หลวงพ่อตอบปัญหา
ถาม : การหลับตาและวางใจเป็น สำคัญอย่างไร ?
ตอบ : เรื่องนี้จำเป็นต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจตั้งแต่ชื่อเรียกที่แท้จริงของสมาธิ คำเต็มของคำว่าสมาธินั้น คือ สัมมาสมาธิ สัมมา แปลว่า ถูกต้อง สัมมาสมาธิหรือสมาธิที่ถูกต้อง หมายถึง การทำให้ใจสงบ ให้หยุด ให้นิ่ง ให้วางอยู่ภายในตัว ทำไมต้องภายในตัว เพราะที่อยู่หรือบ้านของใจนั้นอยู่ภายในตัวหรือภายในกาย มิได้อยู่นอกตัวแต่อย่างใด โดยทั่วไปใจที่ยังไม่ถูกฝึกให้ดี มักชอบออกไปเที่ยวทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส แวบไปแวบมา ชอบคิด ชอบท่องเที่ยวไปไกล ๆ ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายศักยภาพของใจ นอกจากนี้ใจยังไม่ชอบการบังคับ การฝึกใจจะต้องค่อย ๆ ตะล่อมใจให้สมัครใจกลับมาสู่ภายในเอง การฝึกสมาธิ คือ กระบวนการที่จะทำให้ใจหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย การฝึกสมาธิเป็นการฟื้นฟูคุณภาพการเห็น จำ คิด รู้ ของใจขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
ทำอย่างไรจึงจะตะล่อมใจกลับมาสู่ภายในได้ เทคนิคสำคัญคือ การหลับตาเบา ๆ ผนังตาปิดเพียงประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ หรือปิดพอให้ขนตาชนกัน บางทีเรียกว่า ปรือตา ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะกล้ามเนื้อตาและบริเวณรอบ ๆ ตา เป็นกล้ามเนื้อที่ไวต่อประสาทสัมผัส มีอะไรนิดหนึ่งมากระทบจะรู้สึกทันทีคล้ายกับเรดาร์ เนื่องจากพร้อมทำงานอยู่ตลอดเวลา กล้ามเนื้อส่วนนี้จึงกลายเป็นกล้ามเนื้อที่คลายเครียดยาก ถ้าเราหลับตาสัก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ กล้ามเนื้อทั้งหมดบริเวณนี้จะคลายง่าย แต่ถ้าเราหลับตาปี๋ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือเกิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะกลายเป็นว่าหลับตามากเกินกว่าปกติ คือหลับตาแน่น ด้วยความแรงจากความตั้งใจมากจะกลายเป็นเกร็งรอบ ๆ บริเวณกล้ามเนื้อตา ทำให้เกิดอาการตึงที่หน้าผาก กล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตารู้สึกไม่สบาย ไม่ผ่อนคลาย ตรงนี้ต้องระวังและคอยสังเกตให้ดี ให้ปิดผนังตาเพียงประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ จึงจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้อย่างง่าย ๆ
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านให้เทคนิคไว้เทคนิคหนึ่ง สำหรับคนที่มักจะเผลอหลับตา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านให้เหลือกตาช้อนมองย้อนกลับเข้าไปข้างใน เหลือกตาช้อนโฟกัสเข้าไปข้างใน เหมือนจะมองเข้าไปในกะโหลก จะทำให้กล้ามเนื้อตา ผนังตาปรือ ๆ ทำให้ คลายตัวง่าย
นอกจากหลับตาเบา ๆ ผนังตาปิด ๙๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว อย่าบังคับใจ เพียงตั้งสติ วางใจเบา ๆ ตรงศูนย์กลางกายพอแล้ว อย่าไปบังคับใจเด็ดขาด ถ้าบังคับใจเมื่อไร จะต่อต้านเมื่อนั้น เหมือนกับเตะฟุตบอลอัดเข้าผนังกำแพงอะไรทำนองนั้น
จากนั้นก็ กำหนดเบา ๆ ถ้ากำหนดเป็นดวงแก้ว ต้องเป็นดวงแก้วเบา ๆ ดวงแก้วที่เรานึกถึงเบากว่าลูกโป่งฟองสบู่อีก องค์พระก็ต้องเป็นองค์พระที่เบา ๆ แล้วก็ ให้กำหนดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าทำใจสบายอย่างนี้ เดี๋ยวจะเป็นสมาธิได้ง่าย
ที่ว่าเป็นสมาธิได้ง่ายเป็นอย่างไร เมื่อเรากำหนดเบา ๆ อะไรเกิดขึ้น ร่างกายใช้พลังงานน้อยลง เมื่อร่างกายใช้พลังงานลดลง การเผาผลาญพลังงานในตัวก็ลดลง เมื่อการเผาผลาญพลังงานในตัวลดลง ความต้องการออกซิเจนก็ลดลง เมื่อความต้องการออกซิเจนลดลง อัตราการหายใจเข้าออกของเราก็ลดลง เมื่ออัตราการหายใจในตัวลดลง กล้ามเนื้อทั้งตัวเริ่มคลายเครียด ใจก็เลยคลายเครียดตามไปด้วย ความสบายก็เกิดขึ้น
เมื่อความสบายเกิดขึ้น ความสว่างภายในก็เริ่มฟื้นคืนมา เมื่อความสว่างมา ความสงบใจก็มา เมื่อความสงบใจมา การใช้พลังงานก็ลดลง เข้ารอบที่ ๒ แล้ว การเผาผลาญก็ลดลง ออกซิเจนก็ต้องการลดลง การหายใจเข้าออกลดลง กล้ามเนื้อก็ยิ่งคลาย ใจก็ยิ่งคลาย ความสบายก็เกิดขึ้นมา ความสว่างก็เกิดขึ้นมา ความสงบก็เกิดขึ้นมา รอบแล้วรอบเล่า ๆ ต่อแต่นี้มีแต่สว่างยิ่งขึ้น ชุ่มชื่นยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นมาในตัวของเรา จึงทำให้เรารู้สึกสบาย
สิ่งที่เราต้องการคือใช้พลังงานน้อย มีสติรู้ตัวอยู่ ไม่ได้หลับ จิตจะเห็นความสว่าง เวลาเราหลับ สงบแต่ไม่เห็นความสว่างก็หลับไปแล้ว แต่สงบแล้วมีสติรู้ตัวอยู่ โอ้โฮ..ทำไมสว่างอย่างนี้ ที่ต้องการอยู่ตรงนี้นี่เอง เพราะฉะนั้นโดยหลักการพื้นฐานของการฝึกสมาธิ คือ หลับตา เบา ๆ อย่าบังคับใจ แล้วประคองใจเอาไว้ในกลางท้อง เอาไว้ในตัว ไม่ใช่นอกตัว
ขณะฝึกสมาธิต้องกำหนดนิมิต กี่สำนักก็ต้องกำหนดทั้งนั้น ไม่กำหนดลมหายใจเข้าออก แล้วภาวนาว่าพุทโธ ก็ต้องกำหนดท้องพอง ท้องยุบ แล้วเป็นพองหนอ ยุบหนอ ไม่อย่างนั้น กำหนดเป็นองค์พระ ไม่อย่างนั้นกำหนดเป็นดวงแก้ว เหตุที่ต้องกำหนดเพราะการทำสมาธิ เป็นการตะล่อมนำใจเข้ามาข้างในตัว แต่เรายังไม่เห็นใจของตัวเองเลย จึงต้องเอาใจไปผูกไว้กับวัตถุที่พอกำหนดได้ เช่น ผูกกับลมหายใจ แม้เรามองไม่เห็นลมหายใจ แต่รู้ได้ว่านี่เข้า นี่ออก หรือกำหนดเป็นองค์พระ ทีแรกก็ไม่ได้หรอก กำหนดบ่อยเข้า ๆ ชักเป็นเงา ๆ อยู่บ้าง หายบ้าง เป็นเงา ๆ บ้างบางครั้ง เริ่มตะล่อมใจเข้ามาแล้ว เพราะเอาใจไปผูกไว้กับวัตถุที่พอจะกำหนดได้ง่าย หรือกำหนดท้องพอง ท้องยุบ เมื่ออาการพองอาการยุบกำหนดได้ พอกำหนดได้ แสดงว่าใจเข้าไปอยู่ในตัว บ่อยเข้า การพองการยุบจะช้าลง เบาลง ใจก็ยิ่งนิ่ง ในที่สุดเลยอยู่ที่ศูนย์กลางโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้น จะกำหนดองค์พระ จะกำหนดดวงแก้ว จะกำหนดท้องพอง ท้องยุบ หรือจะกำหนดลมหายใจเข้าออก ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงกุศโลบายที่จะเอาใจเข้ามาเก็บข้างใน เพราะผู้เริ่มฝึกยังมองไม่เห็นใจตนเอง การกำหนดนิมิตจึงเป็นกุศโลบายล่อใจให้เข้ามาตั้งมั่นภายในตัวง่ายขึ้น เมื่อใจเข้าไปหยุดนิ่งดีแล้วก็หยุด และจะหยุดกำหนดนิมิตองค์พระ ดวงแก้ว ลมหายใจ พองหนอ ยุบหนอ ไปโดยอัตโนมัติ เป็นความหยุด เป็นความนิ่ง เป็นความใส เป็นความสว่างอยู่ข้างใน
การฝึกสมาธิ หรือกระบวนการฝึกใจ จึงเริ่มตั้งแต่การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ส่วนอ่อนไหวที่สุด คือ เปลือกตา กล้ามเนื้อรอบตา และเมื่อกำหนดนิมิตเบา ๆ แล้ว การใช้พลังงานลดลง อัตราการเผาผลาญพลังงานก็ลดลง ออกซิเจนก็ลดลง อัตราการหายใจเข้าออกก็ลดลง ร่างกายก็ผ่อนคลาย หรือว่าคลายเครียด จิตใจก็ผ่อนคลายตามไปด้วย เพราะฉะนั้นความสุขก็เกิด ความสว่างภายในก็ตามมา ความสงบภายในก็ตามมา เสร็จแล้วก็เข้าสู่รอบที่ ๒ คือใช้พลังงานลดลงเป็นรอบที่ ๒ เผาผลาญพลังงานลดลงเป็นรอบที่ ๒ ใช้ออกซิเจนลดลงเป็นรอบที่ ๒ อัตราการหายใจลดลงเป็นรอบที่ ๒ ร่างกายยิ่งผ่อนคลาย จิตใจก็ยิ่งผ่อนคลาย ความสุขก็เพิ่มขึ้นมา ความสว่างก็เพิ่มขึ้นมา ความสงบภายในก็เพิ่มขึ้นมา จากนั้นการใช้พลังงาน ก็ลดลงไปอีกในรอบที่ ๓ การเผาผลาญพลังงานก็ลดลงไปอีก ออกซิเจนลดลง หายใจลดลง ร่างกายนิ่ง ผ่อนคลาย แล้วก็ยิ่งสุข ยิ่งสว่าง ยิ่งสงบข้างใน ในที่สุดจากความสว่างเหล่านี้ทำให้เห็นภายใน แล้วทำให้เกิดการบรรลุธรรมขึ้นมา โดยเนื้อแท้มีอยู่อย่างนี้ หลักการมีอยู่อย่างนี้
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๒๒ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
- จำเป็นไหมที่ต้องบูชาเจดีย์ด้วยดอกไม้ ?
- บุญพิเศษ "บุญรัตนบุปผาบูชาพระมหาธรรมกายเจดีย์
- หลวงพ่อตอบปัญหา
- วันคุ้มครองโลกกับกิจกรรมที่ถูกจารึกลงกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด
- เจาะลึกเบื้องหลังการแปรอักษรภาพทำลายสถิติโลก !
- วัดพระธรรมกายช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- วิกฤตที่น่ากลัวกว่า..วิกฤตโควิด !
- ฉบับที่ ๒๑๗ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๑๘ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๑๙ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๒๐ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๒๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- ฉบับที่ ๒๒๒ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
ไม่มีความคิดเห็น: