พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงเข้าพรรษา


ถาม : หลวงพ่อครับ ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงเข้าพรรษานี้ จึงจะได้บุญเต็มที่ครับ

ตอบ : ช่วงเข้าพรรษาพระเก่าพระใหม่ท่านก็อยู่พร้อมหน้ากัน เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้ก็ถือว่า เป็นโชคดีของญาติโยม เพราะมีเนื้อนาบุญอยู่กันพร้อมหน้า ญาติโยมสมัยปู่ ย่า ตา ทวด ท่านไม่ปล่อยให้พระภิกษุเข้าพรรษาเพียงลำพังหรอก ญาติโยมก็พลอยเข้าพรรษาไปด้วยเหมือนกัน แต่ว่าเข้าพรรษาของญาติโยมนั้นเข้าด้วยการอธิษฐานจิต ซึ่งหลักธรรมในพระพุทธศาสนามีแม่บทไว้ชัดเจนอยู่ ๓ ข้อคือ
๑. ละชั่ว
๒. ทำดี
๓. กลั่นใจให้ใส

เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษา ท่านก็มีหน้าที่ที่ต้องทำคือ ละชั่ว

คำว่า "ละชั่ว" ของพระนี้ ไม่ใช่ละชั่วแบบหยาบๆ คายๆ อย่างที่มนุษย์เป็นกัน แต่ "ละชั่ว" ในที่นี้ หมายถึง ละกิเลส ซึ่งแม้โดยทางโลกแล้วมักจะดูไม่ออกว่าเป็นความชั่ว ความไม่ดี เพราะมันอยู่ในใจของท่าน เช่น มีจิตใจฟุ้งซ่าน คนอื่นมองไม่เห็นหรอก แต่ถึงขนาดนั้น ท่านก็พยายามจะละความฟุ้งซ่านของท่านให้ได้ด้วยการเจริญภาวนา หรือทำสมาธิให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้สมภูมิแห่งความเป็นพระของท่าน ท่านก็ทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เช่น การศึกษาในวัด พระที่บวชมาก่อนก็เทศน์อบรมให้พระใหม่ พระใหม่ก็ตั้งใจศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนความดีให้กับตัวของท่านเอง แล้วก็ทำใจให้ใสไปพร้อมๆ กันด้วยการสวดมนต์ เจริญภาวนา โดยตื่นขึ้นมาสวดมนต์ตั้งแต่ตีสี่

สำหรับญาติโยมทั้งหลาย พอถึงวันเข้าพรรษา ก็อธิษฐานพรรษาเหมือนกัน ตั้งแต่โบราณเขาอธิษฐานอย่างไร ที่รู้ว่าอะไรที่เป็นนิสัยที่ไม่ดีๆ ในตัวเองพรรษานี้เลือกมาอย่างน้อย ๑ ข้อ แล้วอธิษฐานว่า ตลอดพรรษา ๓ เดือนนี้ เราจะแก้ไขตัวเองให้ได้

เช่น บางคนเคยดื่มเหล้า พอเข้าพรรษาก็อธิษฐานว่า "พรรษานี้จะเลิกดื่มเหล้า เลิกอย่างเด็ดขาด"

บางคนเคยสูบบุหรี่ก็อธิษฐานว่า อย่างน้อยพรรษานี้จะเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดž เป็นต้น

เขาก็มีการอธิษฐานกันในวันเข้าพรรษาว่า พรรษานี้จะละความไม่ดีอะไรบ้าง ทั้งหยาบทั้งละเอียด พยายามละกันทีเดียว คือทำตามพระให้เต็มที่นั่นเอง

ในระดับของประชาชน สิ่งใดที่เป็นความดีก็พยายามที่จะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เช่น ก่อนเข้าพรรษาเคยตักบาตรบ้าง ไม่ตักบาตรบ้าง วันไหนมีโอกาสก็ตัก วันไหนถ้าขี้เกียจก็ไม่ตัก

หรือว่าเมื่อก่อนเคยตักบาตรเฉพาะวันเสาร์วันอาทิตย์ หรือวันโกนวันพระ พรรษานี้พระอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาดีแล้ว ตั้งใจอธิษฐานเลยว่า จะตักบาตรให้ได้ทุกเช้าตลอด ๓ เดือนที่เข้าพรรษา นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่ปู่ ย่า ตา ทวดของเราทำกันมา

บางท่านยิ่งกว่านั้น ธรรมดาเคยถือศีล ๕ เป็นปกติอยู่แล้ว พรรษานี้เลยถือศีล ๘ ทุกวันพระไปเลย

บางท่านเคยถือศีล ๘ ถืออุโบสถศีลมา ทุกวันพระเมื่อพรรษาที่แล้ว พรรษานี้จึงตั้งใจ ถือศีล ๘ ถืออุโบสถศีลทั้งวันโกนวันพระ เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ ๒ วันขึ้นมา

บางท่านเก่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ตั้งใจว่าพรรษานี้จะรักษาอุโบสถศีลรักษาศีล ๘ กันตลอด ๓ เดือนเลย ก็แล้วแต่ใครจะมีกุศลจิตศรัทธามากเพียงไหนก็ทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามนั้น

บางท่านยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ถึงกับอธิษฐานว่า พรรษานี้นอกจากจะถือศีล ๘ กันตลอดพรรษาแล้ว ยังอธิษฐานที่จะทำสมาธิทุกวัน ใครไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อนก็อธิษฐานนั่งวันละ ๑ ชั่วโมง ส่วนบางท่านที่เคยนั่งสมาธิมาแล้วก็เพิ่มเป็นวันละ ๒-๓ ชั่วโมง ก็ว่ากันไปตามกุศลศรัทธาอย่างนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ปู่ ย่า ตา ทวดของเราทำกันมา

เนื่องจากปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนไป ญาติโยมส่วนมากหยุดงานกันวันเสาร์ - อาทิตย์ ซึ่งแต่เดิมพระท่านก็เทศน์วันโกนวันพระกันเป็นหลัก เมื่อเป็นอย่างนี้จึงมีแต่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นไปฟังเทศน์ เข้าพรรษานี้ก็ขอฝากหลวงพ่อ หลวงพี่ด้วยก็แล้วกันว่า ถ้าจะเพิ่มวันเทศน์ วันสอนธรรมะให้กับประชาชนในวันเสาร์ วันอาทิตย์ ซึ่งญาติโยมเขาหยุดงานกันอีกสักวันสองวันก็จะเป็นการดี แล้วก็ญาติโยมด้วยนะ รู้ว่าพระท่านเทศน์วันโกนวันพระแล้ว ครั้งนี้ เข้าพรรษาท่านแถมวันเสาร์วันอาทิตย์ให้ด้วย อย่าลืมไปฟังท่านเทศน์ด้วยล่ะ

ถ้าขยันกันอย่างนี้ก็จะมีแต่บุญกุศลกันตลอดทั้งพรรษา แล้วความเจริญรุ่งเรืองทั้งตัวเอง พระพุทธศาสนา และประเทศชาติบ้านเมือง ของเราก็จะบังเกิดขึ้นตลอดปีตลอดไป

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงเข้าพรรษา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:47 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.