วันคุ้มครองโลก






ถามว่าจะทำอย่างไรให้ชาวโลกทั้งหลายดำรงชีพอยู่บนโลกได้อย่างสงบสุข ปลอดภัยทั้งภพนี้และภพหน้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักธรรมเอาไว้ว่า หิริ โอตตัปปะ คือ ธรรมคุ้มครองโลก ทรงเรียกว่า ธรรมเป็นโลกบาล แปลว่าธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก หิริกับโอตตัปปะต่างกันดังนี้

หิริ คือ ความละอายต่อบาป ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า เราเห็นเหล็กเปื้อนอุจจาระอยู่ท่อนหนึ่ง เรามีความรู้สึกรังเกียจไม่อยากจะจับต้องเหล็กท่อนนั้น ความรู้สึกรังเกียจนี้เปรียบได้กับหิริ ความละอายบาป ไม่อยากทำบาป ถ้าจะให้ทำก็รู้สึกฝืนใจ

ส่วนโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป ก็คือ เกรงกลัวต่อผลบาปที่ทำ เปรียบเสมือนมีเหล็กอยู่ท่อนหนึ่ง เอาไปเผาไฟให้ร้อนแดง เราไม่กล้าจับเหล็กท่อนนั้น กลัวจะไหม้มือ อาการอย่างนี้เปรียบได้กับโอตตัปปะ ความเกรงกลัวบาป

ใครก็ตามที่มีหิริ โอตตัปปะ คนนั้นจะสามารถคุ้มครองตัวเองให้ปลอดภัยในโลกนี้และมีความสุขในโลกหน้าได้ หิริ โอตตัปปะ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทวธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ใครก็ตามมีหิริ โอตตัปปะ แล้วละก็ อยู่บนโลกก็เป็นเสมือนเทวดาเดินดิน ละโลกไปแล้ว ก็ไปเป็นเทวดาจริง ๆ เพราะอายบาป กลัวบาป จึงละเว้นจากความชั่ว บาปอกุศล

หากชาวโลกมีหิริโอตตัปปะกันทั่วหน้า สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ บนโลกจะดีแน่นอน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จริง ๆ แล้วมักเกิดจากคนเราขาดความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ตัวอย่างเช่น การตัดไม้ทำลายป่า ถามว่ารู้ไหมว่าไม่ดี รู้ไหมว่าผิด ก็พอรู้ แต่ว่าอยากได้เงินจึงยอมทำสิ่งที่ผิด ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ รู้ไหมว่าไม่ถูกต้อง ก็รู้ แต่ว่าถ้าจะลงทุนขุดบ่อบำบัดน้ำเสียก็เปลืองเงิน จึงปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คนอื่นจะเป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมจะเสียหายอย่างไรก็ช่าง

ถ้าลองถามตัวเองดูว่า ในชีวิตประจำวันของเรา เรากลัวอะไรมากที่สุด พิจารณาดี ๆ เราจะพบว่า ที่น่ากลัวอันดับหนึ่ง คือ คนไม่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในคราบโจร ขโมย อันธพาล หรือบางครั้งอาจมาในสภาพของผู้มีอำนาจในแวดวงต่าง ๆ เรากลัวเขาจะมากลั่นแกล้ง กลัวเขาจะมาทำร้าย ภัยที่มาจากคนพาล คือ สิ่งที่น่ากลัวอันดับหนึ่ง

โลกที่ร้อนรนในปัจจุบันเกิดจากคนขาดหิริ โอตตัปปะ นั่นเอง เพราะฉะนั้นจะคุ้มครองโลกได้ เราจะต้องสร้างหิริ โอตตัปปะ ให้เกิดขึ้นในใจของเราก่อน แล้วก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้ความละอายเกรงกลัวต่อบาปนี้ เกิดในสังคมไทยและสังคมโลกให้มากที่สุด ยิ่งมากเท่าไรโลกของเราก็จะ ได้รับการคุ้มครองมากไปตามส่วน



เครื่องเหนี่ยวรั้งใจคนไม่ให้ทำบาปโดยหลักมีอยู่ ๓ ประการ

ประการที่ ๑ คือ คำสอนของศาสนา ทำให้ไม่กล้าทำบาป ไม่อยากทำบาป ทั้งอายและกลัวที่จะทำบาป เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี กลัวผลบาปจะเกิดขึ้นกับตนทั้งภพนี้และภพหน้า เรียกว่ามีเบรกในใจ มีแรงเหนี่ยวรั้งในใจ อันเกิดจากคำสอนของศาสนา

ประการที่ ๒ คือ กติกาของสังคม เช่น ประเพณี กฎระเบียบ กฎหมาย ถ้าใครไปฝืนกฎกติกาของสังคม ก็จะได้รับการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นกติกาสังคมแบบอ่อน เช่น ประเพณีวัฒนธรรม ใครอยู่ในสังคมใดถ้าทำสิ่งที่ผิดจารีตประเพณี ผิดวัฒนธรรมของสังคมนั้น คนรอบข้างก็จะเริ่มมองไม่ดี และเป็นแรงกดดันให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่เป็นสุข ถือว่าเป็นการลงโทษแบบอ่อน ถ้าเป็นกติกาสังคมแบบแข็ง ก็คือ ออกเป็นกฎหมาย ใครทำผิดก็ลงโทษตามกฎหมาย คนก็จะกลัว เพราะบางคนไม่กลัวเรื่องบุญบาป แต่กลัวตำรวจจะมาจับ กลัวจะถูกลงโทษ จะถูกปรับ จึงไม่กล้าทำผิด อันนี้เป็นแรงเหนี่ยวรั้งจากกติกาสังคม

ประการที่ ๓ คือ ครอบครัว เวลาจะทำสิ่งที่ไม่ดี พอนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ ก็เกิดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำดีกว่า เดี๋ยวท่านจะไม่สบายใจ ด้วยความรักความกตัญญูต่อท่าน ยิ่งครอบครัวใดมีสายสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นเหนียว ลูกมีความรักกตัญญูต่อพ่อแม่มาก สิ่งนั้นก็จะเป็นเครื่องคุ้มครองตัวลูกไม่ให้ถลำไปในทางที่เสื่อม เพื่อนฝูงจะมาชักชวนอย่างไร ก็มีความรักพ่อแม่ช่วยเหนี่ยวรั้งใจอยู่

เครื่องเหนี่ยวรั้งใจทั้ง ๓ ประการนี้ ยิ่งแข็งแรงมากขึ้นเพียงใด เบรกในใจที่จะไม่ทำบาปทำกรรมของคน ๆ นั้น ก็จะแข็งแรงมากขึ้นเพียงนั้น แต่ถ้าเครื่องเหนี่ยวรั้งใจทั้ง ๓ ประการนี้อ่อนแรงลงมากเท่าใด ผลร้ายก็จะตามมามากไปตามส่วน ดังตัวอย่างในสังคมระดับประเทศ ประเทศใดที่คนไม่มีความเชื่อเรื่องศาสนา ระบบครอบครัวก็จะอ่อน มิหนำซ้ำ ถ้ากติกาสังคมไม่แข็ง คนก็ไม่กลัวกฎเกณฑ์สังคม ไม่เคารพกติกาสังคม รับรองว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นมาก แต่ถ้า ๓ อย่างนี้แข็งแรง ก็จะอยู่กันเป็นสุขทีเดียว

ดังนั้น ถ้าพวกเราทุกคนจะเริ่มคุ้มครองโลก ก็ขอให้เริ่มที่ตัวเองก่อน สำรวจตัวเราให้ดี ปรับปรุงพัฒนาให้ดี ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีดีบ้าง ไม่ดีบ้างผสมกัน แต่ความแตกต่างอยู่ที่ว่า ใครรู้ตัวว่าต้องมีหิริ โอตตัปปะ และจะต้องฝึกสิ่งที่เกื้อหนุนต่อคุณธรรมความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้น ๆ หมั่นสำรวจข้อบกพร่องของตัวเองและรีบปรับปรุงแก้ไข คนนั้นก็จะเจริญขึ้น ๆ แต่คนไหนแม้เริ่มต้นจะมีต้นทุนเท่ากัน แต่ถ้าปล่อยตามใจตัวเอง สุดท้ายก็จะลำบาก


เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีคนในปกครอง จะเป็นลูกก็ตาม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาก็ตาม ให้ช่วยอบรมปลูกฝังให้เขามีหิริ โอตตัปปะ ถ้ามีลูกก็สอนลูกทั้งเรื่องของบุญ เรื่องของบาป โลกนี้ โลกหน้า นรก สวรรค์ อย่าคิดว่าเขายังเด็กคงไม่รู้เรื่อง ยิ่งเป็นเด็กยิ่งสอนง่าย ปลูกฝังได้ลึก ถ้าลูกทำอะไรไม่ถูก พ่อแม่ต้องอธิบายเหตุผลให้ทราบว่า ไม่ดีเพราะอะไร และจะส่งผลอย่างไร ไม่ใช่การขู่เด็ก แต่ต้องอธิบายเหตุผลโยงให้เห็นชัดเจน ยกตัวอย่างเรื่องราวทั้งจากพระไตรปิฎกและในปัจจุบันของคนที่ทำดีแล้วได้ไปสวรรค์ กับคนที่ทำบาปแล้วตกนรก ค่อย ๆ เล่า ค่อย ๆ ปลูกฝัง หิริโอตตัปปะ จะซึมซาบฝังอยู่ในใจเด็กจนตลอดชีวิต
มีโยมคนไทยคนหนึ่ง สามีเป็นชาวญี่ปุ่น มีลูกสาวอายุประมาณ ๕ - ๖ ขวบ พ่อซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เป็นคนสูบบุหรี่จัดมาก แทบจะมวนต่อมวน แต่เชื่อไหมว่าพ่อเลิกบุหรี่ได้เพราะลูก สาเหตุเพราะว่า พอลูกอายุได้ไม่กี่ขวบ แม่ก็พาลูกมาวัด มาดูดาวธรรม ได้ฟัง ได้เห็น ภาพของนรกว่าน่ากลัวแค่ไหน ใครสูบบุหรี่จะตกนรก จะเจอบุหรี่เป็นท่อนเหล็กแดงมาทุบ มานาบ เด็กจำมาแล้วก็รู้ว่าบุหรี่ไม่ดี ถ้าเห็นคุณพ่อสูบเมื่อใด ก็จะรีบไปเอาบุหรี่จากคุณพ่อ แล้วบอกว่าอย่าสูบนะคะ เดี๋ยวมันจะบาป เดี๋ยวตกนรก เจอลูกขอทุกครั้ง สุดท้ายคุณพ่อเขินเลยเลิกบุหรี่ได้
เพราะฉะนั้น เราต้องกล้าที่จะบอกความจริงแก่ทุกคนถึงเรื่องผลแห่งบุญ บาป นี่ไม่ใช่เรื่องเชย หรือไม่เชย แต่มันคือความจริงของโลกและชีวิตที่ทุกคนจะต้องรู้ อยู่ที่ว่าเราจะรู้ตอนเป็นหรือจะไปเห็นตอนตาย รู้ตอนยังเป็น ๆ เพื่อจะได้แก้ไขทัน หรือว่าจะรอให้ตายไปแล้ว ไปเจอเข้าจริง ๆ กับตัวเอง ซึ่งแก้ไขไม่ทันแล้ว มันอันตรายเกินไป ดังนั้น ควรมาศึกษาความรู้ที่แท้จริงของชีวิตตั้งแต่ตอนนี้ เรียนทั้งตัวเองด้วยและสอนคนรอบข้างด้วย

ผู้ที่เริ่มต้นที่ตนเอง และปลูกฝังหิริโอตตัปปะให้คนรอบข้าง ขยายวงกว้างไปถึงสังคม ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกอย่างนี้ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองโลก แล้วโลกทั้งใบจะสงบร่มเย็นได้โดยมีจุดเริ่มต้นที่พวกเราทุกคน




Cr. พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.,Ph.D.)
จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗๘ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒
วันคุ้มครองโลก วันคุ้มครองโลก Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:33 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.