หลงในรส ๒
“หนู พ่ออยากกินยำกบ วันนี้กลับจากทํางานแวะตลาด ช่วยซื้อกบมาให้พ่อซักตัวสองตัวนะ”
ข้าพเจ้าตอบว่า “ค่ะ หนูจะแวะดู ไม่ทราบมีขายหรือเปล่า” ตอบดังนั้นเพราะใจนึกถึงกบที่มีคนย่างมาขายเป็นไม้ๆ ไม้ละ ๒-๓ ตัว
โชคดีเย็นวันนั้นพบกบที่มีคนย่างมาขาย จึงซื้อมาหลายไม้ แต่พอกลับมาถึงบ้านให้แม่ครัวยําให้ท่าน กลับถูกบ่นเสียยืดยาว
“พ่อไม่อยากกินยำกบย่างที่ตายแล้ว พ่ออยากกินกบเป็นๆ เอามาถลกหนังออก กบยังงี้พ่อไม่กิน พรุ่งนี้ไปซื้อใหม่นะ เอาอย่างที่บอกนั่น”
เมื่อถูกสั่งอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีนิ่งเงียบ ไม่โต้แย้งแต่ก็ไม่รับปาก ข้าพเจ้าจะทําตามคําสั่งได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องทําปาณาติบาตชัดๆ กบที่แม่ค้าใส่กะละมังไว้ขายนั้น ท่านผู้อ่านคงเคยเห็น บางทีทารุณสาหัสจริงๆ คือเขาไม่ได้ใช้ตาข่ายคลุมไว้เฉยๆ เท่านั้น บางครั้งเขาถลกหนังมันออก เห็นเนื้อแดงทั้งตัว แต่ไม่ได้ฆ่าให้ตาย เพราะถ้าตายแล้วจะทำให้เน่าเร็วและเสียรส ให้กบกระโดดกันหย็องแหย็งทั้งที่ไม่มีหนังเลยอย่างนั้น เมื่อมีคนซื้อ คนขายจึงจับชั่งน้ำหนัก คิดราคา แล้วผ่าท้องเอาเครื่องในออกทิ้ง
ลองคิดดูเถิด ถ้าใครมาถลกหนังเราปล่อยให้เหลือตัวแดงๆ อย่างนี้ มันเจ็บปวดแค่ไหน เพียงเกรงเสียเวลาค้าขาย จะถลกหนังให้ลูกค้าไม่ทันเวลา ลงทุนทรมานสัตว์ล่วงหน้าไว้ถึงขนาดนั้น ไม่รู้ว่าผลกรรมตามทันคนที่กระทำอย่างนี้ จะถูกไฟหรือน้ำร้อนลวกหนังหลุดเหมือนกันกบบ้างหรือเปล่า
เรื่องครั้งนั้นข้าพเจ้าเงียบ ทำเป็นลืมไปเสีย ท่านผู้เฒ่าออกคำสั่งใหม่ ไม่ได้กินกบเป็นๆ ท่านก็ว่า
“ช่วยซื้อหอยแมลงภู่ทั้งเปลือกมาซักกิโลสองกิโล ต้มใส่หัวหอม กะปิ โหระพามันหอมดี อย่าลืมนะ”
ร้องกินหอยเป็นตัวๆ อีกแล้ว ข้าพเจ้าจึงซื้อหอยแมลงภู่ที่คนขายขูดแช่น้ำไว้ เพราะมันตายแล้วมาให้แม่ครัวทำ ท่านก็บ่นกับแม่ครัวเสียมากมาย แต่ไม่ได้บ่นต่อหน้าข้าพเจ้า
แม่ครัวจึงโต้ตอบว่า “โธ่ปู่ ก็พี่เขาถือศีลมาหลายปีแล้ว ปู่ไปใช้ให้เขาซื้อสัตว์มาฆ่า เขาจะทำให้ปู่ได้อย่างไร”
ท่านผู้เฒ่าจึงเงียบเสียงบ่นลง แต่ก็ไปให้หลานบ้านอื่นทำให้รับประทานจนได้ ข้าพเจ้าไม่สบายใจนักที่ตามใจท่านไม่ได้ แต่ไม่สามารถให้คำแนะนำอะไรเพราะท่านไม่เชื่อ
นี่การติดรส ไม่ทำทุกข์ทำบาปให้เฉพาะตน แต่พลอยทำให้คนอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นทุกข์เป็นบาปไปด้วย เกิดอุบัติเหตุจนถึงตายก็มี ไม่คุ้มกันเลย
อีกรายหนึ่ง รายนี้เป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งหนึ่ง เคยฟังธรรมบรรยายของข้าพเจ้าหลายครั้ง พอรู้ว่าการจะฆ่าสัตว์เองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่ามาเป็นอาหารก็เป็นบาปทั้งสิ้น วันหนึ่งเธอมาพบข้าพเจ้าที่วัด หน้าตาไม่สบาย พูดว่า
“คุณป้าหนูกลุ้มใจที่สุดเลยค่ะ”
“เรื่องอะไรเล่าคะ เรื่องที่บ้านหรือที่ทํางาน” ข้าพเจ้าเดาถามไปเพราะส่วนใหญ่ผู้คนมักจะกลุ้มกันอยู่สองเรื่องนี้เป็นประจํา
“ไม่ใช่คะเรื่องที่คุณป้าสอนน่ะค่ะ” เธอพูดแล้วก็ทําตาละห้อย ไม่สบายใจจริงๆ
“ป้าสอนอะไรผิดๆ ให้หนูหรือ” ถามแล้วก็นึกสงสัยเป็นกำลังว่า เราไปสอนอะไรทําให้ผู้คนเดือดร้อน ก็สอนให้เขาเว้นชั่วทําดีเป็นหลัก สอนเรื่องการเจริญภาวนาให้ใจผ่องใสเป็นที่สุด สอนอยู่เท่านี้เป็นประจำ ไม่น่ามีอะไรผิดพลาดจนทําให้คนฟังเกิดทุกข์ได้
“ป้าสอนเรื่องให้เว้นจากการฆ่าสัตว์นั่นแหละค่ะ ทีนี้เมื่อวันก่อนเพื่อนชวนหนูไปกินอาหารที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีกุ้งเป็นๆ ขังไว้ในตู้กระจก ให้เราชี้ด้วยว่าจะเอาตัวไหน เขาก็จะใช้ตะแกรงช้อนตัวขึ้นมาปรุงอาหารให้เรา วันนั้นหนูกับเพื่อนช่วยกันชี้หลายตัวค่ะ ตอนกินก็เอร็ดอร่อย ไม่คิดอะไรมาก ตั้งแต่วันกินมาจนถึงทุกวันนี้ หนูกลุ้มใจเรื่อยมา ไม่ลืมเลยค่ะ รู้ว่าบาป ผิดศีลข้อหนึ่ง คุณป้าสอนไว้แล้วหนูไม่น่าทำเลย” ตอบแล้วรําพันความกลุ้มใจให้ฟังต่อไปอีกยาว
นี่ถ้าข้าพเจ้าไม่ห่วงว่าต้องวางท่าทางเป็นผู้ใหญ่ เป็นแม่ชีถือศีล ๘ แล้ว ก็อยากจะตีสักทีจริงๆ เพราะสอนวิธีป้องกันความชั่วให้แล้วไม่ทำตาม พอเกิดผลร้ายกลับมาให้ช่วยแก้ไข ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่า
“ต่อไปอย่าดื้ออีกนะ รู้ว่าอะไรเป็นบาปแล้ว ไม่ต้องทดลองทําหรอกค่ะ เหมือนรู้ว่างูเห่ากัดแล้วตาย หรือเฮโรอีนเสพแล้วติดก็ไม่ต้องไปทดลอง ศีลมีไว้ห้ามทําความชั่ว ทําแล้วจะเดือดร้อน ไม่ใช่ต้องรอไปเดือดร้อนชาติหน้า มันเดือดร้อนทันตาเห็นชาตินี้แหละ เห็นไหมว่า ติดรสอาหาร อยากกินให้อร่อย มันอร่อยอยู่ไม่ถึง ๑๐-๑๕ นาที แล้วต้องมาเดือดร้อนใจเป็นอาทิตย์ๆ ไม่คุ้มกับความอร่อยเลย แต่ที่หนูได้รับผลบาปทันตาเห็นนี่ก็ดีแล้ว เป็นบทเรียนที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ต่อไปจะได้จดจําได้แม่นยำ ไม่กล้าทําบาปกรรมข้ออื่นอีก จะได้รู้จักเข็ด”
“หนูจะแก้ไขบาปเรื่องนี้อย่างไรดี ทําบุญกรวดน้ำให้กุ้งหรือทำอย่างไรดีคะคุณป้า”
“คิดยังงั้นหรือ หนูจะรู้ได้ยังไง กุ้งมันไปเกิดเป็นเปรตที่จะรับส่วนบุญได้หรือ มันไปเกิดที่ไหน ถ้าเราเห็นธรรมกายแล้ว เอากายธรรมไปตามกายละเอียดเขามาขออโหสิได้ ก็แล้วไป แต่คนเห็นธรรมกายแล้วเขาก็ไม่สั่งฆ่ากุ้งอย่างคุณหรอกนะ นี่ป้าขอแนะนําอย่างนี้นะ ไม่รู้ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือเปล่า ศาสนาของเรามีวิธีทําบาปให้เจือจางหรือทําให้บาปตามไม่ทันได้ เช่น สมมุติว่าบาปเป็นเกลือ บุญเป็นน้ำ ที่หลวงพ่อทัตตะท่านสอนเสมอๆ ถ้าเราไม่หาเกลือมาใส่แล้วหาแต่น้ำมาเทใส่ไว้ให้มากขึ้นเรื่อยไป วันหนึ่งเกลือก็หมดรส น้ำจืดสนิท ทั้งที่เกลือก็ยังอยู่ แต่มีน้อยสู้น้ำไม่ได้”
“ทํายังไงคะ หนูยังไม่ค่อยเข้าใจแจ่มแจ้งนักค่ะ”
“ก็เลิกคิดเรื่องบาปนั้นให้ได้ คิดทีไรก็กลุ้มใจทุกทีอย่างที่เป็นอยู่นี่ ก็หยุดคิด การคิดถึงบาปที่ตนทําไว้นั้น เป็นอกุศลมโนกรรม เป็นบาปเกิดทางใจใหม่ทุกครั้งที่คิด วิถีจิตมันทํางานใหม่ให้ใจเศร้าหมองทุกครั้งที่คิด แล้วเราจะมัวโง่คิดอยู่ทําไม ทําแล้วแล้วไป ตั้งใจไม่กระทําผิดซ้ำใหม่อีกก็พอแล้ว และตั้งหน้าทําความดีให้เพิ่มขึ้นๆ ถ้าอยากให้ใจสบาย กลับนี่ไปซื้อปลาที่แม่ค้าที่เขาจะฆ่าขายในตลาดเอาไปปล่อยให้เต็มกำลังเงินเลยเชียว แล้วก็ทําบุญอย่างอื่นๆ อีกเรื่อยไป จําคําสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตอนหนึ่งได้หรือไม่ ที่ตรัสสอนไว้ว่า
อย่ามัวคิดถึงอดีต เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว (เอาคืนมาทำใหม่ไม่ได้)
อย่ามัวคิดถึงอนาคต เพราะเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คิดไปเสียเวลา (ยังให้เกิดเป็นจริงไม่ได้)
จงคิดถึงแต่ปัจจุบันเฉพาะหน้า ทําปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เราลงมือกระทําอะไรๆ ได้ตามที่ต้องการ จําไว้ให้ดีนะคะ นี่ไม่ใช่คําสอนของป้า เป็นธรรมะของพระบรมศาสดา”
“หนูจะปฏิบัติตามค่ะคุณป้า เข็ดแล้ว จะไม่ทําชั่วอะไรอีกแล้ว เมื่อตอนยังไม่ฟังธรรมบรรยายของคุณป้า ทําบาปไว้มากมายก็ไม่ร้อนใจอย่างนี้เลย เดี๋ยวนี้ทําบาปอะไรนิดก็กลุ้มใจไปหมด” รับคําแล้วแต่ ปรารภเหมือนตัดพ้อว่าเป็นความผิดของข้าพเจ้าเสียอีก จึงต้องชี้แจงไป
“นี่เขาเรียกว่า ตัวรู้ (ปัญญา) กับ ตัวไม่รู้ (อวิชชา) เมื่อไม่รู้ก็ไม่กลัวบาป พอรู้แล้วธรรมฝ่ายดีคือ หิริ (ละอายบาป) กับ โอตตัปปะ (เกรงกลัวบาป) จึงเกิดขึ้นคุ้มครองรักษาใจคุณ ควรจะดีใจ”
เมื่อเห็นยังงงอยู่ ข้าพเจ้าก็อธิบายเพิ่ม
“สมมุติว่ามีก้อนถ่านสีแดงลุกโพลงร้อนจัดอยู่ก้อนหนึ่ง คนหนึ่งไม่รู้ว่าจับแล้วร้อน กับอีกคนรู้ว่าถ้าจับแล้วจะร้อนจนมือไหม้พอง สองคนนี้หนูว่าใครจะได้รับอันตรายในการจับถ่านมากกว่ากัน”
“คนที่ไม่รู้ซีค่ะ ต้องได้รับอันตรายมากกว่า เพราะคงจับเต็มที่ ส่วนคนรู้ก็จะระมัดระวังไม่จับ” อีกฝ่ายตอบอย่างเข้าใจ
“คนทำบาปก็เหมือนกัน ถ้ารู้ว่าทำแล้วบาป เมื่อหลีกเลี่ยงได้ก็จะหลีกเลี่ยงเต็มที่ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็จะระวังตัวเต็มที่อีกเหมือนกัน ส่วนคนไม่รู้บาป ทำเต็มที่ตามสบาย ฉันใดก็ฉันนั้น
ข้าพเจ้าจําคําสนทนามาเล่าให้ท่านฟังเป็นบางส่วน ที่จริงแล้วเราคุยกันมากกว่านี้ ยังถือเอาความผิดของเขาสอนลูกชายตัวเล็กๆ ของเขาที่มาด้วย และสอนคนที่อยู่ด้วยกันตรงนั้นไปในตัว
นี่โทษของการติดรสของอาหาร ซึ่งที่จริงแล้ววัตถุประสงค์ของการบริโภคมีเพียงใช้หล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นปกติแข็งแรง แล้วใช้ร่างกายนั้นกระทำกิจกรรมต่างๆ ในการสร้างสมอบรมบารมีให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ให้มายุ่งเรื่องกินอร่อยจนต้องทําบาปทํากรรม
บางรายติดรสสุรา ติดรสอาหารมาก ได้รับเงินเดือนมาไม่รู้จักจัดสรรปันส่วนแบ่งใช้ให้ดี พอใจอยากกินก็ซื้อโดยไม่รู้จักประมาณ ทําให้ครอบครัวอดอยาก ลูกเต้าเดือดร้อนเพราะเงินไม่พอใช้ เรื่องการติดรส โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ตรงตามความจริงแล้ว ไม่มีอะไรอร่อย ไม่มีอะไรน่ารับประทาน ล้วนแต่เป็นการกินซากศพสัตว์ชนิดต่างๆ ศพวัว ศพหมู ศพปลา ศพกุ้ง ศพไก่ ศพปู ศพหอย ฯลฯ มีกลิ่นเหม็นคาวน่ารังเกียจ บางทีก็เหม็นเขียว เหม็นเน่าไม่ใช่ของวิเศษเลย
อาหารนั้น เวลากินดูช่างน่าชื่นชม เพราะมีความน่ากินกลิ่นหอม รสเอร็ดอร่อย กินกันด้วยความยินดี ร่าเริงเบิกบาน แต่พอเวลาถ่ายกลับขยะแขยง มีกลิ่นเหม็นสุดจะทน ไม่น่ามอง เป็นของน่าเกลียดยิ่งนัก
อาหารแม้จะถูกจัดตกแต่งประดับประดาให้ดีวิเศษเพียงใดก็ตาม เข้าไปอยู่ในท้องเพียงชั่วข้ามคืน รุ่งขึ้นก็กลายเป็นของบูดเน่าเสียหายไปจนสิ้น ไม่มีสภาพเดิมเหลือตกค้างอยู่แม้แต่น้อยนิด พิจารณาถึงความจริงเหล่านี้ให้มาก อาจทําให้ความติดรส ค่อยๆ จางคลายไปได้
สําหรับรสอื่นที่เป็นรสของการเสพติด เช่นสุรา เครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ยิ่งเห็นโทษได้ง่ายและชัดเจน เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียชื่อเสียง เสียความคิดสติปัญญา ที่สุดเสียงาน ยังเสียความไว้วางใจจากบุคคลเกี่ยวข้องอื่นๆ มีแต่โทษทั้งสิ้น
จะมัวหลงติดรส เหมือนติดเบ็ดที่มารเกี่ยวล่อเราไว้ทําไม
Cr. อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล
หลงในรส ๒
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:55
Rating:
พี่(ป้า)ถวิลครับ ผมขออนุโมทนาในกุศลกรรมดีทุกๆอย่างที่พี่ใด้ทำมาไว้ดีแล้วครับ ขอให้มีความสุขและเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปในดุสิตโลกสวรรค์นั้นจนกว่าจะลงมาสร้างบารมีกันในครั้งต่อไปด้วยเทอญ
ตอบลบ