สุดปรารถนาของบุพการี
"ถ้าว่าจะแทนคุณมารดาบิดาน่ะ
ต่อให้ปฐพีเป็นทองคำทั้งแผ่นมอบให้บิดามารดา เป็นได้แค่กตัญญูต่อมารดาบิดา
ยังไม่ใช่การตอบแทนคุณ"
การบวช คือ
วิธีการตรงลัดที่สุดในการตอบแทนคุณผู้เป็นบุพการี หากตั้งใจบวชและฝึกฝนตนเองตามหลักพระธรรมวินัย
บุญจะส่งผลถึงท่านแม้มีชีวิตอยู่หรือละโลกไปแล้วก็ตาม เป็นการปิดประตูอบาย นำท่านไปสู่สวรรค์
และมีสุขในปัจจุบันอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว อานิสงส์บุญแห่งชายผ้าเหลืองนี้
มิเพียงแต่จะส่งผลให้กับบิดามารดาในภพชาติปัจจุบันเท่านั้น ยังขยายผลส่งต่อไปถึงผู้เคยเป็นบุพการีในภพชาติก่อน
ๆ ให้ได้รับอานิสงส์อีกด้วย
ในครั้งพุทธกาล เด็กชายคนหนึ่งนามว่า "สานุ"
เป็นลูกน้อยกลอยใจคนเดียวของอุบาสิกา ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยท่านหนึ่ง
ที่ยกลูกชายถวายแก่พระศาสนาโดยให้บวชเป็นสามเณร สานุสามเณร แม้จะยังเยาว์ก็เป็นผู้สงบเสงี่ยม
นอกจากนี้สามเณรน้อยยังฉายแววพระธรรมกถึกเมื่อต้องขึ้นธรรมาสน์
ก็สามารถบันลือสีหนาทแกล้วกล้าไพเราะเกินตัว
ทำให้เป็นที่เลื่องลือในหมู่ญาติโยมสาธุชน ก่อนจบเทศนาทุกครั้ง สามเณรก็ไม่ลืมที่จะกล่าวให้ส่วนบุญแก่บุพการีว่า
"ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าได้แสดงธรรมนี้ ขอมอบส่วนบุญให้แก่โยมบิดามารดาของข้าพเจ้า"
การเทศน์แต่ละครั้ง เทวดา ยักษ์
และอมนุษย์ ก็จะมาฟังด้วยเสมอ ท่านจึงเป็นที่เคารพของอมนุษย์ และเทวดาจำนวนมาก
ยักษิณีตนหนึ่งซึ่งเคยเป็นมารดาในอดีตชาติของสามเณรก็ได้มาฟังธรรมเป็นประจำ
นางจึงได้รับการยกย่องนับถือเกรงใจในฐานะเคยเป็นมารดาของสามเณร เมื่อมีการฟังธรรม
หรือ มีการชุมนุมในหมู่ยักษ์ นางมักได้รับแต่อาหารดี ๆ จากพวกอมนุษย์เหล่านั้น
แม้ยักษ์ที่มีศักดิ์ใหญ่ยังหลีกทางให้ หรือลุกขึ้นสละที่นั่งฟังธรรมให้นางอยู่
แถวหน้า
ครั้นเวลาล่วงเลยมาสามเณรสานุเติบใหญ่
แตกเนื้อหนุ่ม อยากลาสิกขา จึงหนีออกจากวัดไปหาโยมมารดาที่บ้านตามลำพัง
โยมมารดาเมื่อเห็น ก็แปลกใจจึงถามขึ้นว่า "แต่ก่อนลูกจะมาพร้อมกับพระอาจารย์หรือสามเณรรูปอื่น
ๆ แต่ไฉนวันนี้ จึงมาคนเดียว" พอลูกเณรเล่าความในใจให้ฟัง
โยมมารดาก็ตกใจไม่อยากให้ลูกสึก จึงพยายามเกลี้ยกล่อมลูกเณรโดยชี้ให้เห็นโทษของชีวิตฆราวาส
แต่ทำอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดสามเณรได้ จึงถอดใจและได้แต่หวังอยู่ลึก ๆ ว่า "เดี๋ยวลูกเณรคงจะได้คิดบ้างล่ะ"
นางจึงนิมนต์ให้ลูกเณรรออยู่ก่อน แล้วรีบไปจัดอาหารที่สามเณรชอบมาถวาย
อีกทั้งหลังฉันเสร็จก็นำผ้าจีวรเนื้อดีมาถวายอีกด้วย
ขณะนั้น นางยักษิณีอดีตมารดาได้เกิดความคิดถึงสามเณร
ครั้นเล็งแลไปด้วยกำลังฤทธิ์ ได้รู้ว่าลูกเณรสานุอยากลาสิกขา นางกลุ้มจนอยู่ไม่ติด
เพราะหากเณรสึกออกไปคงจะอายพวกเทวดาไม่กล้าเข้าสมาคมอีก
จึงรีบบึ่งไปขัดขวางไม่ยอมให้สึก แล้วเข้าสิงร่างสามเณรทันที สามเณรล้มทั้งยืน
จากนั้นก็ตาเหลือกน้ำลายฟูมปากดิ้นไปดิ้นมา โยมมารดาเห็นเข้าก็ตะโกนร้องให้คนช่วย
นางกล่าวคร่ำครวญร้องเสียงสั่นอย่างสงสารว่า "ข้าพเจ้าเคยได้ยินพระอรหันต์ท่านพูดว่า
ใครก็ตามที่รักษาอุโบสถศีล ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์จะไม่มารังควาน
แต่ว่าวันนี้ข้าพเจ้าเห็นอยู่นี้เองว่า ยักษ์ได้มารังแกลูกสานุสามเณร"
นางยักษิณีได้ตอบกลับว่า "ใช่แล้ว
ยักษ์จะไม่มารังแกผู้รักษาศีล ประพฤติพรหมจรรย์ หากสามเณรรู้สึกตัวเมื่อไร
ขอฝากถ้อยคำนี้จากใจยักษ์ทั้งหลายว่า ขอเณรอย่าได้ทำบาปในที่ลับหรือที่แจ้ง
และอย่าคิดสึกเด็ดขาด หากคิดจะทำหรือกำลังทำก็ตาม
แม้นเหาะได้ดังนกก็มิอาจหนีพ้นจากทุกข์ได้เลย"
เมื่อกล่าวจบก็ออกจากร่างสามเณรไป
พอสามเณรสานุรู้สึกตัว
ก็เห็นโยมมารดากำลังร้องไห้สะอื้นและเห็นไทยมุงมากมาย จึงถามแบบงง ๆ ว่า "อยู่ดี
ๆ ทำไมฉันถึงได้มานอนอยู่บนพื้น ปกติคนเขาจะร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว
หรือไม่ก็หายสาบสูญมิใช่หรือ แล้วพวกท่านร้องไห้ทำไม"
โยมมารดาจึงพูดให้สติว่า "ที่ลูกเณรพูดมานั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง
แต่ใครก็ตามที่หลีกจากกามคุณไปแล้ว ยังคิดจะกลับไปหาใหม่
ผู้คนย่อมร้องไห้ถึงคนนั้นแหละ เพราะว่าถึงเขาจะมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนตายไปแล้ว
ลูกเณรเป็นผู้ถูกยกออกจากกองเถ้าร้อนระอุ แล้วยังอยากจะตกลงไปอีก
ตอนนี้โยมแม่ไม่รู้จะปรับทุกข์กับใคร จะมีใครมากลับใจลูกน้อยของแม่
ผู้ซึ่งออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้แล้ว แต่ยังต้องการกลับไปถูกไหม้แบบชีวิตฆราวาสอีก"
คำพูดที่เปี่ยมด้วยความรักอันบริสุทธิ์กลั่นจากใจมารดา
มีพลังดลใจและไปโดนใจสามเณรให้ได้คิด และสลดสังเวช จึงพูดขึ้นว่า "เณรจะไม่สึกแล้ว
ขอบวชตลอดไป" โยมแม่จึงพนมมือสาธุการด้วยความปีติล้นหัวใจ
พอดีขณะนั้นสามเณรสานุมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
ผู้เป็นแม่ก็ไม่รอช้ารีบจัดการให้สามเณรลูกชายได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุทันที
ต่อมาไม่นาน
พระภิกษุสานุได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดา ทำให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อมาท่านได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม
เป็นพระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญเทศนาธรรม มีชื่อเสียงเลื่องลือกระฉ่อนทั่วชมพูทวีป
ตราบจนกระทั่งปรินิพพานเมื่ออายุได้ ๑๒๐ ปี
ที่สุดของความปรารถนาของพ่อแม่ในทางโลก
คือ การได้เห็นลูกเป็นคนดีเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
แต่ท่านก็ยังมีที่สุดของที่สุดแห่งความปรารถนาอีก ก็คือ การได้เห็นลูกชายบวช อยากเกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์
เพราะท่านได้ผ่านความทุกข์ยากลำบากในชีวิตฆราวาสมาก่อน
จึงรู้ว่าชีวิตที่ผ่านมามีแต่กะโหลกกะลา ไม่มีชีวิตใดที่จะประเสริฐไปกว่าชีวิตสมณะ
ฉะนั้นเมื่อได้เกิดเป็นลูกผู้ชายทั้งทีต้องมีโอกาสบวชอย่างน้อยสักพรรษา
เติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเอง และเติมเต็มที่สุดแห่งความปรารถนาของบิดามารดาผู้มีพระคุณที่ให้กายเนื้อเรามา
นอกจากวันเกิดลูกแล้ว
วันที่ภาคภูมิใจมากที่สุดของผู้เป็นพ่อและแม่ คือ วันบวชลูกนั่นเอง
ท่านได้หอบอุ้มครรภ์ให้เรา เรา..ผู้เป็นบุตรก็ต้องเอาบุญบวชนี้..หอบพาท่านสู่ไปสวรรค์
เพราะไม่มีบุญใดที่จะทดแทนพระคุณพ่อแม่ได้เท่ากับการบวชฝึกฝนตนเป็นพระแท้
ดังโอวาทของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำว่า
"ถ้าว่าจะแทนคุณมารดาบิดาน่ะ
ต่อให้ปฐพีเป็นทองคำทั้งแผ่นมอบให้บิดามารดา เป็นได้แค่กตัญญูต่อมารดาบิดา
ยังไม่ใช่การตอบแทนคุณ"
หรือแม้ว่าจะเอามารดาบิดาขึ้นนั่งบนบ่า
ถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนนั้นจนหมดอายุของลูก จะชื่อว่า แทนคุณบิดามารดาก็หาไม่
ได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดาเท่านั้น การแทนคุณที่แท้จริงนั้น คือ
ทำให้มารดาบิดาที่ไม่มีศรัทธา มีศรัทธาขึ้น ไม่มีศีล ให้มีศีลขึ้น ไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใสขึ้น ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษขึ้น
ผ้าเหลืองที่ลูกชายห่มย่อมดึงพ่อแม่ให้เข้าวัด
เมื่อถึงวัดแล้วก็ทำให้เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ
ท่านก็จะมีโอกาสมองเห็นหนทางสวรรค์ด้วยตัวท่านเอง ดังนั้น
พ่อแม่ที่มีลูกชายบวชนับเป็นผู้โชคดีสุด ๆ มีพุทธพจน์ บทหนึ่งว่า "การสร้างอารามเสนาสนะ
ปลูกต้นไม้ สร้างสะพาน บ่อน้ำ บ้านพักอาศัยเป็นทานให้เกิดประโยชน์สาธารณะนั้น
บุญจะงอกเงยเกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน" นี้เป็นเพียงบุญจากวัตถุทานยังมีอานิสงส์มากมายขนาดนี้
ส่วนการได้ยกบุตรชายถวายพระศาสนา ทุกอนุวินาทีที่พระลูกชายได้อุทิศตนใช้กายเนื้อที่บิดามารดาให้มาปฏิบัติศาสนกิจและบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมภายใน
เป็นพระแท้ เป็นเนื้อนาบุญที่โลกกำลังเฝ้ารอด้วยความปลาบปลื้ม
บุญย่อมงอกเงยทับทวีแก่บิดามารดายิ่งกว่าสร้างวัตถุทานมากมายนัก
เพราะเป็นการสร้างศาสนบุคคลไว้สืบทอดอายุ พระศาสนา ดังนั้น
บิดามารดาที่มีลูกชายบวชเป็นพระแท้ในพระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่า
เป็นมนุษย์ที่โชคดีที่สุด
Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต
ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๙๔
เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
สุดปรารถนาของบุพการี
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:11
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: