การตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่




"โลกพร่องอยู่เป็นนิจไม่รู้จักอิ่ม มีความอยากไม่มีที่สิ้นสุด สัตว์โลกเมื่อถูกความแก่ทำลาย ก็ต้องตกตายไปเหมือนผลไม้ร่วงหลุดจากขั้ว อาตมภาพรู้เหตุนี้แล้วจึงออกบวช เพราะชีวิตสมณะ เป็นชีวิตที่ประเสริฐอย่างแท้จริง" (เถรคาถา)

การตัดสินใจออกบวชนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงความคิดดีชั่ววูบ แต่ต้องเกิดจากการที่บุคคลนั้นได้สั่งสมบุญและอธิษฐานจิตมาดีข้ามชาติ ต้องมีปัญญา ความคิดที่เป็นมหากุศลนี้จึงได้ผุดขึ้น ในท่ามกลางชีวิตที่เจอแต่วิกฤต มีหลายคนที่อะไร ๆ ก็ไม่ค่อยจะพร้อม แต่หัวใจกลับพร้อมที่จะออกบวช และ ถึงแม้บางคนจะมีชีวิตทางโลกที่พรั่งพร้อมทุกอย่าง หากตัดสินใจบวช ก็นับเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่กว่าการปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถือว่าดำเนิน ตามรอยบาทพระศาสดาเมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พอตัดสินพระทัยออกผนวชเท่านั้น ก็มีพญามารเอาสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิมาล่อ เพื่อให้เลิกล้มการออกบวช แต่พระองค์ปฏิเสธ เพราะสมบัติเหล่านี้ไม่อาจทำให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร

ดังนั้น ผู้ที่ตัดสินใจออกบวชจึงเป็นบุคคลมหัศจรรย์ของโลก เพราะเป็นบุคคลที่จะไม่ยอมให้กิเลสมาบังคับให้ทำบาปอกุศล แต่จะพยายามยกตนขึ้นสู่หนทางสวรรค์ นิพพาน ท่ามกลางชาวโลกที่ปล่อยใจตามกระแสกิเลส แต่ท่านเหล่านี้จะสวนกิเลส เหมือนพายเรือทวนกระแสน้ำ ด้วยการมาฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ เอาชนะกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ มุ่งธำรงตนเป็นเนื้อนาบุญและสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว




ในสมัยพุทธกาล กุลบุตรผู้มีบุญชื่อรัฐปาละได้โอกาสไปฟังธรรมกับเพื่อนแล้วเกิดศรัทธาอยากบวชจึงทูลขอบวชขณะนั้นเลย แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธเพราะยังไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา เขาจึงกลับบ้านไปขออนุญาตบวช ก็ถูกพ่อแม่ปฏิเสธอีก "ลูกรัก...เจ้ายังหนุ่มแน่น ควรหาความสุขใส่ตัวดีกว่า แม้ครองเรือนอยู่จะทำบุญไปด้วยก็ยังได้ พ่อแม่ให้ลูกบวชไม่ได้หรอก" แต่เขามิยอมล้มเลิกความตั้งใจ จึงเอาแต่นอนอยู่บนเตียง อดข้าว อดน้ำ เพื่อน ๆ ได้มาเกลี้ยกล่อมพ่อของเขาว่า "ถ้าเขาไม่ได้บวช เขาอาจตายฟรี แต่ถ้าท่านให้เขาบวช ก็จะมีโอกาสได้เห็นเขาบ้าง การบวชนี้มันลำบาก การอยู่ การกิน การนอนไม่สะดวก รัฐปาละเป็นสุขุมาลชาติ ถ้าเขาทนไม่ได้เดี๋ยวก็สึกออกมาเอง"  ท่านทั้งสองอยากให้ลูกมีชีวิตอยู่ต่อไปจึงยอมอนุญาต รัฐปาละพอทราบ ก็ดีใจมาก ลุกขึ้นกราบเท้าขอขมาและลาบวชทันที จากนั้นก็ปลีกวิเวกตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ในไม่ช้า ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

ต่อมาพระรัฐปาละได้เดินทางกลับมาที่บ้าน ขณะนั้นบิดาเห็นท่านเดินมาแต่ไกล แต่ก็จำหน้าไม่ได้ เพราะไม่อยากมองหน้าพระเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากผูกใจเจ็บในเหล่าสมณะ ที่ทำให้ท่านต้องเสียลูกชายสุดที่รักไป จึงพูดขับไล่ว่า "สมณะพวกนี้ บวชให้ลูกของเรา เราก็ไม่เคยได้เห็นเขาเลยแม้สักครั้งเดียว แถมยังกล้ามาบ้านนี้อีกหรือ"  พระเถระจำต้องเดินออกไปก่อนโดยไม่ได้บอกว่าตนคือลูกชาย ขณะนั้นมีสาวใช้คนหนึ่งกำลังจะเอาขนมแป้งบูดเน่าไปทิ้ง พระเถระจึงพูดขึ้นว่า "ถ้าจำเป็นต้องทิ้ง ขอให้ใส่ลงในบาตรของอาตมาเถิด"  นางจำน้ำเสียง พระเถระได้จึงรีบวิ่งเข้าไปบอกคนในบ้าน เศรษฐีพอรู้ว่าผู้ที่ตนขับไล่เป็นพระลูกชายก็รีบออกมาเชื้อเชิญเข้าบ้าน เมื่อได้รับคำเชิญแล้ว พระเถระจึงเดินเข้าไปในบ้าน แต่ท่านก็ทำตนเป็นผู้ใหม่เสมอ ไม่มีฆราวาสสัญญาว่าเคยเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านหลังนี้มาก่อนเลย มีความสำรวม สงบ เสงี่ยม สง่างามน่าเลื่อมใสอยู่เสมอ

วันต่อมา เศรษฐีอยากให้พระลูกชายสึกมาก จึงสั่งให้คนใช้ขนกองเงิน กองทอง สูงท่วมศีรษะ มากองไว้ต่อหน้า แล้วบอกว่า "ทรัพย์กองนี้เป็นส่วนของแม่ กองนี้เป็นส่วนของพ่อ ท่านจงสึกมาใช้สอย สมบัตินี้ให้เต็มที่เถิด"  แต่ท่านก็ตอบแบบไม่มีเยื่อใยกลับไปว่า "ถ้าเป็นไปได้ ท่านควรเอาทิ้งลงแม่น้ำ เพราะทรัพย์เหล่านี้ล้วนแต่จะทำให้ทุกข์กังวล"  คำพูดนี้ทำให้เศรษฐีอึ้ง แต่ก็หาอุบายใหม่ โดยไปเรียกบรรดาอดีตภรรยาของท่านให้มาล้อมเอาไว้ พวกนางพากันถามท่านว่า "ที่ท่านออกบวชเพราะอยากได้นางฟ้าหรือ" พระเถระได้บอกโยมบิดาว่า "ท่านอย่าเอาทรัพย์มาล่อหรือส่งสตรีมาเบียดเบียนอาตมาเลย ร่างกายที่ดูเหมือนสวยงามนั้นล้วนไม่จีรังยั่งยืน หญิงพวกนี้ทาหน้าประแป้ง มีนัยน์ตาหยาดเยิ้ม พอจะหลอกผู้ไม่รู้ให้ลุ่มหลงได้ แต่จะหลอกผู้แสวงหาฝั่งพระนิพพานไม่ได้ ตอนนี้ท่านก็เหมือนนายพรานดักบ่วงไว้ แต่ไม่มีมฤคตัวใดติดบ่วงเลย"  เมื่อท่านกล่าวจบก็เหาะออกไปต่อหน้าทันที เนื่องจากรู้วาระจิตของเศรษฐีว่าได้สั่งให้พวกนักเลงเตรียมจับท่านสึก ท่านจึงใช้ฤทธิ์เหาะไปที่ราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ พระราชาแห่งแคว้นกุรุ ซึ่งทั้งสองได้เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน




พระราชาเมื่อทรงทราบว่าพระเถระมาเยี่ยม จึงเสด็จไปตรัสถามถึงข้อสงสัยที่ว่าทำไมคนที่ถึงพร้อมเช่นท่านจึงออกบวช ซึ่งคนส่วนมากมักจะออกบวชด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

๑. ต้องแก่ชราก่อนถึงจะบวช

๒. ต้องเจ็บป่วยก่อนถึงจะบวช

๓. ต้องสิ้นโภคทรัพย์ก่อนถึงจะบวช

๔. ต้องถูกญาติมิตรทอดทิ้งก่อนถึงจะบวช

พระเถระได้แสดงธรรมซึ่งมีนัยลึกซึ้งให้ฟังว่า "อาตมามองเห็นทุกข์ในโลกแล้วจึงออกบวชทันที เนื่องจากอาตมาได้ฟังธัมมุทเทส ๔ ประการจากพระบรมศาสดา คือ

๑. โลกนี้ถูกชราครอบงำ ในที่สุดแล้วทุกคนต้องแก่ชราลง

๒. โลกนี้ไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่มีใครหยุดโรคภัยหรือเจ็บป่วยแทนกันได้

๓. โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของตน อำนาจ ทรัพย์สมบัติใด ๆ ล้วนต้องสละทิ้งคืนไว้ในโลกตามเดิม

๔. โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจไม่รู้จักอิ่ม มนุษย์ตกเป็นทาสตัณหา ไม่เคยสิ้นสุดความทะยานอยาก

จากนั้นพระราชาจึงตรัสขอให้ท่านอธิบายธรรมทั้ง ๔ หัวข้อนั้น ดังต่อไปนี้

๑. พระราชา "ท่านผู้เจริญ ที่กล่าวว่าโลกนี้ถูกชราครอบงำเป็นอย่างไร"

พระเถระ "เมื่อพระองค์ยังหนุ่มทรงชำนาญเพลงอาวุธเป็นอย่างดี ทั้งทรงมีพละกำลังมาก แต่เมื่อล่วงเข้าวัยปูนนี้แล้ว ยังจะทรงทำอย่างนั้นได้อีกหรือไม่"

พระราชา  "เดี๋ยวนี้โยมแก่แล้ว ล่วงเข้าวัย ๘๐ ปี แม้สั่งร่างกายให้ทำตามก็ไม่ได้ดั่งใจเลย"

พระเถระ "นั่นแหละ เพราะว่าโลกใบนี้ล้วนมีแต่ความเสื่อมชรา หามีสิ่งใดยั่งยืนเลยไม่"

๒. พระราชา "ท่านผู้เจริญ ที่กล่าวว่าโลกนี้ไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่ในตัวเองนั้นเป็นอย่างไร"

พระเถระ "ครั้งที่พระองค์เคยทรงพระประชวรหนัก ทรงขอร้องพระญาติหรือบริวารมาช่วยกันหยุดต้านโรคหรือแบ่งเบาความเจ็บก็ไม่ได้ พระองค์เท่านั้นที่ต้องรับความเจ็บทุกขเวทนาแต่เพียงผู้เดียว"

๓. พระราชา "ท่านผู้เจริญ ที่กล่าวว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของตนนั้นเป็นอย่างไร"

พระเถระ "พระองค์ทรงถึงพร้อมไปด้วยโภคสมบัติ แต่จะทรงแน่ใจได้หรือว่า แม้โลกหน้าเราจะพรั่งพร้อมได้เหมือนอย่างนี้ เมื่อถึงเวลาพระองค์ก็จะเสด็จไปตามยถากรรม ไม่อาจนำสิ่งใด ติดตัวไปได้เลย"

๔. พระราชา "ท่านผู้เจริญ ที่กล่าวว่าโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่มนั้นเป็นอย่างไร"

พระเถระ "หากพระองค์ได้ทราบข่าวว่ามีเมือง ๆ หนึ่งซึ่งมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย พระองค์จะทรงคิดเห็นอย่างไร"

พระราชา "โยมก็จะไปตีเอาเมืองนั้นมาครอบครองให้ได้"

พระเถระ "นี่แหละ อาตมาถึงพูดว่าโลกพร่องอยู่เป็นนิจไม่รู้จักอิ่ม เพราะความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่มีที่สิ้นสุด สัตว์โลกเมื่อถูกความแก่ทำลายก็ต้องตกตายไปเหมือนผลไม้ร่วงหลุดจากขั้ว อาตมภาพรู้เหตุนี้แล้วจึงออกบวช เพราะชีวิตสมณะเป็นชีวิตที่ประเสริฐอย่างแท้จริง"




คำตอบของพระเถระทำให้พระเจ้าโกรัพยะทรงเลื่อมใสประจักษ์แจ้งว่า สมณะ คือ ผู้ที่เห็นทุกข์ภัยของการเกิด ท่านได้สร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเชื่อในการบวชให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า ผู้ที่ออกบวชนั้นล้วนเป็นผู้มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ มิได้เสื่อมในทางโลกดังที่ผู้ไม่รู้เข้าใจกัน ในช่วงนี้เป็นจังหวะพอดีที่เรานักสร้างบารมีจะมาช่วยกันทำให้วิกฤตของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีผู้บวชน้อยลงทุกปี กลายมาเป็นโอกาส ด้วยการปลูกฝังให้ชาวโลกเห็นคุณค่าของชีวิตสมณะ และชักชวนให้เขามาบวชเพิ่มมากขึ้น ให้ยุคนี้เป็นยุคที่จะช่วยกันสร้างทัศนคติที่ดีงามให้เกิดขึ้นมาใหม่ ให้พวกเขารู้ว่า สมณะ คือ ผู้ตั้งใจแน่วแน่แสวงหาทางพ้นทุกข์และเป็นที่พึ่งให้แก่ชาวโลก ซึ่งพระรัฐปาละท่านได้พิสูจน์ให้เห็นชัดว่าชีวิตสมณะสูงส่งเพียงใด เพราะพระภิกษุหรือสามเณรแม้บวชเพียงวันเดียว ก็ต้องมีหน้าที่ติดตัว คือเรียนรู้คำสอน ไม่ว่างเว้นจากการพัฒนาตน มิได้เป็นชีวิตที่ข้องแวะกับการงานอันวุ่นวาย เพราะนักบวชมีงานหลักเน้นหนักไปในงานที่ไม่วุ่นวาย นั่นก็คือ งานทางใจ...บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวโลก

ดังนั้น โครงการอุปสมบทหมู่เข้าพรรษา ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทยที่จะถึงนี้ เป็นจังหวะชีวิตที่ลงตัวอย่างยิ่ง ในการมาพิสูจน์ชีวิตสมณะ เพื่อคุณค่าอานิสงส์ติดตัว ..คุ้มเกินคุ้มกับการเกิดมาเป็นลูกผู้ชาย ฉะนั้นอย่าให้โอกาสดี ๆ อย่างนี้ล่วงเลยตนเองไป ..ใครบวชได้ให้มา บวช ..ใครไม่มีคุณสมบัติในการบวชให้ช่วยกันไปตามผู้ชายแมน ๆ มาเป็นหนึ่งในแสนบวช เข้าพรรษาให้ได้ ความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา อยู่ในความรับผิดชอบของทุกท่านแล้ว..



Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ  ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๙๓  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓
การตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ การตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:05 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.