หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๙)


การศึกษาเอกสารบาญชี คัมภีร์บาลีและสันสกฤตในหอพระสมุดวชิรญาณ : อีกหนึ่งร่องรอยที่ยืนยันว่า “หลักฐานธรรมกาย” เป็นมรดกในพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างแท้จริง

เป็นที่น่าปลื้มใจมาอย่างต่อเนื่องเลยทีเดียวกับข่าวที่ส่งมาจากนักวิจัยหลาย ๆ ท่านของ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ที่ได้แจ้งเกี่ยวกับการค้นพบหลักฐานธรรมกายหรือเอกสารที่ช่วยยืนยันถึงการมีอยู่ของหลักฐานธรรมกายทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่เมื่อศึกษาก็ยิ่งค้นพบ เมื่อค้นพบก็ยิ่งมีหนทาง และเป็นหนทางที่บรรดานักวิชาการผู้รู้ทั้งหลายต่างก็เคยยืนยันกันมาแล้วในอดีตที่ผ่านมามากมาย

ในที่นี้ หนึ่งในนักวิจัยของเรา คุณวรเมธ มลาศาสตร์ ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตไม่นานมานี้ และในระหว่างที่กำลังเก็บข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยต่อในระดับปริญญาเอกอยู่นั้น คุณวรเมธก็ได้ค้นพบเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหล่อพระพุทธรูป ชื่อเรื่องว่า “ปูชาปริวาน วิธีสูตกะทำมังคละกัมมทั้งมวล, วิธีขวกหล่อพระเจ้า..” อันเป็นเอกสารตำราที่เขียนบนกระดาษสาด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเอกสาร “ปูชาปริวานฯ” ดังกล่าวนี้มีปรากฏคาถาธรรมกาย อยู่ในเนื้อความของเอกสารนี้ด้วย โดยปรากฏอยู่ในหน้าที่ ๑๘ และ ๒ บรรทัดแรกของหน้า ๑๙ และดังที่สันนิษฐานไว้ในฉบับก่อนว่า เอกสารปูชาปริวานฯ นี้ เป็นเอกสารฉบับเล็กไว้สำหรับพระภิกษุผู้ประกอบพิธีกรรมพกติดตัวในเวลาเดินทางไปสวดในพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและความเจริญของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งประการหนึ่งของผืนแผ่นดินล้านนาด้วย

หนังสือ "บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓"

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร
(ที่มา : http://164.115.27.97/digital/items/show/4281)

ต่อมา เพราะเหตุที่คุณวรเมธกำลังอยู่ในระหว่างสืบค้นเอกสารเพิ่มเติม ก็ทำให้เขาได้ไปพบกับเอกสารอีกชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า “บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” จัดทำขึ้นเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ และกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ (ในสมัยนั้น) ให้จัดพิมพ์ขึ้นในงานฉลองพระชันษา ๖๐ พรรษาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๔¹ การพบเอกสารนี้แม้จะเป็นเพียงเอกสารฉบับหนึ่งที่ระบุให้ทราบถึง “รายการคัมภีร์” ภาษาบาลีและสันสกฤตที่หอพระสมุดมีอยู่ในช่วงนั้น แต่ก็ต้องถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะทำให้เราทราบชัดว่าเอกสารคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในยุคหนึ่งนั้นมีอะไรบ้าง จัดแบ่งไว้อย่างไรบ้างแล้ว ยังทำให้เราได้แลเห็นและมั่นใจได้มากขึ้นไปอีกว่า เรื่องราวของ “ธรรมกาย” นั้นมิได้เป็นของใหม่ มิได้เป็นของซึ่งถูกแต่งเติมเข้าไป หากแต่เป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมที่อยู่ในพระพุทธศาสนา เกี่ยวพันกับพระรัตนตรัยอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ไม่เพียงเอกสารชุดนี้เท่านั้น แต่ยังปรากฏว่าในช่วงก่อนหน้านั้นมีการจัดพิมพ์เอกสารที่เรียกว่า “บาญชี” นี้ขึ้นมาก่อนแล้วชุดหนึ่ง ชื่อว่า “บาญชีเรื่องหนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณ ภาคที่ ๑ แพนกบาฬี พ.ศ. ๒๔๕๙” ซึ่งกรรมการหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ อดีตนายกกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๕๘ ซึ่งในระหว่างที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทรงมีแนวพระดำริว่าต้องการจะทรงจัดพิมพ์ “บาญชี หนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณ ไว้ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย” อยู่แล้ว² ดังนั้นหากจะกล่าวไปแล้ว เอกสาร บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤตนั้น จึงนับว่าเป็นเพชรวรรณกรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับวงการพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยเราฉบับหนึ่ง เพราะเท่ากับเป็นเอกสารที่ใช้อ้างอิงได้อย่างถูกต้องเป็นทางการว่า คัมภีร์ภาษาบาลี-สันสกฤตฉบับใดบ้าง เรื่องใดบ้าง ที่ได้รับการชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่ไว้แล้วในสยามประเทศ นอกเหนือไปจากมรดกคัมภีร์ใบลานต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นต้นแหล่งความรู้ที่สำคัญนั้น


หนังสือ Pali Literature Transmitted in Central Siam สยามบาลีวรรณกรรม

และเช่นเดียวกัน เมื่อผู้เขียนได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม ก็ได้พบว่าในหนังสือ “สยามบาลีวรรณกรรม” อันเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมรายชื่อคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา “ที่ถูกละเลย” ซึ่งมูลนิธิอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ (ประเทศไทย) และสถาบันวิจัยนานาชาติลุมพินี (ประเทศเนปาล) ร่วมกันจัดทำขึ้นใน ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ (ค.ศ. ๒๐๐๒) ก็เป็นเอกสารอีกเล่มหนึ่งที่กล่าวยืนยันถึงความสำคัญของ บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ ไว้ด้วย ซึ่งคณะบุคคลที่มาร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องให้แก่หนังสือ “สยามบาลีวรรณกรรม” ดังกล่าวนั้น ล้วนแต่มิใช่บุคคลธรรมดา หากแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการพระพุทธศาสนาของโลกทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับ “ธรรมานุโมทนากถา” ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระนิพนธ์ไว้ให้เป็นมงคลแก่หนังสือเล่มนี้แล้ว ก็ควรกล่าวได้ว่า หนังสือ “สยามบาลีวรรณกรรม” เล่มนี้ คือเพชรยอดมงกุฎที่วงการพระพุทธศาสนาของไทยควรเทิดทูนยิ่งทีเดียว

ในส่วนของคณาจารย์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมด้านภาษาบาลีที่มาช่วยกันแนะนำตรวจอ่านก็เช่นกัน ได้ปรากฏรายนามของอาจารย์หลายท่าน กล่าวคือ ศาสตราจารย์ Steven Collins ท่านอาจารย์ Lance Cousins, Christoph Cuppers, Justin McDaniel, Justin Meiland ท่านพระวิปัสสี (ธมฺมราโม) และท่านอาจารย์นวรัตน์ ภักดีคำ เป็นต้น ขณะที่ตัวของท่านอาจารย์ Peter Skilling และท่านอาจารย์ศานติ ภักดีคำ บรรณาธิการผู้เรียบเรียงเองนั้น ก็เป็นคณาจารย์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างเช่นเดียวกัน ด้วยความสมบูรณ์พร้อมทั้งหมดนี้ วงการวิชาการพระพุทธศาสนาไทยจึงควรปลื้มใจว่า “หนังสือสยามบาลีวรรณกรรม” ดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับที่โลกจะใช้อ้างอิงเกี่ยวกับวรรณกรรมบาลีในประเทศไทย และวรรณกรรมบาลีดั้งเดิมทั้งสองทาง ซึ่งก็ย่อมมีส่วนทำให้ความน่าเชื่อถือและความสำคัญของ บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาญสำหรับพระนคร เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่ผู้เขียนนำมากล่าวถึงนี้ยิ่งมีมากขึ้นไปอีกโดยปริยาย

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ สกิลลิง
http://channel.sac.or.th/th/website/picture/picdetail/22228/581

รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ
http://twitter.com/museumsiam

และโดยนัยนี้ เมื่อผู้เขียนและคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้สำรวจลึกลงไปในเอกสาร คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤตฯ ปีพ.ศ ๒๔๖๓ แล้วจึงได้พบว่า ในเอกสารนี้มีการจัดแบ่งไว้เป็น ๕ หมวดตามลำดับอักษรไทย คือ ๑) พระวินัย ๒) พระสูตร ๓) ตำนาน ๔) พระอภิธรรม ๕) สัททาวิเสส รวมทั้งสิ้น ๕๓๐ เรื่อง โดยปรากฏรายชื่อคัมภีร์สำคัญ ๆ มากมาย เช่น คัมภีร์อปทาน (บาลี) ซึ่งกล่าวถึงเรื่องความประพฤติต่อเนื่องในการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าและพระสาวก มี ๒๒ ผูก คัมภีร์พุทฺธวํส (บาลี) ซึ่งกล่าวถึงเรื่องพระวงศ์แห่งพระพุทธเจ้า ๔ ผูก คัมภีร์จริยาปิฎก (บาลี) อันว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ คัมภีร์วิสุทฺธิมคฺค (บาลี) ว่าด้วยหนทางปฏิบัติที่บริสุทธิ์ ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แต่ง รวมทั้งสิ้น ๓๓ ผูก คัมภีร์จตุรารกฺขา (บาลี) ซึ่งว่าด้วย อารกฺขกรรมฐาน ๔ คือ พุทฺธานุสฺสติ เมตฺตาพฺรหฺมวิหาร อสุภกรรมฐาน มรณานุสฺสติ ซึ่งเชื่อว่าพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แต่ง ๑ ผูก ในขณะที่คัมภีร์ธมฺมกายาทิ (บาลี) ซึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าซึ่งมีธรรมเป็นพระกาย มีพระธรรมเป็นเครื่องประดับนั้น ปรากฏอยู่ในรายการที่ ๘๔³ และที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ รายการคัมภีร์ที่ถูกจัดไว้ในลำดับต่อ ๆ มานั้นก็ล้วนแต่เป็นรายการคัมภีร์ที่มีความลึกซึ้ง เกี่ยวพันกับพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น เป็นต้นว่า คัมภีร์พุทฺธาภิเสกปกรณ (คาถาสวดสรรเสริญพระพุทธเจ้าเพื่อขอความสวัสดี และเชิญเสด็จประดิษฐานในพระพุทธรูป) คัมภีร์มหาสานฺติ (ว่าด้วยมนต์ซึ่งทำให้ผู้เจริญมนต์ถึงซึ่งความเกษม) คัมภีร์ชินปญฺชร ว่าด้วยคาถาสำหรับอัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ให้มาประดิษฐานในตนเพื่อป้องกันอันตราย คัมภีร์สิริวิจิตฺตาลงฺการ (ว่าด้วยคุณอันเป็นเครื่องประดับอันวิจิตรงดงามของพระพุทธเจ้า) คัมภีร์อนาคตวํส (ว่าด้วยวงศ์ของพระพุทธเจ้าซึ่งจะมาตรัสรู้ในอนาคต) หรือ คัมภีร์ชินาลงฺการ (ว่าด้วยพุทธคุณอันเป็นเครื่องประดับของพระพุทธเจ้า) ซึ่งพระพุทธรักขิตเถระเป็นผู้แต่ง คัมภีร์ปารมิตาสตก (ว่าด้วยการนมัสการและการสรรเสริญพระบารมีของพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ) เป็นต้น ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ถูกจัดไว้ในหมวดหมู่ที่เกี่ยวกับ “พระพุทธคุณ” เป็นหลักและเมื่อเป็นดังนี้จึงเท่ากับว่า “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ” นั้นมิได้เป็นคัมภีร์ใหม่ มิได้เป็นคัมภีร์ที่ไม่มีใครรู้จัก หากแต่ตรงกันข้าม “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ” ยังถือว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่ ถูกสอบทานด้วยดีแล้วจากนักปราชญ์ผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนาที่อยู่ในระดับสากล ผู้เขียนและคณะทีมงานสถาบันวิจัย DIRI ได้พบ “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ” และนำมาทำงานวิจัยจนแล้วเสร็จจึงประจักษ์ด้วยตนเองว่า คัมภีร์ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในแวดวงพระพุทธศาสนามาเเต่ดั้งเดิมอย่างชัดเจนดังหลักฐานเอกสารโบราณที่นำเสนอให้ทราบในบทความนี้เเล้ว

"สำเนาฉบับ บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓" หน้าที่ ๒๔ และมีในหนังสือสยามบาลีวรรณกรรมหน้าที่ ๘๙ ได้เรียงลำดับรายชื่อคัมภีร์ธมฺมกายาทิไว้ในลำดับที่ ๒๘๘ (B. 2.84)

อนึ่ง การที่ผู้เขียนได้ยกเอารายชื่อของคัมภีร์อื่น ๆ (บางส่วน) ที่ปรากฏในเอกสาร คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤตฯ มากล่าวร่วมด้วยกับ “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ” นั้นมีความสำคัญอย่างไร ? ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ตามธรรมดาแล้ว เมื่อเราได้ศึกษาหรือค้นพบเอกสารใด ๆ ในทางพระพุทธศาสนาก็ดี นอกจากที่เราจะต้องพิจารณาถึงอายุ ลำดับชั้นของเอกสาร ความจริงแท้ของเอกสารไปด้วยกันแล้ว สิ่งที่จะลืมไม่ได้อีกประการหนึ่งก็คือ เราจะต้องพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมที่เอกสารนั้น ๆ เชื่อมโยงไปถึง หรือหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารนั้น ๆ ด้วย ซึ่งในที่นี้ เราจะเห็นได้ว่า “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ” ซึ่งกล่าวถึง พระพุทธเจ้า ซึ่งมีธรรมเป็นพระกาย มีพระธรรมเป็นเครื่องประดับ ดังกล่าวนั้น ได้ถูกจัดไว้ในลำดับที่ใกล้กันกับคัมภีร์ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธวงศ์ พระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ซึ่งในเอกสาร คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤตฯ ดังกล่าวนี้ ก็ปรากฏว่ามีรายชื่อคัมภีร์ที่สัมพันธ์กับคัมภีร์ธมฺมกายาทิไม่น้อยกว่า ๒๐ คัมภีร์ด้วยกัน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าคัมภีร์ (คาถา) หลาย ๆ ฉบับ เช่น อนาคตวํส (อนาคตวงศ์) ชินปญฺชร (ชินบัญชร) สทฺธมฺมสงฺคห (สัทธรรมสังคหะ) จกฺกวาฬทีปนี (จักรวาลทีปนี) ฯลฯ นั้น ต่างก็เป็นที่รู้จักและศึกษาอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบันด้วย นั่นย่อมเป็นการชี้ชัดอยู่แล้วว่าเรื่องราวของ “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ” ก็เป็นเรื่องราวที่ปราชญ์ยุคโบราณถือว่าเป็นเรื่องที่สูงส่งเสมอด้วยคัมภีร์อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน เสมอด้วย คัมภีร์พุทฺธาภิเสกปกรณ คัมภีร์มหาสานฺติ คัมภีร์ชินปญฺชร คัมภีร์สิริวิจิตฺตาลงฺการ คัมภีร์อนาคตวํส หรือคัมภีร์ชินาลงฺการ และที่สำคัญที่สุดคือชุดคัมภีร์เหล่านี้ล้วนอยู่ใน “บาญชีรายชื่อของคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท” มาแต่เดิมทั้งสิ้น
(อ่านต่อฉบับหน้า)

----------------
¹กรรมการหอพระสมุดฯ, บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร, จัดพิมพ์ในงานเฉลิมพระชันษาซายิด สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พ.ศ. ๒๔๖๔
²จากพระปรารภของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ปรากฏในคำนำเอกสาร บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร พิมพ์ในงานเฉลิมพระชันษาซายิด สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ หน้า ข.
³ ในหนังสือสยามบาลีวรรณกรรมได้ระบุรายชื่อคัมภีร์ธมฺมกายาทิไว้ในลำดับที่ ๒๘๘ (B. 2.84) ขณะที่ใน
เอกสาร บาญชี คัมภีร์ภาษาบาลี แล ภาษาสันสกฤต อันมีฉบับในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้นระบุรายชื่อคัมภีร์ธมฺมกายาทิไว้ในหน้าที่ ๒๔ ลำดับที่ ๘๔ ความว่า “ธมฺมกายาทิ ว่าด้วยพระพุทธเจ้ามีธรรมเปนพระกายแลมีธรรมเปนเครื่องประดับ ๑ ผูก”
คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม เป็นคัมภีร์ใบลานที่อธิบายรายละเอียดของพระญาณต่าง ๆ ของ
พระพุทธเจ้า ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระราชทานไว้สำหรับวัดพระเชตุพนฯ
เป็นการเฉพาะ เขียนเป็นคาถาภาษาบาลี ๑๖ หน้าลาน ด้วยอักษรขอมไทย ไม่ปรากฏวันที่จาร ตอนต้นเป็น
คาถาธรรมกายตั้งแต่ สพฺพญฺญุตญาณปวรสีสํ จนถึง อิมํ ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํฯ ซึ่งมีความยาวประมาณ ๒ หน้าลาน ที่เหลืออีก ๑๔ หน้าลานเป็นคาถาบาลีที่อธิบายญาณต่างๆ ที่มีอยู่ในพระธรรมกายที่ละเอียดขึ้นในลักษณะคล้ายอรรถกถา

เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๒ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๒ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๙) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๙) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:26 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.