หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๔)


๑๑๑ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง : หมุดหมายใหม่ของการเผยแผ่วิชชาธรรมกายในก้าวต่อไป

ปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งของพวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ของมหาปูชนียาจารย์ โดยเฉพาะคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ครูผู้สืบสานวิชชาธรรมกาย เพราะเป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด ๑๑๑ ปีของท่าน และท่านเป็นผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายได้ ๕๐ ปีนี้แล้ว เหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลายต่างก็ซาบซึ้งใจเป็นอย่างดีว่า หากไม่มีท่านก็ไม่อาจมีวัดพระธรรมกายและพวกเราสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ได้เลย



คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

เมื่อคุณยายอาจารย์ฯ อายุได้ ๒๖ ปี ก่อนหน้าที่จะเข้าถึงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านได้พบกับคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น ครูสอนสมาธิจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จึงได้เริ่มเรียนธรรมปฏิบัติจนเข้าถึงพระธรรมกาย แล้วจึงได้บวชเป็นอุบาสิกาแม่ชีที่วัดปากน้ำ ได้ศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูงจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ จนมีญาณทัสนะที่แม่นยำ ได้รับคำชมจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ว่า “ลูกจันทร์นี้ ...เป็นหนึ่งไม่มีสอง” และต่อมาภายหลังเมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มรณภาพแล้ว คุณยายอาจารย์ฯ ก็ยังคงสอนธรรมปฏิบัติอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในบริเวณวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เรื่อยมา เพื่อรอคอยผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้สั่งไว้ ต่อมามีคณะศิษย์จำนวนมากเข้ามาเรียนธรรมปฏิบัติ จนบ้านธรรมประสิทธิ์คับแคบไปแล้ว จึงมีการขยับขยายพื้นที่โดยการนำคณะศิษย์มาสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมหรือวัดพระธรรมกายในเวลาต่อมา¹ 

คุณยายอาจารย์ฯ แม้ท่านจะเป็นเพียงสตรี แต่ก็เป็นสตรีที่มีหัวใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวมาก ในการริเริ่มสร้างวัดพระธรรมกายนั้น แม้หมู่คณะในยุคบุกเบิกจะมีเพียงไม่กี่ท่าน และหลาย ๆ ครั้งอาจต้องประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมายในยุคนั้น แต่ก็สามารถฝ่าฟันปัญหาที่รุมเร้าจนประสบความสำเร็จในที่สุด ทั้งนี้ สิ่งที่คุณยายอาจารย์ฯ ท่านได้ให้ความสำคัญที่สุดตลอดมาก็คือ การปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ การศึกษาวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นมรดกธรรมที่คุณยายอาจารย์ฯ ได้รับมาจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายโดยตรง ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คุณยายอาจารย์ฯ เปรียบเสมือนขุนเขาใหญ่ ท่านเป็นที่พึ่งทุกอย่างของทีมงานรุ่นบุกเบิกสร้างวัด ทำให้มีผู้คนมากมายเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือตลอดมา สมดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ยายสร้างวัดด้วยการหลับตา” การหลับตาแบบที่คุณยายสอนจึงเป็นประดุจ “สุดยอดของวิชชา” ที่สามารถสร้างคนดีและพัฒนาวัดจนเจริญมาถึงในยุคปัจจุบัน

ธรรมะของคุณยายอาจารย์ฯ นั้น เป็นคำสอนที่ลุ่มลึกแต่ใช้คำง่าย ตรงและกระชับ ซึ่งเหมาะต่อการนำมาพิจารณาและปฏิบัติได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีการศึกษามากหรือน้อย หรือมีอายุอยู่ในวัยใด เช่น

“คนเราตายไปแล้ว เอาอะไรไปไม่ได้ เอาไปได้ก็แต่บุญ-บาป คนเราเหมือนหุ่น บุญ-บาปพาไป ทำบุญ บุญก็เชิด ทำบาป บาปก็เชิด” (วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕)

“ธรรมะทุกอย่างมีอยู่ในตัวเรา จะทำได้ต้องทำใจให้หยุด ถ้าไม่หยุดก็ไม่ถึง เพราะฉะนั้น เรานั่งธรรมะ ก็ต้องทำใจหยุดให้ได้ เป็นเรื่องสำคัญ...พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อแล้วเหลือ ๓ คือ บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ย่อลงมาแล้วเหลือ ๑ คือ หยุด คำเดียว...” (วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔)  

จะเห็นได้ว่า คำสอนของคุณยายอาจารย์ นั้นมีลักษณะที่มุ่งตรงไปที่จุดศูนย์กลางของการปฏิบัติเป็นสำคัญ นั่นก็คือเรื่องของความไม่ประมาท โดยที่ท่านพยายามให้ศิษยานุศิษย์ของท่านมุ่งใส่ใจในเรื่องของการสั่งสมบุญ การบำเพ็ญความดี การทำจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ โดยให้ลดละเลิกสิ่งที่เป็นเครื่องร้อยรัด เครื่องเศร้าหมองของใจนานาประการออกไปให้มากที่สุด ให้ใส่ใจแต่เป้าหมายหน้าที่ในการเกิดเป็นมนุษย์ของตนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ซึ่งเรื่องของความไม่ประมาทนี้ถือเป็นคำสอนสุดท้ายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานให้พระสาวกและพุทธศาสนิกชนน้อมนำมาปฏิบัติ จึงนับว่าเป็นคำสอนที่สำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อได้ศึกษาคำสอนเรื่องความไม่ประมาทที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ได้อรรถาธิบายขยายความไว้ ก็จะเห็นถึงความสอดคล้องต้องกันมากยิ่งขึ้น ดังความตอนหนึ่งว่า

“ความไม่ประมาทน่ะ ไม่ประมาทในอะไร ไม่ประมาทในการรักษาสุจริต ละทุจริตเสีย ทำสุจริตให้เกิดมีเสมอไป ไม่ประมาทในการละความเห็นผิด ทำความเห็นถูกให้มีอยู่เสมอไป ไม่ประมาทในกายทุจริต วจีทุทริต มโนทุจริต ทำให้กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีเป็นเนืองนิตย์ไม่ขาดสาย ไม่ประมาทในกายบริสุทธิ์ ไม่ประมาทเหล่านี้ ยังเป็นความไม่ประมาทเผิน ๆ ...ถ้าว่าไม่ประมาทจริง (คือ) ไม่ประมาทในการทำใจให้หยุดนิ่ง ทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ จนกระทั่งเห็นดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์... ใจจรดอยู่เสมอไม่เผลอกันละ ไม่ให้ใจหลุดจากดวงธรรมที่เกิดขึ้น ประพฤติได้ดังนี้เขาเรียกว่า สาตติกา นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา ผู้มีความเพียรก้าวหน้า หมั่นเป็นนิจ มีผลเจริญไปหน้า ไม่มีถอยหลังเลย...พอเข้าถึงธรรมแล้ว ยึดเอาไว้ไม่ปล่อยทีเดียว จนกระทั่งถึงที่สุดทีเดียว อย่างนี้เรียกว่าธรรมสามี (เป็นใหญ่ในธรรม)... ไม่ปล่อยธรรมเช่นนี้เรียกว่า อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ เป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าธรรมหมวดไหน หมู่ไหน... เมื่อไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ก็ไปนิพพานได้แล้ว...²

จากคำสอนข้างต้น เราจึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคำสอนของคุณยายอาจารย์ฯ หรือคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ก็ดี ต่างก็เป็นคำสอนที่สอดคล้องไปกับหลักปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงพระธรรมกายด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีวิธีการในการมุ่งเน้นที่แตกต่างกัน แต่หากนำคำสอนมา “ถอดรหัส” ให้ชัดเจนขึ้นแล้วก็จะพบว่าเป็นคำสอนที่สืบสานเป็นแนวเดียวกันโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนของคุณยายอาจารย์ฯ ซึ่งมีความร่วมสมัยกับศิษยานุศิษย์ในยุคปัจจุบันด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะพบว่าทุกคำสอนของท่านล้วนแต่เป็นการนำเอาวิถีปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงพระธรรมกายมาใช้ในการสอนและอบรมโดยสมบูรณ์ทีเดียว

เมื่อลุถึงปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ ซึ่งตรงกับวาระครบ ๑๑๑ ปี ของคุณยายอาจารย์ฯ และครบรอบ ๕๐ ปีของวัดพระธรรมกายที่ท่านให้กำเนิด ทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ซึ่งได้ดำเนินงานศึกษาค้นคว้าและร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมากมายนานกว่า ๒๐ ปี มีความก้าวหน้าในภารกิจสืบค้นหลักฐานธรรมกาย สามารถแผ่ขยายผลิดอกออกผลต่อไปอีกอย่างน่าอัศจรรย์ วาระมงคลนี้ จึงขอน้อมบูชาธรรมนำผลงานศึกษาวิจัยของพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ นักวิจัยสถาบันดีรี ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์³ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเรื่อง คัมภีร์ตุนหวง หมายเลข S.2585 : การศึกษาเนื้อหาและสหวิทยาการเกี่ยวกับเทคนิคการทำสมาธิและประสบการณ์การเห็นในสมาธิช่วงยุคกลางตอนต้นของจีน (Dunhuang Manuscript S.2585: A Textual and Interdisciplinary Study on Early Medieval Chinese Buddhist Meditative Techniques and Visionary Experiences) เป็นวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต (Master of Philosophy; MPhil in Asian and Middle Iastern Studies) ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นงานที่ต่อยอดมาจากการศึกษาวิจัยของท่านเองที่ SOAS (University of London) ด้วย

เนื้อหาหลักของงานวิจัยชิ้นนี้คือการศึกษาวิธีการทำสมาธิทางพระพุทธศาสนาของจีนเมื่อประมาณ ค.ศ. ๒๒๐-๕๘๙ ซึ่งพบว่ามีอยู่หลายรูปแบบหลายวิธีการด้วยกัน และบางวิธีการอาจเชื่อมโยงย้อนไปได้ถึงบริเวณพื้นที่เอเชียกลางและอินเดียด้วย ส่วนวัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือการสำรวจและวิเคราะห์เทคนิคการทำสมาธิจากเอกสารปฐมภูมิ (คัมภีร์ต่าง ๆ) ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์ต้นฉบับตัวเขียนคู่มือฝึกสมาธิตุนหวง S.2585 ซึ่งมีชื่อเต็มว่า “คัมภีร์โฝวซัวกวนจิง (Foshuo guan jing 佛説觀經; T.2914) คำย่อคือ GJ ประกอบกับการสำรวจเอกสารทุติยภูมิอันจะนำไปสู่ความเข้าใจประสบการณ์เชิงภาพทัศน์ในสมาธิของพุทธศาสนาในประเทศจีนที่สมบูรณ์มากขึ้น


พระเกียรติศักดิ์ กิตติปญโญ นักวิจัยสถาบันวิจัย DIRI 

โดยผู้วิจัยได้พบว่า การทำสมาธิแบบพทุธานุสติของจีนซึ่งใช้วิธี รวมจิตให้ตั้งมั่นที่กลางนาภี (yixin guanqi 一心觀齊) นั้น จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงภาพทัศน์ภายในสมาธิอันอัศจรรย์ ที่ช่วยบ่งชี้แนวคิด องค์พระภายใน และยังสะท้อนทัศนะ ตถาคตคัพภะ (tathāgatagarbha) ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาบางเล่มระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การรวมจิตให้ตั้งมั่นเป็นหนึ่งไว้ที่กลางนาภี นั้น เป็นประดุจประตูไปสู่ความก้าวหน้าของฌานและการตื่นรู้ เป็นทางสายกลางสำหรับการเดินทางภายในกายสู่การสิ้นสุดของสังสารวัฏด้วยอย่างชัดเจน ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยของพระเกียรติศักดิ์ กิตติปัญโญ ยังพบอีกว่า คัมภีร์คู่มือฝึกสมาธิกวนจิงนี้ ได้ถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติไว้ถึง ๙ วิธีด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวิธีแบบ รวมจิตให้เป็นเอกัคคตารมณ์แล้วนึกนิมิตพระพุทธเจ้า (yixin guanfo 一心觀佛) โดยเริ่มจากการฝึกให้ผู้ปฏิบัตินึกนิมิตพุทธลักษณะของพระรูปกายของพระพุทธเจ้าเป็นอันดับแรก ซึ่งคล้ายคลึงกับคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มาก ดังข้อความต่อไปนี้

“กำหนดนิมิตพุทธลักษณะทุกส่วนให้แจ่มชัด แล้วจึงหลับตา นึกให้เห็นภาพนี้ในใจแล้วลืมตาขึ้น เมื่อภาพนี้ชัดเจนแล้วให้กลับไปนั่งที่อาสนะ ให้นั่งกายตรงและดำรงจิตให้มีสติ ประดุจว่าเธอนั่งอยู่หน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าองค์จริง ให้ภาพนิมิตปรากฏชัดเจน ปราศจากข้อสงสัย แล้วจึงมารายงานต่อครูสอนสมาธิของเธอว่า จิตของกระผมตั้งมั่นและเห็นพระพุทธเจ้าชัดเจนดุจองค์จริง” (S.2585, columns 16-17)

ในขณะที่เรื่องของการทำสมาธิแบบ “รวมจิตให้ตั้งมั่นให้เป็นหนึ่งไว้ที่กลางนาภี” นั้น ก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับคำสอนของมหาปูชนียาจารย์เช่นเดียวกัน โดยในขั้นแรกให้ผู้ปฏิบัติสมาธิจรดจิตของตนไว้ที่สะดือ เมื่อผู้ปฏิบัติทำตามอยู่สักครู่หนึ่ง จึงรู้สึกว่ามีบางสิ่งเคลื่อนไหวอยู่ภายใน เมื่อมองต่อไปในสะดือจึงมองเห็นบางอย่างคล้ายไข่ของนกกระสา มีสีขาว หลังจากผู้ปฏิบัติกลับไปหาครูและได้รับคำแนะนำให้รวมจิตให้เป็นหนึ่งที่นาภีนั้นต่อไป จึงทำให้เห็นแสงสว่าง และมีองค์พระหลายองค์ผุดขึ้นมาจากภายในกาย เมื่อทำต่อไป นิมิตนั้นค่อยขยายกว้างไกลออกไปทั้งโลก แล้วนิมิตนั้นก็กลับมาที่สะดืออีกครั้ง


จากงานวิจัยดังกล่าวนั้น ทางคณาจารย์ผู้ตรวจวิทยานิพนธ์ต่างชื่นชมในผลงานวิจัยดังกล่าว โดยลงมติให้คะแนนยอดเยี่ยม (เกียรตินิยม) แก่งานวิจัยของท่านด้วย ซึ่งถือว่าเป็นผลงานวิจัยที่ดีเยี่ยมในสาขาภาษาจีนโบราณในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง และท่านก็ได้รับอนุมัติให้ศึกษาวิจัยต่อในระดับปริญญาเอก จึงเท่ากับเป็นหมุดหมายใหม่ของการเผยแผ่วิชชาธรรมกายในก้าวต่อไปได้เลยทีเดียว  อนึ่ง ในวันที่ ๑๓-๑๔ มกราคมที่ผ่านมา ท่านได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิจัย ที่กรุงปารีส ณ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ (École Française d'Extrême-Orient หรือ EFEO) ซึ่งมีองค์กรภาคีร่วมกันสนับสนุนจัดงานดังนี้ คือ ภาควิชาเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ศูนย์ศึกษาคัมภีร์แห่งมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) และมูลนิธิ ๖๐ ปีธรรมชัยเพื่อการศึกษา

ในการประชุมวิชาการนานาชาตินี้ มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงระดับโลก นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวัฒนธรรมทางคัมภีร์จีนตุนหวงจากสถาบันต่าง ๆ ในยุโรป เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริจด์ มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก และมหาวิทยาลัยเกนต์ มานำเสนองานวิจัย  ซึ่งพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ก็ได้นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับคัมภีร์สมาธิจากตุนหวง อายุพันกว่าปี ๒ ฉบับ ซึ่งกล่าวถึงเทคนิคการทำสมาธิแบบโบราณที่เคยแพร่หลายในเอเชียกลางมาก่อนและต่อมาได้รับการนำมาเผยแพร่ในจีน ซึ่งทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาเข้าร่วมประชุมเกิดความตื่นตาตื่นใจในผลงานการศึกษาค้นคว้านี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลให้เกิดความเข้าใจและยอมรับในเรื่องราวของธรรมกาย และมีหลักฐานธรรมกายชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดผลดีและภาพลักษณ์ในการยอมรับของคณาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการ ที่เข้าร่วมประชุมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การทำงานของสถาบันวิจัยดีรีมีความราบรื่นกว่าเดิมอีกเป็นอันมาก



ดังนั้น สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จึงตั้งใจแสดงความกตัญญูกตเวทิตาด้วยการจัดงานเสวนาทางวิชาการ จัดนิทรรศการ สื่อโสตทัศน์เกี่ยวกับหลักฐานธรรมกาย เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ให้ทุกคนได้เข้าใจอย่างซาบซึ้งและถูกต้อง รวมทั้งได้ทราบขั้นตอนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยดีรี โดยงานเสวนาจัดขึ้นที่อาคาร ๑๐๐ ปีคุณยายอาจารย์ฯ ระหว่างวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ถึง ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมรับฟังการเสวนา ชมสื่อโสตทัศน์ นิทรรศการ และโปรดแนะนำบุคคลที่ท่านรักและปรารถนาดีให้ทราบข่าวในวงกว้างสืบไป ขอเจริญพร



¹วัดพระธรรมกาย, ๔๘ ปี วัดพระธรรมกาย : MISSION FOR PEACE (ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ), กรุงเทพมหานคร : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๑, หน้า ๓๔-๓๕.
²ความตอนหนึ่งในบทพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒๖ เรื่อง “ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย” วันที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๗
³ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กำลังศึกษาและทำงานวิจัยต่อยอดจากงานวิจัยในปัจจุบัน
อดความและเรียบเรียงโดยศาสตราจารย์สุกัญญา สุดบรรทัด ราชบัณฑิต ภายใต้หัวข้อบทความเรื่อง “ภาพทัศน์อันอัศจรรย์ในพุทธานุสสติและธรรมกาย”

เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓

คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2020/01/diri54.html

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1RSx-Qbxm71PS6hU878B5yH6ENPJ6kB3_/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/206%20YNB_6302/206%20YNB%20FEB%20%2063.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่

คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๔) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๔) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:37 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

  1. If you're trying hard to lose weight then you absolutely need to jump on this brand new custom keto meal plan diet.

    To create this keto diet service, licensed nutritionists, fitness trainers, and cooks have united to provide keto meal plans that are powerful, suitable, economically-efficient, and delicious.

    From their launch in 2019, 1000's of people have already transformed their figure and health with the benefits a proper keto meal plan diet can give.

    Speaking of benefits: clicking this link, you'll discover 8 scientifically-certified ones offered by the keto meal plan diet.

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.