การสร้างความคิดสร้างสรรค์





เรื่องความคิดสร้างสรรค์นี้  มีตัวอย่างจากพระอรหันต์ผู้เป็นเอตทัคคะรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล คือ ท่านจุลปันถก ประวัติท่านน่าทึ่งทีเดียว

พระพี่ชายของท่าน คือ พระมหาปันถก เป็นพระอรหันต์ ท่านออกบวชตามพระพี่ชาย ท่านเป็นคนหัวทึบมาก พระพี่ชายให้ท่านท่องคาถาแค่คาถาเดียว น้องเป็นคนหัวทึบมาก  มีอยู่แค่ ๔ วรรค ๔ เดือน ท่านก็ญังไม่สามารถจำได้ สาเหตุเป็นเพราะว่าในอดีตชาติท่านเคยเป็นคนฉลาดมาก  แต่เห็นคนอื่นเขาหัวดีสู้ตัวเองไม่ได้ เลยหัวเราะเยาะดูถูกเขา  วิบากกรรมตามมาท่านจึงกลายเป็นคนหัวทึบ ก็ขอให้พวกเราอย่าไปดูถูกใคร เพราะเป็นสิ่งไม่ดี และกฎแห่งกรรมก็น่ากลัว ต้องป้องกันเอาไว้ก่อน

มาดูว่าท่านจุลปันถกท่านคิดอย่างไรที่ใช้เวลา ๔ เดือน แต่ท่องไม่ได้แม้แต่คาถาเดียว  พระพี่ชายก็เห็นว่า พระน้องชายของท่านคงไปไม่ไหวแล้ว ไม่มีวาสนาในพระพุทธศาสนาแล้ว ให้ท่องคาถาแค่คาถาเดียว ๔ วรรค ๔ เดือนยังจำไม่ได้  ท่านจุลปันถกเองก็น้อยใจ คิดจะลาสิกขา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยข่ายพระญาณ ทรงทราบว่าจริง ๆ แล้ว บุญของพระจุลปันถกมีมากพอที่จะบรรลุธรรมได้ พระองค์จึงเสด็จมาโปรด

ทรงให้พระจุลปันถกเอาผ้าขาวมาหนึ่งผืนแล้วให้ท่านนั่งลูบผ้าไป  พระจุลปันถกก็ทำตาม และบริกรรมคำว่า  "รโชหรณํ  รโชหรณํ" ซึ่งแปลว่า ผ้าเช็ดธุลี ไปสักระยะหนึ่ง  พอเหงื่อไคลเริ่มออกท่านก็เห็น ผ้าขาวผืนนั้นเริ่มมีสีคล้ำ ๆ ท่านเลยได้คิดว่าสรีระคนเราไม่ใช่ของสะอาดเลย ผ้าขาวแท้ ๆ ถูไปถูมา สียังเปลี่ยนไปได้ ท่านจึงน้อมนำใจตั้งลงสู่ศูนย์กลางกายพิจารณาไป ใจหยุดนิ่งไป สุดท้ายก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตรงนั้นเอง และเป็นผู้ที่มีฤทธิ์มากด้วย มีมโนมยิทธิ หมายถึงฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ แปลงกายได้นับพันกาย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศทางด้านมีมโนมยิทธิ



พวกเราตอนเริ่มต้นฉลาดกว่าพระจุลปันถกอีก ให้ท่องกลอนสัก ๔ วรรค ไม่ต้องใช้เวลาถึง ๔ เดือน แค่ไม่กี่นาทีก็ท่องได้ แต่นี่ท่านท่อง ๔ วรรคเท่านั้น ใช้เวลา ๔ เดือนยังท่องไม่ได้ หัวทึบขนาดนั้น  แต่สุดท้ายท่านเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยการทำใจหยุดนิ่ง พอใจหยุดนิ่งมันเหมือนไขกุญแจ คลิกเข้าไปสู่ขุมคลังแห่งปัญญาอันกว้างใหญ่ไพศาล มีความคิดสร้างสรรค์แบบไม่รู้จบ จนกระทั่งปราบกิเลสในตัวได้หมด และได้เป็นเลิศทางด้านมโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจด้วย

ตรงนี้นี่เอง คือ กุญแจไขไปสู่ทุกสิ่งทุกอย่าง สู่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สู่การทำใจให้สงบ อาตมภาพเองก็เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านมอบหมายให้ไปศึกษาต่อทางพระพุทธศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่น อาตมาก็ไป ตอนนั้นทั้งประเทศญี่ปุ่นมีพระไทยอยู่รูปเดียว คือ ตัวอาตมภาพเอง วัดก็ยังไม่มี อุบาสก อุปัฏฐาก ก็ยังไม่มี ไปเดี่ยว ๆ ภาษาก็คุยกับเขายังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ต้องทำให้ได้ เพราะท่านมอบหมาย อาตมาก็ตั้งใจ

ตอนนั้นถ้าจะเปรียบทางโลก ก็คือ ทหารที่ออกจากฐานทัพ แล้วออกไปดงข้าศึกแค่คนเดียว ต้องคุ้มครองตัวเองให้ได้ ก็เลยตั้งใจว่า ไม่ว่างานจะยุ่งอย่างไรก็ตาม จะดึกดื่นเที่ยงคืนฟ้าสางอย่างไร จะต้องสวดมนต์ทำวัตร แล้วนั่งสมาธิทุกวัน ไม่ให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว แล้วก็จะเขียนบันทึกประจำวัน เพื่อพิจารณาตนเอง ทบทวนตนเองแล้วสอนตนเองทุก ๆ วัน เราจะได้ไม่พลาด ก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา

ตอนที่จะเขียนวิทยานิพนธ์  ทั้งช่วงปริญญาโท และปริญญาเอก ต้องเพิ่มรอบการนั่งสมาธิเป็นหลายรอบขึ้นมา คือ ต้องเพิ่มช่วงสายด้วย พอฉันเช้าเสร็จก่อนจะเริ่มลงมือค้นคว้า ขีดเขียนวิทยานิพนธ์ต้องนั่งสมาธิก่อน หลังเพลต้องนั่งสมาธิต่ออีกรอบหนึ่งก่อน วันหนึ่งต้องนั่้ง ๓-๔ รอบ

ถามว่าเขียนวิทยานิพนธ์ต้องใช้เวลาเยอะมาก แล้วแบ่งเวลาไปปฏิบัติธรรมเยอะ ๆ อย่างนี้จะทันหรือ ตอบว่าไม่ได้เสียเวลาเลย เพราะการปฏิบัติธรรมทำให้ใจเรานิ่ง เวลาจะตรึกตรองขบคิดเรื่องอะไรมันทำให้ทะลุปรุโปร่ง ความคิดสร้างสรรค์มันเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วจะมีบางครั้งที่เจอประเด็นที่ยากจริง ๆ ว่าเรื่องนี้จะเอาอย่างไรดี  ก็จะรวบรวมข้อมูลทุกอย่าง ศึกษาจนกระทั่งกระจ่าง แต่ตรงข้อสรุปว่าจะเอาอย่างไรยังสรุปไม่ได้

พอศึกษาข้อมูลทั่วหมดแล้ว ก็นั่งสมาธิ นั่งเสร็จเรียบร้อยกลางคืนก็จำวัดเลย พอตื่นเช้าขึ้นมาจะได้คำตอบ การแก้ปัญหาของเราง่ายไหม ชาวโลกต้องคิดกันหัวแทบแตก แต่เราศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ แล้วก็นั่งสมาธิ หลับตาเบา ๆ สบาย ๆ เสร็จแล้วใจโปร่งเบาสบาย ตกกลางคืนก็จำวัดเลย ตื่นเช้าก็คิดออก ต้องบอกว่าอะไรจะสบายอย่างนี้ เพราะเราไม่ได้คิดคนเดียว ข้างนอกเหนื่อยนัก ให้กายละเอียดช่วยคิดบ้าง เช้ามาได้คำตอบ ฉะนั้นสบายมาก จึงได้คำตอบจากการศึกษาวิจัยหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ และก็มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางวิชาการของโลกได้ทีเดียว



เพราะฉะนั้น เรื่องนี้อาตมาคิดว่าสามารถปรับใช้ได้ในกรณีต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน คือเราจะแก้ปัญหาเรื่องอะไร ขอให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ครบถ้วน ให้กว้างที่สุด ครบถ้วนที่สุด ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสร็จแล้วถ้าหากยังคิดไม่ออก ให้ออกจากความคิด ทำใจให้สงบ แล้วเราจะพบทางออก พบคำตอบ นี่คือสูตรสำเร็จที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านฝากไว้กับเรา ศึกษาให้ถ้วนทั่ว ให้กว้างขวาง ให้ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสร็จแล้วถ้าหากยังคิดไม่ออก ให้ออกจากความคิด ทำใจของเราให้สงบ แล้วเราจะพบคำตอบ นี่คือหัวใจของการเกิดความคิดสร้างสรรค์ 

เจริญพร



Cr. พระมหาสมชาย  ฐานวุฑฺโฒ (M.D.,Ph.D.)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗๗ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
การสร้างความคิดสร้างสรรค์ การสร้างความคิดสร้างสรรค์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.