อุปสมบทหมู่ ๗,๐๐๐ รูป ๗,๐๐๐ ตำบลทั่วไทย
จากภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งนับวันปัญหาต่าง ๆ จะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ คณะสงฆ์ทั่วประเทศไทย มูลนิธิธรรมกาย วัดพระธรรมกาย ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จึงได้ผนึกกำลังกันจัดให้มีโครงการอุปสมบทหมู่ ๗,๐๐๐ รูป ๗,๐๐๐ ตำบลทั่วไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลอมรวมใจของพุทธบริษัท ๔ ทั้งแผ่นดินที่จะมาสร้างมหากุศล เพื่อนำพาสังคม และประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ด้วยอานิสงส์ผลบุญอันเกิดขึ้นจากมหัคตกุศลในครั้งนี้
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นการช่วยฟื้นฟูประเพณีการบวชของชายไทย เพื่อสร้างศาสนทายาท ไว้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูศีลธรรมในจิตใจของคนไทย ให้กลับมาเจริญงอกงามขึ้นอีกครั้ง เหมือนดังเช่นเมื่อครั้งในอดีตที่ผ่านมา
"บวช" หัวใจของการปลูกฝังศีลธรรมในสังคม
"การบวช" เป็นมรดกธรรมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลตราบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าวัตถุประสงค์หลักของการออกบวช คือการทำพระนิพพานให้แจ้ง และแสวงบุญสร้างบารมีตามรอยบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการฝึกหัดขัดเกลาตนเองตามหลักไตรสิกขา อันได้แก่ สีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา หรือหากจะกล่าวง่าย ๆ ก็คือ การศึกษาเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อสั่งสมความบริสุทธี์ทั้งทางกาย วาจา และใจ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นทางมาแห่ง "สามัญญผล" หรือผลที่ได้รับจากการออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับ จนกระทั่งบรรลุอรหัตผล สามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ให้แจ้งได้ในที่สุด
นอกจากนี้ การบวชยังมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพุทธศาสนิกชน เพราะการบวชเป็นกลไกในการปลูกฝังศีลธรรมให้แก่ผู้คนในสังคม โดยเริ่มต้นที่ผู้ชายซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักที่ต้องดูแลรับผิดชอบครอบครัว ดังนั้น ตั้งแต่โบราณมาจึงมีค่านิยมว่าชายไทยต้องบวชอย่างน้อยหนึ่งพรรษาจึงจะถือเป็น "คนสุก" ส่วนคนที่ยังไม่ได้บวชนั้นถือว่ายังเป็น "คนดิบ" อยู่ เพราะผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ต้องศึกษาและปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย เพื่อนำเอาความรู้ไปเป็นบทฝึกในการขัดเกลานิสัยของตนเองให้ดีงาม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธี์กาย วาจา และใจ ซึ่งหากมีศรัทธาบวชสร้างบารมีต่อไปก็จะเป็นพระแท้ให้ญาติโยมได้กราบไหว้อย่างสนิทใจ หรือหากจำเป็นต้องลาสิกขากลับไปใช้ชีวิตในเพศฆราวาส ก็สามารถประคับประคองตนเองและอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยในอดีต จึงมีความสงบร่มเย็น ผู้คนส่วนใหญ่มีนิสัยที่โอบอ้อมอารี รักบุญ กลัวบาป และมีความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรมอย่างแน่นแฟ้น
แต่เมื่อหันกลับมามองสังคมในปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่า สังคมไทยทุกวันนี้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีความรู้สูง และมีเทคโนโลยีที่ล้ำยุคกว่าในอดีตอย่างมากมาย แต่ทำไม นับวันปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองกลับยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนสังคมสมัยรุ่นปู่ ย่า ตา ยายของเรา ผู้คนกลับอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข คนสมัยก่อนแม้ว่าด้อยในเรื่องของวิทยาการและเทคโนโลยี แต่ท่านเหล่านั้นก็มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ "ภูมิธรรม" ที่สามารถดำรงตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม และสามารถอบรมสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดีได้มากกว่าผู้คนในยุคนี้มากมายนัก
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบวชอีกประการหนึ่งก็คือ ปัจจุบันชายไทยส่วนใหญ่ มักมองข้ามความสำคัญของการบวช หรือหากบวช ก็นิยมบวชในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ ๗ วัน ซึ่งทำให้ผู้บวชไม่มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะเหมือนกับสมัยก่อนที่บวชเรียนกันอย่างน้อยหนึ่งพรรษา ดังนั้น เมื่อผู้ชายยุคนี้แต่งงานมีครอบครัวไป จึงไม่ทราบว่า ควรจะต้องอบรมลูกหลานของตนให้เป็นคนดีได้อย่างไร กอปรกับสภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัดก็ยิ่งทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาพาลูกเข้าวัดฟังธรรมเหมือนในอดีต ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงค่อย ๆ เริ่มห่างวัด ห่างธรรมะ ไปเรื่อย ๆ จึงเป็นเหตุให้หิริโอตตัปปะในจิตใจของผู้คนค่อย ๆ จางหายไป ยุคนี้มีผู้คนจำนวนมากพร้อมที่จะทำผิดกฎหมายและประพฤติตนผิดศีลธรรม เพียงเพื่อแลกกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ และชื่อเสียงเกียรติยศ ดังนั้น ทุกวันนี้สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยกระแสของบาปอกุศล ที่ครอบงำจิตใจของผู้คน ทำให้เกิดความเศร้าหมอง และรุ่มร้อนไปกับปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้
ในส่วนพระพุทธศาสนาเองก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่นิยมบวช หรือบวชเพียงแค่ช่วงสั้น พระศาสนาจึงเกิดภาวะขาดแคลนศาสนทายาทที่จะมาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา กอปรกับการที่พุทธศาสนิกชนเริ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรมลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ พระภิกษุสามเณร จึงประสบกับปัญหาการขาดแคลนปัจจัย ๔ ทำให้การดำรงชีวิตในเพศสมณะ มีความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้จำนวนของพระภิกษุในสังฆมณฑลเริ่มลดน้อยลง พร้อม ๆ กับการเพี่มขึ้นของวัดร้างที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากข้อมูลของกองพุทธศาสนสถาน สำนักงานศาสนสมบัติ ในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ พบว่า มีวัดร้างอยู่ทั่วประเทศถึง ๕,๐๙๘ วัด และมีวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ทั่วประเทศ ๓๒,๗๑๐ วัด ซึ่งจนถึงขณะนี้ คาดว่าตัวเลขของวัดร้างน่าจะเพี่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นและสั่งสมต่อไปเรื่อย ๆ อีกเพียงไม่กี่ช่วงอายุคน อนาคตของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็คงต้องประสบกับภาวะวิกฤตอย่างแน่นอน
บวช ๗,๐๐๐ รูป เพื่อสืบชาติและพระศาสนา
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ประธานมูลนิธิธรรมกาย จึงมีความปรารถนาที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยการเร่งฟื้นฟูประเพณีการบวช ตามแนวทางที่บรรพชนชาวพุทธได้เคยทำไว้ให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง เพราะตระหนักดีว่า การบวช คือ หัวใจของการปลูกฝังศีลธรรมให้แก่ผู้คนในสังคมได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยจึงได้กราบขอความเมตตาคณะสงฆ์จาก ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด ทั่วประเทศ ที่ได้เดินทางมาร่วมงานวันคุ้มครองโลก เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา เพื่อขอความเมตตาสนับสนุนโครงการอุปสมบทหมู่ ๗,๐๐๐ รูป ๗,๐๐๐ ตำบลทั่วไทย ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ ๒๒ สิงหาคม ถึง ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากคณะสงฆ์ทั่วประเทศเป็นอย่างดี นอกจากนี้ องค์กรพุทธต่าง ๆ รวมถึงสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือแก่ผู้นำบุญทุกท่าน ที่จะไปทำหน้าที่เชิญชวนผู้มีบุญจากทั่วประเทศ ให้มาเข้าร่วมการอุปสมบทในครั้งนี้
โครงการอุปสมบทหมู่ ๗,๐๐๐ รูป ๗,๐๐๐ ตำบล ทั่วไทย คือโอกาสครั้งสำคัญของยอดนักสร้างบารมี ที่จะได้มาทำหน้าที่เป็นต้นบุญในการฟื้นฟูประเพณีการบวช และการสร้างศาสนทายาทเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา รวมถึงการมีส่วนช่วยฟื้นฟูศีลธรรม ในสังคมให้หวนกลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่งในยุคของเรา ซึ่งการทำหน้าที่ของทุกท่านในครั้งนี้ เปรียบประดุจกับสะพานแก้ว ที่ช่วยนำพาผู้คนมาสู่เส้นทางสว่าง ตลอดจนช่วยปิดนรก เปีดสวรรค์ และหนทางพระนิพพานให้แก่ผู้ที่จะมาบวช
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างพระแท้ ให้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา เพราะแม้ว่าการอุปสมบท และการอบรมในครั้งนี้จะมีเวลาเพียงแค่ ๓ อาทิตย์ แต่ก็เป็นบุญใหญ่ที่มิอาจจะนับจะประมาณได้ เพราะหลังจากที่ผู้บวชได้ลาสิกขา กลับมาใช้ชีวิตในเพศคฤหัสถ์ดังเดิมแล้ว เขาผู้นั้น ก็จะเป็นบุคคลที่มีสัมมาทิฐิ มีความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิต และสามารถนำหลักธรรม กลับมาใช้ในการดำเนินชีวิต และอบรมสั่งสอนลูกหลานของตน ให้เป็นคนดีสืบไป
ดังนั้น บุญจากการทำหน้าที่ในครั้งนี้ จึงมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาล ที่จะย้อนกลับมาช่วยปิดนรก เปิดสวรรค์ และหนทางพระนิพพานให้แก่ยอดกัลยาณมิตรทุกท่าน อีกทั้งเมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์ บุญก็จะหนุนนำให้ได้มาบังเกิดในปฏิรูปเทส ที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนานับภพนับชาติไม่ถ้วน และได้เกิดในตระกูลสัมมาทิฐิ ที่แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติที่เป็นคนดีมีศีลมีธรรม ตลอดชีวิตก็จะได้พบเจอแต่กัลยาณมิตรคอยชักชวนให้ทำแต่ความดี คนภัยคนพาลก็มิอาจมากล้ำกราย ที่สำคัญบุญนี้จะช่วยหนุนนำให้ทุกท่านได้เพศบริสุทธิ์ และได้บวชในพระพุทธศาสนา อันเป็นเส้นทางสายเอกที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากห้วงวัฏสงสารได้ในที่สุด
ยอดกัลยาณมิตรทุกท่าน คือบุคคลสำคัญที่จะทำให้โครงการอุปสมบทหมู่ ๗,๐๐๐ รูป ๗,๐๐๐ ตำบลทั่วไทย สามารถเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อน้อมถวายความสำเร็จนี้บูชาธรรมแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ในวันธรรมชัยที่ ๒๗ สิงหาคม นี้ ซึ่งความสำเร็จในครั้งปฐมเรี่มนี้ จะช่วยต่อยอดความสำเร็จให้กับการบวชในปีต่อ ๆ ไป จนกว่าจะถึงเป้าหมายหนึ่งล้านรูป สมดังปณิธาน ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ที่ท่านปรารถนาจะนำพาประเทศไทยให้เป็น "ไทยมหารัฐ" ซึ่งเป็นดินแดนที่ยิ่งใหญ่ด้วยศีลธรรมในจิตใจของผู้คน เพื่อให้คนไทยเป็นต้นบุญใหญ่ในการนำพาชาวโลกให้ เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง อันเกิดจากการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตราบกระทั่งวันเข้าถึงสันติสุขอันยอดยิ่ง นั่นคือการบรรลุนิพพาน...
Cr.กองบรรณาธิการ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๑ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘๑ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
อุปสมบทหมู่ ๗,๐๐๐ รูป ๗,๐๐๐ ตำบลทั่วไทย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:51
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: