คองโกกับการค้นพบแสงแห่งธรรม
เพชรเม็ดโตที่หลายคนสวมใส่
ใครเลยจะรู้ว่า อาจมาจากบ้านเกิดของพวกเขา คองโก...ดินแดนที่คงอยู่เพื่อท้าทายความเชื่อมั่นของมนุษย์...
คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยที่ประสบภาวะสงครามมากที่สุดแห่งหนึ่งในรอบ ๑๐๐ ปี
ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
ที่ดินแดนอันไกลโพ้นใจกลางทวีปแอฟริกา
จะมีเรื่องจริงดั่งตำนานของพระพุทธศาสนาซุกซ่อนอยู่ ที่สำคัญคือทุกคนยังมีชีวิต และพร้อมเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่จะทำให้ชาวพุทธทั่วโลกต้องทึ่ง...
เพราะเพชรไม่ใช่ข้าว
แน่นอนว่า
จานที่มีข้าวเต็ม ๓ มื้อ ถนน ๔ เลนแสนสะดวก กับลมแอร์เย็น ๆ ในวันที่ร้อนมาก ๆ คือ
ภาพสังคมไทยยุคใหม่ที่ให้อะไรแก่เราอย่างเหลือล้น และคงจะยิ่งตอกย้ำมากขึ้น
หากเราลองหันไปมองเพื่อนอีกซีกโลกที่ ณ วันนี้ ความสุขสบายหายากเท่า ๆ
กับอนาคตของพวกเขา
แม้คองโกจะมั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
ตั้งแต่ป่าเขตร้อน เพชร ทองคำ ไปจนถึงปิโตรเลียม แต่ประเทศผู้ส่งออกเพชรรายต้น ๆ
ของโลกแห่งนี้ กลับถูกฉกฉวยความร่ำรวยจากการค้าที่เสียเปรียบมาตลอด
ดังนั้นแม้ใต้ผืนดินจะอุดมไปด้วยเพชร แต่...เพชรไม่ใช่ข้าว ดังนั้น
เพชรจึงไม่ใช่เครื่องรับประกันความอิ่มท้องของชาวคองโก ไม่เพียงแค่ความจนเท่านั้น
กระสุนสงครามยังซ้ำเติมให้พวกเขา ต้องห่างไกลสันติภาพไปโดยปริยาย
แล้วความสุขของพวกเขาอยู่ที่ไหนกัน...
สาวกจากพุทธภูมิ
เมื่อ
๔๕ ปีที่แล้ว ท่ามกลางความเชื่อที่หลากหลาย ในเมืองเล็ก ๆ ทางใต้สุดของคองโก ชื่อ ลูบุมบาชี
คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่นี้
ครั้งนั้นพระอินเดียรูปหนึ่งได้ติดตามคณะขององค์การสหประชาชาติไปที่ประเทศคองโก
ท่านคือ พระศีลาบรานันทะ ขณะนั้น
ไม่มีชาวคองโกคนไหนรู้จักพระหรือสนใจคำว่าพระพุทธศาสนา แต่ชิบันยา หนุ่มน้อยวัย ๑๕
ปี กลับมองเห็นอะไรบางอย่างในพระภิกษุรูปนั้น ในเวลาสั้น ๆ ที่พบกัน
พระภิกษุรูปนั้นจึงรีบถ่ายทอดความรู้ในพระพุทธศาสนา เช่น บทสวด พิธีกรรม และคำสอน
พร้อมขนานนามเด็กน้อยใหม่ว่า "โพธิราชา" ก่อนที่คณะขององค์การสหประชาชาติจะเสร็จสิ้นภารกิจ
หลังจากนั้น พระศีลาบรานันทะต้องกลับอินเดียและไม่ได้กลับไปคองโกอีกเลย
ดุจเกิดใหม่ครั้งที่
๒
โพธิราชา
...เป็นดั่งนามแห่งการเกิดใหม่ในร่มแก้วของพระพุทธศาสนา จากวันนั้นถึงวันนี้
ท่านยังจดจำภาพพระภิกษุผู้มีพระคุณได้ติดตา และจำคำสอนเหล่านั้นได้ติดใจ ตลอด ๔๕
ปีมานี้ ท่านตอบแทนความเมตตาของพระภิกษุรูปนั้น ด้วยการอุทิศชีวิตปกป้องพระพุทธศาสนาในวงล้อมของเพื่อนต่างศาสนิกได้อย่างมั่นคง
แต่สังขารในวัย ๖๐ ปีย้ำเตือนให้ท่านตระหนักดีว่า จำต้องมีเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบต่อโดยเร็ว
แน่นอนว่าแอฟริกาช่างห่างไกลเหลือเกินจากชาวพุทธที่อยู่ต่างซีกโลก
คนที่พอจะให้คำปรึกษาได้คงมีแต่บาทหลวงเท่านั้น และเหลือเชื่อเมื่อเพื่อนบาทหลวงคาทอลิก
ทราบเจตนารมณ์ของท่าน ก็ใช้หัวใจที่เปิดกว้างนำหนังสือเวียนภายในคริสตจักรคาทอลิก
ที่มีที่อยู่ของศูนย์ปฏิบัติธรรมโจฮันเนสเบิร์กมาให้ แถมยังพูดว่าให้ติดต่อไปยังที่อยู่นี้
คนที่นั่นจะช่วยคุณได้
ท่านโพธิราชาไม่รีรอที่จะส่งรูปถ่ายแนบไปกับจดหมายเพื่อแสวงหาความร่วมมืออย่างปีติใจ
การติดต่อเกิดขึ้นกว่า ๑๐ ครั้ง จนกระทั่งสำเร็จ และในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง
เมื่อพระสมศักดิ์ ปิยสีโล
เจ้าอาวาสวัดพุทธโจฮันเนสเบิร์ก เดินทางไปเยี่ยมท่านถึงที่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.
๒๕๕๓ นี่เป็นครั้งแรกที่ท่านโพธิราชาจะได้พบเพื่อนชาวพุทธจากโลกภายนอก
วัดที่เห็นและบางสิ่งในบทสวด
ทันทีที่พระสมศักดิ์
ปิยสีโล เดินทางไปพบกับท่านโพธิราชา
และไปถึงสถานที่ที่เรียกว่า “วัด” สิ่งแรกที่พระอาจารย์มองเห็นนอกจากตัวอาคารที่จุคนได้ประมาณ
๖๐ คน ก็คือ ศรัทธาที่ไม่เคยดับสูญ
และหัวใจอันยิ่งใหญ่ของท่านโพธิราชาที่บรรจุไว้อย่างเต็มเปี่ยมภายในอาคารหลังนี้
วัดของท่านช่างดูเรียบง่าย
ไฮคลาส เป็นพุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในคองโก "พื้นห้องปูด้วยพรมหลากสี
ไม่มีพระประธาน มีเพียงพระพุทธรูปใส่กรอบ" นี่คือ คำอธิบายเพียงสั้น ๆ
ง่าย ๆ จากพระอาจารย์ที่บอกกล่าวแก่คนที่อยากรู้ว่า วัดที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
แต่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ชาวพุทธที่คองโกหยัดสู้มาได้ถึง ๔๕ ปี และการมาถึงของพระอาจารย์หนุ่ม
ที่มีหัวใจใสดั่งเพชร ไม่ได้สร้างความผิดหวังแก่พวกเขาเลยแม้แต่น้อย พระอาจารย์เล่าว่า
“พอไปถึงพระอาจารย์ก็สอนให้พวกเขานั่งหลับตาทำสมาธิ และเมื่อเล่าถึงศีล ๕
พุทธประวัติ และประวัติของหลวงปู่
ก็ทำให้ท่านโพธิราชาเกิดแรงบันดาลใจแต่งบทนมัสการขึ้นสวดทันทีในวันรุ่งขึ้น”
การแต่งบทสวด ดูจะเป็นอีกหนึ่งความถนัดของชาวพุทธที่คองโก
เพราะที่ผ่านมาพวกเขาเก็บรักษาพระธรรมคำสอนผ่านบทสวด
มีอยู่บทหนึ่งที่ทรงคุณค่าและเก็บรักษาความลับสำคัญมาตลอด นั่นคือ บทตรีกาย
ซึ่งกล่าวว่า คนเรามีกายที่ ๑ คือ กายมนุษย์หยาบ กายที่ ๒ คือ กายมนุษย์ละเอียด
และกายที่ ๓ คือ ธรรมกาย คนที่นี่รักษาคำว่า ธรรมกายมา ๔๕ ปี และอยากพบอยากเจอ
แม้ยังไม่รู้จักวิธีที่จะเข้าถึง แต่ก็เก็บรักษาคำนี้เอาไว้ และ
ในที่สุดพวกเขาก็รู้วิธีแล้ว
พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ข้างนอกเลย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา
ท่านโพธิราชาได้สอนชาวพุทธคองโกไม่ให้สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
ไม่คลุกคลีกับอบายมุขต่าง ๆ และชักชวนให้ไปรวมตัวกันที่วัดทุกวันอาทิตย์
เพื่อทบทวนบทสวดต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพระภิกษุชาวอินเดีย สิ่งเหล่านี้
กล่อมเกลาให้จิตใจของทุกคนเปี่ยมด้วยพลังศรัทธา และทำให้การสอนสมาธิเป็นเรื่องง่าย
พระอาจารย์เล่าว่า “เพียงสอนให้ชาวคองโก
นึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กลางท้อง และให้ภาวนา สัมมาอะระหัง
เหมือนอย่างที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้สอนไว้ ก็ปรากฏว่า
หมู่คณะชาวคองโกสามารถเห็น องค์พระได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมีถึง ๗ ท่าน ที่ได้เขียนผลการปฏิบัติธรรมมาถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อ”
ระหว่างนั้น
พระอาจารย์ได้ยินท่านโพธิราชา กล่าวกับลูกศิษย์ว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในตัวเรา
ไม่ได้อยู่ข้างนอกเลย” ท่านโพธิราชาเองนั่งสมาธิแล้วสามารถเห็นองค์พระที่กลางท้อง
มีความสว่างมาก สักครู่หนึ่งองค์พระจากศูนย์กลางกายนั้น ได้มาปรากฏอยู่ข้างหน้า
ท่านมีความสุขมาก เสมือนว่าการเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งนี้
เป็นนิมิตหมายอันเป็นมหามงคลต่อตัวท่านและชาวพุทธที่คองโก
เช่นเดียวกับลูกศิษย์ของท่านอย่างสิทธัตถะ คริสเตียนและแซดดี
สิทธัตถะสามารถนั่งสมาธิแล้วเห็นองค์พระได้อย่างง่ายดาย
ด้วยการภาวนา สัมมาอะระหัง เมื่อเห็นองค์พระที่กลางท้องแล้ว สิทธัตถะบอกว่า
พระที่เห็นในรูปภาพบนกระดาษยังชัดเจนน้อยกว่าองค์พระที่กลางท้องเสียอีก
ในความฝันสิทธัตถะยังเห็นองค์พระเหมือนกับที่เห็นในสมาธิ ในความฝันนั้น องค์พระสว่างกว่าพระพุทธรูปในภาพถ่ายมากมาย
สิทธัตถะปิดท้ายว่า “ตอนแรกนึกว่าเป็นเพียงความฝัน
แต่ที่จริงแล้วภาพที่เห็นเป็นความจริง”
ขณะที่คริสเตียนซึ่งเป็นชาวคริสต์สมชื่อ
หลังจากที่นั่งสมาธิเห็นพีระมิดแล้ว สิ่งที่คริสเตียน เห็นต่อมา คือ องค์พระสว่างมากที่กลางท้อง
อีกประสบการณ์หนึ่ง คือ คริสเตียนเห็นตัวเองเหมือนถูกห่อพันไว้ด้วยอะไรบางอย่าง
จึงค่อย ๆ แกะออก และต้องประหลาดใจเมื่อเขาเห็นตัวของเขาเองกลายเป็นองค์พระที่สุกสว่างองค์ใหญ่ที่ศูนย์กลางกาย
รายล้อมไปด้วยองค์พระเล็ก ๆ อีกหลายองค์จนนับไม่ถ้วน วันรุ่งขึ้น
คริสเตียนพาคุณแม่ที่เป็นคริสต์ มาทำบุญถวายปัจจัยแด่พระอาจารย์ และคริสเตียนกำลังทำพาสปอร์ต
เพราะอยากไปบวชในโครงการบวชนานาชาติที่วัดพระธรรมกายในปีนี้
คนสุดท้าย คือ แซดดี เขาพูดได้
๓ ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสะวาฮิลี เขาจึงทำหน้าที่เป็นล่ามให้พระอาจารย์
แซดดีนึกองค์พระ ภาวนา “สัมมาอะระหัง” แล้วเห็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิดที่กลางท้อง
ในพีระมิดนั้นมีแสงสว่างส่องออกมาจากตรงกลาง ทำให้เขามีความสุขมาก และเมื่อพีระมิดขยายใหญ่
เขาก็ยิ่งมีความสุข ทุกวันนี้ แซดดี นั่งสมาธิวันละ ๒ ครั้ง เห็นแสงสว่างอย่างง่ายดาย
ตอนนี้เขากำลังทำพาสปอร์ต
เพื่อจะบินมาบวชในโครงการบวชนานาชาติที่วัดพระธรรมกายด้วยเช่นกัน
เกินกว่ารางวัลชีวิต
ขณะนี้
ชาวพุทธคองโกรู้จักความสุขอันสมบูรณ์แล้วจากพระพุทธศาสนานี่เอง และพร้อมจะอาศัยใจดวงนี้ต่อสู้กับทุกปัญหาที่คนอีกหลายประเทศไม่เคยต้องเผชิญ
ขอพื้นที่สันติภาพจงกลับคืนมาจากพื้นที่ท่ามกลางควันปืน
และนี่คือ
บทสรุปจากความประทับใจในมโนปณิธานของมหาปูชนียาจารย์ ความเมตตาของพระอาจารย์
ความสุขที่ได้จากการนั่งสมาธิ และคำสอนที่สามารถนำทุกคนเข้าถึงธรรมกายอันบริสุทธิ์
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงจูงใจให้ท่านโพธิราชาถึงกับเอ่ยปากว่า "พวกเราอยากมีต้นแบบ
และพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อธัมมชโยนับจากนี้เป็นต้นไป"
นอกจากนี้
สิ่งที่ทำให้ท่านปลื้มยกกำลัง ๒ ก็คือ
เมื่อทราบว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อจะมอบพระธรรมกาย ๔ องค์ ไปประดิษฐานให้ครบศูนย์สาขาทั้ง
๔ แห่งของท่านในคองโก จนท่านกล่าวว่า "เหมือนฝันตลอด ๔๕ ปี
เป็นจริงในวันนี้"
ตลอดเวลาแห่งการหยัดสู้
สิ่งที่ทุกคนได้พบเป็นยิ่งกว่ารางวัลแห่งชีวิต และผลพวงจากการเฝ้ารอความสุขนี้มานาน
ก็ทำให้ชาวพุทธคองโกหลายคน เลือกจะเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาให้มากยิ่งขึ้นในเมืองไทย
ก่อนจะกลับไปเป็นแสงสว่างแห่งคองโก นำพาเพื่อนร่วมชาติกลับสู่หนทางสายกลาง
แต่กว่าจะถึงวันนั้น ก็คงต้องเรียนรู้พระธรรมคำสอนอีกมาก และการบวช คือ
สิ่งที่พวกเขาเลือกอย่างไม่ลังเล นี่คือ บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดนี้
เสน่ห์พุทธศาสน์
บทสรุปแห่งการค้นหา
และการค้นพบ
พระพุทธศาสนามีเสน่ห์อยู่ที่ความจริงและการค้นพบ
ซึ่งพระธรรมกายในตัว คือ
ปลายทางแห่งการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษย์ก็ว่าได้ เพราะนั่นหมายถึงการทำลายล้างความไม่รู้ที่ขวางกั้นมาตลอดการเวียนว่ายตายเกิด
ไม่มีอำนาจใด ๆ จะเนรมิตสิ่งนี้ นอกจากอำนาจแห่งความพยายามที่อยากจะค้นหาแสงสว่างให้ตัวเองและเผยแผ่สู่เพื่อนร่วมโลก
ไกลขนาดนี้... ลำบากขนาดนี้...
แต่ทุกวันนี้ พวกเขายังหยัดยืนปกป้องพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างความเชื่อ
และยังจะเดินทางมาบวชถึงเมืองไทย แสดงว่าพระพุทธศาสนาต้องมีอะไรดี
ดีในระดับไม่ธรรมดาเสียด้วย... คงต้องหันมาถามคนไทยว่า การมองเห็นวัด
เห็นพระมาตั้งแต่เกิด ทำให้เรารู้จักพระพุทธศาสนาดีแค่ไหน
ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องรีบแสวงหาคำตอบนั้นก่อนจะหมดเวลาของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายผู้ได้โอกาส
ไม่ยาก ถ้าอยากใกล้ชิดคำสอนที่เปี่ยมพลัง ก็แค่ทำเหมือนเพื่อนชาวพุทธคองโก
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเป็นทางการ
: สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ที่ตั้ง
: ตอนกลางของทวีปแอฟริกา
เมืองหลวง
: กรุงกินชาซา
ประชากร
: ๖๕,๗๕๑,๕๑๒ ล้านคน
เชื้อชาติ
: ชนเผ่ากว่า ๒๐๐ เผ่าพันธุ์
ส่วนใหญ่
คือ เผ่า Bantu
ภาษาราชการ
: ภาษาฝรั่งเศส
ศาสนา
: โรมันคาทอลิก ๕๐ % โปรแตสแตนต์ ๒๐ % Kimbanguist ๑๐ % มุสลิม ๑๐ % ลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ๑๐ %
ข้อมูลที่น่าสนใจ
ชื่อ
"คองโก" หมายถึง “นักล่า” มาจากกลุ่มชาติพันธุ์บาคองโก (Bakongo) ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำคองโก
ประเทศนี้เคยใช้ชื่อทั้งเบลเจียนคองโก, คองโก-กินชาซา และสาธารณรัฐซาอีร์ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๔๐
จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกต้องเผชิญกับความทุกข์ยากครั้งใหญ่จากสงครามคองโก
ครั้งที่ ๒ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒
บางครั้งมีผู้เรียกว่า สงครามโลกแอฟริกัน (African World War)
Cr. ธรรมยันตี
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๙๓
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
คองโกกับการค้นพบแสงแห่งธรรม
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:32
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: