กลิ่นตัว


กลิ่นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยประสาทจมูก มีอากาศที่เคลื่อนที่ได้คือลม เป็นสื่อตัวนําจากสิ่งที่มีกลิ่นมายังจมูก กลิ่นก็เป็นเหมือนกามคุณชนิดอื่น คือในตัวของมันเองไม่มีดีมีชั่ว เรื่องที่เราเห็นว่ากลิ่นนั้นดี น่าสูด ดม กลิ่นนั้นไม่ดี เหม็น เป็นเพราะมีกิเลสมาบังคับใจของตัวเรา กลิ่นดีของคนๆ หนึ่ง อาจเป็นกลิ่นไม่ดีของบางคน ถ้าตกอยู่ในอํานาจของกิเลส เราก็จะเลือกแสวงหาแต่กลิ่นดีที่พอใจ ทําความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ถ้าจะเอาชนะกามคุณเรื่องนี้ ก็ต้องใช้สติสํารวมใจ คือ เมื่อจมูกกระทบกับกลิ่นอะไร ก็ให้เพียงสักแต่ว่ารู้ว่าเป็นกลิ่นของอะไร ให้รู้เพียงแค่นั้น  เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นอาหาร กลิ่นตัวคน กลิ่นสิ่งของไหม้ไฟ กลิ่นของเน่า ฯลฯ ไม่ต้องให้ใจคิดปรุงแต่งต่อว่าเป็นกลิ่น ดี หรือ ไม่ดี เพราะถ้าปล่อยให้คิดต่อไปถึงว่าดีหรือไม่ดีแล้ว ใจก็จะคิดเลยไปถึงเรื่องพอใจ ชอบใจ หรือไม่พอใจ ไม่ชอบใจได้ง่าย ต่อจากนั้นก็จะมีความอยากได้ ไม่อยากได้ตามมา อยากได้ก็ต้องทุกข์ด้วยการแสวงหา ไม่อยากได้ก็ต้องทุกข์ด้วยการพยายามคิดกําจัด

เรื่องกลิ่นหอมหรือเหม็นอยู่ที่ใจคิดยึดถือเอาเอง อย่างเช่น บางคนได้กลิ่นทุเรียนแล้วหอมอยากรับประทาน แต่บางคนเหม็นจนเวียนหัว กลิ่นน้ำหอมก็เหมือนกัน กลิ่นเดียวกัน คนหนึ่งเหม็น คนหนึ่งหอม หรืออย่างกลิ่นอาหารบางอย่าง บางคนได้กลิ่นปลาร้า ปลาเค็มของหมักเน่าก็ว่าหอม นึกถึงความเอร็ดอร่อย บางคนกลับเหม็นถึงอาเจียน ต้องปิดจมูก ตัวอย่างง่ายๆ เราท้องขึ้นผายลมปุ๋งออกมา แม้จะเหม็นเท่าใด แต่คนที่เป็นเจ้าของดมได้หน้าตาเฉย ตรงข้ามกับคนอื่นๆ ที่ร้องบ่นอุทาน โวยวายว่าเหม็นสุดจะทน

เรื่องกลิ่นเดียวกัน คนหนึ่งว่าเหม็นอีกคนว่าหอมนี้ ขอเล่าตัวอย่างตัวข้าพเจ้าเองให้ฟัง เมื่อสมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กพอจําความได้ จนกระทั่งย่างเข้าวัยรุ่น มารดาข้าพเจ้าชอบถอดเสื้อคอกระเช้าแขวนไว้ข้างประตู เป็นเสื้อชั้นในที่ผู้หญิงช้าวบ้านในสมัยก่อนชอบใส่ มีจีบรอบคอติดลูกไม้ถักด้วยมือลายสวยๆ เมื่อข้าพเจ้าวิ่งเล่นหรือทําอะไรมา พอผ่านข้างประตู ก็จะเอามือจับเสื้อคอกระเช้าของแม่มาสูดหอมเต็มที่เสียครั้งหนึ่ง แล้วก็วิ่งไปทําอะไรต่อ สักพักพอนึกได้ ไม่เห็นแม่อยู่ที่นั่น ไม่มีแม่จะให้หอมแก้ม ก็จะวิ่งไปหอมเสื้อที่แขวนไว้แทน ทําดังนี้บ่อยๆ จนวันหนึ่งแม่สังเกตเห็นถามว่า

นั่น หนูทําอะไรน่ะลูก ไปดมเสื้อที่แม่ใส่แล้วเหม็นๆ ทำไม”

ก็เวลาแม่ไม่อยู่ หนูไม่มีแม่จะหอม หนูก็หอมเสื้อแม่แทนค่ะ” 

ข้าพเจ้าตอบตามความรู้สึกแท้จริงของตนเอง และยังแปลกใจว่าทําไมแม่จึงพูดว่าเสื้อของท่านเหม็น ในเมื่อข้าพเจ้าดมแล้ว ข้าพเจ้าว่าเสื้อนั้นหอมเพราะเหมือนกลิ่นที่ตัวแม่เปี๊ยบทีเดียว

“มันเหม็นออกจะตายไป หนูดมได้ยังไงกันลูก เดี๋ยวหายใจไม่ออกหรอก” แม่ยังยืนยัน

ไม่เหม็นเลย มันหอมดีออก เวลาแม่ไม่อยู่บ้าน ออกไปธุระที่ไหนๆ หนูมีเสื้อที่แม่แขวนไว้นี่เป็นของแทนตัวแม่ เวลาหนูไปดมมันเหมือนหนูมีแม่อยู่ด้วยเลยข้าพเจ้าตอบยืนยันท่านอีก เสียงแม่บ่นเบาๆ ว่า

ลูกนี่แปลก ของเหม็นๆ บอกว่าหอม

แม้ว่าแม่จะบอกว่ากลิ่นตัวของท่านเหม็นเพียงไร ข้าพเจ้าก็ว่ามันเป็นกลิ่นหอมของข้าพเจ้าเรื่อยมา

กระทั่งในปี ๒๔๙๑ ข้าพเจ้าอายุ ๑๔ ปี เรียนจบชั้นมัธยมแล้ว เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ อยู่โรงเรียนประจํา วันหนึ่งอาจารย์ประจําห้องเรียนห้องข้างๆ ไม่มาสอน อาจารย์ประจําชั้นจึงให้นักเรียนสองห้องมาเรียนรวมกัน ให้นั่งเก้าอี้เดียวกันสองคน

เจ้าประคุณเอ๋ย คนที่มานั่งกับข้าพเจ้านั่งอยู่ทิศเหนือลม มีกลิ่นที่รักแร้ที่เราเรียกกันว่า ขี้เต่า เหม็นร้ายกาจ ความจริงมันก็เป็นกลิ่นเดียวกับกลิ่นตัวแม่ข้าพเจ้านี่แหละ แต่พอกลิ่นอย่างเดียวกันมันอยู่ที่คนอื่น ไม่ใช่ตัวของแม่ ข้าพเจ้าทนไม่ได้ ทําไมมันจึงเหม็นมากมายถึงขนาดนั้น จนทําให้ต้องนึกฉงนใจ

เอ...มันก็กลิ่นเดียวกันนี่นะ ทําไมไม่หอมชื่นใจเหมือนเราดมของแม่เล่า”

ข้าพเจ้าตอบตนเองไม่ได้ว่า นั่นเป็นเพราะ ความยึดถือ เรียกตามภาษาทางธรรมว่า อุปาทาน เมื่อยึดว่าเป็นของคนที่ตนรักก็จะรักของนั้นไปหมด ไม่ว่าจะดีเลว มีค่ามากน้อยเพียงใด เหมือนที่เราเคารพนับถือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเห็นรูปปฏิมากรแทนพระองค์ เราก็เคารพไปหมด ไม่ว่ารูปนั้นจะทําด้วย ดิน หิน ไม้ หรือกระทั่งเศษวัสดุใดๆ จะสร้างได้สวยงามหรือไม่ก็ตาม

เมื่อตอบตนเองไม่ได้ก็ไม่เข้าใจว่า ทําไมตนเองจึงเหม็นกลิ่นตัวของเพื่อนจนเวียนหัว ถึงกับต้องนั่งหันข้างให้เพื่อน เพื่อให้จมูกห่างๆ จากรักแร้ของเขาบ้าง แต่ก็ช่างเป็นกรรมเวรเสียจริง อาจารย์ที่สอนอยู่ไม่เข้าใจ ท่านดุข้าพเจ้าว่า

นี่เธอ ยายถวิลน่ะ นั่งให้ดีหน่อยซิ หันข้างเอียงกระเท่เร่เชียว เดี๋ยวก็ตกเก้าอี้ไปเสียหรอก

ข้าพเจ้ามองอาจารย์อย่างเสียใจ ไม่ทราบจะบอกออกไปได้อย่างไรว่าเราเหม็นขี้เต่าเพื่อนจะตายอยู่แล้ว เมื่อบอกไม่ได้ก็ต้องจําใจเขยิบตัวเข้าหาเพื่อนอีกหน่อย พอเผลอไปคิดว่าจะพอทนได้แล้ว เจ้าลมแรงก็กระโชกเข้าทางหน้าต่างทิศเหนือลม กลิ่นฉุนกึกกระทบจมูกแทบสะอึกสําลัก ขากับก้นข้าพเจ้าก็ขยับหนีโดยอัตโนมัติ เสียงอาจารย์ตวาดข้าพเจ้า

นี่ฉันว่าเธอแล้ว เธอก็ยังหันข้างให้ฉันอีก อย่างนี้แสดงความไม่เคารพฉันนี่ อย่านึกว่าเรียนเก่งแล้วอวดดีนะ!

เสียงก็เขียว หน้าก็แสดงอาการโกรธจนเขียวพอกับเสียง เพื่อนทั้งสองห้องหันมองข้าพเจ้าเป็นตาเดียว ข้าพเจ้าอายจนหน้าชา น้อยใจอาจารย์ด้วย เสียใจตนเองด้วยที่เหมือนน้ำท่วมปาก ชี้แจงอะไรก็ไม่ได้ อาจารย์กลับหาว่าข้าพเจ้าอวดดีไปโน่น ต้องหันมานั่งชิดเพื่อนทนเหม็นแทบสิ้นใจตาย พอหมดชั่วโมง นักเรียนห้องอื่นแยกไปแล้ว เพื่อนสนิทเข้ามาถาม

เป็นอะไรฮึ ต้องให้อาจารย์ดุ ๒ ครั้ง ๓ ครั้งข้าพเจ้าจึงตอบเพื่อนไปว่า

จะเป็นอะไรล่ะ ก็เหม็นกลิ่นเต่ายายนั่น...แทบสลบไปเลยน่ะซิ อาจารย์ไม่รู้อะไร ดุส่งเดช

ตอบแล้วก็นึกต่อไปว่า เรียนจบแล้วถ้าตนเองเป็นครูสอนจะไม่ดุนักเรียนส่งเดชอย่างนี้ จะเรียกออกไปถามนอกห้องให้รู้เรื่องก็ได้ เราจะไม่เป็นครูขี้โมโหขาดเหตุขาดผล พาลนักเรียนอย่างอาจารย์คนนี้ เป็นอันขาด หาว่าเราเรียนเก่งเลยอวดดีไม่ฟังคําสอนไปโน่น

ตั้งแต่นั้นมา เมื่อกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ในเวลาปิดภาคเรียน ข้าพเจ้าไม่หอมกลิ่นแม่จากเสื้อที่แขวนไว้อีก รู้สึกว่ากลิ่นเหม็นเหมือนที่ใครๆ เหม็นกันนั่นแหละ

เพราะซาบซึ้งแล้วว่า ความหอมหรือความเหม็น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับตัวกลิ่น แต่ขึ้นอยู่ที่ใจของผู้ดมว่าชอบหรือไม่ชอบต่างหาก

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล จากความทรงจำ เล่ม๓ บทที่ ๒๒ 
กลิ่นตัว กลิ่นตัว Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 04:22 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.