆ

บางทีพ่อแม่กับลูกอยู่ในเมืองหลวงด้วยกัน พ่อแม่ทำงานทั้งวัน พอกลับถึงบ้าน บางครั้งอยากจะคุยกับลูก ก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร เพราะเด็ก ๆ ก็สนใจไปอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่สนใจไปอีกอย่างหนึ่ง ความสนใจไม่เหมือนกัน เลยไม่มีหัวข้อร่วมที่จะมาเป็นประเด็นในการสนทนากัน เรื่องนี้อยากจะฝากไว้ว่า ให้ลองเอาเรื่องธรรมะมาเป็นจุดร่วมของทุกคนในครอบครัว เพราะเรื่องธรรมะเป็นเรื่องสากล ที่เข้าได้กับคนทุกวัย ตั้งแต่คุณทวด คุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ ลูก หลาน เหลน ทุกรุ่น




ถ้าติดจานดาวธรรมแล้ว คุณปู่ คุณย่าที่อยู่ต่างจังหวัด ก็ดูจานดาวธรรม คุณพ่อ คุณแม่ หรือลูกหลานที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ดูจานดาวธรรม พ่อแม่กลับมาบ้านก็สามารถคุยกับลูกได้ด้วยเรื่องธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องที่สากลและทันสมัยเสมอ เรื่องราวธรรมะที่น่าสนใจก็นำมาเล่าสู่กันฟังได้ เรื่องธรรมะนี้แปลก ยิ่งคุยใจยิ่งสว่าง ยิ่งคุยยิ่งมีความสุข คุยกันเพลินทั้งครอบครัว และยังทำให้ลูก ๆ เป็นเด็กดีอีกด้วย พ่อแม่ก็สบายใจ ถึงคราวไปเยี่ยมคุณปู่ คุณย่า ที่ต่างจังหวัด ก็เอาเรื่องธรรมะมาคุยกันได้เลย

ถ้าทำได้อย่างนี้ การเยี่ยมเยียนจะไม่เกิดขึ้นแต่เพียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น คิดถึงกันเมื่อไรแค่ยกหูโทรศัพท์กริ๊งเดียว "เป็นอย่างไรบ้างคะคุณปู่ คุณย่า เรื่องนั้นได้ดูหรือเปล่าคะ เมื่อวานหลวงพ่อเพิ่งสอน หนูได้ดู ดีจังเลยค่ะ" เชียร์กันไปเล่ากันมา ต่างคนต่างก็เสริมกันในเรื่องธรรมะ ทุกคนก็จะมีจุดร่วมเดียวกัน ความเหงาจะหมดไป ปู่ ย่า ตา ยาย ที่อยู่ต่างจังหวัดก็ไม่เหงา รู้สึกว่าขณะที่ตัวเองดูจานดาวธรรม ลูกหลานของเราอยู่ในกรุงเทพฯเขาก็ดูเหมือนกัน คิดถึงกันก็โทรศัพท์หากันได้ มีเรื่องคุยกันได้ตลอด และเป็นเรื่องที่สบายใจด้วย ทั้งครอบครัวแม้อยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ จากครอบครัวเดี่ยวที่มีแค่พ่อ แม่ ลูก ก็จะกลายเป็นครอบครัวใหญ่โดยผ่านเครือข่ายการสื่อสาร

สมัยนี้เขามีศัพท์ใหม่ว่า ไซเบอร์สเปซ (cyberspace) หรือโลกไร้พรมแดนที่อยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ คนอยู่ไกลกันมานั่งคุยกันได้ในห้อง chat room อีเมลคุยกันก็ได้ ติดต่อสื่อสารกันในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ จึงเหมือนกับโลกจำลองอีกโลกหนึ่ง ถ้าหากว่าเขามีไซเบอร์สเปซอย่างนั้นได้ ทำไมเราจะสร้างครอบครัวใหญ่อยู่ในโลกไซเบอร์สเปซไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แม้แต่ในเครือข่ายการสื่อสารด้านอื่น เช่น ดาวเทียมก็ทำได้เช่นกัน เพราะเรานั่งดูรายการธรรมะผ่านจานดาวเทียมที่กรุงเทพฯ คุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย นั่งดูอยู่ที่ต่างจังหวัด หรือในบ้านหลังเดียวกันแต่คนละห้อง ก็ได้ชมเรื่องราวเหมือนกัน ธรรมะที่ถ่ายทอดผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปได้ทุกที่ทั่วโลกด้วยความเร็วเท่าแสดังนั้น สายใยแห่งธรรมะที่แน่นเหนียว อบอุ่น ก็จะร้อยทุก ๆ ดวงใจของทุกคนในครอบครัวเข้าด้วยกัน ให้เป็นครอบครัวใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นครอบครัวที่อบอุ่นสว่างไสวด้วยแสงแห่งธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะได้ช่วยกันนำแสงแห่งธรรมนี้เผื่อแผ่ไปรอบตัวเรา ทั้งเพื่อนฝูง ญาติมิตร คนรู้จัก ให้ขยายกว้างออกไป เราก็จะไม่ได้เป็นเพียง ครอบครัวใหญ่อย่างเดียว แต่จะเป็นชุมชนใหญ่ที่ใหญ่ด้วยน้ำใจ เป็นชุมชนที่มีกิจกรรมร่วมกัน เอื้ออาทรกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แล้วผู้คนในโลกนี้ จะอยู่ที่ประเทศใด ๆ ก็ตาม ก็จะสามารถหลอมรวมเป็นชุมชนใหญ่ เป็นชุมชนโลก ด้วยธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๐  เดือนเมษายน  พ.ศ. ๒๕๕๓
วันครอบครัว วันครอบครัว Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:04 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.