นาฬิกาชีวิต


วันนี้เรามาคุยกันเรื่องนาฬิกาชีวิต อาตมาอยากให้พวกเรามองนาฬิชีวิตตลอดช่วงอายุขัยของเราว่าควรจะเดินอย่างไร...

อย่างเช่น ทั่วๆ ไปที่เราพอเห็นตรงกันคือ วัยเด็กก็คือวัยแห่งการเรียนรู้ ต้องเรียนหนังสือ เตรียมตัวให้มีความรู้ไว้ทำงานทำการในอนาคต พอโตแล้วก็ประกอบอาชีพหน้าที่การงานตามถนัด และตามความชอบของแต่ละคน บ้างก็มีครอบครัว แล้วก็ทำงานไปจนถึงวัยเกษียณ อายุมากก็ดูแลสุขภาพ ลูกหลานก็มาดูแล แล้วก็จากโลกนี้ไป

นั้นคือภาพกว้างๆ ของคนโดยส่วนใหญ่ แต่ว่าในภาพกว้างๆ นี่แหละเราจะพบว่า แต่ละคนประสบความสำเร็จไม่เหมือนกัน ทำงานเหมือนกัน บางคนก็เรียกว่าประสบความสำเร็จรุ่งเรืองขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่บางคนก็เป็นคนทำงานธรรมดาๆ หรือบางคนอาจจะกล่าวได้ว่าค่อนข้างจะล้มเหลวในชีวิตด้วยซ้ำไป

ตัวอย่างเช่น คน ๒ คนเป็นเพื่อนกัน เรียนหนังสือตอนอยู่ชั้นประถมโรงเรียนเดียวกัน พื้นฐานครอบครัวคล้ายๆ กัน มองอนาคตข้างหน้าต่อไปอีก ๔๐-๕๐ ปี เส้นทางอาจจะต่างกันฟ้ากับดินก็เป็นไปได้ ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ต้องตอบว่าเป็นเพราะนาฬิกาชีวิตของเขามันเดินไม่เหมือนกัน คนหนึ่งเดินแบบตามดวง เดินเร็วบ้าง ช้าบ้าง เรียกว่าไม่มีเสถียรเลย แต่อีกคนนาฬิกาชีวิตเขาเดินรักษาเวลาแบบเป๊ะๆ เพราะฉะนั้น ผลสุดท้ายบั้นปลายจึงต่างกันเยอะ เราลองนึกดูก็แล้วกัน ถ้ามีนาฬิกา ๒ เรือน เรือนหนึ่งเดินตรงเวลา ดูปั๊บเชื่อถือได้ อีกเรือนหนึ่งวันนี้มีอารมณ์ก็เดินเร็วไป ๑๐ นาที พรุ่งนี้เดินช้า ๑๐ นาที เราก็คงไม่ค่อยอยากจะใช้เรือนที่เดินเร็วเดินช้าเท่าไร เพราะรู้สึกว่ามันไว้วางใจไม่ได้ แค่เร็วช้าต่างกันไม่เท่าไร คุณค่าก็ต่างกันเยอะแล้ว

นาฬิกาชีวิตเราก็เป็นทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทุกคนมาสำรวจนาฬิกาชีวิตของเรากันเถอะว่า เราได้ตั้งนาฬิกาชีวิตของเราไว้อย่างดีแล้วหรือยัง หรือปล่อยให้เดินเรื่อยๆ ตามอารมณ์ จะว่าไม่มีแผนเลยก็ไม่ใช่ มันคล้ายๆ มี เราก็พอรู้อยู่ว่าเราอยากจะเป็นอะไร แต่มันรู้แบบยังไม่ค่อยชัด ยังเบลอๆ อยู่หน่อย แล้วก็ปล่อยให้กระแสพาตัวเราไป

ถ้าจะให้นาฬิกาชีวิตของเราเดินอย่างมีคุณภาพ มันต้องเดินอย่างมีแผน เช่น ตอบได้ว่า เป้าหมายชีวิตเราต้องการเป็นอะไร อยากจะทำงานอะไร ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ จะประสบความสำเร็จในระดับไหน ถ้าเป็นเป้าระยะไกล ก็วางไว้ให้พอเห็นทิศทางว่าจะก้าวเดินไปทางไหน เสร็จแล้วก็เริ่มวางว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ว่าตั้งเป้าหมายไว้ลอยๆ แล้วก็นั่งดูแต่เป้าหมาย ไม่ได้ทำอะไร มันก็จะเป็นเหมือนที่บอกว่า ฝันให้ไกล ฝันให้ถึง มันถึงแค่ฝัน แต่ถ้าเกิดฝันให้ไกล ทำให้ถึง เราจึงจะถึงที่ฝัน

พอวางเป้าปลายทางไว้อย่างนั้นเยอะแยะแล้วก็เริ่มซอยย่อยลงมา แล้วเราต้องเตรียมการอย่างนี้ ๑.. ๒.. ๓.. ๔.. ๕.. ไล่ไป ปีนี้ต้องทำอะไรบ้าง ปีหน้าต้องทำอะไรบ้าง เดือนหน้าทำอะไรบ้าง สัปดาห์หน้าทำอะไรบ้าง หรือว่าพรุ่งนี้ทำอะไรบ้าง เรามีการวางแผนชีวิตหรือเปล่า ยิ่งช่วงใกล้เข้ามาก็วางให้ละเอียดขึ้น วางแผนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง จริงๆ ใช้เวลาไม่เยอะเลย ใช้เวลาแค่ ๒-๓ นาที ๔-๕ นาทีเสร็จแล้ว แต่ว่าเราจะชัดเจนเลยว่า นอกเหนือจากงานประจำแล้ว เราจะทำอะไรเป็นพิเศษขึ้นมาบ้างในวันรุ่งขึ้น เท่านี้เราก็จะเป็นคนที่ไม่ย่ำอยู่กับที่แล้ว เราอาจจะใช้เวลาส่วนหนึ่งเพิ่มพูนทักษะความรู้ในการทำงานให้หนักขึ้น ส่วนเพิ่มพิเศษเหล่านี้ คือ ส่วนที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลาโดยไม่ย่ำอยู่กับที่ เทียบเป็นแผงกัน ๑๐ คนเราก้าวหน้ามากกว่าเขา ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ถึงคราวมีอะไรขึ้นมาเราก็จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วก็ก้าวไปอยู่ในแผงข้างหน้าอีก ๑๐ คน ที่ประสบความสำเร็จคล้ายๆ กัน พอเราทุ่มเทมากกว่า เดี๋ยวเราก็จะก้าวไปข้างหน้าอีก พอก้าวไปข้างหน้าทีละก้าวๆๆ เรื่อยๆ อย่างนี้ สุดท้ายเราก็จะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในชีวิต 

สมมุติว่าท่านที่ทำธุรกิจอยู่ บอกว่ายุคนี้มันเป็นยุค globalization โลกาภิวัตน์ ติดต่อกันทั่วโลก เราทำธุรกิจก็อยากจะติดต่อกับต่างชาติ หรือว่าจะหาข้อมูลเข้าอินเทอร์เน็ตไป ข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษมันก็เยอะเหลือเกิน บางคนอาจจะนึกว่าเสียดาย นี่ถ้าเกิดตอนเรียนหนังสือ เราทุ่มเทภาษาอังกฤษมากกว่านี้อีกสักหน่อย ให้พูดคุยกับฝรั่งได้ อีเมลได้ อ่านหนังสือข้อมูลภาษาอังกฤษได้ จะช่วยเกื้อกูลการทำงานของเราเยอะเลย มานึกตอนนี้ก็เริ่มพบว่าช้าไปหน่อยๆ เสียดาย ๑๐ ปีก่อน ๒๐ ปีก่อนเราน่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำอย่างนี้ ถ้าเราคิดอย่างนี้เมื่อไรแสดงว่าช่วงที่ผ่านมาเรายังวางแผนชีวิตดีไม่พอ ถ้าตอนเรียนหนังสือเราชัดเจนเลยว่า อนาคตเราจะเป็นนักธุรกิจระดับโลก มีการติดต่อซื้อขายทำงานทำการข้ามชาติ แล้วต้องใช้ภาษาอังกฤษ ถ้ารู้อย่างนี้เราคงทุ่มเทเรียนภาษาอังกฤษมากกว่านี้ เวลาเรียนในห้องเรียนก็ใช้เท่ากัน แต่พอรู้ว่าจะต้องใช้ประโยชน์แน่ๆ ในอนาคต ความสนใจทุ่มเทจะต่างกัน เราจะใช้ชีวิตของเราในวัยศึกษา ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น นี่คือความแตกต่างระหว่างการมีเป้าหมาย มีการวางนาฬิกาชีวิตอย่างดี กับยังไม่ได้วางไว้อย่างชัดเจน มันต่างกันอย่างนี้

บางท่านอาจจะนึกว่า แหมเสียดายพระอาจารย์มาบอกช้าไปหน่อย โยมตอนนี้ก็ ๓๐-๔๐-๕๐ ไปแล้ว ถ้าย้อนเวลาไปได้มารู้เรื่องนี้ตอนอายุ ๑๐ กว่าก็จะเตรียมตัวอย่างดีหรอก คำตอบคือ ไม่มีคำว่าช้าเกินไป อะไรที่ผ่านไปแล้วก็คือผ่านไป แต่สำคัญว่า ณ จุดปัจจุบันจากนี้ไปเราจะทำอย่างไรต่างหาก

มีตัวอย่างหนึ่ง พวกเราไม่ทราบเคยคุ้นชื่อของพระมหาเถระรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาลหรือเปล่า ท่านมีคุณูปการแก่พวกเรามาก พระเถระรูปนั้นคือ พระมหากัสสปะ ท่านเป็นองค์ประธานในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑ ทำให้เกิดพระไตรปิฎกที่เราศึกษากันอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ท่านออกบวชอายุเท่าไรรู้ไหม ๘๐ ปี กว่าจะได้ทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ตอนนั้นท่านอายุ ๘๐ ไปแล้ว มีครอบครัวไปแล้วด้วย แต่ก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์กับแม่บ้านอย่างดีเลย พอทราบข่าวว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ท่านก็ออกบวชเดินทางรอนแรมดั้นด้นไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงทราบว่า บุคคลผู้นี้อนาคตจะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา เสด็จไปรับเลย แล้วประทานการบวชพิเศษเฉพาะองค์ องค์เดียว บวชอายุ ๘๐ แล้วตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม หลังพุทธปรินิพพานท่านเป็นประธานในการสังคายนาพระไตรปิฎก

พวกเราอายุถึง ๘๐ หรือยัง ท่านเริ่มต้นชีวิตใหม่ในการบวชอายุ ๘๐ แล้ว สามารถสร้างประโยชน์ใหญ่ในแง่ส่วนตัวคือเป็นพระอรหันต์ ในแง่ส่วนรวมก็คือว่า สามารถสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาถึง ๒ พันกว่าปี มาถึง ณ ปัจจุบันนี้ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีคำว่าช้าเกินไป ถ้าเรายังไม่ถึง ๘๐ เรายังได้อยู่ ขอให้เริ่มต้นทำ ณ บัดนี้ให้ดีก็แล้วกัน แล้วไม่ต้องไปรอถึงอายุ ๘๐ ค่อยทำ บอกจะเดินตามแบบพระมหากัสสปะ ๘๐ ค่อยมาเริ่มฝึกตัวเอง มันช้าเกินไป เราจะอยู่ถึงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ สุขภาพจะดีเหมือนท่านหรือเปล่าไม่ทราบ

เพราะฉะนั้น รู้วันนี้เริ่มวันนี้เลย หรือจะมองใกล้ตัวสักนิด เอาทางโลกก็ได้ ในยุคใกล้ๆของเรานี้ เติ้งเสี่ยวผิง เริ่มต้นปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศจีน เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ตอนตนเองมีอายุ ๗๐ กว่าแล้ว ตกระกำลำบากเดี๋ยวก็มีอำนาจ เดี๋ยวก็ตกลงไป เขาถึงเรียกว่า แมวเก้าชีวิต จนอายุ ๗๐ กว่าแล้ว ก็ขึ้นมามีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศได้ แล้วก็เริ่มปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีน แมวสีอะไรก็ได้ จับหนูได้ก็แล้วกัน ผ่านไป ๓๐ ปี เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมาอย่างมหาศาล เท่ากับว่าสามารถพลิกชะตาชีวิตของคนจีนถึง ๑,๓๐๐ กว่าล้านคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วเริ่มต้นพลิกระบบใหม่นี้อย่างจริงจังเมื่อตัวเองมีอายุ ๗๐ กว่าแล้ว

เพราะฉะนั้นเราเองไม่ช้าเกินไป ถ้าตระหนักถึงความสำคัญ แล้วก็เริ่มวางนาฬิกาชีวิตของเราจากนี้ไปให้ชัดเจน เราจะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนเอง กับโลกอย่างไร เราวางเป้าหมายชีวิตอย่างไร วางเลย กำหนดเลย แล้วก็เริ่มวางสเต็ป แล้วจากนี้ไปจะเป็นอย่างนั้นได้ต้องทำอะไรบ้าง เตรียมตัวให้พร้อม ทุ่มเทให้หนัก แล้วความสำเร็จก็จะเป็นของเรา แม้เราจะตั้งเป้าไว้เทียมฟ้า เกิดไม่ถึงมันก็อาจจะลงมาอยู่แค่ก้อนเมฆ ย่อมดีกว่าคนไม่ได้ตั้งเป้าอย่างแน่นอน ดีกว่ามากๆ ด้วย ขอให้ตั้งเป้าหมายแล้ววางนาฬิกาชีวิตของเราให้ดีเอาไว้ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นกับเราไม่เฉพาะภพนี้เท่านั้น แต่ว่าจะเกิดข้ามภพข้ามชาติ ให้เรามองให้ไกล อย่ามองแค่ชาตินี้ เป้าหมายชีวิตของเราเองในชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ถึงที่สุดแล้วเราจะไปที่ไหน จะทำอย่างไร เราจะต้องวางนาฬิกาชีวิตเตรียมตัวเพื่อให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ถ้าอย่างนี้แล้วละก็ เราจะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ถ้ามองระยะยาว อาจจะยิ่งกว่าเติ้งเสี่ยวผิงเสียอีก เพราะนั่นเขาสำเร็จในชาตินี้ แต่เราจะสามารถสำเร็จแม้ในชาติหน้า จนถึงที่สุดเป้าหมายปลายทาง ของชีวิตมนุษย์ในวัฏสงสารได้ด้วยซ้ำไป ด้วยการตั้งนาฬิกาชีวิตของเราเองให้เดินอย่างเที่ยงตรง เดินอย่างมีจังหวะจะโคน อย่างมีแผน นับแต่นี้เป็นต้นไป

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ(M.D.,Ph.D.)
จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC


นาฬิกาชีวิต นาฬิกาชีวิต Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:25 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.