พึ่งพระพุทธศาสนามาทั้งชีวิต สักครั้งในชีวิต..บวชให้พระพุทธศาสนาได้พึ่ง






วันเวลาของมนุษย์มีน้อยนัก เมื่อเทียบกับอายุของโลกและจักรวาลอันยิ่งใหญ่แล้ว ชีวิตมนุษย์ช่างเล็กน้อยเสียเหลือเกิน แต่..หากมนุษย์ต้องการให้วันเวลาที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยของตนนั้นยิ่งใหญ่..ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

แค่รู้จักเปลี่ยนแปลงวันเวลาเหล่านั้นให้มีคุณค่าอย่างแท้จริง ให้ทุกวันที่ผ่านไปเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและมวลมนุษยชาติ อย่ารอให้วันเวลาของชีวิตโบยบินจากไปอย่างไร้ค่า เราจะไม่เหลือความภาคภูมิใจอะไรเลย นอกจากความสำนึก เสียใจอย่างเงียบ ๆ จนกระทั่งเดินไปสุดปลายทางของชีวิตอย่างไร้ความหมาย

ทว่าบัดนี้... ช่วงเวลาอันทรงคุณค่าเพื่อสร้างเกียรติยศของลูกผู้ชายได้มาถึงแล้ว

โครงการบวชพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เข้าพรรษาตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ในช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่ วันที่ ๙ กรกฎาคม จนถึง วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งยังมีพระเถระผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมทั่วสังฆมณฑลเมตตามาแสดงธรรมและให้การอบรมตลอดทั้งโครงการ ซึ่งผู้สมัครบวชทุกท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สถานที่อบรมได้แก่ วัดพระธรรมกายและวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า ๗๖๐ แห่ง

นับเป็นโอกาสทองที่กาย วาจา และใจ ของลูกผู้ชายยอดนักสร้างบารมีจะชุ่มไปด้วยบุญ อันเกิด จากการฝึกหัดขัดเกลาตนเองด้วยทาน ศีล และภาวนาอย่างเต็มที่ ดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงการเข้าพรรษาในสมัยพุทธกาลว่า พระสงฆ์สาวกท่านจะรวมกลุ่มกันในที่ต่าง ๆ แล้วเดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อขอเรียนกัมมัฏฐานจากพระบรมศาสดา เมื่อรู้วิธีแล้ว พระองค์ได้ทรงประทานโอวาทว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจใดแล อันเราผู้ศาสดา ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์แก่สาวกทั้งหลาย พึงทำกิจนั้น เราทำแล้วเพราะอาศัยความอนุเคราะห์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นอนุศาสน์ของเราสำหรับเธอทั้งหลาย"

เพราะการที่เราได้มีโอกาสบวชสร้างบารมีเป็นพิเศษอย่างจริงจัง และต่อเนื่องกันนานถึง ๓ เดือนเต็มนั้น ถือว่าเป็นการ "บ่มบุญ" ที่จะก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายหลายประการตามมา เริ่มต้นด้วย เรื่องของสัมมาทิฐิ ที่ทำให้เรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะสั่งสมบารมีในด้านต่าง ๆ เช่น ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องของการสร้างกำลังใจในการทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เกิดวิกฤตของสังคมและประเทศชาติ ทำให้เรามีสติก่อให้เกิดปัญญา นำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างถูกทาง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม คนที่มีสติปัญญาย่อมรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ได้อย่างเหมาะสม หรือแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ในทุก ๆ สถานการณ์ เรียกว่ามีความสามารถในการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสนั่นเอง











ดังนั้น พรรษานี้เป็นฤกษ์งามยามดีที่ลูกผู้ชาย จะได้บุญบารมีจากการบวชเป็นทายาทแห่งพุทธะ และจะได้เพิ่มพูนกุศลราศีให้กับตนเอง หรือร่วมกันชักชวนญาติมิตรผู้เป็นชายไทยแท้ ๆ ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา มาบวชเป็นพระภิกษุในช่วงเข้าพรรษา ให้หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และประเทศของเราเป็นประดุจอริยสถานทิพยวิมานในเมืองมนุษย์ เพราะที่ใดก็ตามที่มีการรวมตัวกันทำความดีเป็นหมู่คณะ สิริมงคลทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น อานุภาพแห่งพระรัตนตรัยจะลงปกปักรักษาแก่ผู้ประพฤติธรรม วิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะมลายหายสูญไป ความสุข ความสมหวัง ความสมปรารถนาจะบังเกิดขึ้น และส่งผลดีแผ่ไปยังบ้านเมือง ประเทศชาติ ให้เกิดสันติสุขตามมาอย่างแน่นอน.. อีกทั้งยังเป็นการช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน เพื่อเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมวลมนุษยชาติต่อไปตราบนานเท่านาน

มาร่วมกันสร้างเกียรติยศอันสูงสุดของลูกผู้ชาย โดยการเป็น "หนึ่งในแสน" ของบุคคลประวัติศาสตร์ ตอบแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดา มารดา ด้วยการบวชเรียน ศึกษาธรรมะ และมุ่งมั่น บำเพ็ญสมณธรรมตลอดพรรษา เพื่อสลัดตนออกจากกองทุกข์ แสวงหาความสุขที่แท้จริง

อานิสงส์ของการบวชครั้งประวัติศาสตร์

๑.ผู้บวชย่อมได้โอกาสในการสั่งสมเนกขัมมบารมี (คือบารมีที่เกิดจากการออกบวช) ตามรอยบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.ผู้บวชย่อมได้บุญใหญ่ที่จะช่วยปิดอบาย เปิดหนทางสวรรค์และพระนิพพานติดตัว ไปยาวนานถึง ๖๔ กัป

๓.ผู้บวชและผู้สนับสนุนการบวชย่อมได้อานิสงส์ (ผลที่ได้จากการทำความดี) คือ เป็นผู้มีปัญญา มีสัมมาทิฐิ สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และอริยทรัพย์ และได้เกิดในดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน

๔.สังคมและประเทศชาติเกิดความสงบสุข ร่มเย็น ผ่านพ้นปัญหาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างเป็นอัศจรรย์

๕.สร้างผู้นำทางศีลธรรมให้เกิดขึ้นทั่วแผ่นดินไทย จะได้ช่วยกันสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่ชาติไทย และโลกใบนี้ไปตราบนานเท่านาน

๖.สร้างความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นแก่พุทธบริษัท ๔ ทั้งแผ่นดิน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการฟื้นฟูศีลธรรม และพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนสืบไป






Cr. กองบรรณาธิการ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๑  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
พึ่งพระพุทธศาสนามาทั้งชีวิต สักครั้งในชีวิต..บวชให้พระพุทธศาสนาได้พึ่ง พึ่งพระพุทธศาสนามาทั้งชีวิต สักครั้งในชีวิต..บวชให้พระพุทธศาสนาได้พึ่ง Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:09 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.