กล้าดี นักรบกล้าพันธุ์ตะวัน




..กุญชรเอย เจ้าเคยเข้าสงคราม เคยแกล้วกล้าและมีกำลังมาก ความอาจหาญของเจ้าไปไหนเสีย พวกเราอุตส่าห์ฝ่าจนใกล้จะเข้าประตูเมืองได้แล้ว ทำไมเจ้าจึงกลับถอยออกไปแบบนี้ ชื่อว่าการล่าถอยอย่างนี้ไม่สมควร..

ความกล้าหาญ..เป็นสัญชาตญาณประจำนักรบ ความกล้าจะเป็นคู่ปรับกับความกลัว ในการตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างหากไร้ซึ่งความกล้าก็ไม่อาจทำสำเร็จได้ การที่จะเอาพลังศักยภาพที่สะสมอยู่ในตัวทั้งหมดมาใช้นั้น จำเป็นต้องได้ความกล้าเป็นตัวดึงมันออกมา

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงได้รับอาราธนาให้เสด็จเข้าไปในพระราชวัง หลังจากเสวยพระกระยาหารแล้ว ก่อนเสด็จออกจากวังทรงได้ประทานบาตรแก่เจ้าชายนันทะพุทธอนุชาต่างพระมารดา และเจ้าชายนันทะนั้นกำลังจะอภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณีในวันนั้นพอดี ด้วยความเคารพในพระบรมศาสดา เจ้าชายนันทะจึงไม่กล้าทูลคืนบาตร จำต้องเสด็จตามไปอย่างไม่เต็มใจและทรงครุ่นคิดไปตลอดทางว่า "อีกสักพัก พระพุทธองค์คงจะขอบาตรคืนเป็นแน่ "

แทนที่พระศาสดาจะทรงรับบาตรคืน กลับตรัสถามว่า “นันทะ เธออยากบวชไหม” ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงทรงตอบตกลงไปว่าจะบวช เมื่อบวชแล้วจิตใจของพระนันทะก็รัญจวนถึงนางชนบทกัลยาณีโดยตลอด จึงไปทูลขอลาสิกขากับพระศาสดา พระพุทธองค์จึงทรงพาท่านไปเที่ยวชมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อให้ดูความงามของเหล่าเทพธิดาบริวารท้าวสักกะ ๕๐๐ นาง พระนันทะตะลึงในความงดงามของพวกนาง จนถึงกับลืมนางชนบทกัลยาณีทีเดียว พระพุทธองค์จึงทรงใช้กุศโลบายโดยสัญญาว่าหากพระนันทะต้องการนางเทพธิดาเหล่านี้จริง ๆ ก็ขอให้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมให้ดีเถิด แล้วจะได้ครอบครองนางเทพธิดาเหล่านั้นสมปรารถนา

เมื่อท่านลงมือปฏิบัติธรรมเพื่อการนี้ จึงถูกเพื่อนภิกษุแกล้งเย้าแหย่ว่าที่ท่านตั้งใจบำเพ็ญเพียร ก็เพียงเพื่ออยากได้นางเทพธิดา ทำให้พระนันทะอึดอัดและละอายใจ แล้วปลีกตัวออกไปทำความเพียรแต่เพียงผู้เดียว ไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

หมู่สงฆ์สดับเรื่องราวนั้นจึงพากันสนทนาในธรรมสภาว่า "ท่านพระนันทะอดทนต่อคำสอนของพระศาสดา ตั้งอยู่ด้วยพระโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วบำเพ็ญสมณธรรมก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้" ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมา และทรงทราบหัวข้อสนทนาแล้ว จึงตรัสเล่าถึงบุพกรรมในอดีตชาติของพระนันทะซึ่งเคยเกิดเป็นช้างสงคราม ดังต่อไปนี้



ในอดีตกาลเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนายหัตถาจารย์ คือ ครูช้าง มีความรอบรู้เจนจบในคชศาสตร์หรือการฝึกช้าง ท่านเข้ารับราชการในวังของพระราชาพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี ท่านยังได้ฝึกหัดช้างมงคลเชือกหนึ่ง จนเป็นช้างศึก คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเป็นทั้งพาหนะของพระราชาและเป็นทั้งอาวุธทรงพลังที่มีชีวิต           คราวหนึ่งพระราชาพระองค์นี้จะยกทัพบุกเมืองพาราณสี จึงเสด็จขึ้นช้างมงคลเชือกนี้ และทรงชวนพระโพธิสัตว์ไปด้วย ทรงยกทัพไปโอบล้อมเมืองไว้โดยส่งราชสาส์นไปก่อนว่า "จะยกสมบัติให้หรือจะรบกับเรา" ทว่าพระเจ้าพาราณสีทรงเลือกที่จะทำสงคราม โดยรับสั่งระดมพลทหารกล้าตายทุกหน่วยเต็มอัตราศึก ไปประจำการรักษาประตูกำแพงและป้อมค่ายตามจุดต่าง ๆ

ฝ่ายพระราชาแห่งเมืองของพระโพธิสัตว์ทรงประกาศก้องแก่เหล่าทหารหาญของพระองค์ว่า "ในวันนี้ พวกเราจะต้องเอาชัยให้ได้" แล้วทรงเอาเกราะหนังสวมให้ช้าง ทรงถือพระแสงขออันคมกริบ แล้วไสช้างมงคลคู่พระทัยพร้อมกับโห่ร้องสนั่นเคลื่อนทัพไปจนเข้าประจันหน้ากับกำแพงค่ายของฝ่ายตรงข้าม แต่ทว่าทหารเมืองพาราณสีเจ้าบ้านก็เปิดฉากกระหน่ำข้าศึกด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อย่างหนักหน่วง

ในขณะที่ช้างมงคลได้เห็นแสนยานุภาพแห่งยุทโธปกรณ์ของฝ่ายพาราณสี ไม่ว่าจะเป็นห่าลูกศร ธนูไฟ การสาดทรายร้อน หินเหวี่ยงจากเครื่องเหวี่ยง หินให้ลอยตกลงมาทับอีกฝ่าย และเห็นภาพที่ทหารฝ่ายตนร้องโอดครวญเจ็บปวดและล้มตายกันมากมาย ทำให้ช้างรู้สึกสับสนอลหม่านในจิตใจ และตื่นตระหนกกลัวตายขึ้นมา จึงไม่กล้าเข้าไปใกล้ ๆ กลับเยื้องเท้าถอยร่นห่างออกทีละเล็กละน้อย หมายจะหนีออกไปจากสนามรบ



คุณสมบัติช้างศึกคู่สมรภูมิ

๑. มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว  ทำใจให้พร้อมรบทุกเมื่อ และทำตามในสิ่งที่คนบังคับช้างสั่ง

๒. ทำลายแสนยานุภาพศัตรู  สามารถกำจัด ช้างศึก ม้าศึก รถศึก พลรถ และพลเดินเท้าได้

๓. รักษาตัวรอด  สามารถป้องกันตัวเอง เท้าทั้งสี่ ศีรษะ หู งา งวง แม้กระทั่งชีวิตคนบังคับช้าง

๔. มีความอดทนสูง  ทนต่ออาวุธทุกชนิดหรือต่อเสียงกลองรบที่ตีกระหึ่มเขย่าขวัญอยู่

๕. เคลื่อนย้ายตัวได้เร็ว  หากถูกคนบังคับช้างไสไปทางใด ต้องวิ่งไปทางนั้นให้ไวตามต้องการ

พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นครูช้างเห็นช้างเสียขวัญ ก็ทราบทันที จึงพูดปลอบให้กำลังใจว่า "กุญชรเอย เจ้าเคยเข้าสงคราม เคยแกล้วกล้าและมีกำลังมาก ความอาจหาญของเจ้าไปไหนเสีย พวกเราอุตส่าห์ฝ่าจนใกล้จะยันเข้าประตูเมืองได้แล้ว ทำไมเจ้าจึงกลับถอยออกไปดื้อ ๆ แบบนี้ ชื่อว่าการล่าถอยอย่างนี้ไม่สมควร ดังนั้น เจ้าจงพังกลอน ถอนเสาค่าย ทำลายประตูเมือง เผด็จศึกให้เร็วที่สุดเถิด"

ช้างมงคลเมื่อได้คำปลุกใจจากพระโพธิสัตว์ ผู้เป็นนายของตน ก็หวนระลึกถึงความกล้าที่เคยมี กลับฮึกเหิมขึ้นมาอีกครั้ง แล้วหันกลับตามคำของพระโพธิสัตว์ ประจันหน้ากับข้าศึก กระทืบเท้าวิ่งจู่โจมฝ่าเข้าไปอย่างไม่คิดชีวิต และแสดงพละกำลังอันมหาศาลของตน ใช้งวงถอนเสาหลายต้นที่ใช้ปักเป็นค่ายออกอย่างง่ายดาย ดั่งเอามือถอนดอกเห็ด จากนั้น ช้างได้พุ่งชนประตูเมืองวิ่งฝ่าวงล้อมจนหมู่ข้าศึกแตกกระบวน แล้วนำหน้ากองทัพกรีฑาบุกเข้าไปยึดเมืองพาราณสีของพระเจ้าพรหมทัตได้ในที่สุด



ความกลัว..เหมือนเสียงหลอกให้วิ่งวนสับสนที่อยู่ภายนอก

ความกล้า..เหมือนเสียงบอกฟันธงว่าใช่ ที่อยู่ลึกภายในและซ่อนขุมพลังเอาไว้

นักรบกองทัพธรรม..หากต้องการหาความกล้าหาญในตัว ก็พึงนำใจไปหาแหล่งที่มันซ่อนอยู่ ซึ่งแหล่งแห่งความกล้าที่แท้จริง ก็คือ...สติตั้งมั่นกลางกาย

เมื่อใดที่ใจเกิดวิตกหวั่นไหว ให้ถอยกลับไปจุดเริ่มต้นเพื่อฟังเสียงจากภายในกลางกาย แล้วใช้โยนิโสมนสิการเป็นหลักในการตัดสินใจ บวกกับความเชื่อมั่นในความดีที่จะทำนี้ เรียกว่ามีความกล้าดี แม้อาจไม่สำเร็จในครั้งแรกก็อย่าล้มเลิกกลางคัน ให้ถือเป็นบทเรียนต่อไปจนกว่าจะพบช่องทางที่ใช่ แล้วความสำเร็จจะเป็นของเรา

ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นคำสั่งคำสอนครูบาอาจารย์ หรือภารกิจที่ท่านมอบหมาย เราต้องเชื่อมั่นในผังสำเร็จ และว่าอย่างไรก็ต้องว่าตามกัน แล้วใช้ความกล้าดีของเราสร้างบารมีอย่างไม่เว้นวรรค และ ไม่ท้อ นักรบกองทัพธรรมต้องฝึกจิตให้กล้าในการทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะว่ามีศึกในสมรภูมิธรรม รออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย

...ความเหน็ดเหนื่อยของพวกเราในวันนี้ คือ บารมีที่เพิ่มพูน

...ชัยชนะของพวกเราทุกคน คือ สันติสุขของมนุษยชาติ

...ดังนั้น การนำพามวลมนุษยชาติให้เข้าถึงพระธรรมกาย คือ ภารกิจของพวกเรานักรบกองทัพธรรมทุกคน..


Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ  ธมฺมสารี ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๑  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
กล้าดี นักรบกล้าพันธุ์ตะวัน กล้าดี  นักรบกล้าพันธุ์ตะวัน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:27 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.