เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย



  




 คัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์

เรื่องที่ ๒ เมื่อหลวงพ่อมองภาพรวมของทั้งโลกทั้งประเทศแล้วว่า มีคนในระดับบน ๔ กลุ่ม คนในระดับล่าง ๓ กลุ่ม ก็มาพบว่ายังไม่พอ จึงต้องมาเขียนมาเทศน์เรื่องทิศ ๖ อีกหลายปี แล้วกลายมาเป็นหนังสือคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ ๒ เล่มโต ๆ  เอามาใช้สำหรับให้คุณครูสอบ จากนั้นจึงเอาคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์มาสรุปเป็นชาร์ตแผ่นโต ๆ ไปติดไว้ที่บ้านและที่โรงเรียน ให้คุณครูได้เอาคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ที่เอามาสอบแล้วนั้น ทบทวนอีกครั้ง แล้วมาจ้ำจี้จ้ำไช ให้เด็กปฏิบัติตามนั้นให้ได้

เพราะแม้เราจะมองทั้งประเทศออก แต่ถ้ามองทิศ ๖ ของตัวเองไม่ออก จะแก้ไขสังคม ชุมชนที่ตัวเองอยู่ไม่ได้ แม้แต่การปลูกฝังศีลธรรมของเยาวชนทั้งประเทศก็จะทำไม่ได้ ถ้าทำไม่สำเร็จบั้นปลายชีวิตของเราก็อย่าหวังว่าจะอยู่เป็นสุข เพราะลูกหลานก็จะทำหน้าที่ประจำทิศ ๖ ของตัวเองไม่ถูก



แต่ถ้าเราเข้าใจทิศ ๖ แล้วปฏิบัติตามทิศ ๖ ได้เป็นอย่างดีแล้ว เราจะสร้างสังคมผู้ใหญ่ขึ้นมาโดยเฉพาะพ่อ แม่ ครู และพระ หรือบ้าน วัดโรงเรียน ที่เป็นมาตรฐานขึ้นมา แล้วจะทำให้ลูกหลานของเราซึ่งโตขึ้นมาในภายหน้า มีผู้ใหญ่เป็นต้นแบบศีลธรรมให้เขาดู แล้วเขาจะปฏิบัติตามนั้น เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่ได้อ่านคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ ๒ เล่ม ช่วยไปอ่านด้วย

ภาคผนวกคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์

การปฏิรูปมนุษย์หมายถึงอะไร

การปฏิรูปสิ่งใดก็ตาม ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นโทษให้เป็นคุณ การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ล้าสมัยให้เป็นสิ่งที่ทันสมัย ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม ดังนั้นสาระสำคัญของการปฏิรูปมนุษย์จึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดหรือไม่ดีของมนุษย์ให้ถูกต้องเหมาะสมดีงาม




การปฏิรูปมนุษย์มีความหมายที่สรุปลงตัวได้ ๒ นัย คือ

๑. การปฏิรูปมนุษย์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงมิจฉาทิฐิของผู้ใหญ่หรือเยาวชนที่เจริญเติบโตแล้วให้เป็นสัมมาทิฐิ

๒. การปฏิรูปมนุษย์ หมายถึง การปลูกฝังสัมมาทิฐิลงไปในจิตใจเด็ก ๆ นับตั้งแต่ยังเป็นทารก  เมื่อบุคคลมีสัมมาทิฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงถาวรแล้ว มิจฉาทิฐิก็จะไม่สามารถแทรกแซงได้ เขาจึงตั้งอยู่ในความดีได้ตลอดไป

สัมมาทิฐิหมายถึงอะไร

ความหมายที่สมบูรณ์ของสัมมาทิฐิในระดับโลกิยะ คือ ความเข้าใจถูกเกี่ยวกับโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ที่สำคัญมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. การทำทานมีผลดี ควรทำ

๒. การสงเคราะห์ทั้งสาธารณสงเคราะห์ และบุคคลสงเคราะห์ เป็นสิ่งที่ดี ควรทำ

๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นสิ่งดี ควรทำ

๔. ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่ว เป็นสิ่งที่บุคคลทำแล้วมีจริง เป็นจริง นั่นคือ กฎแห่งกรรมเป็นจริง ต้องเชื่อ

๕. โลกนี้มีคุณ คือ เป็นสถานที่แห่งเดียวเท่านั้นในภพ ๓ ที่เปิดโอกาสให้ทุกชีวิตได้สร้างบุญบารมีตลอดจนทำพระนิพพานให้แจ้ง

๖. โลกหน้ามี หมายความว่า สรรพสัตว์ทั้งปวง ถ้ายังไม่สามารถทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิด ทนทุกข์ทรมานอยู่ในสังสารวัฏเรื่อยไปโดยไม่มีจุดจบ

๗. มารดามีคุณต่อบุตรทุกคนสุดที่จะพรรณนา ที่สำคัญก็คือการเป็นต้นบุญต้นแบบร่างกายมนุษย์ให้แก่บุตร ถ้าบุตรได้รูปแบบกายที่ไม่ใช่มนุษย์ย่อมหมดโอกาสั่งสมบุญบารมี

๘. บิดามีคุณเช่นเดียวกับมารดา คือการเป็นต้นแบบร่างกายมนุษย์ ถ้าไม่มีบิดาแล้วไซร้ การถือกำเนิดของบุตรย่อมมีขึ้นไม่ได้

๙. สัตว์ที่ผุดเกิดขึ้น หรือโอปปาติกะมีจริง ทั้งนี้ย่อมมีนัยว่า นรกสวรรค์มีจริง ทุกคนอย่าได้ตั้งอยู่ในความประมาท แล้วทำกรรมชั่วเป็นอันขาด

๑๐. สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบชนิดที่ทำให้แจ้งโลกนี้โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตาม มีจริง สัมมาทิฐิข้อนี้ย่อมให้นัยว่า
       ๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง
       ๒) พระอรหันต์สาวกผู้รู้แจ้งโลกนี้ โลกหน้ามีจริง

     ๓)พระสงฆ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย จนสามารถทำให้แจ้งโลกนี้โลกหน้าแล้ววอนให้ผู้อื่นรู้แจ้งตามยังมีอยู่ในปัจจุบัน

บุคคลที่มีความเห็นถูกตามสัมมาทิฐิ ๑๐ประการนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีความ "เข้าใจ" สัมมาทิฐิ ๑๐ ประการเท่านั้น แต่ถ้ายังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริงและยังไม่ได้ศึกษาธรรมะหมวดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัมมาทิฐิ ๑๐ ประการ แล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามีสัมมาทิฐิ "เข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงถาวร"  ก็ยังไม่ชื่อว่า "สัมมาทิฐิบุคคล" ต่อเมื่อได้ปฏิบัติจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยในชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งจะสังเกตได้จากการทำทานเป็นกิจวัตร การรักษาศีลอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์และการขวนขวายพากเพียรทำสมาธิภาวนาอยู่เป็นนิจ โดยสรุปก็คือเป็นผู้ที่ตั้งใจสั่งสมบุญกุศลอยู่เสมอโดยไม่ทำบาปอกุศลใด ๆ เลย จึงจะชื่อว่า  "สัมมาทิฐิบุคคล"

ทั้งนี้เพราะสัมมาทิฐิในระดับเพียง "เข้าใจ" แต่ยัง "ไม่เข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง" นั้น ย่อมแปรเปลี่ยนไปเป็น  "มิจฉาทิฐิ"  ได้โดยง่าย


 มิจฉาทิฐิ หมายถึงอะไร

มิจฉาทิฐิ คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เป็นความเข้าใจผิด ซึ่งตรงกันข้ามกับความเข้าใจถูกคือสัมมาทิฐิ ๑๐ประการ มิจฉาทิฐิก็มีอยู่ ๑๐ ประการเหมือนกันซึ่งตรงกันข้ามกับสัมมาทิฐิ

บุคคลที่มีความเห็นผิดแม้ไม่ครบ ๑๐ ประการย่อมชื่อว่าเป็น "มิจฉาทิฐิบุคคล" เพราะเขาพร้อมที่จะทำกรรมชั่วหรือบาปอยู่เสมอ โดยไม่มีความคิดที่จะสั่งสมบุญกุศลเลย

ทำไมจึงต้องมีการปฏิรูปมนุษย์

สาเหตุที่ต้องมีการปฏิรูปมนุษย์ หรือสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนมิจฉาทิฐิในใจของผู้คนให้เป็นสัมมาทิฐินั้น มีเหตุผลสำคัญอย่างน้อย ๔ ประการคือ

๑. ผู้คนโดยทั่วไปในสังคมปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันจิตใจบกพร่อง หรือขาดสัมมาทิฐิ

๒. สัมมาทิฐิจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปลูกฝังอบรมอย่างจริงจัง

๓. มิจฉาทิฐิทำให้ผู้คนตกอยู่ในความมืดบอด

๔. สัมมาทิฐิทำให้ผู้คนอยู่ในความสว่าง

ธรรมะอะไรที่เป็นพื้นฐานก่อให้เกิดคุณสมบัติของคนดี

ธรรมะที่เป็นพื้นฐานรากเหง้าซึ่งก่อให้เกิดคุณสมบัติคนดีที่โลกต้องการ คือสัมมาทิฐิ ทั้งนี้เพราะสัมมาทิฐิ คือความเห็นถูกต้องเกี่ยวกับโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เมื่อบุคคลมีความเห็นถูกย่อมจะคิดถูก พูดถูก ทำถูก เลือกประกอบอาชีพถูกและทำทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องเป็นขบวนการตามมาเนื่องจากสัมมาทิฐิกำกับอยู่หัวขบวนโดยตลอด ดังนั้น สัมมาทิฐิจึงเป็นแหล่งกำเนิดคุณสมบัติของคนดีมากมายหลายประการ



Cr.หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๑ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:44 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.