คนพาลมีลักษณะอย่างไร คบกับคนพาลมีโทษอย่างไร
ถาม : หลวงพ่อเจ้าคะ มงคลชีวิตที่ ๑ สอนให้เราไม่คบคนพาล คนพาลมีลักษณะอย่างไร คบแล้วมีโทษอย่างไรเจ้าคะ ?
ตอบ : การที่จะบอกว่าคนไหนเป็นคนพาล คนไหนเป็นคนดีนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีคนพาลคนใด เขียนติดหน้าผากของตัวเอง ว่าฉันเป็นคนพาล
แล้วเราจะเอามาตรฐานอะไรไปวัดว่า คนนี้เป็นพาล คนนั้นเป็นบัณฑิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานทางโลก
ยกตัวอย่าง จะเอามาตรฐานทางรูปร่างหน้าตา ว่าคนหล่อ คนสวย ไม่เป็นคนพาลก็ไม่ได้ เพราะคนหล่อ คนสวย ที่เป็นพาลก็มาก
จะเอามาตรฐานทางด้านการศึกษามาวัดก็ไม่ได้ เพราะดอกเตอร์บางคนเป็นโจรก็มี
จะเอาความเป็นคนรวย คนจน มาเป็นมาตรฐานตัดสินก็ไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐีพาลก็มี เศรษฐีดีก็มี คนจนพาลก็มี คนจนดีก็มี
ลักษณะของคนพาลที่แท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้มาตรฐานทางธรรมไว้ว่า ให้เอากรรมหรือการกระทำมาเป็นมาตรฐาน คือคนที่ทำกรรมดีก็เรียกว่าคนดี คนที่ทำกรรมชั่วก็เรียกว่าคนชั่ว
ส่วนคนพาล คือคนที่ชอบคิดชั่ว ชอบพูดชั่ว ชอบทำชั่วเป็นปกติ เป็นอาจิณ ไม่ใช่นาน ๆ ถึงจะเผลอไปทำสักครั้งหนึ่ง
คิดชั่ว ได้แก่ คิดโลภ คิดพยาบาท คิดเห็นผิดเป็นชอบ
พูดชั่ว ได้แก่ พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
ทำชั่ว ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้
นี่คือลักษณะทั่วไปของคนพาล หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าคนชั่ว ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ใช้กรรมของเขาเองนั่นแหละเป็นเครื่องตัดสิน
โทษของการคบคนพาล
ถ้าหากเราหลงไปคบกับคนพาลเข้า อุปมาก็เหมือนกับเอาของแห้งไปวางไว้ใกล้ ๆ ของเปียก แล้วไม่ระมัดระวังให้ดี ของเปียกก็จะซึมเข้าไปในของแห้ง ของแห้งก็จะกลายเป็นของเปียกไป
หรือเหมือนกับเอาอาหารที่มีรสจืดมาวางไว้ใกล้ ๆ อาหารที่มีรสขม เดี๋ยวอาหารรสจืดก็จะพลอยมีรสขมตามไปด้วย
คนเราก็เหมือนกัน ถ้าไปอยู่ใกล้ ๆ คนพาล ก็จะติดนิสัยพาล ติดนิสัยชั่วของเขามา
เมื่อเข้าใกล้คนพาล คบกับคนพาล สิ่งแรกที่จะทำให้เราเสียคือ วินิจฉัย หรือการตัดสินใจว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เราจะตัดสินไม่ออก แล้วจะมีความเห็นผิดเป็นชอบตามเขาไปด้วย เพราะว่า คนพาลจะมีวิธีการตัดสินใจไม่เหมือนคนดี หลังจากที่เราคิดผิด ๆ ก็จะพูดผิด ๆ ทำผิด ๆ ตามมา
เพราะฉะนั้น สังคมใดมีคนพาลเข้าไปอยู่ จึงมักจะเกิดความวุ่นวาย และไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยของเราเท่านั้น แม้ประเทศอื่น ๆ ก็เหมือนกัน ถ้าครั้งใดได้คนพาลเข้ามาบริหารบ้านเมือง ไม่ว่าจะในระดับไหน ก็มักจะทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาทั้งนั้น
บางครั้งทำให้เกิดสงครามตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน จนกระทั่งถึงระดับโลกก็มี เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนนักหนาว่าอย่าคบคนพาล
ประเภทของคนพาล คนพาลแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. พาลภายนอก ได้แก่ คนเลว คนชั่วทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
๒. พาลภายใน ได้แก่ ตัวเราเอง ถ้าครั้งใดเผลอไปคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วเข้า เราก็คือคนพาลเหมือนกัน
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วรีบแก้ไขเสีย ไม่ใช่มัวแต่ผัดผ่อนรอให้คนอื่นเขาแก้ไขกันเสียก่อน แล้วเราจะแก้ไขตัวเอง เป็นคนสุดท้าย ถ้าอย่างนี้เราก็คือ คนพาลตัวจริง และจะเป็นพาลไปข้ามภพข้ามชาติทีเดียว
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๓๕ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘
คนพาลมีลักษณะอย่างไร คบกับคนพาลมีโทษอย่างไร
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:02
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: