ทำไมคนเราถึงชอบทำความผิด ทั้งที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี


ถาม : หลวงพ่อเจ้าคะ ทำไมคนเราถึงชอบทำความผิด ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร?

ตอบ : พูดง่าย ๆ คือ "ดี ชั่ว รู้หมด แต่อดไม่ได้ที่จะทำ" ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ว่าได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการบังเกิดขึ้นของโลกแล้ว เนื่องจากใจของมนุษย์นั้นคุ้นกับกิเลสเหมือนอย่างกับปลาคุ้นน้ำ

ไม่เชื่อคุณลองไปจับปลาเป็น ๆ โยนขึ้นมาบนบกดูก็ได้ จะเห็นว่าปลาไม่ได้อยู่เฉย ๆ มันดิ้นรนเพื่อที่จะกลับลงไปในน้ำตามเดิม

ถ้าเอาการหายใจของมนุษย์เป็นเกณฑ์ เวลาอยู่ในน้ำปลาน่าจะหายใจไม่ออก หรือว่าน่าจะสำลักน้ำ ตอนอยู่บนบก มันน่าจะหายใจได้คล่องกว่า แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าปลามันคุ้นกับน้ำมากกว่าคุ้นกับอากาศ

มนุษย์ก็เหมือนกัน ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา ก็มีกิเลสฝังอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ ใจของคนเราจึงถูกกิเลสบีบคั้นมาตั้งแต่เกิด

กิเลสบีบคั้นใจของคนเราข้ามภพข้ามชาติมาแล้วยังไม่พอ ชาตินี้ยังตามมาบีบคั้นต่ออีก ใจของคนจึงคุ้นอยู่กับความไม่ดี เหมือนอย่างกับปลาคุ้นน้ำ และด้วยเหตุนี้เอง แม้จะรู้ว่าอะไรเป็นความดี ก็ยังไม่ค่อยจะทำ กลับชอบไปทำแต่ในสิ่งที่ไม่ดี

การแก้ไขตัวเองให้ทำแต่ความดีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องศึกษาให้รู้ว่า อะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่วแล้ว สิ่งที่จะต้องทำเพิ่มขึ้นมาอีกก็คือ
๑. หาบุคคลมาเป็นต้นแบบ หาบุคคลที่มีกำลังใจในการประกอบคุณงามความดี ทั้งที่เขาก็เคยทำไม่เข้าท่าเหมือนอย่างเรามาก่อน แต่ว่าวันนี้เขาสามารถเอาชนะใจตัวเองได้แล้ว

หาคนประเภทนี้มาเป็นครูให้ได้ แล้วเราจะเป็นคนที่โชคดียิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ร้อยครั้งเสียอีก

๒. เพิ่มกำลังใจให้กับตนเอง ถ้าหากหาบุคคลมาเป็นต้นแบบไม่ได้จริง ๆ ก็อย่าเพิ่งไป ยอมแพ้ แต่ต้องหัดเพิ่มกำลังใจให้กับตัวเองให้เป็น

โดยขั้นแรกหาคนที่พอจะรู้ใจและมีความปรารถนาดี อยากให้เราเป็นคนดี แล้วเข้าไปใกล้ชิดกับท่านเหล่านั้นบ่อย ๆ ก็พอจะได้กำลังใจจากท่านมาบ้าง แต่ว่าก็เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

๓. สร้างกำลังใจให้กับตนเอง วิธีที่สามารถสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น มีหลักง่าย ๆ คือ

วิธีที่ ๑ หมั่นตรึกนึกถึงโทษในนรก คือ หมั่นตรอง หมั่นพิจารณา ดูว่า ความผิด ความไม่เหมาะ ไม่ควร ต่าง ๆ นานา เมื่อไปทำเข้าจะมีโทษทางบ้านเมือง มีโทษต่อหน้าที่การงาน มีโทษต่อความเจริญก้าวหน้าของเราอย่างไร แล้วพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า โทษในฐานะที่เป็นบาป เป็นความชั่วนั้น นรกขุมไหนกำลังรอเราอยู่

ในกรณีนี้คงต้องไปหาหลวงปู่ ไปหาหลวงพ่อ ที่ฝึกสมาธิและแตกฉานในธรรมะมาก ๆ ซึ่งท่านสามารถจะชี้นรกขุมหนักๆ ให้เราดูได้

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้เราเกิดความอายบาป เกิดความกลัวบาป หรือว่าทำให้มีหิริโอตตัปปะขึ้นมา แล้วพลังแห่งความอายบาป กลัวบาป อายชั่ว กลัวนรกนี้ ก็จะกลายมาเป็นแรงผลักดันให้เราเกิดความกล้าที่จะฝืนใจ ไม่ย้อนกลับไปทำความชั่วอีกเลย

วิธีที่ ๒ หมั่นตรึกนึกถึงธรรมะ คือ หมั่นนั่งสมาธิให้มาก ๆ ห้ามมาพูดว่า "แม้กำลังใจที่จะนั่งสมาธิก็ไม่มี" ถ้าเป็นอย่างนั้นก็บอกได้คำเดียวว่า รีบ ๆ ตกนรกไปเสียเถอะ เพราะว่าธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยได้เฉพาะคนที่คิดจะช่วยตัวเองเท่านั้น ถ้ายังไม่คิดที่จะช่วยตัวเอง ใคร ๆ ก็ช่วยไม่ได้

ในการนั่งสมาธิครั้งแรก ๆ อาจจะมีความรู้สึกเมื่อย รู้สึกง่วงบ้าง หรือหลับตาแล้วมืดตื้อมืดมิด คิดอะไรไม่ออก ก็ไม่เป็นไร ทำต่อไปสักระยะหนึ่ง ไม่ช้าใจจะสงบ ใจจะนิ่ง ใจจะสว่างขึ้นมาได้เอง

เพราะฉะนั้น วิธีสร้างกำลังใจให้กับตัวเองที่ได้ผลอย่างยิ่งก็คือ การนั่งสมาธิ 

วิธีที่ ๓ สร้างบรรยากาศในการทำความดี วิธีนี้ความจริงเป็นวิธีประกอบ แต่ว่าก็ได้ผลดี ปู่ย่าตาทวดได้ทำให้ดูเป็นแบบอย่างแล้ว แต่คนรุ่นหลังไม่ค่อยจะทำตามกัน

คือ ปู่ย่าตาทวดของเราท่านสร้างห้องพระเอาไว้สำหรับสวดมนต์และนั่งสมาธิ ซึ่งก็เหมือนเป็นการจำลองเอาพระนิพพานมาไว้ในบ้านนั่นเอง

แล้วในห้องพระนั้น ก็มีทั้งพระพุทธรูป มีทั้งรูปบรรพบุรุษที่ตั้งวงศ์ตระกูล ที่สร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่น ที่ประกอบคุณงามความดีเอาไว้มากมาย รูปดี ๆ อย่างนี้คงมีอยู่ในห้องพระของทุกบ้านอยู่แล้ว ถ้าจะเพิ่มขึ้นอีก โดยนอกจากจะติดไว้แต่ในห้องพระ ก็เอามาติดไว้ให้รอบบ้าน หรือเอาไปติดไว้ในที่ทำงานด้วย หลวงพ่อว่าก็คงจะดี

ส่วนรูปที่ไม่เหมาะสม เช่น รูปดาราภาพยนตร์ รูปโป๊ รูปโฆษณาเหล้า รูปโฆษณาบุหรี่ หรือรูปโฆษณาอะไรต่ออะไรที่ไม่เข้าท่า เอาไปโยนทิ้ง เอาไปเผาทิ้งเสียให้หมด เพราะมีเอาไว้นอกจากจะทำให้เกะกะแล้ว ยังเป็นอัปมงคล ทำให้เทวดาไม่อยากมาลงรักษาบ้านของเราอีกด้วย

และไม่เฉพาะภาพบรรพบุรุษของเราเท่านั้น แม้แต่รูปบรรพบุรุษของชาติ หรือรูปในหลวงของเรา ก็ควรเอามาจัดไว้ให้เต็มบ้าน เนื่องจากท่านเหล่านั้น ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจให้กับพสกนิกร มาตลอดพระชนมชีพ ไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากใด ๆ เมื่อมีรูปของท่านเอาไว้กราบไหว้บูชา เราก็จะได้มีกำลังใจที่จะทำความดีตามอย่างท่านบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคุณผู้ชายทั้งหลาย ใครที่เคยบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว รูปตัวเองสมัยที่บวช หรือว่ารูปของพระอุปัชฌาย์นั่นแหละ ไปหาเอามาติดไว้ดูบ้าง จะได้นึกถึงความหลัง เมื่อครั้งที่ได้บวชเป็นพระภิกษุ

เพราะฉะนั้น เมื่อบรรยากาศในการสร้างความดี ทั้งที่ทำงาน ทั้งที่บ้าน ทั้งในห้องพระ ห้องนอน มีอยู่พร้อมไปหมดอย่างนี้ กำลังใจที่จะสู้กับกิเลส กำลังใจที่จะเพิ่มพูนความดี ให้กับตัวเอง ก็จะทับทวีนับอสงไขยไม่ถ้วนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วเราก็จะคุ้นเคยอยู่กับการทำความดี เหมือนอย่างกับปลาคุ้นน้ำ จนกระทั่งกลายเป็นคนดีที่โลกต้องการ

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญฉบับที่ ๓๓ ประจำเดือนกรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ทำไมคนเราถึงชอบทำความผิด ทั้งที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี ทำไมคนเราถึงชอบทำความผิด ทั้งที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.