จำเป็นไหม เวลาทำบุญแล้ว ต้องกรวดน้ำด้วยทุกครั้ง


ถาม : หลวงพ่อครับ ทำไมเวลาทำบุญต้องกรวดน้ำด้วย ไม่ทราบว่าธรรมเนียมการกรวดน้ำมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วถ้าลืมกรวดน้ำจะมีผลอย่างไรบ้างครับ

ตอบ : คุณโยม ประเพณีการกรวดน้ำนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นสมัยพุทธกาลเลยทีเดียว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้พระเจ้าพิมพิสารผู้สร้างวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติของพระองค์ในอดีต ซึ่งได้ทำกรรมไม่ดีไว้ ครั้นเมื่อละโลกไปแล้ว ญาติเหล่านั้นได้ไปเกิดเป็นเปรต แล้วมารอรับส่วนบุญอยู่เป็นพุทธันดรเลย

เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารทรงระลึกชาติไม่ได้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ญาติของพระองค์เองในอดีตชาติมาเกิดเป็นเปรต แล้วก็ไม่รู้ว่าเขามารอรับส่วนบุญส่วนกุศลมาเป็นพุทธันดรเลย เพราะฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงทำบุญแล้ว เลยไม่ได้ทรงอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่เป็นเปรต ญาติก็ยังเป็นเปรตต่อไป และมีความทุกข์หนัก ก็เลยปรากฏตัวให้เห็นว่า ตัวเองเป็นเปรต ส่งเสียงร้องโหยหวนอยู่ในวัง พระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นเข้า ก็รีบไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นี่อะไรกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทรงเล่าเรื่องหนหลังให้ฟังว่า เปรตเหล่านี้คือญาติในอดีตของพระองค์เอง ในอดีตชาติพระองค์ทรงทำบุญทำทาน ตั้งโรงทานเลี้ยงพระเลี้ยงมหาชน แต่ญาติเหล่านี้ไม่มีกุศลศรัทธา เลยมายักยอกของที่จะถวายสงฆ์ไปใช้เป็นของตัวเอง เมื่อละโลกไปแล้ว เลยต้องมาเกิดเป็นเปรต

แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารทำบุญเลี้ยงพระ จากนั้นก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเปรตเหล่านั้น พวกเปรตเหล่านั้นพอได้รับอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเท่านั้น ด้วยอำนาจบุญก็กลายสภาพไปเป็นเทวดานางฟ้าเลย

ทีนี้คุณโยมถามว่า ทำบุญแล้วไม่อุทิศส่วนกุศลแล้วตัวเองจะได้บุญหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่า จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลหรือไม่อย่างไร เราก็ได้บุญของเราอยู่แล้ว สิ่งนี้ต้องชัดเจน

แต่ว่าทำบุญแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลจะดีตรงที่ว่า เราอุทิศให้ใครก็จะทำให้ผู้นั้นพลอยได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนี้แล้วเป็นสุขไปด้วย เช่นเดียวกับเปรต ญาติของพระเจ้าพิมพิสารนั้น

ปัญหาคือเวลาเราอุทิศส่วนกุศลด้วยการกรวดน้ำ เลยทำอุปมาในใจว่า สายน้ำที่เรารินลงไปนั้นเหมือนกับสายบุญ แล้วบุญเราไม่พร่องไม่หกไปหมดหรือ ยุคนี้เศรษฐกิจรัดตัว กว่าจะได้เงินมาทำบุญก็ยาก แล้วเที่ยวอุทิศให้ใครต่อใครไปหมดแล้ว เดี๋ยวเราไม่หมดบุญหรือ

ก็บอกว่าไม่หมดหรอก ลองฟังอุปมาดู คุณโยมลองถามตัวเองดูก็ได้ว่า ถ้าเราปลูกกล้วยไม้มากระถางหนึ่ง พอถึงเวลากล้วยไม้ก็ออกดอกสวย ครั้นเราจะเอาไว้ดูคนเดียวสวยๆ เอาไว้ในห้องนอนของเราเพียงลำพัง กับการที่เอาไปตั้งไว้กลางห้องรับแขก แล้วชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงญาติสนิทมิตรสหายมาดูกล้วยไม้สวยๆ ของเรา ถามว่า พอมาแล้วเขาเห็นความสวยของกล้วยไม้ เขาชื่นใจไหม ชื่นใจ ถามว่าญาติพี่น้องทั้งหลายที่มาชมดอกกล้วยไม้ของเราแล้ว ทำให้ความสวยของกล้วยไม้ลดลงไปไหม ไม่ลด

เช่นกันบุญที่เราอุทิศให้ใครต่อใครจะเป็นญาติกี่โกฏิ กี่กัลป์ ของเราเท่าไรก็ตาม แปลกดี บุญกลับไม่พร่องไป พอได้รับบุญที่เราอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น ก็ชื่นใจขึ้นมา ความทุกข์ก็คลาย เลยนึกถึงความดีในอดีตที่เคยสร้างไว้ได้ พอนึกได้เท่านั้น บุญเก่ามาบรรจบกับบุญใหม่ที่ได้รับอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น สภาพเปรตหลุด เลยเกิดใหม่เป็นเทวดานางฟ้าไป

การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลเป็นเรื่องของคนใจใหญ่ มีจิตเมตตากรุณา เพราะฉะนั้น ปู่ ย่า ตา ทวด จึงไม่ยอมพลาดเลย ไหนๆ ก็ได้บุญใหญ่แล้ว ทำไมไม่ทำใจให้ใหญ่เพิ่มไปอีก ว่าแล้วก็คว้าขันน้ำเบ้อเริ่มกรวดน้ำกันไป คุณโยมทำบุญทุกครั้ง กรวดน้ำให้ได้ทุกครั้งด้วย แต่ถ้าบางทีหาน้ำไม่ได้ ก็ทำใจให้นิ่ง ให้ใส ให้สว่าง จนกระทั่งเห็นสายบุญ ถ้าเห็นอย่างนั้น ไม่ต้องใช้น้ำ ให้สายบุญนี้ตรงดิ่งไปหาผู้ที่เราต้องการอุทิศให้เลย น้ำใจงามๆ ส่งบุญถึงเลย อย่างนี้ก็ใช้ได้อีกเหมือนกัน เหมือนอย่างกับต่อเทียนต่อไฟถึงเลย คุณเอ๋ย มันดีจริงๆ ทำไปเถอะ

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
จำเป็นไหม เวลาทำบุญแล้ว ต้องกรวดน้ำด้วยทุกครั้ง จำเป็นไหม เวลาทำบุญแล้ว ต้องกรวดน้ำด้วยทุกครั้ง Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:26 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.