วิสาขบูชา ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า






วิสาขบูชา
ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในมุมมองของนักสร้างบารมี เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วว่า วันวิสาขบูชา คือ วันที่เรามาระลึกนึกถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเป็นวันที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือน ๖

อาตมาอยากจะฝากข้อคิดถึงความประเสริฐสูงส่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของชาวพุทธ มองในแง่ทั่วไปที่ชาวโลกแม้จะนับถือศาสนาอื่นก็สามารถไตร่ตรองแล้วยอมรับได้ว่า ประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นงดงามมาก

ปกติสิ่งที่ชาวโลกทั่วไปแสวงหา หลักๆ ก็คือ
๑. ทรัพย์สินเงินทอง    
๒. หน้าที่การงาน เกียรติยศ การยอมรับจากสังคม    
๓. ครอบครัวที่อบอุ่น ร่มเย็นเป็นสุข 

ที่ชาวโลกส่วนใหญ่ยอมเหนื่อยกันทั้งชาติ ก็เพราะต้องการไขว่คว้าหา ๓ สิ่งนี้ แต่ว่าทั้ง ๓ ประการนี้ เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีอยู่พร้อมแล้ว ในแง่ทรัพย์สินเงินทองก็บริบูรณ์พร้อมทุกอย่าง มีปราสาท ๓ ฤดู หน้าร้อนก็อยู่ปราสาทที่ทำให้เย็นสบาย หน้าหนาวก็อยู่ในปราสาทที่ทำให้อบอุ่น หน้าฝนก็อยู่ในปราสาทที่ สามารถชื่นชมทัศนียภาพรอบตัวได้อย่างดี คือ เหมาะเจาะบริบูรณ์ทุกอย่าง

คนที่ป่วยไข้ไม่สบายไม่เคยเห็นเลย เห็นแต่คนหนุ่ม คนสาว ทุกอย่างมีแต่ความเจริญตาเจริญใจ ในเรื่องฐานะ การงาน การยอมรับจากสังคม พระองค์ก็เป็นรัชทายาท กำลังจะขึ้นครองราชย์ เกิดมาก็เป็นเจ้าชาย ซึ่งเป็นฐานะที่มั่นคง ไม่ใช่ว่าครบ ๔ ปีก็ต้องมาเลือกตั้ง ในเรื่องของครอบครัว พระมเหสี คือ พระนางพิมพา ก็เป็นหญิงเบญจกัลยาณี งามทั้งกาย งามทั้งใจ จรรยามารยาท ศักดิ์ตระกูลทุกอย่างพร้อมหมด สิ่งที่ชาวโลกแสวงหา เจ้าชายสิทธัตถะมีพร้อมอยู่แล้ว แต่พระองค์ทรงสละสิ่งเหล่านี้ออกไป เพื่อไปหาสิ่งที่ประเสริฐสูงส่งกว่า คือ โมกขธรรม การตรัสรู้ธรรม

ขณะที่ชาวโลกกำลังแสวงหาสิ่งต่าง ๆ อยู่นั้น พระองค์ซึ่งมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ กลับทรงทิ้งไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีอะไร ครองผ้า ๓ ผืนอยู่ในป่า ตั้งใจบำเพ็ญเพียร เพื่อแสวงหาหนทางสู่การตรัสรู้ธรรม จนกระทั่งทรงค้นพบในวันวิสาขบูชา แล้วก็ทรงนำธรรมะที่พระองค์ทรงค้นพบนั้นมาเผยแผ่ อบรมสั่งสอน แก่ชาวโลกตลอดมา ไม่มีใครเลยที่สามารถกล่าวหาได้ว่า พระองค์มาตั้งตัวเป็นศาสดา เพราะหวังจะอาศัยความเป็นศาสดาแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว พระองค์มีแต่สละสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วมาสู่ความเป็นผู้ไม่มีอะไร ความเป็นศาสดาของพระองค์งามพร้อม เป็นสุนทรียภาพประการหนึ่งที่เราชาวพุทธควรจะภาคภูมิใจ

หลังจากพระองค์ตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็ทรงเผยแผ่หลักธรรมมาตลอด ๔๕ พรรษา พระองค์ไม่เคยใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเลย ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงสักเพียงใดเกิดขึ้นก็ตาม เช่น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ก็เป็นเสมือนดวงตะวันที่ข่มแสงของหิ่งห้อยให้อับแสงลง นักบวชนอกพระพุทธศาสนามีคนเลื่อมใสน้อยลง ทำให้เสื่อมจากลาภที่ตัวเองเคยมี นักบวชเหล่านั้นเสียลาภก็โกรธแค้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงวางแผนแกล้งพระพุทธองค์ให้เสียชื่อเสียง ถึงขนาดใส่ร้ายป้ายสีว่าพระพุทธเจ้าทำให้ผู้หญิงท้อง อย่างนางจิญจมาณวิกาก็มี ทำร้ายผู้หญิง ฆ่าหมกศพอย่างนางสุนทรีก็มี สารพัดอย่าง แต่พระองค์ก็ทรงยึดหลักไม่สู้ ไม่หนี แต่ว่าทำความดีเรื่อยไป ทรงนึกถึงบุญบารมีที่พระองค์เคยทำมา สุดท้ายความจริงก็ปรากฏทุกครั้ง

บางครั้งไปบางเมือง ผู้มีอำนาจในเมืองนั้นจ้างให้คนรุมด่าพระองค์ทั้งเมือง เวลาทรงออกบิณฑบาต มีคนรุมด่า ๒ ข้างทาง จนพระอานนท์ทนไม่ไหว กราบทูลอาราธนาเสด็จไปเมืองอื่น พระพุทธเจ้าถามว่า "แล้วถ้าไปเมืองอื่นมีคนเขาด่าอีกจะว่าอย่างไร" พระอานนท์ก็กราบทูลว่า "ไปเมืองอื่นต่อ" พระพุทธเจ้าทรงห้ามว่า "อย่าเลย เหตุเกิดที่ใดให้ดับที่นั่น" พระองค์ทรงนิ่ง ๆ เฉย ๆ ทรงทำความดีเรื่อยไป สุดท้ายความจริงก็ปรากฏขึ้นมา และเป็นเครื่องเสริมพระพุทธคุณให้โดดเด่นเป็นสง่า ให้เกียรติคุณขจรขจายมากยิ่งขึ้นไปอีก





ครั้งหนึ่งพระเทวทัตวางแผนจะโค่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หวังจะเป็นใหญ่ จะเป็นศาสดาแทน วางแผนเข้าไปตีสนิทกับเจ้าชายอชาตศัตรู หวังจะอาศัยอำนาจทางโลกมาช่วยให้ตนยึดอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ได้ ไปหลอกจนพระเจ้าอชาตศัตรูเลื่อมใส แล้วก็ทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นพระราชบิดา แล้วขึ้นครองบัลลังก์แทน แล้วก็ใช้อำนาจของพระเจ้าอชาตศัตรู กลั่นแกล้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกอย่าง มีอยู่คราวหนึ่งให้มอมเหล้าช้างนาฬาคิรีให้เมา แล้วก็ปล่อยออกมา หวังให้แทงพระพุทธเจ้าให้ปรินิพพาน พอช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาใกล้ พระอานนท์ออกไปยืนขวางหน้าพระพุทธเจ้า ยอมตายก่อนจน พระพุทธเจ้าต้องเรียกกลับ แล้วก็ใช้กระแสพระเมตตาจนกระทั่งช้างนาฬาคิรีสยบอยู่แทบพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง
เหตุการณ์จะวิกฤตเพียงใด ร้ายแรงเพียงไหน พระองค์ไม่เคยตอบโต้ด้วยความรุนแรง มีแต่ความสงบเย็นตลอดมาทั้ง ๔๕ พรรษา พระองค์ไม่เคยสอนชาวพุทธให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยความรุนแรงตลอด ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา กระแสแห่งพุทธธรรมจึงเป็นประดุจธรรมธาราอันชุ่มเย็น ซึมซาบไปในใจของชาวโลกทั้งมวล ส่องสว่างนำทางชีวิตผู้คนทั้งหลาย

พระพุทธศาสนาไม่เคยมีสงครามศาสนา เคยมีนักบวชผู้เผยแผ่ศาสนาอื่นมาศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา หวังจะมาจับผิด จะได้เอามาเป็นข้อโจมตี เปลี่ยนให้ชาวพุทธหันไปนับถือศาสนาของเขา แต่ด้วยความที่นักบวชท่านนี้เป็นคนที่มีใจเป็นธรรมพอสมควร เมื่อศึกษามากขึ้นกลับหาข้อติไม่เจอ เจอแต่ข้อที่ควรชื่นชม จนสุดท้ายท่านก็เปลี่ยนมาเป็นชาวพุทธ และกล่าวไว้ว่า "เพียงพิจารณาจากความจริงที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีคำสอนที่ไม่เบียดเบียน ข้อนี้เพียงประการเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา ยังไม่ต้องกล่าวถึงหลักธรรมที่เลิศเลอประการอื่นใดทั้งสิ้น"  แล้วเขาก็ได้บำเพ็ญตนเป็นผู้ประกาศพระพุทธธรรมที่ขยันขันแข็ง เอาจริงเอาจัง ทุ่มเททั้งชีวิตตลอดมา นี้ก็คือสุนทรียภาพในพระบรมศาสดา ในธรรมะที่พระองค์ทรงสอนพวกเรา ให้พวกเราชาวพุทธทุกคนภูมิใจเถิดที่เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ นับถือพระพุทธศาสนา มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง แล้วตั้งใจเอาวันวิสาขบูชาเป็นจุดเริ่มต้นของเราให้เราเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์แบบ




ถามว่าทำอย่างไรจะสมบูรณ์แบบ ให้ยึดหลักใหญ่ ๆ ๒ ประการ 

ประการแรก ก็คือ ตั้งใจปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมกับความเมตตาของพระองค์ ที่อุตส่าห์สร้างบารมีมายาวนาน ทนทุกข์ทรมานทุกอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อจะนำธรรมะมาสอนเรา โดยย่อ ๆ ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา  

ทาน  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสละทั้งชีวิต ไม่ใช่แค่ภพสุดท้ายชาติเดียวเท่านั้น แต่ว่าตลอดการสร้างบารมี  "ดวงตาทั้งสองที่ควักออกมาสละเป็นทานมากกว่าดวงดาวบนฟ้า เนื้อที่เฉือนออกเป็นทานรวมกันแล้วสูงใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาพระสุเมรุ เลือดที่พระองค์สละเป็นทาน รวมกันแล้วมากกว่าน้ำในมหาสมุทร"  พระองค์สละได้ทั้งชีวิตนับภพนับชาติไม่ถ้วน ตัวเราแค่เพียงสละทรัพย์เล็ก ๆ น้อย ๆ เราต้องสละได้ ตั้งใจบำเพ็ญทานบารมีตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศีล  พระองค์ทรงเจอวิกฤตร้ายแรงเพียงใด ก็ไม่ยอมแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ด้วยความไม่ถูกต้อง เราเองก็เช่นเดียวกัน จะต้องเป็นคนที่มีศีลมีธรรม ไม่แก้ปัญหาด้วยการผิดศีลเด็ดขาด ไม่ว่าจะอยู่ในวิกฤตร้ายแรงเพียงใดก็ตาม ยึดหลักของศีลให้มั่นคงอยู่ในใจของเรา แก้ปัญหาด้วยความถูกต้อง ด้วยความเมตตาเสมอ ไม่สู้ ไม่หนี แล้วก็เดินหน้าทำแต่ความดีเรื่อยไป แม้บางครั้งจะต้องกล้ำกลืนน้ำตาแล้วเดินหน้าสร้างบารมีก็ต้องทำ แต่ให้แก้ปัญหาด้วยความไม่ถูกต้อง ด้วยการผิดศีลผิดธรรม เราต้องไม่ทำอย่างเด็ดขาด

การเจริญสมาธิภาวนา  ในวันสุดท้ายก่อนตรัสรู้ธรรม พระองค์ทรงนั่งขัดสมาธิอยู่บนบัลลังก์หญ้า ใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ยามต้นทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ มีญาณหยั่งรู้ ระลึกชาติตัวเองได้ ยามสองทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ มีญาณหยั่งรู้เห็นการไปเกิดมาเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยามสามทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ทำกิเลสให้สิ้นไป ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชา

เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนต้องขยันนั่งสมาธิ เพราะกว่าพระองค์จะตรัสรู้แล้วพบวิธีการนำใจเข้ากลางของกลางไปตามเส้นทางสายกลาง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นเรื่องที่ยากแสนยาก เมื่อทรงรู้วิธีนี้และนำมาบอกกับเราแล้ว เราก็ต้องตั้งใจดำเนินจิตไปตามหนทางที่พระองค์ทรงแนะนำเอาไว้ ถ้าเราทำครบทั้ง ทาน ศีล ภาวนา ก็ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นการบูชาที่สูงสุด

นอกจากนี้ เรายังต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ช่วยแนะนำบุคคลรอบข้างที่เรารู้จัก ให้เขาได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ ถึงความประเสริฐของหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา แล้วให้เขาได้ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม เป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับเรา นี้เป็นการดำเนินตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นยอดกัลยาณมิตรของโลก ถ้าใครทำได้ทั้ง ๒ ส่วน ทั้งบำเพ็ญประโยชน์ตนด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา แล้วบำเพ็ญประโยชน์ท่าน คือ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้กับชาวโลกด้วย ก็จะได้ชื่อว่าทำหน้าที่ชาวพุทธที่สมบูรณ์แล้ว ตรงตามปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมอบให้ในวันปรินิพพานว่า "ให้ชาวพุทธทุก ๆ คน ตั้งใจดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท โดยบำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม"




Cr. พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.,Ph.D.)
จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๗๙  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๒
วิสาขบูชา ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  วิสาขบูชา ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:47 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.