บ่วงใจ


เรื่องนี้เกิดขึ้นในบ้านของข้าพเจ้าเอง ขณะนั้นข้าพเจ้าลาออกจากราชการแล้ว ได้เดินทางไปอยู่กับบิดาที่บ้านในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ เพื่อดูแลปรนนิบัติท่านในบั้นปลายของชีวิต จึงต้องปล่อยให้ลูกๆ อยู่ กันเองตามลําพัง ลูกชายคนโตไปเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลูกสาวคนกลางเรียนอยู่ในวิทยาลัยพยาบาลระดับปริญญา เป็นสถานศึกษาประจํา เหลือลูกชายคนเล็กอยู่บ้านตามลําพัง ข้าพเจ้าจะเข้ามาเยี่ยมเยียนเดือนละ ๒ - ๓ ครั้ง ตามโอกาส

โดยปรกติแล้วข้าพเจ้าไม่ปรารถนาให้ลูกๆ คิดมีครอบครัว เพราะเห็นว่าการครองเรือนมีความทุกข์มาก ถึงแม้จะอยู่กันอย่างราบรื่นร่มเย็นเป็นสุขเพียงใด ก็เป็นการตัดรอนการสร้างบารมีอยู่ดี และได้พร่ำสอนลูกๆ อยู่เสมอ สําหรับลูกสาวพอได้ผลอยู่บ้าง เพราะอาชีพของเขาเป็นพยาบาล ได้เห็นความเจ็บความตายอยู่เป็นประจํา เห็นความไม่ยั่งยืน ไม่เป็นสาระแก่นสารของชีวิตจากอาชีพของตนเอง

ลูกชายคนโตไปเรียนทางเหนือ เสน่ห์สาวเหนือทําให้ลืมคําสั่งสอนของแม่ไปจนหมด จึงมีคนรักตั้งแต่กําลังเรียน ส่วนลูกชายคนเล็ก ความที่ถูกแม่ปล่อยให้อยู่ตามลําพัง กลับจากโรงเรียนมาบ้านก็ไม่พบหน้าใคร พอเพื่อนผู้หญิงในชั้นเรียนเดียวกันหมั่นชวนไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้านของเขาบ่อยเข้า บิดามารดาของฝ่ายหญิงเห็นอัธยาศัยลูกชายข้าพเจ้าก็พอใจจึงสนับสนุน เด็กสองคนก็เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ฉันเพื่อนเป็นคนรัก

เมื่อข้าพเจ้าจับจดหมายที่เขียนติดต่อกัน ทราบเรื่องเข้า ได้ต่อว่าตักเตือนลูก ลูกก็ถามข้าพเจ้าว่า

แม่ครับ ผมจะเป็นคนดี รักเดียวใจเดียว ซื่อตรงกับเค้า ผมจะไม่ทําให้ครอบครัวแตกแยกเหมือนบ้านเรา ผมจะชวนแฟนให้สนใจธรรมะด้วย เราจะทําให้ครอบครัวเรามีความสุขอย่างสมบูรณ์เชียวครับ แม่ไม่ต้องกลัวผมจะต้องมีความทุกข์เหมือนพ่อกับแม่หรอกครับ ถ้าผมทํายังงี้จะเป็นอุปสรรคในการสร้างบารมีมั้ยครับ

ลูกก็รู้แล้วนี่บารมี แปลว่าบุญที่ต้องกระทําอย่างยิ่งยวด อย่างเช่น ลูกนําของไปใส่บาตร มีก็ใส่ ไม่มีก็ไม่ใส่ ทํายังงี้เรียกว่าเป็นแค่การทําบุญ เป็นทานธรรมดา แต่บารมีที่เกิดจากการบริจาคเรียกว่าทานบารมี ต้องกระทําให้เข้มแข็งกว่านั้น เช่น ใส่บาตร ต้องใส่ทุกวันจึงจะเป็นบารมีชั้นต้นขึ้นมา ถ้าลําบากจนต้องเสี่ยงชีวิตไปใส่ เช่น ฝนตกฟ้าร้อง เกิดอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัยอะไรๆ ก็ไม่ย่อท้อต้องไปใส่บาตรให้ได้ บางทีถึงกับได้รับอุปัทวเหตุบาดเจ็บก็ไม่ท้อถอย อย่างนี้เป็นการบําเพ็ญทานบารมีชั้นกลางที่เรียกว่าทานอุปบารมีขึ้นมาแล้ว ถ้าบําเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์ คือ ไม่ย่อท้อแม้เสียชีวิต เช่น อย่างวันนี้เราไม่มีเงินมาก มีเพียงซื้ออาหารได้มื้อเดียว ถ้าใส่บาตร เราก็อด อาจต้องถึงหิวจนเป็นลมตาย เราก็ยอม เพื่อไม่ให้ขาดการบําเพ็ญทานที่เคยกระทํา อย่างนี้เป็นการบําเพ็ญทานบารมีชั้นสูง ทานปรมัตถบารมี แม่พูดยังงี้ลูกเข้าใจเรื่องคําว่าบารมีแล้วรึยังข้าพเจ้าตอบด้วยถามด้วย เพื่อย้ำความเข้าใจไปในตัว

ครับ ผมเข้าใจ ถ้าชีวิตครอบครัวของเรามีปัญหา มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน คนหนึ่งใจดีชอบทําทาน อีกคนขี้ตระหนี่ ก็จะต้องขัดใจกันละครับ อย่างนี้เรียกว่าเป็นอุปสรรคในการสร้างบารมีแน่ๆ แต่ถ้าอย่างผม กับแฟนของผมมีจิตใจตรงกัน ไม่เรียกว่า คู่สร้างคู่สม หรือคู่บุญคู่บารมี หรือครับแม่เป็นคําโต้แย้งที่น่าฟังจริงๆ

“งั้นแม่ขอย้อนถามลูกใหม่ การสร้างบารมี ๑๐ ประการ คือ สร้างทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา สร้างไปทําไมกัน

สร้างเพื่อให้บารมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทั้งสิบ จะได้ทําตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด คือ วัฏสงสารครับ ใครๆ ก็รู้

ลูกลองคิดทบทวนดูใหม่ซิ ถ้าลูกมีชีวิตครอบครัว แม้จะเป็นครอบครัวที่สุขสมบูรณ์ราบรื่น ไม่มีปัญหาใดๆ เลย กับการที่ลูกมีชีวิตเป็นโสดอิสระ ใครสามารถสร้างบารมีได้เต็มที่กว่ากัน

เงียบ ไม่มีเสียงโต้ตอบไปครู่ใหญ่ แล้วฝ่ายนั้นจึงปรารภเสียงอ่อยๆว่า

ผมยังงงๆ ครับแม่

ลูกลองคิดตามที่แม่จะถามนะจ๊ะ เราจะคุยกันไปตั้งแต่บารมีชนิดแรกทีเดียวนะ คือ ทานบารมี สมมติว่าลูกมีเงินที่หาได้มาวันนี้ ๑๐๐ บาท ถ้าลูกเป็นโสด รับผิดชอบเฉพาะชีวิตของตนเองคนเดียว ลูกอยากทำทานใส่บาตรในวันนี้ ลูกสามารถใช้เงินได้มากที่สุดเท่าไหร่

ผมคงทําได้ถึง ๗๐ ๘๐ บาท เหลือไว้กินอย่างไม่ต้องฟุ่มเฟือย ๒o - ๓๐ บาท ก็พออยู่ได้

แต่ถ้ามีเมีย มีลูกอีก ๑ คนล่ะ ทําบุญได้สักกี่บาทข้าพเจ้าเริ่มถามรุก

จริงซีครับ ต้องกันไว้เผื่อพวกเค้าอีก ๒ คนด้วย อีกคนละ ๓o บาท ผมคงจะเหลือทําบุญได้แค่ ๑๐ บาทเองครับลูกชายตอบอย่างใคร่ครวญตามไปด้วย

ทีนี้ ถ้าลูกมีลูกเกินกว่า ๑ คนล่ะจ๊ะ ข้าพเจ้าถามใหม่อย่างเป็นต่อ

ถ้าผมมีเงินเพียง ๑๐๐ บาท ผมคงต้องอดทําบุญไปเลย เพราะไม่พอใช้ในบ้าน แม่ครับผมเริ่มเห็นแล้วว่า การมีครอบครัวเป็นอุปสรรคในการสร้างบารมีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวดีๆ หรือครอบครัวมีปัญหา ถ้าเป็นครอบครัวมีปัญหา เรื่องก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีหวังทะเลาะกันหนักขึ้น

เอาละนะ เรื่องการสร้างทานบารมีลูกมองเห็นปัญหาแล้ว ยิ่งถ้าลูกได้ลูกได้เมียที่ไม่รู้จักพอ จะเอาโน่นเอานี่ เอายังงั้นยังงี้ ลูกก็จะต้องแสวงหาทรัพย์สินให้พวกเค้าไม่รู้จักพอ เมื่อไหร่เค้าจะยอมให้ลูกเอาไป บริจาคทําทานล่ะ เห็นมั้ยเป็นอุปสรรคขวางทางกันแค่ไหน

งั้นที่เราเรียกกันว่าเป็นคู่บุญคู่บารมีก็ไม่จริงซีครับลูกชักเริ่มแบ่งแยกความคิด

มันจริงได้ในระดับต้นๆ น่ะลูก คือ ในระดับที่ยังไม่ตั้งใจบําเพ็ญบารมีอย่างจริงจัง แต่เมื่อไหร่เราจะเป็นนักสร้างบารมีอย่างแท้จริงแล้ว การมีครอบครัวจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นเครื่องถ่วง ทําให้ล่าช้าจริงๆ ลูกเห็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระอนาคามีและพระอรหันต์ท่านมีครอบครัวอยู่ด้วยขณะบําเพ็ญบารมีในขั้นนั้นๆ รึเปล่า”

แหม ไม่ต้องถึงขั้นนั้นหรอกครับ แค่ยังไม่ได้เป็นสักขั้นเดียว อย่างพระสงฆ์ที่เราเห็นกันอยู่นี่ ท่านก็สละบ้านเรือนกันเป็นแถวไปหมดแล้วครับ ความเข้าใจของลูกชัดเจนขึ้น

เมื่อลูกเข้าใจว่า การมีครอบครัวเป็นอุปสรรคในการสร้างทานบารมีก็ดีแล้ว ลูกลองอธิบายบารมีอื่นดูบ้างปะไรข้าพเจ้าต้องการให้เขาคิดของเขาได้เองบ้าง

อย่างบารมีชนิดที่สอง ศีลบารมี น่ะ

อ๋อ การรักษาศีล เห็นได้ชัดเลยครับ เป็นอุปสรรคกันแน่ๆ กับการมีครอบครัว ยิ่งเป็นศีล ๘ ขืนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรักษาโดยที่อีกฝ่ายไม่เต็มใจ ก็ต้องขัดใจกันแน่ละครับ โดยเฉพาะศีลข้อ ๓ ที่ว่าอพรหมจริยาเวรมณี เว้นจากการเสพเมถุนธรรม เหมือนที่พ่อกับแม่ขัดใจกัน ตอนที่แม่ไม่ยอมเลิกถือศีล ๘ หลังจากพ่อลาสิกขาจากการเป็นพระภิกษุนั่นแหละครับลูกชายอธิบายเสียงจ้อยไปเลย

ศีล ๕ ก็เป็นอุปสรรคนะลูก ลูกเคยได้ยินที่แม่เล่าให้ฟังถึงบ้านหนูนิดมั้ย พ่อ แม่ พี่ๆ ของเค้าไม่มีใครถือศีล ๕ กันเลย หนูนิดถืออยู่คนเดียว คนอื่นก็เลยหมั่นไส้ เขาทําผิดศีลกันแล้วเกิดรู้สึกกระดากหนูนิด ขึ้นมา ก็เลยพาลหาเรื่องบ่นว่าให้หนูนิดไม่สบายใจมาเล่าให้แม่ฟังไงล่ะ

ผมนึกออกแล้วครับ บางทียังไม่พอใจกันเรื่องอื่นๆ อีก อย่างเช่น สามีอยากกินกับแกล้ม หอยแมลงภู่ย่าง กินกุ้งเต้น ภรรยาถือศีล ๕ ไม่ยอมทําให้สามีก็โกรธเกรี้ยวเอาได้ เรียกว่าสามีเป็นอุปสรรคในการสร้างศีลบารมีของภรรยานะครับ ก็เลยทะเลาะกัน

ใช่จ๊ะ หรือถ้าภรรยาเป็นคนขี้งก ขี้เห่อ อยากมีสมบัติต่างๆ อวดญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ต้องการมีบ้านสวยๆ มีรถยนต์ยี่ห้อดีๆ ขับขี่ ก็อ้อนวอนให้สามีหาให้ ด้วยความรักความเกรงใจ บางทีสามีก็ต้องไปประพฤติ
อทินนาทาน คดโกง คอรัปชั่น หาเอามาให้ นี่ไงเป็นอุปสรรคกันอย่างนี้แหละ

ทีนี้ ถ้าต่างคนต่างถือศีลเท่ากันล่ะครับแม่คําถามตอนนี้ถ้าไม่ไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง คนตอบแทบถึงคราวอับจนเอาทีเดียว แต่วิสัยความเป็นแม่เป็นครูคน ข้าพเจ้าต้องตอบให้ถ่องแท้ให้ได้

มันทําได้ชนิดผิวเผินน่ะลูก ถ้าจะให้หนักแน่นบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ต้องถือศีลชนิดไม่มีห่วงมีกังวล แม่จะยกตัวอย่างตัวแม่เองนะลูก ตอนเริ่มถือศีล ๕ ใหม่ๆ ยุงหรือมดมันกัดแม่ แม่ทนได้ ค่อยๆ ไล่ให้มันไปให้พ้น มันจะเหลืออาการคันอาการเจ็บอะไรๆ ก็พอให้อภัย แต่พอเห็นมันกัดลูก โดยเฉพาะตัวหนูนั่นแหละ ตอนนั้นหนูตัวเล็กกว่าเพื่อน เพิ่งนอนแบเบาะ ยังช่วยตัวองไม่ได้ ยุงกัดมดกัด ก็ได้แต่ดิ้น ได้แต่ร้อง บางทียุงมันกัดเสียเลือดเต็มท้องตัวเป่งสีแดงทีเดียว แม่โกรธมันเหลือเกิน ถึงกับขอลา เลิกถือศีลข้อหนึ่ง ตบมันตาย นี่ไง เพราะรักลูกมากกว่าตัวเอง รักมากกว่าศีลเสียอีก เห็นมั้ย มีลูกทําให้ศีลรักษาได้ยากซะแล้ว ยังมีอีกนะลูก สมมติว่าสามีรักษาศีล ๕ อยู่ ภรรยาเกิดแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ เข้าไปถามสามีว่าเธอแต่งตัวสวยหรือไม่ สามีก็เห็นอยู่ว่าแบบรูปทรงสีสันของเสื้อผ้าชุดนั้นไม่เข้ากับรูปร่างหน้าตาของภรรยาเลย แต่ถ้าจะตอบไปตรงๆ ว่า ไม่เข้าท่า ก็เกรงภรรยาจะเสียใจ ก็ต้องตอบว่า สวยดีเหมือนกัน เลยทําให้รักษาศีลข้อ ๔ ไม่เต็มที่ อย่างนี้เป็นต้นไงเล่า ตัวอย่างที่แม่ยกมาคุยให้ฟังนี่พอเห็นมั้ยว่า ถือศีลด้วยกันก็จริง แต่ก็เป็นอุปสรรคกันได้อยู่ดีแหละจ้ะยกตัวอย่างออกมาได้ทําให้รู้สึกโล่งใจไปเป็นกอง

ครับแม่ ผมเห็นด้วยแล้ว ทีนี้พอเนกขัมมบารมีเรื่องออกบวชนี่ แม่ไม่ต้องยกตัวอย่างครับ มันชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ใครจะบําเพ็ญบารมีข้อนี้ ต้องไม่มีคู่ครอง ใครคิดจะแต่งงานครองเรือนเป็นอันหมดสิทธิ์บําเพ็ญบารมีนี้แน่นอน ข้อนี้แม่ไม่ต้องอธิบายหรอกครับ ผ่านไปพูดเรื่องปัญญาบารมีเลยครับ ผมกําลังคิดอยากถามแม่เรื่องนี้พอดี

การสร้างปัญญานะลูก มีได้ ๓ แบบ มี สุตตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอ่าน การดู การฟัง จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด การใคร่ครวญไตร่ตรอง และ ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา เช่น ทําสมาธิ ทําวิปัสสนา เป็นต้น

ชีวิตคนครองเรือนไม่ต้องพูดถึงในครอบครัวที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรอกนะ มันขวางกันในตัวอยู่โดยตรงแล้ว คนหนึ่งจะฟังเทศน์ อีกคนจะฟังเพลง ผลที่สุดก็หนีไม่พ้นการทะเลาะกัน เราพูดถึงคนที่มีความเห็นสอดคล้องต้องกันนะ ก็จะทําได้อย่างมากเพียงปัญญา ๒ ชนิดแรก คือ ปัญญาที่เป็นสุตตมยปัญญาและจินตมยปัญญา แต่ก็ไม่ใช่สามารถทําได้อย่างเต็มที่หรอก เพราะเวลามีจํากัด ต้องหมดไปในเรื่องทํามาหากินบ้าง ต้องไปในงานสังคมบ้าง ต้องดูแลสอนการบ้านเพิ่มเติมให้ลูกๆ บ้าง การจะมานั่งคิดเรื่องทางธรรมะก็ทําได้ยาก เพราะต้องคิดเรื่องปัญหาต่างๆ ในการประกอบอาชีพมากกว่า

ทีนี้เรื่องภาวนามยปัญญาเล่า ถ้าจะให้ได้รับผลต้องมีกายวิเวก คือกายที่ออกจากกามเสียก่อน จิตจึงจะทําการฝึกฝนได้รับผลดี ถ้ากายยังอยู่ในกาม คลุกคลีด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พอกําหนดจิตเจริญภาวนากามวิตก คือการคิดถึงเรื่องกามก็จะเข้ามารบกวนจิตใจ เป็นอุปสรรคโดยตรงของการเจริญภาวนา เรียกว่า นิวรณธรรม เครื่องขวางกั้นนั่นเอง บางแห่งก็ว่ามี ๖ อย่าง บางแห่งก็ว่ามี ๕ อย่าง คือ

๑.      กามฉันท์ พอใจในกามคุณ

๒.    พยาบาท คิดร้ายผู้อื่น

๓.     ถีนมิทธะ หดหู่ ซึมเซา

๔.     อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรําคาญใจ (ในความชั่วที่ทำไว้ หรือในความดีที่ยังไม่ได้ทํา)

๕.     วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในสิ่งที่ไม่สมควร

๖.      อวิชชา การไม่รู้ตามความเป็นจริง

ชีวิตครองเรือนหนีให้พ้นจากนิวรณธรรมเหล่านี้ได้ยาก โดยเฉพาะข้อ ๑-๔ ดังนั้น ภาวนามยปัญญา
จะไม่เกิดขึ้นเลยกับผู้ที่ยังหมกมุ่นอยู่ในการครองเรือน ลูกเห็นมั้ยว่าเป็นอุปสรรค

ผมยอมรับว่าจริงครับแม่ บางครั้งขณะที่ผมกําลังกําหนดใจภาวนาอยู่ ประเดี๋ยวเดียวใจก็ฟุ้งไปถึงเวลานัดกับแฟน จะแต่งตัวยังไง จะคุยกับเค้ายังไงให้เค้าถูกใจ จะพากันไปกินอะไรจึงจะอร่อย ฯลฯ มันฟุ้งไปได้ง่ายจริงๆ ครับ ปัญญาง่ายๆ มันยังไม่เกิดเลยครับ เพราะความคิดมันวนเวียนอยู่แต่เรื่องอย่างนี้ จะไปมุ่งหวังอะไรกะปัญญาขั้นสูงชนิดสามารถละกิเลส ผมเข้าใจแล้ว

ภาวนามยปัญญาจะเกิดได้ จิตต้องหยุดเป็นหนึ่ง คือต้องคิดถึงเรื่องใดเพียงเรื่องเดียว ถ้าจิตคิดถึงเรื่องกามคุณ จิตจะฟุ้งซ่านไม่หยุด อยู่ในอารมณ์เดียว ภาวนามยปัญญาไม่มีทางเกิด

ข้าพเจ้าอธิบายเพิ่มเติม พร้อมทั้งกล่าวถึงบารมีชนิดต่อไปว่า

ทีนี้ วิริยบารมี ล่ะลูก ความเพียรละความชั่ว เพียรบําเพ็ญแต่ความดี เพียรกระทําจิตให้ผ่องใส หรือความเพียรในมรรคมีองค์ ๘ ที่ว่า เพียรกําจัดความชั่วที่มีอยู่ให้หมดไป เพียรไม่ให้ความชั่วใหม่เกิดขึ้น เพียรรักษาความดีที่มีอยู่ และเพียรกระทําความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เรียกว่าเป็นเพียรขั้นสูงเพื่อละกิเลส ถ้าเราครองเรือนเราก็จะกระทําได้อย่างดีที่สุด คือเรื่องเพียรทํามาหากิน ทําอย่างไรจะได้เงินทองมาเลี้ยงครอบครัวได้มากๆ ให้เค้าอยู่กันอย่างสุขสบาย เราจะไม่มีเวลาทําความเพียรในการสร้างบารมี แค่เวลาจะสละมานั่งสวดมนต์เจริญภาวนา วันหนึ่งๆ ก็แทบไม่มี ต้องเข้าทํางานประกอบอาชีพตั้งแต่เช้าถึงเย็น ยังเสียเวลาเดินทาง อีกวันละ ๒-๓ ชั่วโมง เสียเวลาบริหารดูแลร่างกายไปอีก เช่น อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร ขับถ่าย นอน และกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลสมาชิกในครอบครัว จะเหลือเวลาทําความเพียรวันหนึ่งกี่นาที

งั้นผมว่า ขันติบารมี ก็ในทํานองเดียวกันละครับ ความอดทนส่วนใหญ่ของผู้คนครองเรือน ก็คืออดทนทํามาหากินเลี้ยงครอบครัว ไม่ใช่อดทนเพื่อละกิเลสโดยตรง

ใช่จ้ะ คนครองเรือนจะอดทนต่อความลําบาก จะยอมตรากตรําอดทนต่อความเจ็บช้ำน้ำใจจุดมุ่งหมายหลักเพื่อการทํามาหากินน่ะแหละ ที่จะอดทนในการสร้างบารมีทําได้ยาก ถ้าเราไม่อยู่ครองเรือนมีชีวิตอิสระ เราก็ไม่ต้องแสวงหาทรัพย์สินใช้เลี้ยงผู้อื่น จะแสวงหาเพียงเพื่อตนเอง หรืออย่างมากก็เพื่อตอบแทนผู้มีบุญคุณบ้างในกรณีที่ท่านขาดแคลน ซึ่งก็ยังมีเวลาเหลือพอที่จะสร้างขันติบารมีในการละกิเลส การอดทนในทางครองเรือนเป็นได้แค่ขันติธรรมดา ไม่ใช่ขันติบารมี

ลูกเบื่อหรือยัง ถ้าเราจะคุยกันต่อข้าพเจ้าลองถาม

ถ้าคุยธรรมดา ผมก็คงง่วงแล้วละครับ แต่ถ้าคุยกันแล้วแม่เอาไปเล่าให้คนอื่นๆ ฟังต่อ ผมว่าเราก็ทนคุยกันให้จบบารมีทั้ง ๑๐ ไปเลยจะได้ไม่เสียเวลา เขาตอบเหมือนรู้ว่าวันหนึ่งข้างหน้า ข้าพเจ้าคงจะต้อง เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเล่าให้ใครๆ ฟัง

ต่อไปก็ สัจจบารมี สัจจะก็คือความตั้งใจจริง หรือความจริงใจ ในการกระทําสิ่งใดๆ ถ้าจะให้เป็นบารมีขึ้นมาก็คือ จริงใจต่อการบําเพ็ญตนให้พ้นจากอํานาจของกิเลสให้ได้ ในชีวิตของคนครองเรือน อย่าพูดถึงขั้นจริงใจเลย แค่ขั้นถามว่ารู้ตัวรึเปล่าว่าเกิดมามีหน้าที่หลัก คือต้องสร้างบารมี คนส่วนใหญ่ก็ตอบไม่ถูกกันเสียแล้ว จะรู้ตัวถึงขั้นต้องมีความจริงใจหรือมีใจจริงในการสร้างบารมีได้ยังไงกัน สัจจะของเค้าเลยลดระดับลงไปขั้นต่ำๆ เสียหมด เช่น มีสัจจะแค่เรื่องการครองชีวิตและการทํามาหากิน เช่น ให้สัจจะว่าจะรักจะซื่อตรงในคู่ครองของตน มีสัจจะในการรับปากช่วยเหลือการทํามาหากินของเพื่อนฝูงญาติมิตรเหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเพียงแต่สัจจะธรรมดานั่นแหละ ไม่ใช่สัจจบารมี อันเป็นบุญขั้นพิเศษที่จะทําให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอะไรหรอก

ต่อไปเป็นบารมีอะไรล่ะลูกข้าพเจ้าลองใจถามดูว่าเขาจะรู้หรือไม่

อธิษฐานบารมี ครับแม่”  ลูกตอบ

หมายถึงอะไรล่ะจ๊ะให้อธิบายต่อ

ก็หมายถึง การตั้งใจมั่นคงตามที่กําหนดเอาไว้หรือเรียกว่าตั้งความปรารถนาล่วงหน้าไว้น่ะครับ

เก่งมาก สัจจะ คือความจริงใจต่อสิ่งที่ตนต้องการทํา อธิษฐาน คือใจที่มั่นคงในการทํา เหมือนลูกเห็นอยู่ รู้อยู่ว่าแม่เลี้ยงลูกมาด้วยความยากลําบาก แม่เป็นคนมีบุญคุณกับลูกมาก ลูกก็ตั้งใจจริงไว้ทีเดียวว่า ลูกจะเลี้ยงดูแม่ในตอนที่แม่แก่ ไม่ได้ทํามาหากินยังงี้ ลูกจะไม่ยอมให้แม่อดอยาก นี่เป็นความจริงใจของลูก เป็นสัจจะ

ส่วนอธิษฐาน ก็เหมือนกับว่าพอลูกได้อะไรมา ที่จะเป็นประโยชน์ต่อแม่ ลูกก็ต้องนํามาให้แม่เสียก่อน เมื่อแม่พอแล้ว หรือไม่ต้องการแล้ว ลูกจึงนําไปทําอย่างอื่น จะพูดให้เข้าใจให้ง่ายลงไปกว่านั้นอีกคือ อธิษฐาน เป็นการตอกย้ำ สัจจะให้มีกําลัง ย้ำสัจจะครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งกระทําได้จริงตามสัจจะ บารมี ๒ อย่างนี้ ต้องสร้างควบคู่กันไป เหมือนวิริยะก็ต้องคู่กับขันตินั่นแหละ

การครองเรือนเป็นอุปสรรคต่อบารมีข้ออธิษฐานด้วยหรือครับ

เป็นซีลูก การครองเรือนนี่แหละ ถ้าเราเผลอขาดปัญญาเข้าในเวลาใด เราจะลืมอธิษฐานบารมีที่ว่า ต้องตั้งใจมั่นว่าบุญกุศลทั้งปวงที่ได้ทำเอาไว้ ขอให้เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เราได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน สิ้นอาสวกิเลส เราต้องมั่นคงในความปรารถนาดังนี้ จึงจะเป็นบารมีขึ้นมา ครั้นพอมีชีวิตครองเรือน เหตุการณ์บางอย่างอาจบีบบังคับให้เราเปลี่ยนคําอธิษฐานไปได้ง่ายๆ เช่น ปรารถนาให้ได้รับคําชมเชย เขาก็อธิษฐานให้ได้สวย ได้รวย ได้มีอํานาจ มียศ มีความสุข อะไรต่ออะไรนอกทางออกไป ซึ่งคําอธิษฐานใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาเหล่านั้น อาจทำความทุกข์ให้เราต่อไปภายหน้าได้มากมาย เช่น ไปทําศัลยกรรมใหม่ กลายเป็นคนสวยขึ้นมา ซึ่งก็เสี่ยงต่อกรรมกาเมสุมิจฉาจาร พอรวยขึ้นมาก็ใช้เงินจ้างให้ใครทําในสิ่งที่ตนพอใจ อันอาจเป็นเรื่องบุคคล เช่น จ้างฆ่าศัตรู มียศมีอํานาจก็ใช้อิทธิพลกดขี่ข่มเหงผู้อื่น มีความสุขทําให้ประมาท เหล่านี้เป็นต้น

ถ้าเราพ้นจากสภาพครองเรือน เราก็ไม่จําเป็นต้องตั้งความปรารถนาในเรื่องไร้สาระดังกล่าว เราจะไม่ลืม เราจะตั้งมั่นจริงใจ และทําอย่างจริงจังในการสร้างสมบารมีโดยไม่เฉไฉออกนอกทางไปง่ายๆ อย่างคนครองเรือน”

ครับแม่ ผมเข้าใจซาบซึ้งครับ เพราะได้แก่ตัวผมเอง เวลาอธิษฐาน ผมชอบแอบอธิษฐานให้หล่อ  ให้รวย ให้โก้ มีเกียรติ แถมไปเรื่อยเลยครับแม่ จะได้เป็นที่ถูกใจ

ต่อไปเลิกได้แล้วลูก เอาแต่วัตถุประสงค์สําคัญที่เป็นบารมีก็พอ คือให้หมดกิเลสน่ะแหละ เรื่องอื่นๆ มันเป็นผลพลอยได้มาเอง ให้ทานก็เป็นเหตุให้เกิดเป็นคนรวย รักษาศีลก็ได้เกิดเป็นคนสวย เจริญภาวนาก็ได้เกิดเป็นคนฉลาด ไม่ต้องไปตั้งความปรารถนาเฉพาะ เดี๋ยวจะลืมความสําคัญอธิษฐานบารมีที่แท้จริงไปจ้ะ

ส่วนบารมีที่เก้า เมตตาบารมี ความปรารถนาให้สรรพสัตว์ทั้งปวงประสบแต่ความสุข แม่จะบอกให้ ชีวิตครองเรือนมีความทุกข์มากกว่าความสุขนะลูก คิดดูสิ เราจะตั้งใจแผ่ความปรารถนาดีให้ผู้อื่นได้เต็มที่แค่ไหน ในเมื่อเราเองเต็มไปด้วยความทุกข์ ไหนจะทุกข์เพราะหาเลี้ยงครอบครัว ไหนจะทุกข์เพราะเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย จะเป็นของตนเองหรือคนในบ้านก็ตาม ไหนจะทุกข์เพราะปัญหาจากที่ทํางาน จากผู้คนที่เกี่ยวข้อง นี่ไงเราต้องพบความทุกข์ของตนเองและของใครๆ ร้อยแปดประการ ลูกจําไม่ได้รึไง เมื่อวันก่อนยังมานั่งเล่าเรื่องปัญหาของว่าที่พ่อตาแม่ยายให้แม่ฟังอยู่เลย เห็นมั้ย ลูกไม่ได้แบกแต่ความทุกข์ของลูกกับแฟนสองคนเท่านั้นหรอก แต่จะต้องเอาเราทั้งสองครอบครัวไปแบกไว้หมด

เมื่อตัวลูกเองหรือกล่าวรวมกัน คือ พวกครองเรือนไม่มีความสุขเสียเองอย่างนี้แล้ว จะเอาความสุขที่ไหนไปนึกแผ่เมตตาให้เกิดแก่คนอื่น ลูกว่าจริงไหม

อีกฝ่ายนั่งเงียบไปไม่เถียง ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสพูดบารมีที่สิบต่อ เพราะต่างฝ่ายต่างเริ่มเบื่อการคุยกันเสียแล้ว

การบําเพ็ญ อุเบกขาบารมี คือการวางใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายต่อเรื่องต่างๆ ไม่ว่าของใครๆ ในเมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะทําการช่วยเหลืออะไรใครได้ โดยถือหลัก กัมมัสสกตา คือสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง

บารมีข้อนี้ถ้าเรามีชีวิตครองเรือน ลูกทําได้ลําบากมากเหลือเกิน ลองคิดดู แม้เราจะรู้ว่าคนเจ็บคนนี้เป็นมะเร็งขั้นร้ายแรง จะต้องตายภายในวันสองวันนี้ เราจะวางใจนิ่งเฉยได้มั้ย ถ้าคนเจ็บนั้นเป็นลูกเรา เมียเรา

ไม่ได้แน่นอนครับ ยังไงๆ ก็ต้องเสียใจอยู่ดีเสียงตอบจากคนฟัง

สําหรับบารมีข้อที่สิบเนี่ย แม่ยืนยันได้เลยว่าทําได้ยากที่สุดในชีวิตของคนครองเรือน อย่างแม่ ตอนนี้แม้จะอยู่ในเพศแม่ชี แต่ถ้าต้องรู้ว่าลูกได้รับทุกข์ยากด้วยเรื่องอะไรๆ แม่ก็ยังไม่รู้ว่าแม่จะปลงใจได้แค่ไหน จะวางอุเบกขาได้ซัก ๑o% หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่คงไม่ถึงกับเสียสติ โวยวายคร่ำครวญ คนเราถ้าได้ออกจากเรือน เช่น อยู่ในเพศนักบวชเต็มตัว จะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ง่ายเข้าใช่ไหมลูก

นับแต่วันนั้นมา ลูกชายของข้าพเจ้าไม่เคยกล่าวค้านอีกเลยว่า การสร้างบารมีใช้วิธีสร้างโดยมีชีวิตครองเรือนก็ได้ เพราะเราได้คุยกันไว้ ดังที่เล่ามาแล้วข้างต้นเป็นเวลาร่วมชั่วโมง ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้กล่าวคัดค้านอะไรเรื่องความรักของเขาอีก แต่ก็ไม่ได้แสดงอาการสนับสนุน คงวางใจเป็นอุเบกขา คิดเอาว่า เป็นเรื่องกรรมของแต่ละคน กรรมของใครก็ของคนนั้น เมื่อเขาจะมาเกิดเป็นลูกเรา เราก็ไม่เคยรู้จักเขามาก่อน เขามาของเขาเอง เป็นใครมาจากไหนไม่รู้ เขาก็ต้องมีกรรมดีกรรมชั่วติดตัวของเขามาเอง ถ้าเขาต้องมีกรรมมีครอบครัว ต้องเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย ก็ช่วยไม่ได้ เราได้พยายามอบรมเลี้ยงดูจนเต็มความสามารถของเราแล้ว... ข้าพเจ้าคิด

วันเวลาผ่านไปอย่างปกติ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี กระทั่ง ๗ ปีเต็ม ลูกชายของข้าพเจ้าเรียนอยู่ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย ฝ่ายหญิงเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเอกชนแล้วเข้าทํางานในบริษัทแห่งหนึ่ง

โดยปกติแล้วลูกชายข้าพเจ้าจะขับรถไปรับประทานอาหารที่บ้านฝ่ายหญิงเป็นประจํามาแต่ไหนแต่ไร เมื่อฝ่ายหญิงทํางานแล้ว เธออ้างว่าไม่สะดวก เพราะงานของเธอเลิกไม่แน่นอน บางครั้งมีงานด่วน จึงไม่ให้ฝ่ายชายไปที่บ้าน แม้แต่จะไปรับจากที่ทํางาน เธอก็มีข้ออ้างต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าเริ่มสงสัยว่าฝ่ายหญิงเปลี่ยนใจ แต่ลูกชายของข้าพเจ้าไม่ทันระแวง เพราะความที่ไม่คุ้นเคยกับเล่ห์เหลี่ยมมายาสตรี

กระทั่งวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงเห็นอาการเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรงของลูก เมื่อข้าพเจ้าซักถาม ก็ได้รับคําตอบว่า ฝ่ายหญิงขอบอกเลิกความสัมพันธ์ อ้างว่าเธอเกิดความหลงใหลในรูปร่างหน้าตาของลูกชาย เจ้าของบริษัทที่เธอทํางานอยู่ด้วย และยังบอกว่าเธอไม่เคยรู้สึกอย่างนี้กับลูกชายข้าพเจ้า เธอรักนับถือเหมือนพี่ชายมากกว่า เพราะเพียงแต่รู้สึกอบอุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้ ไม่ใช่ความรัก

แม่ครับผมเสียใจบอกไม่ถูก... เสียเวลาไปถึง ๗ ปี เอาเงินทองของแม่ไปเสียกับผู้หญิงคนนี้มากมาย ต้องไปเที่ยวไปกินด้วยกัน มีเงินเบี้ยเลี้ยงเหลือ ผมก็ให้เขาเก็บ ตั้งความหวังว่า ผมเรียนจบนี่ก็จะรีบหางานทําช่วยกันก่อร่างสร้างตัว เขาไม่คืนเงินให้ผมเลยครับเป็นหมื่นทีเดียว

ลูกสารภาพอย่างสํานึกผิดอาการเสียใจสิ้นหวังของลูก แม่อย่างข้าพเจ้าจะทําอย่างไร ข้าพเจ้าก็พูดแต่ว่า

ไม่ใช่ลูกเสียเวลา ๗ ปีไปฝ่ายเดียวหรอก ฝ่ายหญิงเค้าก็เสียเหมือนกัน เรื่องเงินก็อย่าไปเสียดายมันเลยลูก คิดเสียว่าเราซื้ออิสรภาพคืนมาก็แล้วกัน แม่ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นคนดีมากนะลูก เขามีความจริงใจเมื่อหมดรักก็บอกกันตรงๆ ไม่คิดหลอกลวง ถ้าเป็นคนอื่นบางทีเค้าอาจหลอกเราต่อไปเรื่อยๆ นะ

จากนั้นข้าพเจ้าก็พูดปลอบโยนลูกด้วยถ้อยคํามากมายก่ายกอง พูด พูด พูด แต่ดูเหมือนสมองของเขาไม่ใคร่ยอมรับรู้ เขาสารภาพว่าเขาคิดตามที่ข้าพเจ้าบอกไม่ได้ จะพอมีสภาพใจดีขึ้นบ้างก็ในขณะที่ได้ยินเสียงข้าพเจ้าพูดปลอบบ้าง ดุบ้าง ให้สติบ้าง โดยเหมือนการใช้เสียงแม่เป็นเพื่อนเท่านั้นเอง ดังนั้น ในระยะนั้น ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปไหน เขาจะขันอาสาขับรถไปรับไปส่งให้อยู่ตลอดเวลา พอนั่งบนรถได้ เขาก็จะขอให้ข้าพเจ้าพูด พูด พูดอะไรก็ได้ เขาบอกว่าฟังเสียงแม่พูดแล้วสบายใจขึ้น

อย่างไรก็ดี คําให้สติของข้าพเจ้าซึ่งข้าพเจ้านํามาพูดกับเขา ก็ทำให้เขาสบายใจได้เพียงชั่วขณะที่พูดเท่านั้นเอง เขาคิดตามไม่ได้จริงๆ พอไม่ได้ยินเสียงข้าพเจ้าเขาก็ทุกข์อีกแล้ว

ความจริงข้อความที่ข้าพเจ้าพูดก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เป็นความจริงง่ายๆ แต่ทําไมเขาคิดตามไม่ได้ ปลงใจไม่ตกก็ไม่ทราบ

เช่นข้าพเจ้าพูดว่า

ลูกเอ๊ย เรื่องคนรัก หรือเรื่องสามีภรรยานั่นนะ ความจริงมันก็เป็นคนอื่นกันมาก่อนทั้งนั้น เป็นลูกคนละพ่อคนละแม่กัน มาพบมาเจอกันตอนโต แล้วก็มาสมมติกันว่า เธอรักฉัน เป็นคนรักกัน แล้วก็หมั้นกัน แต่งงานกัน เรื่องสามีภรรยาก็เป็นเพียงเรื่องสมมติกันขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อเลิกร้างกันไป ต่างก็เป็นคนอื่นกันไปตามเดิมน่ะแหละ

หรือ มีคนรักน่ะ มันไม่มีอิสระเลยนะลูก อย่างหนูไงล่ะต้องคอยโทรศัพท์ถึงเค้าทุกวัน ไม่งั้นก็ต้องคอยไปหากัน ต้องห่างเหินกับเพื่อนฝูง แม้แต่กับญาติพี่น้อง ลูกก็พลอยต้องห่างเหินไปด้วย เมื่อมีอิสระก็ดีแล้ว ลูกจะได้มีเวลาว่างให้กับผู้อื่นมั่ง

หรือ ลูกไม่ใช่คนผิดนะ เพราะลูกไม่ใช่เป็นฝ่ายบอกเลิก ฝ่ายหญิงเค้าเป็นคนเปลี่ยนใจนะลูก ถ้าจะว่าใครผิด ควรเป็นเค้า เค้าไม่รักษาสัญญา คนทําผิดควรจะเป็นทุกข์ เมื่อลูกเป็นคนถูกแล้วต้องมาเป็นฝ่ายทุกข์ เราก็เป็นคนโง่ คนเซ่อ คนบ้าน่ะซี

ข้าพเจ้าปลอบบ้าง ตําหนิบ้าง บางทีเป็นชั่วโมง บางทีเป็นวัน ทำอยู่ดังนี้ เหตุการณ์ผ่านไปวันแล้ววันเล่า จนเป็นเดือนก็ยังเหมือนเดิม แถมมีอาการที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติม คืออาการไม่บ่นรําพันแล้ว แต่เป็นอาการ
เศร้าซึม ดูหนังสือไม่รู้เรื่อง ทําให้งวดนั้นสอบตกไปหลายวิชาต้องเรียนจบล่าช้าไปอีกเกือบปี

ลูกแม่... ถ้าจะแย่ซะแล้ว... ลูกเอ๋ย...

แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าออกไปธุระ กลับมาถึงบ้านในตอนเย็น ได้ยินเสียงหัวเราะร่าเริงของลูก ใจหายวูบ เกรงว่าฝ่ายหญิงจะกลับมาคืนดีด้วยอีก ข้าพเจ้าไม่ชอบคนมีจิตใจโลเล หากมาเป็นลูกสะใภ้ต่อไปภายหน้า มีหลานๆ เกิดตามมา เป็นคนมีใจคอโลเลเหมือนกันละก็แย่ทีเดียว

แม่ครับ ผมหายเสียใจหมดเกลี้ยงเลยครับแม่ บอกพร้อมด้วยรอยยิ้มอันแจ่มใส

ทําไมลูก ปลงตกแล้วหรือ ทํายังไงถึงคิดได้ล่ะข้าพเจ้าซัก

ผมเสียเงินไป ๔๕ บาทเท่านั้นครับ หายเศร้าไปเลยตอบพร้อมกับหัวเราะ

เสียค่าอะไรล่ะลูก

“ค่าเทปเพลงน่ะครับ

เพลงอะไรลูก ฟังแล้วหมดทุกข์หมดโศก แม่อยากรู้

ชื่อเพลง สบาย สบาย ครับแม่ ตอบแล้วบอกชื่อนักร้องที่ร้องเพลงนั้นด้วย

ข้าพเจ้าถอนใจ อุตส่าห์งัดคําสอนเท่าไรๆ มาสั่งสอนแก้ทุกข์ลูกไม่สําเร็จ! ลูกมาหายเจ็บปวดหัวใจเพราะเพลงๆ เดียว

ขอบใจนะ ขอบใจเบิร์ดเหลือเกิน... ข้าพเจ้าออกชื่อนักร้องคนนั้นอยู่ในใจ

ท้ายที่สุดข้าพเจ้าต้องขออ่านเนื้อเพลงๆ นั้น ถ้อยคํามีความหมายจริงๆ มีเนื้อความเป็นทํานองพูดกับคนที่รักกันอยู่ว่า...

แม้คิดจะเปลี่ยนใจไปรักคนอื่น ก็ขอให้บอก เพราะไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อถูกใจก็คบกันไป ถ้าเบื่อจะเปลี่ยนใจก็ไม่ว่าอะไร แม้จะเสียใจหรือเสียดาย ก็จะทําใจให้สบาย จะไม่คิดอะไร

ทํานองเพลงฟังแล้วร่าเริง มีความรู้สึกเบาๆ สบายๆ ตามเนื้อร้อง

เพลงกินใจทําให้เกิดปัญญาสั่งสอนตนเองได้เหมือนกัน

ฟังเรื่องของลูกแล้ว ทําให้ข้าพเจ้านึกถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลเรื่องหนึ่ง มีพระภิกษุรูปหนึ่งเล่าเรียนพระกรรมฐานแล้วปลีกตัวออกไปบําเพ็ญเพียรปฏิบัติเป็นเวลาเนิ่นนานก็ไม่ประสบผลสําเร็จ วันหนึ่งท่านเดินทางไปสรงน้ำที่ท่าน้ำ ได้ยินเสียงนางทาสีคนหนึ่งที่ไปตักน้ำ ร้องเพลง มีเนื้อความว่า นางรู้สึกเสียใจและเสียดายที่เห็นดอกไม้ดอกหนึ่งเมื่อตอนเช้าเริ่มแย้มบาน กลางวันก็บานเต็มที่ บ่ายเริ่มเหี่ยว เย็นก็ร่วงโรยหล่นลงดิน...

พระภิกษุรูปนั้น ท่านส่งใจไปตามเนื้อเพลงนั้น พิจารณาเห็นลักษณะไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่คงที่ต้องเปลี่ยนแปร ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์ให้ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้และอนัตตา ความไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาของใคร รูปนามทั้งปวงตกอยู่ในสภาพนี้ทั้งสิ้น ไม่สามารถมีผู้ใดเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์อันนี้ได้

เมื่อพิจารณาไตรลักษณ์ด้วยปัญญาญาณ จึงเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นแจ่มแจ้ง บรรลุพระอรหัตตผลที่ท่าน้ำนั่นเอง

เวลาที่ข้าพเจ้าอ่านพบเรื่องนี้ในคัมภีร์ข้าพเจ้าไม่รู้สึกกินใจ ยังมีความเห็นแย้งอยู่เล็กน้อยว่า เป็นเรื่องเกินจริงไปบ้างหรือเปล่า ฟังเทศน์ ฟังธรรม ทํากรรมฐานตั้งมากมายไม่ได้รับผล มาฟังเพลงเพียงครู่เดียว สําเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ดูง่ายดายเกินไป

แต่เมื่อมาพบประสบการณ์จริงเรื่องของลูกชายที่เล่าให้ท่านฟัง ทําให้หมดความคลางแคลงใจไปสิ้นเชิง คนบางคนถ้าได้ยินคําสะดุดใจแม้เพียงคําเดียวก็เกิดปัญญาได้ในพริบตา เลยนึกไปถึงที่มีคําเปรียบเทียบการสร้างบารมีทั้ง ๑๐ ไว้ว่า

บําเพ็ญทานบารมี ให้ทําใจเหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านไป ไม่หวนคืนมา คือบริจาคอะไรแล้วต้องให้ขาดออกไปจากใจ ไม่ต้องมีความอาลัย ห่วงใยในสิ่งของเหล่านั้นอีก

บําเพ็ญศีลบารมี ให้ทําใจเหมือนจามรีรักขน คือถ้าขนของมันติดอะไร เช่น ถูกหนามเกี่ยว มันจะยอมตาย ไม่ยอมให้ขนขาด รักษาศีลก็ให้รักษาชนิดยอมตาย ไม่ยอมให้ศีลขาด

บําเพ็ญเนกขัมมบารมี ต้องทําใจให้เหมือนหนีออกจากคุกตะรางหรือเรือนจํา คือให้รู้สึกว่า เบญจ-กามคุณทั้งปวงนี่เหมือนคุกตะรางที่ขังเราไว้ในภพสาม ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๓๑ ภูมิ เหมือนถูกกักขัง ต้องรีบบําเพ็ญเนกขัมมะเพื่อจะได้หนีพ้นจากที่คุมขัง

บําเพ็ญปัญญาบารมี ให้เหมือนพระเดินบิณฑบาต คือ ท่านจะต้องรับบิณฑบาตไปตามลําดับบ้าน ไม่เลือกว่าบ้านคนจน เศรษฐี ไม่เลือกว่าอาหารจะเลวหรือประณีต การแสวงหาปัญญาก็ไม่เลือกว่าจะต้องฟังคําสอนจากที่นั่นที่นี่ จากคนนั้นคนนี้ ฟังอะไรแล้วนํามาคิดให้เกิดปัญญา ถือเป็นใช้ได้

บําเพ็ญวิริยบารมี ให้เหมือนพญาไกรสรราชสีห์ที่ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถือว่ามีความเพียรยิ่งยวด แม้จะเพียรด้วยโมหะตามภาษาสัตว์เดรัจฉาน คือสัตว์ชนิดนี้ถ้าตื่นนอนขึ้นเห็นท่านอนของตนเปลี่ยนไป ไม่อยู่ในสภาพเดิมตอนนอน ก็จะล้มตัวนอนใหม่ ตื่นขึ้นต้องให้อยู่ในท่าเดิม หากตื่นขึ้นกี่ครั้งยังไม่เหมือนเดิม ก็จะไม่ยอมออกไปหากิน จะเพียรนอนให้ได้ท่าเดิมอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป

บําเพ็ญขันติบารมี ให้เหมือนแผ่นดิน แผ่นดินไม่เคยเดือดร้อน ไม่ว่าใครจะทําอะไรๆ ให้ จะเทของเหม็นของหอมลงใส่ก็ไม่ว่า จะขุดเป็นหลุม หรือจะถมเป็นโคก ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น

บําเพ็ญสัจจบารมี ให้เหมือนดาวฤกษ์ คือ ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อตั้งใจจริงทําสิ่งใดแล้ว ก็ต้องกระทําตามความตั้งใจเหมือนดาวฤกษ์ ถึงเวลาก็จะขึ้นตามที่เคยขึ้นอยู่เสมอ มีทางโคจรที่แน่นอนคงที่

บําเพ็ญอธิษฐานบารมี เหมือนภูเขา คือ ตั้งใจแน่วแน่มั่นคง ไม่มีสิ่งใดทําให้หวั่นไหวเปลี่ยนแปลงดุจภูเขา ลมจะพัดมาจากทิศทางใด ภูเขาไม่เคยโอนเอน

บําเพ็ญเมตตาบารมี ให้เหมือนสายน้ำ ไหลซึมซาบเอิบอาบทั่วไป ไม่เลือกว่าเป็นที่แห่งหนใด มีหน้าที่ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำอยู่เสมอไม่เปลี่ยน การปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุข ก็เป็นการแผ่ความรู้สึกจากใจโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร จะรู้จักหรือไม่ ไม่คํานึงถึงทั้งสิ้น

บําเพ็ญอุเบกขาบารมี ให้เหมือนลม ลมจะวางเฉยในที่ทั้งปวง พัดไปในที่หอมก็ไม่แสดงความพอใจพัดไปในที่เหม็นก็ไม่แสดงความไม่พอใจ วางใจเป็นกลางไม่ขึ้นไม่ลง

การฟังเพลงแล้วพ้นทุกข์ทางใจได้ ก็คือการปฏิบัติตามข้อปัญญาบารมีนั่นเอง ไม่จําเป็นต้องเลือกคําสอน หรือคนสอน ดังมีคําตรัสของพระบรมศาสดาว่า

คําพูดเพียงคําเดียว ทําใจให้สงบระงับตั้งมั่นได้ ดีกว่าคําพูดอื่นๆ แม้ตั้งพัน

ตัวอย่างเรื่องในครอบครัวข้าพเจ้าเองนี้ เป็นเรื่องรักที่ทําให้เกิดทุกข์ เพราะความหวังที่ตั้งไว้ว่าจะสร้างครอบครัวที่ดี มีความอบอุ่นและร่มเย็นเป็นสุข แต่ไม่เป็นดังปรารถนา ความหวังพังทลาย ก็ปวดร้าวด้วยทุกข์จากรักเป็นพิษ

ถ้าเราไม่ไปรักเขา เขาจะมีแฟนใหม่สักเท่าไรๆ เราก็คงไม่กระทบกระเทือนอะไร นี่เป็นเพราะไปยึดถือด้วยอํานาจอุปาทาน ถือว่าเขาเป็นของเราเข้า ก็ต้องทุกข์หนักเป็นธรรมดา

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล  จากความทรงจำ เล่ม ๓ บทที่ ๓
บ่วงใจ บ่วงใจ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:55 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.