ทำไมจึงไม่ท้อและไม่ทิ้งการเรียนพระบาลี
ทำไมจึงไม่ท้อ
และไม่ทิ้งการเรียนพระบาลี
ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไปบนเส้นทางเเห่งความสำเร็จของใครหลาย ๆ คนได้ผ่านความล้มเหลวมานับไม่ถ้วน แต่เพราะเขาเหล่านั้นไม่ทิ้ง ไม่ถอดใจ ไม่ยอมเเพ้ไปเสียก่อน ยังสู้อดทนเเละยืนยันว่าจะไปต่อ แล้ววันหนึ่งจึงถึงเป้าหมายสมดังใจที่เฝ้ารอ เหมือนดังพระอาจารย์อัศนัย วิสฺสุตชโย ผู้มีใจแกร่งดุจดังเพชรกล้า ผู้ตั้งมโนปณิธานไว้เเน่วเเน่ที่จะคว้าเปรียญธรรม ๙ ประโยค มาเป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตของตน หมู่คณะ เเละมอบถวายเป็นของขวัญเเด่หลวงพ่อ เเม้ต้องใช้เวลาถึง ๒๐ ปี เเต่วันนี้ก็ได้ชื่อว่าทำความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นเเล้ว เพราะคำว่า “ไม่ทิ้ง”
พระมหาอัศนัย วิสฺสุตชโย อายุ ๓๒ ปี พรรษา ๑๒ ผู้สอบผ่านเปรียญธรรม ๙ ประโยค ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ รูปที่ ๘๓ ของวัดพระธรรมกาย ใช้เวลาในการศึกษาภาษาบาลีจนกระทั่งจบประโยค ๙ รวมแล้ว ๒๐ ปี
ทำไมถึงเข้าวัดคะ ?
หลวงพี่เป็นคนจังหวัดพะเยาโดยกำเนิด ในช่วงเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โยมน้าพัฒนา เชียงแรง ซึ่งเคยรับบุญอยู่ที่ศูนย์พยาบาลของวัดพระธรรมกาย เป็นกัลยาณมิตรคนเเรกที่ชวนเข้าวัด นอกจากนี้ก็ยังมีโยมคุณตาวิโรจน์และโยมคุณยายบังอร คุณาธารกุล ที่คอยเป็นกัลยาณมิตรประคับประคองให้หลวงพี่ได้มาบวชเป็นสามเณรและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ทำไมเลือกเรียนพระบาลีคะ ?
พระพี่เลี้ยงท่านถามว่าพวกเราจะเรียนอะไร ตอนนั้นมีให้เลือก ๒ เส้นทาง คือ เรียนบาลีหรือปริยัติสามัญ คือ ม. ๑ ม. ๒ ม. ๓ เเต่ถ้าเรียนปริยัติสามัญต้องไปเรียนที่ปราจีนบุรี เเต่หลวงพี่ได้รับการปลูกฝังจากทั้งพระภาวนาธรรมวิเทศ (ภูเบศ ฌานาภิญฺโญ) เเละโยมพ่อโยมเเม่ว่าให้มาเรียนทางธรรมที่วัดพระธรรมกาย คือเรียนบาลี ก็เลยเลือกทางนี้
ก่อนเรียนบาลีต้องผ่านขั้นตอนไหนบ้างคะ ?
ปีเเรกของสามเณรนวกะ ๑ จะต้องฝึกฝนเรื่องความเป็นอยู่ กิจวัตร กิจกรรม เเละการเรียนนักธรรมเรียนบาลี ซึ่งการที่เราจะผ่านการเป็นสามเณรนวกะ ๑ ไปได้นั้น ต้องผ่านการประเมินทั้งความประพฤติเเละการเรียน คือต้องท่องไวยากรณ์ได้และสอบผ่านนักธรรมตรี ถ้าผ่านการประเมินทั้ง ๒ อย่างนี้ จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็นสามเณรนวกะ ๒ ซึ่งถือเป็นสามเณรประจำวัดพระธรรมกาย
พอหลวงพี่ได้เป็นสามเณรนวกะปีที่ ๒ แล้ว ก็เรียนนักธรรมโทควบคู่ไปกับการเรียนบาลีประโยค ๑-๒ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงพี่สอบนักธรรมเอกผ่านพร้อมกับสอบบาลีประโยค ๑-๒ ผ่านด้วย เเละในปีถัดมาก็สอบผ่านประโยค ๓
ตอนเรียนประโยค ๑-๒ มีผู้สอบผ่านมากไหมคะ ?
ในรุ่นหลวงพี่มีสามเณรสอบผ่านเพียงรูปเดียว นอกนั้นตกหมด ตัวหลวงพี่เองสอบตกวิชาเเปล สอบผ่านแค่วิชาไวยากรณ์ เเต่อย่างไรก็ถือว่ายังไม่ผ่านประโยค ๑-๒ เเต่สมัยนั้นเราสามารถเก็บผลคะแนนวิชาไวยากรณ์ไว้ใช้ในปีถัดไปได้ ซึ่งตอนนั้นไม่รู้สึกเสียใจมาก เพราะมีเพื่อนที่สอบไม่ผ่านด้วยกันเยอะ
สอบไม่ผ่านแต่ละครั้งคิดอย่างไรคะ ?
ในช่วงที่สอบประโยค ๔ เสร็จแล้ว หลวงพี่จำได้ว่ามีการประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านดึกมาก ซึ่งเพื่อนที่ไปดูประกาศรายชื่อมาบอกว่าไม่มีชื่อหลวงพี่ ตอนนั้นรู้สึกผิดหวัง ทำให้นอนไม่หลับ ครุ่นคิดตลอดว่าทำ ข้อสอบพลาดตรงไหน เพราะตอนสอบเสร็จก็คุยกับเพื่อนซึ่งหลวงพี่ทำได้เหมือนกับเพื่อน จึงสงสัยว่าทำไมถึงไม่ผ่าน ตอนนั้นได้แต่ให้กำลังใจตัวเองว่า ขอให้คืนนี้ผ่านไปก่อน พรุ่งนี้ขอให้เรามีรายชื่อสอบซ่อมก็เเล้วกัน เพราะปีนั้นเป็นปีเเรกที่เปิดให้สอบซ่อมประโยค ๔ โดยให้เวลา ๑ เดือน ทำให้หลวงพี่ฟิตอ่านหนังสืออย่างหนัก จนในที่สุดก็สอบผ่านประโยค ๔ สำเร็จ จากนั้นสอบผ่านตลอด จนกระทั่งมาสอบไม่ผ่านอีกครั้งตอนประโยค ๗ ซึ่งยอมรับว่าผิดหวัง แต่ยังรับไหว เพราะช่วงนั้นหลวงพี่เพิ่งไปนั่งสมาธิระยะยาวมาจนใจนิ่งมาก อีกทั้งตลอดเส้นทางการเรียนที่ผ่านมา เราเห็นทั้งผู้ที่สอบผ่านและไม่ผ่านมาตลอด ซึ่งถ้าหลวงพี่สอบผ่าน หลวงพี่จะคอยให้กำลังใจและปลอบใจเพื่อน ๆ ว่า “ไม่เป็นไรนะ” พอถึงเวลาที่เราสอบตก ก็เอาคำที่เคยปลอบใจเพื่อนมาใช้กับตัวเอง
เมื่อสอบไม่ผ่านประโยค ๗ หาทางออกอย่างไรคะ ?
เมื่อออกพรรษา รับกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทุกปีโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะส่งนักเรียนไปติวโครงการอบรมบาลีก่อนสอบประโยค ๖-๙ ที่วัดสุทัศน์ฯ เเละวัดสร้อยทอง ตอนนั้นหลวงพี่ตัดสินใจไปอบรมติวบาลีรอบนี้ด้วย ซึ่งบรรยากาศการติวเป็นไปด้วยความเข้มข้น ทุกรูปที่ไปติวตั้งใจกันมาก บางรูปตื่นมาอ่านหนังสือตั้งแต่ตี ๔ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดีให้แก่กัน แล้วสุดท้ายหลวงพี่ก็สอบผ่าน
ช่วงเรียนต่อประโยค ๘ ยากไหม มีอุปสรรคอะไรบ้างคะ ?
ช่วงประโยค ๘ เป็นวิชาใหม่หมดเลย ต้องขยันมากถึงจะสอบได้ แต่ช่วงนั้นวัดมีโครงการบวชพระเเสนรูปครั้งเเรกในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งหลวงพี่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยจัดบวชที่จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงพี่ จากนั้นต้องรับบุญจัดอบรมอุบาสิกาแก้วอีก ช่วงนั้นรับบุญหนักมาก ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย สุดท้ายหลวงพี่สอบไม่ผ่านติดต่อกัน ๒ ปี
การสอบไม่ผ่านครั้งนี้ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า จะเรียนบาลีได้ดีต้องขยันเเละต่อเนื่อง เพราะถ้าขาดความต่อเนื่องในการทบทวน เวลาจะรื้อฟื้นอีกทีเป็นเรื่องยาก แม้ตอนนั้นสอบไม่ผ่าน แต่ในใจหลวงพี่คิดแต่อยากจะไปให้ถึงประโยค ๙ ทั้ง ๆ ที่ยิ่งเวลาผ่านไป ภารกิจงานบุญก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เหมือนเดินไปบนหนทางที่ยาวไกล แล้วเราต้องหิ้วของเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้เราเดินช้าไปบ้าง แต่ถ้าเราไม่หยุด ก็ต้องถึงสักวัน คือ แม้งานบุญจะมากขนาดไหน แต่พอถึงช่วงเวลาไปติว ก็ไปติว หลวงพี่พยายามที่จะทำให้ดีทั้ง ๒ ด้าน
สุดท้ายผ่านประโยค ๘ มาได้อย่างไรคะ ?
ปีที่สามของการสอบประโยค ๘ หลวงพี่เลือกจำพรรษาที่วัดพระธรรมกาย เพราะที่ศูนย์พะเยามีพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงที่สามารถทำหน้าที่เเทนกันได้แล้ว ซึ่งหลวงพี่ขอรับบุญแค่การไปเทศน์ ไปให้โอวาท ไปจัดกิจกรรม ไป ๆ มา ๆ ระหว่างปทุมธานีกับพะเยา แล้วพอถึงเวลาเก็บตัวเพื่อติวบาลี หลวงพี่ก็ไปติว จนสุดท้ายสอบผ่านประโยค ๘ ได้สำเร็จ
ช่วงเรียนประโยค ๙ ซึ่งเป็นบันไดขั้นสุดท้าย ยากไหม มีอุปสรรคอย่างไรบ้างคะ ?
ช่วงประโยค ๙ ถือเป็นบันไดขั้นที่ยากที่สุดของหลวงพี่ เพราะใช้เวลานานถึง ๙ ปี กว่าจะจบ คือ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๕ จบปี พ.ศ. ๒๕๖๓
ด้วยความที่สอบไม่ผ่านหลายครั้ง หลวงพี่จึงเกิดความล้าจนถามตัวเองว่า เราต้องอ่านหนังสืออีกเเล้วหรือ มานั่งที่เดิมอีกเเล้วหรือ เหมือนเราเดินเพื่อไปข้างหน้าตลอดเวลา เเต่มันไม่ไปไหน เเต่หลวงพี่ก็ไม่หยุด คิดอย่างเดียวว่าต้องสอบให้ได้ ตอนนั้นหลวงพี่พยายามหาทุกวิถีทางเพื่อให้สอบผ่าน คือ ไปติวทุกปี เเละไปสอบทุกปี เวลาไปติวก็ต้องไปกางเต็นท์อ่านหนังสือตามระเบียง ตามห้องเรียน มียุงบ้างอะไรบ้าง ซึ่งการไปติวก็รู้สึกกดดันเหมือนกัน เหมือนใคร ๆ ก็เล็งไว้เลยว่าอย่างไรเราต้องผ่าน เหมือนติดป้ายรอไว้ จนในปีที่ ๙ นี้ หลวงพี่ไม่ได้ไปติว แต่อ่านหนังสือด้วยใจสบาย ๆ คิดว่า..ผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร ไม่ได้กดดันตัวเอง ซึ่งพอใจสบาย ไม่เคร่งเครียด ก็รู้สึกโล่ง จนค่อย ๆ เข้าใจความรู้ที่เรียนมาแตกฉานขึ้น และถือเป็นความโชคดีมากที่ปีที่ ๙ นี้ หลวงพี่สอบผ่านประโยค ๙
สอบได้ประโยค ๙ แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะ ?
พอเรียนจบก็มานั่งนึกว่า เราใช้เวลาเรียนถึง ๒๐ ปีเลยหรือ คือ หลวงพี่ไม่ได้เรียนเก่ง แต่มีข้อดีคือ “ไม่ทิ้ง” เพราะตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา หลวงพี่ไปสอบตลอด และในที่สุดก็สอบได้ ถ้าหลวงพี่ทิ้งก็ไม่มีวันสอบได้ แต่ถ้าเรายอมสอบก็มี ๒ ทาง คือ สอบผ่านกับไม่ผ่าน แต่ถ้าไม่ไปสอบเลยก็คือไม่ผ่านอย่างเดียว
ณ วันนี้ หลวงพี่อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ที่สอบได้ประโยค ๖ ซึ่งบางรูปอาจจะคิดว่าพอแล้ว หลวงพี่อยากให้คิดว่า “เมื่อเราเกิดจากบาลี คือเริ่มต้นเข้ามาเป็นสามเณรเรียนบาลี พออายุครบบวชพระ ก็เริ่มต้นจากการใช้ภาษาบาลีในการบวช เราต้องสู้ให้เต็มที่ อย่าทิ้งเส้นทางที่ตัวเองเลือกในการเริ่มต้นมา เพราะถ้าไม่ทิ้ง สักวันต้องถึงจุดหมายสูงสุด แต่ถ้าทิ้งก็ไม่มีวันถึง ซึ่งข้อคิดนี้สามารถนำไปใช้ได้ทุกงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไร เช่น ถ้าจะปฏิบัติธรรม ถ้าเราทำต่อเนื่อง สักวันหนึ่งเราต้องเข้าถึงธรรมอย่างเเน่นอน
อยากจะฝากอะไรเป็นพิเศษไหมคะ ?
ตั้งแต่เข้าวัดมา หลวงพี่เติบโตมาพร้อมกับคำสอนหลวงพ่อ ที่เน้นความสำคัญในการเรียนพระบาลีเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านสอนเสมอว่าให้มี ๓ ป. นะลูกเณร คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ซึ่งปริยัติก็คือการเรียนพระบาลี ปฏิบัติก็คือการปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติธรรมได้เห็นผล ก็จะได้ปฏิเวธตามมา ซึ่งปฏิเวธก็คือผลของการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
เมื่อหลวงพี่เรียนจบก็รู้สึกขอบพระคุณหลวงพ่อมาก ๆ ที่เป็นแรงใจสำคัญที่สุด ที่ขับเคลื่อนให้หลวงพี่ไม่ท้อและไม่ทิ้งการเรียนพระบาลี แม้จะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับหลวงพี่ เพราะเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่หลวงพี่อยากเรียนให้จบ ก็เพื่อถวายกำลังใจแด่หลวงพ่อ ตอบแทนที่หลวงพ่อเมตตาให้การสนับสนุนการเรียนพระบาลีมาโดยตลอด เพราะท่านทราบว่า การเรียนพระบาลีจะเป็นการดำรงไว้ซึ่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้อีก ซึ่งหลวงพี่อยากกราบขอบพระคุณท่านมาก ๆ และอยากกราบเรียนหลวงพ่อว่า ลูกทำสำเร็จแล้วครับ...
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดในคอลัมน์นี้เกิดก่อนสถานการณ์โควิด-๑๙
เรื่อง : หนูนา
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๑๕ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
- ความสุขสงบท่ามกลางชีวิตดิจิทัล
- ทำไมจึงไม่ท้อและไม่ทิ้งการเรียนพระบาลี
- อนุโมทนาบุญกฐินสัมฤทธิ์และกฐินสมทบเกือบพันวัด
- ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ จัดอบรมประธานกฐินสัมฤทธิ์เด็กดี V-Star ทั่วไทย ปีที่ ๑๓
- ๑๐ ตุลามหาปีติ
- หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๒)
- พลิกชีวิตด้วยเงิน ๕ บาท
- มอบทาน มอบธรรม จากใจชาววัดพระธรรมกาย
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- หลวงพ่อตอบปัญหา
- ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๓๔)
- อะไรมีค่าที่สุดตอนใกล้หลับตาลาโลก ?
ไม่มีความคิดเห็น: