วิธีคัดเลือกคนมาเป็นหัวหน้างานที่ดี


ถาม : หลวงพ่อครับ ถ้าเราจะเลื่อนตำแหน่งลูกน้องขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน บุคคลผู้นั้นควรมีคุณสมบัติอย่างไร ?

ตอบ : การที่จะเลือกใครขึ้นมาเป็นหัวหน้างานนั้น ถ้าพูดโดยหลักการแล้วไม่ยาก ลองฟังหลักการดู มีอยู่ ๒ ข้อด้วยกัน คือ

๑. ต้องเป็นคนที่ไม่ลำเอียง
เพราะถ้าเขาลำเอียงเสียแล้ว ถึงจะเก่งขนาดไหนก็ตาม ถ้าได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า เดี๋ยวก็ทำหน่วยงานนั้นพังจนได้ เพราะฉะนั้น อย่าเลือกคนที่มีความลำเอียงขึ้นไปเป็นหัวหน้าเป็นอันขาด

สำหรับคนที่จะขึ้นเป็นหัวหน้า ที่ว่าต้องไม่ลำเอียงนั้นเป็นอย่างไร ความลำเอียงมีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน ได้แก่

๑.๑ ลำเอียงเพราะรัก คือ เป็นคนประเภทชอบเล่นพวกเล่นพ้อง พูดง่าย ๆ ถ้าเอาคนที่ชอบเล่นพวกเล่นพ้องมาเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ดูเผิน ๆ คนพวกนี้มีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่ว่าความจริงแล้ว ไม่ใช่ และยังจะทำให้มีคนประจบสอพลอ หรือคนที่คุณภาพไม่ถึงมาอยู่เต็มไปหมด แล้วงานของคุณก็จะพัง

๑.๒ ลำเอียงเพราะชัง คือ ตัวเองนั้นมีฝีมือดี แต่ว่าถ้าลองได้โกรธใครแล้วก็มักจะผูกอาฆาต ใครทำอะไรให้ไม่ถูกใจสักหน่อย ก็จงเกลียดจงชัง ขังลืมเอาไว้ในใจตลอดชาติเลย อย่างนี้ก็ให้ไปเป็นหัวหน้าคนไม่ได้

๑.๓ ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะกลัวเป็นอย่างไร พูดง่าย ๆ คนพวกนี้พอมีลูกน้องหัวแข็งสักหน่อย ก็อาจจะไม่กล้าว่า ไม่กล้าเตือน อย่างนี้ถือว่าลำเอียงเพราะกลัว ถ้าได้คนอย่างนี้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า หน่วยงานของเราก็อาจจะรวนได้

๑.๔ ลำเอียงเพราะโง่ การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะไม่ลำเอียงเพราะโง่ ตรงนี้ยากนะ เพราะว่าทุกคนในโลกนี้ไม่ได้เป็นสัพพัญญู คือ ไม่ได้รู้หมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะลำเอียงเพราะโง่เลยมีมาก

เพราะฉะนั้น การเลือกคนที่จะไม่ลำเอียงขึ้นมาเป็นหัวหน้า มีหลักง่าย ๆ ก็คือ
๑) ดูว่าเขาเป็นคนที่ไม่เล่นพรรคเล่นพวก
๒) ดูว่าเขาไม่ใช่เป็นคนที่อาฆาตคน
๓) ดูว่าเขาเป็นคนที่กล้าเตือนคน กล้าเตือนลูกน้อง
๔) ดูว่าเขาเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน รักการค้นคว้า รักความก้าวหน้า และใครๆ  ก็สามารถจะเตือนเขาได้

คนอย่างนี้แหละ เป็นคนที่มีแววว่าจะไม่ลำเอียง และพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าคน

๒. ต้องเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี
การที่คุณจะเลือกใครขึ้นมา คุณก็คงจะมองว่า เขามีความสามารถในงานนั้น หรือถ้าไม่มีคุณก็คงไม่คิดจะเอาเขาขึ้นไปเป็นหัวหน้า แต่ว่าตรงนี้ก็ต้องระมัดระวังอีกเหมือนกัน เพราะคนที่มีความสามารถในการทำงานมักจะขาดความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ส่วนคนที่มีความสามารถด้านมนุษยสัมพันธ์ เรื่องงานก็มักจะหย่อน ตรงนี้คุณต้องดูให้ดี สำหรับพวกที่มีความสามารถในการทำงาน แต่ว่ามนุษยสัมพันธ์หย่อน คุณก็ต้องเข้าไปประกบ แล้วค่อย ๆ สอนให้เขามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ตามที่พระพุทธองค์ทรงให้หลักไว้ว่า
๑) ทาน คือ รู้จักแบ่งปัน
๒) ปิยวาจา คือ พูดจาไพเราะ พูดให้กำลังใจคนเป็น
๓) อัตถจริยา คือ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือคนอื่นเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยให้ความรู้เป็นทาน
 ๔) สมานัตตตา คือ มีความเสมอต้นเสมอปลาย ได้ดีก็ไม่ยโสโอหัง ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่ใช่ว่าพอได้ขึ้นไปเป็นหัวหน้า เลยดูถูกคนทั้งแผนก หรือว่าเวลาตกต่ำไปทำผิดทำพลาดเข้า ก็ไม่ใช่เอาแต่เศร้าสร้อยหงอยเหงา

เพราะฉะนั้น คุณต้องดูให้ดี ถ้าพบว่าเขามีคุณสมบัติครบทั้ง ๔ ประการนี้ ก็ถือว่าเขามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แต่ถ้ายังมีไม่ครบคุณก็ช่วยเติมให้เต็มด้วย

และสิ่งที่จะต้องระมัดระวังอีกประการหนึ่งคือ ผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีนั้นส่วนมากฝีมือหรือความทุ่มเทในการทำงานมักจะหย่อน ในขณะที่ผู้ที่ทุ่มเทกับการทำงานอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้น มนุษยสัมพันธ์มักจะหย่อน พูดง่าย ๆ ถ้าดีในเรื่องงาน มนุษยสัมพันธ์มักจะหย่อน ถ้าดีในเรื่องมนุษยสัมพันธ์ งานก็มักจะหย่อน ตรงนี้เราต้องชั่งใจให้ดี ถ้าชั่งใจไม่ดีเดี๋ยวจะพลาดไป แน่นอนเราย่อมอยากได้คนที่มนุษยสัมพันธ์ ก็ดี การทุ่มเทกับงานก็ดี ถ้าได้อย่างนั้นก็วิเศษเลย แต่คนที่สมบูรณ์แบบอย่างนี้ หาได้ไม่ง่ายนัก

ก็มีหลักในการคัดเลือกง่าย ๆ อย่างนี้ คือทั้งไม่ลำเอียง ทั้งมีมนุษยสัมพันธ์ดี แล้วงานของคุณจะเดินต่อไปโดยไม่มีปัญหา เพราะว่าเขาเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดีนั่นเอง...

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๕๔ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐
วิธีคัดเลือกคนมาเป็นหัวหน้างานที่ดี วิธีคัดเลือกคนมาเป็นหัวหน้างานที่ดี Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:19 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.