การทอดผ้าป่า..บุญใหญ่ที่คุณคาดไม่ถึง !!!
การทำบุญทอดผ้าป่าธรรมชัย
เป็นบุญที่มีอานิสงส์อันไม่มีประมาณ และยังเป็นบุญที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้
เพราะเราจะได้ช่วยเหลือพระและวัดต่างๆ หลายๆ วัด อีกทั้งการทำบุญทอดผ้าป่า ยังเป็น
"มหาสังฆทาน" คือ เป็นการถวายทานที่ไม่เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ซึ่งบุญที่จัดว่าเป็นสังฆทานนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานจำเพาะเจาะจงแด่พระองค์ ซึ่งเป็นปาฏิปุคคลิกทาน
หากได้ย้อนศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของการทอดผ้าป่า
ก็จะพบว่า เดิมทีเดียว "การทอดผ้าป่า" เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
เพราะในยุคต้นๆ ของสมัยพุทธกาล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับ
"คฤหบดีจีวร" หรือ "จีวรที่มีผู้ถวายโดยตรง"
ดังนั้น
พระภิกษุที่บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่พวกชาวบ้านไม่ต้องการแล้วจากที่ต่างๆ
เช่น จากป่าบ้าง จากกองหยากเยื่อบ้าง จากกองขยะบ้าง หรือจากผ้าห่อศพบ้าง และเมื่อรวบรวมเอาผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้พอแก่ความต้องการแล้ว ท่านก็จะนำมาซักทำความสะอาด แล้วค่อยนำมาตัด เย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง
หรือสังฆาฏิ ซึ่งเราจะเห็นว่ากว่าจะได้ผ้ามาทำเป็นจีวรนั้นลำบากมากๆ
ฉะนั้น นับเป็นความโชคดีอย่างมาก
ที่ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้มีโอกาสทำบุญทอดผ้าป่าถวายผ้าที่เป็นประดุจธงชัยแห่งพระอรหันต์
ซึ่งทำให้ได้บุญมากอย่างนับจะประมาณมิได้ แต่ก่อนที่จะทอดผ้าป่า
เราก็ควรที่จะศึกษาประวัติความเป็นมาของการทำบุญทอดผ้าป่ากันก่อนว่า
คนที่เป็นจุดกำเนิดหรือต้นกำเนิดของการทอดผ้าป่าท่านแรกนั้น คือใคร? มาจากไหน? เป็นคนหรือไม่? หรือมีความพิเศษอย่างไร?
ผู้ที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์แห่งการทอดผ้าป่าหรือทอดผ้าบังสุกุลท่านแรกนั้น
เป็นเทพธิดาที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่มีนามอันไพเราะว่า
"เทพธิดาชาลินี"
เรื่องก็มีอยู่ว่า ในวันหนึ่งพระอนุรุทธเถระผู้มีจีวรเก่ากำลังเที่ยวแสวงหาเศษผ้าจากกองหยากเยื่อต่างๆ
เพื่อเอาไปทำจีวร เทพธิดาชาลินีก็ได้ไปเห็นเข้า
เธอจึงตั้งใจว่าจะเอาผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๑๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก น้อมถวายแด่ท่าน
แต่แล้วเธอก็กลับฉุกคิดในใจได้ว่า ถ้าเราจะถวายโดยตรง พระเถระก็จะไม่รับ
(เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้รับ) ดังนั้น
เธอจึงน้อมนำเอาผ้าทิพย์ไปวางไว้ในกองหยากเยื่อ
ซึ่งอยู่บริเวณที่พระอนุรุทธเถระท่านจะต้องเดินผ่าน
โดยวางให้ชายผ้าทิพย์โผล่พ้นกองหยากเยื่อออกมาให้เห็นง่ายๆ และในที่สุดพระอนุรุทธเถระก็ได้เห็น จากนั้นท่านก็จับที่ชายผ้าแล้วดึงออกมาเพื่อนำกลับไปทำจีวรต่อไป
เหตุการณ์นี้จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้ใจบุญในสมัยพุทธกาลเกิดวิสัยทัศน์ตามแบบเทพธิดาชาลินี
โดยการจงใจนำผ้าไปไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ตามต้นไม้ ตามกองขยะ กองหยากเยื่อ ในป่า
หรือตามข้างทาง ซึ่งเป็นที่ที่ผู้ใจบุญคิดแล้วว่า พระภิกษุสงฆ์จะต้องเดินผ่าน
โดยทำทีเป็นเหมือนว่าผ้านี้ทิ้งแล้ว
เมื่อมีพระภิกษุเดินไปพบ
ท่านก็จะหยิบและนำผ้าดังกล่าวไปทำจีวร เพราะถือว่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ
ซึ่งผ้าชนิดนี้จะเรียกว่า ผ้าป่า เพราะเอามาจากป่า หรือ ผ้าบังสุกุล ที่แปลว่า
ผ้าเปื้อนฝุ่น นั่นเอง
ต่อมาในภายหลัง หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์
ที่ได้ถวายการรักษาอาการต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เห็นถึงความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ ที่ต้องไปแสวงหาผ้าที่พวกชาวบ้านทิ้งไว้ตามกองขยะ
จึงไปกราบทูลขอพรจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอให้พระภิกษุสามารถรับคฤหบดีจีวรได้
ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ใช้ได้ทั้ง ๒ แบบ
คือพระภิกษุจะไปหาผ้าบังสุกุลมาทำเป็นจีวรก็ได้
หรือจะรับผ้าจีวรที่คฤหบดีถวายโดยตรงก็ได้
ในขณะเดียวกันนั้นเอง หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้น้อมถวายคฤหบดีจีวรเป็นคนแรกและครั้งแรก
โดยนำผ้าเนื้อดีแบบสุดๆ
ที่ได้รับพระราชทานเป็นรางวัลจากการรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชติ
มาน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ซึ่งหลังจากถวายเสร็จแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาและกล่าวอนุโมทนาคาถาแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์
เมื่อพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาจบลง หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้บรรลุธรรม
เป็นพระโสดาบันในทันที
จากเรื่องราวที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า
หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้สถาปนาการทอดผ้าป่าคนแรกของฝ่ายชายเลยทีเดียว
ซึ่งบุญจากการถวายผ้าครั้งแรกของหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุญมาก เพราะเป็นบุญที่ทำให้หมอชีวกโกมารภัจจ์มีบุญบารมีเพิ่มจนเต็มเปี่ยม
จนสามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้เป็นอัศจรรย์
ดังนั้น
ในฐานะที่เรากำลังจะทำบุญนี้กัน
ก็ต้องตระหนักและนึกถึงบุญที่เรากำลังจะได้ทำในอนาคตอันใกล้นี้ คือ
นึกให้ปลื้มกันตั้งแต่ก่อนทำ ขณะทำ หลังทำ และก็ให้ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรชวนญาติพี่น้อง
คนที่เรารัก เพื่อให้เขาได้บุญใหญ่นี้ด้วยกัน
Cr. สำนักสื่อธรรมะ
การทอดผ้าป่า..บุญใหญ่ที่คุณคาดไม่ถึง !!!
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:00
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: