หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๒)


 

๑๓๖ ปี พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : ความจริงแท้ของหลักฐานธรรมกายที่ไร้กาลเวลา

ในปีนี้ ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งของเหล่าศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทุกคน นับตั้งแต่เป็นปีแห่งการครบ ๑๓๖ ปี ด้วยรูปกายเนื้อของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ปีแห่งการครบรอบ ๑๑๑ ปี ของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ครูผู้สืบสานวิชชาธรรมกาย และผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายได้ ๕๐ ปี และวันธรรมชัยปีที่ ๕๒ ขององค์สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ซึ่งนับเป็นมงคลควรแก่การบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของเราทุกคน 


ผู้เขียนและคณะ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้พร้อมใจแสดงความกตัญญูบูชาธรรมด้วยการจัดเสวนาทางวิชาการและนำ หลักฐานธรรมกายกว่า ๕๐ ชิ้น มาจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ศกนี้ และจะจัดแสดงไปถึงสิ้นเดือนธันวาคมของปีนี้ โดยแบ่งเป็น ๒ กิจกรรม คือ การบรรยายสดโดยที่ผู้ฟังสามารถเข้ารับฟังได้ที่ห้องแสดงวีดิทัศน์ อาคาร ๑๐๐ ปีฯ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการบรรยายจากห้องประชุมเป็นการบรรยายผ่านการรับฟังสื่อออนไลน์ เช่นเฟซบุ๊กและยูทูบเพื่อความปลอดภัยของสังคมและตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีหัวข้อในการบรรยาย ๗ หัวข้อ ดังนี้


๑. การค้นพบหลักฐานธรรมกาย ในการลงพื้นที่ภาคสนามจังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๓ โดยพระมหาอภิวรรณ อภิวณฺโณ

๒. คัมภีร์ในกลุ่มคัมภีร์ธัมมกาย กับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พิธีกรรม และสมาธิ โดย กัลฯ วรเมธ มลาศาสตร์

๓. หลักฐานธรรมกายในคัณฑวยูหสูตร (สันสกฤต) โดย กัลฯ ประสงค์ สมน้อย (บศ.๙)

๔. “โฝวซัวกวนจิง” คัมภีร์พุทธานุสติโบราณ สู่การเห็น “พุทธะ” ในตน โดยพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ

๕. ที่มาของคาถาธรรมกาย โดย ดร.กิจชัย เอื้อเกษม

๖. มุมมองของคำว่าธรรมกาย ตามรอยร้าวระหว่างยุคพุทธศาสตร์ดั้งเดิมกับพุทธศาสตร์มหายาน โดยพระ ดร.วีรชัย เตชงฺกุโร

๗. การศึกษาหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ กับความเข้าใจประวัติศาสตร์ของวิชชาธรรมกาย โดย ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล





การบรรยายแต่ละครั้งปรากฏสถิติผู้เข้ารับชมทางออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและยูทูบรวมกันครั้งละหลักหมื่นขึ้นไป นับเป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจว่ามีผู้สนใจให้ความคิดเห็น ช่วยกันแชร์ขยายผลต่อ


ในการจัดนิทรรศการหลักฐานธรรมกาย ณ อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ข้างต้นนั้น คณะทำงานได้รวบรวมผลงานวิจัยจำนวน ๕๐ หัวข้อด้วยกัน โดยสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มได้ ๔ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในสุวรรณภูมิ ๒) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียกลาง-ใต้ ๓) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่จารึกด้วยภาษาจีน และ ๔) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี ดังมีรายละเอียดที่น่าศึกษาดังต่อไปนี้

๑) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในสุวรรณภูมิ

หลักฐานธรรมกายที่พบในประเทศไทยที่นำมาจัดแสดงนั้นพบว่ามีทั้งสิ้น ๑๙ ชิ้นด้วยกัน กล่าวคือ

๑. ธรรมสมบัติ (หมวดที่ ๑) ปฐมสมโพธิ์ แบบธรรมยุต (เนื้อหาต้นฉบับอยู่ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘) เป็นการพรรณนาการบังเกิดด้วยรูปกายและพระธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การแสดงพุทธประวัติตั้งแต่การประสูติไปจนถึงเหตุการณ์การแจกพระบรมสารีริกธาตุหลังจากการถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว


๒. ตำราการบรรจุหัวใจพระพุทธเจ้าและพระเจดีย์ฉบับครูบาก๋ง เนื้อหาคัมภีร์อยู่ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๕๙-๒๕๓๒ เป็นประเภทพับสา สถานที่พบคือวัดศรีมงคล อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ในภาษาบาลี-ล้านนา


๓. บทนมัสการพระธรรมกาย พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นเอกสารประเภทพับสา พบที่วัดพระธาตุหริภุญไชย จารึกเป็นอักษรธรรมล้านนา ในภาษาบาลี-ล้านนา


๔. คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับลายรดน้ำดำเอก รัชกาลที่ ๓ เนื้อหาคัมภีร์อยู่ในราวปีพุทธศักราช ๒๓๖๗-๒๓๙๔ ประเภทหลักฐานคือใบลาน พบที่หอสมุดแห่งชาติ พระนคร จารึกเป็นอักษรขอม-ไทย ภาษาที่จารึกเป็นภาษาบาลี


๕. คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ในชุดพระไตรปิฎกฉบับเทพชุมนุม รัชกาลที่ ๓ เนื้อหาคัมภีร์ฉบับนี้มีความคล้ายคลึงกับเนื้อหาที่ปรากฏในคัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับลายรดน้ำดำเอก และคัมภีร์ฎีกาพระธรรมกายในชุดพระไตรปิฎกฉบับรองทรง รัชกาลที่ ๑





๖. พระธัมมกายาทิ ในคัมภีร์สัตตชาดกนิทานานิสงส์ อยู่ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๓๖๐-๒๓๖๗ ปรากฏในคัมภีร์ผูกที่ ๑๓ จารึกเป็นอักษรขอมไทย ภาษาบาลี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ


๗. แบบขึ้นกัมมัฏฐาน พ.ศ. ๒๓๕๔-๒๓๖๗ เป็นแบบขึ้นกัมมัฏฐานที่บันทึกไว้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) แห่งวัดราชสิทธาราม ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จารึกเป็นอักษรไทย ภาษาไทย


๘. จารึกลานเงินวัดพระเชตุพนฯ เป็นหลักฐานประเภทจารึกลานเงินประกับทอง ซึ่งพบในเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ ประจำรัชกาลที่ ๑ โดยจารึกเป็นอักษรขอม-ไทย ภาษาบาลี ประกอบไปด้วยคาถาปัจจยาการ อเนกชาติสํสารํ และคาถาพระธรรมกาย


๙. วิธีเรียนธรรมและเข้าถึงธรรม เป็นหลักฐานประเภทสมุดไทยดำ พบในหอสมุดแห่งชาติ จารด้วยอักษรไทยและเป็นภาษาไทย


๑๐. คัมภีร์ฎีกาพระธัมมกายฉบับลานดิบ จารเป็นอักษรขอมไทย ภาษาบาลี ในสมุดไทยดำ อยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พุทธศักราช ๒๓๒๕-๒๓๙๔) ขณะเดียวกันยังพบสมุดไทยดำเรื่องพระธรรมกายและแปลต่าง ๆ พระธรรมกายแปลยกศัพท์ จารเป็นอักษรขอม-ไทย ภาษาบาลี-ไทยด้วยเช่นกัน


๑๑. บทสวดธมฺมกายานุสฺสติกถา พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นหลักฐานประเภทสมุดพิมพ์ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพนำต้นฉบับมาจากวัดโมลีโลกยาราม (กทม.) เเละจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งบทสวดธมฺมกายานุสฺสติกถาดังกล่าวนี้ มีขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องใน ๓ ประเด็นคือ ๑) บทพรรณนาส่วนต่าง ๆ ของพระธรรมกาย นับตั้งแต่พระเศียรไปจนถึงพระญาณและพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒) บทสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่างดงามกว่ามนุษย์และเทวาทั้งหลายด้วยพระธรรมกาย ๓) บทรวมความที่แนะนำให้โยคาวจรกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ซึ่งปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณนั้นพึงระลึกถึงพระธรรมกายเนือง ๆ


๑๒. คัมภีร์ฎีกาพระธรรมกาย ในชุดคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับรองทรง รัชกาลที่ ๑ เป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งฉบับหนึ่ง เนื่องจากเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่มีเนื้อหาไม่แตกต่างจากบทสวดธมฺมกายานุสฺสติกถา และยังเป็นฉบับที่เชื่อกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงใช้สวดเป็นการส่วนพระองค์ ทำให้เป็นที่มาของการเรียกชื่อคัมภีร์ฉบับนี้ว่าเป็น “ฉบับรองทรง” ดังกล่าว


๑๓. จารึกพระธรรมกายพุทธศักราช ๒๐๙๒ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ถือว่ามีความเก่าแก่ โดยพบว่าถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งราชอาณาจักรอยุธยา พบในพระเจดีย์วัดเสือ จังหวัดพิษณุโลก จารึกเป็นอักษรขอม-สุโขทัย ภาษาบาลี-ไทย มีเนื้อหาที่สำคัญกล่าวคือ “พระโยคาวจรผู้มีญาณแก่กล้า เมื่อปรารถนาจะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า... พึงระลึกถึงพุทธลักษณะคือพระธรรมกายอยู่เนือง ๆ”





๑๔. คัมภีร์อุปปาตสันติ เป็นคัมภีร์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. ๑๙๕๐ ฉบับตีพิมพ์อักษรไทยและฉบับใบลานลาว โดยพิมพ์เป็นอักษรไทยและอักษรธรรมลาว พบที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง และที่หอสมุดแห่งชาติ สปป. ลาว เป็นบทสรรเสริญพระธรรมกาย


๑๕. แบบขึ้นกัมมัฏฐาน ห้องพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ เป็นคัมภีร์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน ปรากฏรายละเอียดในหนังสือ “พุทธรังษีธฤษดีญาณ” สืบทอดมาจากวัดประดู่โรงธรรม จารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย สาระสำคัญที่ปรากฏในแบบขึ้นกัมมัฏฐานดังกล่าวได้แก่ “เมื่อจิตต์เป็นสุข ให้ดูธรรมกายในรูปกาย”


๑๖. จารึกด่านประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ จารึกนี้คาดว่ามีอายุอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๑ เป็นอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต


๑๗. จารึกปราสาทตาเมียนโตจ พบที่จังหวัดสุรินทร์ มีอายุอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๑ เป็นอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต เช่นเดียวกับจารึกด่านประคำ


๑๘. จารึกปราสาทและจารึกเมืองพิมาย จังหวัดสุรินทร์ เป็นจารึกในกลุ่มเดียวกับรายการที่ ๑๖ และ ๑๗ เพราะมีอายุอยู่ในช่วงเดียวกัน จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเช่นเดียวกัน สาระสำคัญของจารึกเป็นการกล่าวคำนอบน้อมและนมัสการพระพุทธเจ้าด้วยสัมโภคกาย นิรมาณกาย และธรรมกาย


๑๙. จารึกที่ค้นพบในประเทศกัมพูชา นครวัด จารึกนี้เรียกว่าเป็น “Grand Column” เพราะถูกจารึกไว้ที่เสาขนาดใหญ่ หนึ่งในจำนวน ๑๐๐ ต้น ในปราสาทนครวัดคาดว่าสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๗ ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก โดยหลักฐานคำว่า “พระธรรมกาย” ถูกจารึกไว้ในเสาหลักต้นที่ ๙ ซึ่งเป็นจารึกที่บอกเล่าเรื่องราวการจัดงานบุญ ณ ปราสาทนครวัดแห่งนี้




หลักฐานธรรมกาย ข้างต้นนี้ ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น ทำให้คณะทำงานได้เกิดความเข้าใจชัดเจนว่า เรื่องราวของ “ธรรมกาย” ที่บรรพบุรุษชาวพุทธได้ถ่ายทอดจารึกไว้นี้ โดยทั่วไปแล้วเป็นการกล่าวอธิบายถึงคุณลักษณะของ “พระธรรมกาย” ที่เชื่อมโยงกับความเป็น “พุทธะ” หรือเป็นการกล่าวเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการสั่งสมบุญสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ หรือบุคคลผู้ปรารถนาพระโพธิญาณในภายหน้าเป็นสำคัญ และยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวของหลักฐานธรรมกายที่พบนั้นเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่ามักเกี่ยวพันหรือมีหลาย ๆ ส่วนที่เชื่อมโยงกับเรื่องของการปฏิบัติธรรมด้วย


อย่างไรก็ตาม บรรดาหลักฐานหรือจารึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ “พระธรรมกาย” นั้น ดังที่คณะทำงานได้นำเสนอให้ทราบอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสิ่งที่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสืบทอดมาอย่างยาวนาน (ในเอเชียกลาง-ใต้) พบว่ามีร่องรอยของหลักฐานธรรมกายที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างมาก ดังจะได้กล่าวต่อไป


(อ่านต่อฉบับหน้า)







เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๕ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๕ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๒) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๒) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:25 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.