สุขใจจากการให้
ขณะที่ป้าทําเป็นนอนตาย ป้าก็หรี่ตามองจําหน้าคนร้ายได้หมดทุกคน หลังจากเกิดเหตุ ตํารวจมาซักถามปากคําจึงทราบว่าคนร้ายทั้งหมดเป็นคนหมู่บ้านอื่น ในสมัยนั้นการปราบปรามกระทํากันอย่างเด็ดขาด โจรไม่ยอมให้จับโดยดี ตํารวจจึงยิงตายหมดทุกรายไป
ที่สะเทือนใจข้าพเจ้ามากคือแม่พาข้าพเจ้าไปเยี่ยมป้าที่นอนเจ็บ ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจ โกรธแค้นโจร มันเอาสิ่งของในบ้านแล้วยังไม่พอ เจ้าของบ้านก็ไม่ได้ต่อสู้ ยังทําร้ายร่างกายกันอีก เวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุราวๆ ๘ ขวบ คิดอยากเป็นตํารวจขึ้นมาทันที จะยิงคนร้ายพวกนี้ให้ตายจนหมดโลกไปเลย ตอนไปเยี่ยมยังไม่รู้ว่าตํารวจตามคนร้ายพบ ภายหลังทราบเรื่องจึงค่อยสบายใจ แต่ก็เจ็บแค้นอาฆาตพยาบาทอยู่หลายเดือน
แม้โตขึ้นก็ยังจําความเจ็บช้ำน้ำใจเหล่านั้นได้ ใครที่ถูกทําร้ายรังแกจะด้วยทรัพย์สินหรือร่างกายก็ตามคงจะมีความโกรธเคืองในทํานองเดียวกันนี้ คนที่ประกอบกรรมชั่วดังที่กล่าวไว้จึงเท่ากับผู้นั้นก่อเวรภัยใส่ตนเอง จะถูกจองเวรผูกพยาบาทจากผู้คนที่ตนทําร้ายรังแกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็จะต้องรับผลของกรรมที่ตนก่อไว้ รวมเป็นหนี้เวรสองอย่าง
เพราะตนเองเคยได้รับความสะเทือนใจจากผู้คนที่ประพฤติผิดศีลข้อที่สองนี้ คือนําเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่อนุญาตไปเป็นของตน ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินไปเพราะถูกลักขโมย จี้ปล้นเป็นที่สุด โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเกิดขึ้นกับเด็กๆ ด้วยแล้วก็จะเห็นใจเป็นพิเศษ เพราะเด็กเป็นผู้เยาว์ จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ยังมองโลกในแง่ดีงาม เมื่อต้องพบแต่ความเลวของคนมากเข้าๆ จิตใจของเด็กจะกลายเป็นหยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพของจิตใจจะหมดลงทุกวันไป ตรงข้ามถ้าเขาได้พบน้ำใจดีงามของผู้ใหญ่ จิตใจเขาก็จะเปี่ยมด้วยคุณธรรมต่างๆ ขึ้นมาเองอย่างไม่รู้ตัว
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปจ่ายตลาดที่ตลาดเทเวศน์ เห็นเด็กผู้หญิงขายผักอายุประมาณ ๑๒ ปีคนหนึ่งร้องไห้โฮขึ้นมาลั่นตลาด เสียงพวกแม่ค้าที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็พูดวิพากษ์วิจารณ์กันว่า
“แหม หน้าตาดีๆ มายืนต่อราคาผัก เราก็ไม่มีใครเฉลียวใจ เอาสตางค์ของอีนังนี่ไปหมดทั้งกระป๋องเลย พวกเราช่วยกันจําหน้าไว้ พลัดมาอีกต้องช่วยกันบอกตํารวจป้อมยามจับตัวไปให้เข็ด คนอะไรกันวะทำเด็กได้ลงคอ เฮ้ย มึงมีเงินอยู่เท่าไรฮึ ในกระป๋องนั่นน่ะ”
“เพิ่งขายได้ ๒๐ กว่าบาทจ้ะป้า” เด็กตอบไปร้องไห้สะอึกสะอื้น
“ตายจริง ตั้งยี่สิบกว่าเชียวรึ มึงตายแน่วันนี้ แม่มึงดุยังกะเสือ เงินหายตั้งยี่สิบ มึงโดนตีเนื้อแตกแน่” คนยิ่งพูด เด็กก็ยิ่งร้องโฮดังลั่นหนักเข้าไปอีก คงนึกถึงรสไม้เรียวของแม่
เงินยี่สิบบาทสมัยเมื่อก๋วยเตี๋ยวชามละ ๑ บาท ข้าวแกงจานละ ๕๐ สตางค์บ้าง ๑ บาทบ้าง ก็เท่ากับเงินเป็นร้อยในสมัยนี้
ข้าพเจ้ามองหน้าเด็ก ตัวผอมเกร็ง ผิวดําคล้ำ ลักษณะบอกว่าอยู่ในครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ ผักที่เอามาขายมีอย่างละเล็กละน้อย ยังกับไปเหมาเศษผักที่ไหนมากองขาย กองละ ๑ สลึงบ้าง ๕๐ สตางค์บ้าง ไม่เกินกว่านั้น คนที่แอบยกเอากระป๋องใส่สตางค์ของเด็กไปนี่ก็นับว่าจิตใจเหี้ยมเกรียมดีแท้ เสียงเด็กรําพันไปร้องไป
“ป้าแจ่ม ช่วยเป็นพยานให้หนูทีนะ บอกแม่ว่าขโมยมันเอาเงินขายผักหนูไป”
“เออ ข้าน่ะเป็นพยานได้ แต่แม่เอ็ง ใครๆ เขาก็รู้สันดานมันดี มันขี้งกยังกะอะไร มันจะยอมยกโทษให้เอ็งง่ายๆ เรอะ ข้ากลัวแต่มันจะหาว่าเอ็งไม่ดูแลให้ดี ประมาทสะเพร่า แล้วก็หาเรื่องหวดก้นเอ็งแน่” คนตอบก็ช่างกระไร ไม่มีให้กําลังใจเลย เด็กเลยยิ่งร้องไห้หนักขึ้นทุกที
เวลานั้นข้าพเจ้ามีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบายเป็นข้าราชการชั้นโท เงินยี่สิบบาทนี่ ความจริงสามารถจ่ายตลาดเลี้ยงคนในบ้านที่มีกันอยู่ ๘ คนได้ทั้งวันอย่างพอเพียง ข้าพเจ้าหยุดคิดชั่งใจ... ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา ไม่เห็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องชาวบ้านเค้า ใครจะขโมยใคร ใครจะตีกะใคร เราก็ไม่ไปได้ไปเสียอะไรกะเค้านี่ จ่ายตลาดแล้วก็รีบกลับไปทํากับข้าวกินก็หมดเรื่อง...
อีกใจก็เถียงว่า ...เพราะคิดชุ่ยๆ อย่างนี้น่ะซี ผู้คนจึงขาดน้ำใจ ขาดความเมตตาอารีกัน แม่ค้าพวกนี้ดีแต่เห็นใจด้วยปาก ไม่ลงมือช่วยเหลือเด็กเลย มีกันอยู่ตั้ง ๕-๖ เจ้า ช่วยเด็กคนละ ๒-๓ บาท ให้แม่เด็กเห็นน้ำใจ แม่ก็คงไม่กล้าตีลูก ไม่อย่างนั้นแม่คงจะตีลูกประชดเพื่อนแม่ค้าด้วยกันก็ได้ อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มจะช่วยมองให้เด็กบ้างก็ไม่มี
นี่นะ... ช่วยเด็กเถอะน่า ตัวเองก็จะได้กลับไปบ้านอย่างสบายใจ เพราะทํากุศล ปลอบขวัญปลอบใจเด็กแล้ว ยังเป็นตัวอย่างให้พวกแม่ค้าพวกนี้รู้จักคิดว่าควรจะมีการให้กันบ้าง ไม่ใช่วันหนึ่งๆ คิดแต่เรื่องจะเอา จะเอา เอากําไรท่าเดียว
ความคิดหลังนี้ชนะจิตใจข้าพเจ้า เหตุผลที่สําคัญคือความเห็นใจเด็ก แม่เคยเป็นที่พึ่งของลูก แต่วันนี้ลูกจะถูกแม่นั่นแหละตีด้วยอารมณ์แม่ค้า อยากแต่จะเอาเปรียบ ไม่ยอมขาดทุน ลูกก็ต้องถูกตีแน่ พึ่งแม่ไม่ได้ ลูกจะพึ่งใครได้ในโลกนี้ ชั่วชีวิตของข้าพเจ้าเมื่ออยู่กับพ่อแม่นั้น ข้าพเจ้าอบอุ่นใจเสมอ ไม่ว่าความผิดเล็กหรือใหญ่ข้าพเจ้ามักได้รับการให้อภัย
นึกถึงเมื่อครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้าไปอาศัยบ้านญาติอยู่ที่บ้านดอน อําเภอโพธาราม ในระยะสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเรียนหนังสือชั้นมัธยมนั้น ข้าพเจ้าถูกใช้ให้ตักน้ำจากบ่อลึกถึง ๘ เมตร ใช้ถังผูกเชือกห้อยลงไปแกว่งให้น้ำเข้าถังแล้วดึงขึ้นมา เวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุขนาดเด็กขายผักนี่เอง ต้องตักน้ำรดผักถึงวันละ ๔๐ กระป๋อง ตักใช้ในบ้านอีกต่างหาก ถึงคราวเคราะห์เชือกขาด กระป๋องใบหนึ่งจมน้ำลงไปก้นบ่อ
เมื่อเล่าให้ญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ด้วยฟังกลับถูกกล่าวหาว่า เกียจคร้าน ไม่อยากหาบน้ำรดผักจึงแกล้งทํากระป๋องจมน้ำ ถ้าคิดว่าข้าพเจ้าแกล้งอย่างนั้นเป็นความผิด จะลงโทษเฆี่ยนตีข้าพเจ้าคงไม่เสียใจมาก นี่เขาไม่ตีแต่เดินด่าประจานทั่วหมู่บ้านว่าข้าพเจ้าเป็นเด็กเจ้าเล่ห์ เสียงด่าให้บ้านโน้นฟัง แล้วก็ย้ายมาว่าให้บ้านนี้ฟัง หลายบ้านเข้าจนคนฟังทนไม่ไหว มีชายหนุ่มใหญ่คนหนึ่งไม่พูดอะไร เดินไปที่บ่อน้ำ ใช้เชือกโรยตัวลงไปในบ่อ งมกระป๋องใบนั้นขึ้นมาให้ข้าพเจ้า นึกถึงเรื่องนี้ทีไรไม่เคยลืมบุญคุณท่านผู้นั้นเลย เมื่อโตขึ้นมีฐานะดีกลับไปเยี่ยมเยียน ปรากฏว่าท่านตายไปหลายปีแล้ว
ขณะที่ข้าพเจ้ากําลังถูกผู้ปกครองดุด่าว่ากล่าวประจานไป หัวบ้านท้ายบ้านนั่นเอง ข้าพเจ้ารู้สึกว้าเหว่จับใจ ไม่มีที่พึ่ง พ่อแม่ก็อยู่คนละอําเภอ ไม่มีหนทางไปหาท่าน การรู้สึกว่าไร้ที่พึ่งในเวลาคับขันนั้น ใครไม่เคยพบกับตนเองจะคิดไม่ออกว่าเป็นอย่างไร
ความเห็นใจเด็กเพราะนึกเทียบกับความรู้สึกของตนเองในสมัยอายุเท่ากัน ทําให้ข้าพเจ้าตัดความเสียดายเงินออกจากใจได้ เดินตรงเข้าไปพูดว่า
“มีคนใจร้ายมันขโมยกระป๋องสตางค์ของหนูไปหรือจ๊ะ หมดไปเท่าไหร่ล่ะ”
เมื่อเด็กพยักหน้ารับ พร้อมกับสะอึกสะอื้นตอบว่า “ยี่สิบกว่าจ้ะ”
ข้าพเจ้าจึงดึงธนบัตรใบละยี่สิบบาทออกจากระเป๋าสตางค์ยื่นให้ พูดกับเด็กว่า
“นี่น้าให้หนู เงียบเถอะ หยุดร้องไห้แล้วตั้งใจขายใหม่นะ หนูร้องอย่างนี้ไม่มีคนกล้ามาซื้อ เดี๋ยวเค้าไปซื้อเจ้าอื่นหมด ตั้งใจให้ดี ไม่เสียใจแล้ว น้าให้เงินแทนที่หายไปแล้ว”
เมื่อข้าพเจ้าเห็นเด็กเงียบเสียงร้องแล้วกําลังเช็ดน้ำตาง่วนอยู่ จึงกวาดตามองเหล่าแม่ค้าที่อยู่โดยรอบ ทุกคนมองข้าพเจ้าเป็นตาเดียวกัน เงียบเหมือนเห็นเรื่องประหลาด ข้าพเจ้าจึงพูดกับพวกเขาทุกคนว่า
“นี่นะคุณนะ ฉันขอฝากเด็กคนนี้กับพวกคุณด้วย ฉันอยู่พูดกับแม่ของเด็กไม่ได้ จะต้องรีบไปทํากับข้าว คุณช่วยพูดกับแม่ของเด็กแทนหน่อย บอกเค้าว่ามีผู้หญิงคนนึงให้เงินลูกเค้าแทนเงินที่หายไป ผู้หญิงคนนั้นเค้าฝากขอร้องไว้ไม่ให้ตีลูก”
ไม่มีใครรับปาก เพราะคงมัวตกตะลึง เพราะเห็นเขานั่งบ้าง ยืนบ้างนิ่งอยู่ในท่าเดียว แต่แววตาของทุกคนตอบรับแทนคําพูด ข้าพเจ้าเห็นแค่นั้นก็พอใจแล้ว ยิ้มให้ทุกคน หันไปปลอบเด็กอีกครั้ง แล้วก็เดินจากมาด้วยความสบายใจ ไม่นึกเลย เสียเงินไปเพียง ๒๐ บาท สบายใจถึงเพียงนี้
เล่ามาถึงแค่นี้แล้ว ก็ขอต่ออีกสักนิด เมื่อข้าพเจ้าทํากุศลกรรมให้ทานเด็กครั้งนั้น ไม่ได้คิดถึงสิ่งตอบแทนใดๆ เจตนาดีต่อเด็กจริงๆ นึกไม่ถึงว่านับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ข้าพเจ้าจะแวะซื้อผักแม่ค้าเจ้าใดที่เห็นเหตุการณ์วันนั้น ข้าพเจ้าจะซื้อได้ถูกเหมือนได้เปล่า ยิ่งร้านของเด็กคนนั้นก็ยิ่งแทบจะไม่เอาเงินจากข้าพเจ้าเลย ทําให้ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจ จึงย้ายไปซื้อทางหัวตลาดแทน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ข้าพเจ้าชื่นใจไม่มีวันลืม ขณะเล่าเรื่องอยู่นี้ก็ยังนึกภาพได้ นับจากวันนั้น แววตาของเด็กคนที่เล่านี้ ครั้งใดที่พบเห็นข้าพเจ้า เป็นแววตาที่แสดงความรัก ความดีใจ อบอุ่นใจ ประกายตาของเธอทําให้ข้าพเจ้าสุขใจทุกครั้งที่พบกัน เราจะทักทายกันอยู่เสมอ จนกระทั่งข้าพเจ้าจากไปอยู่กับบิดาในต่างจังหวัด นี่ผ่านไปยี่สิบปีเศษแล้ว ถ้าเห็นกันก็คงจะจําไม่ได้
ข้าพเจ้านํามาเล่าไว้ในที่นี้ ให้เห็นถึงความโลภของคนเรา เป็นความโลภในทางที่ผิด เมื่อต้องการทรัพย์ก็หาเอาในทางทุจริต ไม่นึกถึงทุกข์ยากที่ตนทําให้ผู้อื่น มักง่ายเอาแต่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว คนพวกนี้ใจดํา บางครั้งข้าพเจ้าเคยอ่านพบข่าวคนบางคนไปกู้เงินมาลงทุนทํามาหากิน มาระหว่างทางถูกล้วงกระเป๋าไปจนหมด ทํากินก็ไม่ได้ ลูกก็ไม่มีกิน เข้าตาจนกระทั่งผูกคอตาย
คนที่ล้วงกระเป๋าคนอื่นไปนั้นจะรู้ถึงความทุกข์ยากของเจ้าของทรัพย์หรือเปล่า บางคนพ่อแม่ป่วยเงินนั้นต้องเป็นค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนลูก ค่าส่งหนี้สิน ฯลฯ ส่วนคนล้วงไม่มีความจําเป็นถึงขนาดนั้น ส่วนใหญ่เอาไปใช้ด้วยเรื่องฟุ่มเฟือยเที่ยวเตร่ เสเพล เล่นการพนัน เพราะถือว่าเงินได้มาง่าย
ทรัพย์สินที่ได้มาจากความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อื่น สิ่งนั้นเป็นของมีมลทินไม่บริสุทธิ์ เป็นเงินบาป นําไปทําสิ่งใด อํานาจบาปนั้นก็ตามไปให้ผล ไม่มีทางเจริญรุ่งเรือง เอาไปเลี้ยงตนเองก็ได้ร่างกายที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง เอาไปเลี้ยงลูกเต้าเหล่าบริวารก็ไม่มีใครอยู่ในโอวาท เอาไปทําสิ่งใดสิ่งนั้นก็จะมีวิบัติติดตามอยู่รำไป นี่เป็นผลในปัจจุบันทันตาเห็น ตัวของตัวเองก็จะคอยเดือดร้อนไม่สบายใจ ในการกระทํา ของตนอยู่เสมอ นับถือตนเองไม่ได้ เป็นตัวอย่างต่อลูกหลานไม่ได้ ในปัจจุบันก็เป็นทุกข์ มีแต่กระแสใจของเจ้าของทรัพย์ตามสาปแช่ง ตายแล้วก็ต้องไปสู่อบายภูมิอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม ๒ บทที่ ๘
สุขใจจากการให้
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:54
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: